สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้เดือนกรกฎาคม 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 26, 2008 14:49 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

          ภาวะเศรษฐกิจภาคใต้เดือนกรกฎาคม ขยายตัว  ด้านอุปทาน ผลผลิตพืชผล  เพิ่มขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของปาล์มน้ำมันและยางพารา กอปรกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น  และการท่องเที่ยวขยายตัว   ส่วนประมงลดลงต่อเนื่อง  ด้านอุปสงค์ การอุปโภคบริโภค  ภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น การลงทุนและการส่งออกขยายตัว ส่วนการเบิกจ่ายงบประมาณเพิ่มขึ้น  เล็กน้อย  สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคปรับตัวสูงขึ้น ทางด้านสินเชื่อและเงินฝากขยายตัว
รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจในเดือนกรกฎาคม ปี 2551 มีดังนี้
1. ภาคเกษตร ดัชนีรายได้ของเกษตรกรขยายตัวร้อยละ 90.6 เป็นผลจากทั้งปริมาณ ผลผลิตและราคาที่เพิ่มขึ้น โดยผลผลิตพืชผลสำคัญเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.2 ตามปริมาณผลผลิต ปาล์มน้ำมันและยางพาราที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 66.8 และร้อยละ 8.9 ด้านราคาพืชผลสำคัญเพิ่มขึ้น ร้อยละ 56.0 ตามราคายางที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 58.6 เนื่องจากมีอุปสงค์จากต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง และปาล์มน้ำมันเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.1 ตามราคาในตลาดโลก
ประมงทะเล ยังคงอยู่ในภาวะหดตัวต่อเนื่อง จากต้นทุนการทำประมงอยู่ในระดับสูง ตามราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ปริมาณและมูลค่าสัตว์น้ำที่นำขึ้นท่าเทียบเรือขององค์การ สะพานปลาในภาคใต้ลดลงร้อยละ 10.8 และ 13.3 ตามลำดับ ส่วนการเพาะเลี้ยงกุ้ง ผลผลิตออก สู่ตลาดลดลงร้อยละ 6.7 เนื่องจากราคากุ้งตกต่ำและต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ด้านราคากุ้งในเดือน นี้ปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีโครงการรับจำนำกุ้งของภาครัฐ โดยราคากุ้งขาวขนาด 50 ตัวต่อ กิโลกรัม ที่ตลาดมหาชัยเฉลี่ยกิโลกรัมละ 117.6 บาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 16.7
2. ภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.8 จากการ ผลิตอุตสาหกรรมยางที่เพิ่มขึ้นตามความต้องการของต่างประเทศ โดยอุตสาหกรรมยางแท่ง น้ำยางข้น และยางแผ่นรมควัน มีปริมาณส่งออกผ่านด่านศุลกากรในภาคใต้จำนวน 91,709.4 เมตริกตัน 64,994.9 เมตริกตัน และ 38,643.0 เมตริกตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 14.0 33.4 และ 17.8 ตามลำดับ ขณะเดียวกันอุตสาหกรรมอาหารทะเลบรรจุกระป๋อง และสัตว์น้ำ แช่แข็ง มีปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 62.0 และ 18.1 ตามลำดับ สำหรับอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มดิบมีผลผลิตจำนวน 141,235.1 เมตริกตัน เพิ่มขึ้นจากเดือน เดียวกันปีก่อนร้อยละ 79.2 ตามปริมาณวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น
3. การท่องเที่ยว ขยายตัว โดยมีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเดินทางผ่านด่าน ตรวจคนเข้าเมืองในภาคใต้ ประมาณ 261,083 คน เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 19.0 โดยจังหวัดภูเก็ตนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 เนื่องจากภาครัฐและเอกชน ร่วมมือในการทำตลาดทั้งต่างประเทศและในประเทศ โดยจัดกิจกรรมเพื่อกระตุ้นตลาด ประชุมสัมมนา เน้นนักท่องเที่ยวในเอเชีย อาทิ จีน เกาหลีใต้ ส่วนภาคใต้ตอนล่าง มีนักท่องเที่ยว เดินทางผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองในจังหวัดสงขลาเพิ่มขึ้นร้อยละ 46.9 เนื่องจากนักท่องเที่ยว ชาวมาเลเซียมีความมั่นใจในความปลอดภัยมากขึ้น และการจัดกิจกรรม Amazing Thailand Grand Sales รวมทั้งเพิ่มตลาดท่องเที่ยว โดยเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดใกล้เคียงมากขึ้น เช่น หาดใหญ่-พัทลุง ย้อนประวัติศาสตร์ตามรอยพระพุทธเจ้าหลวง
4. การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ปรับตัวดีขึ้น โดยดัชนีการอุปโภคบริโภค ภาคเอกชนเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 0.6 ตามดัชนีในหมวดยานยนต์ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.3 จากการจดทะเบียนรถยนต์เพิ่มขึ้นทุกประเภท ส่วนการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มมีจำนวน ใกล้เคียงกับเดือนเดียวกันปีก่อน เนื่องจากภาวะการท่องเที่ยวและราคาสินค้าเกษตรอยู่ในเกณฑ์ดี
5. การลงทุนภาคเอกชน ขยายตัวดีขึ้น เนื่องจากภาครัฐมีมาตรการทางด้านภาษี เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ประกอบกับภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัว และรายได้ของเกษตรกรเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ดัชนีการลงทุนภาคการก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 2.7 ตามพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างใน เขตเทศบาลที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.0 ทางด้านโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุน มีจำนวน โครงการเท่าเดิม แต่เงินลงทุนเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนกว่า 12 เท่าตัว ในจำนวนนี้มี โครงการลงทุนขนาดใหญ่ 2 โครงการ คือ กิจการโรงแรมขนาดกิจการ 176 ห้อง ในจังหวัดภูเก็ต เงินทุน 2,640.0 ล้านบาท และกิจการผลิตไบโอดีเซลประมาณ 110 ล้านลิตรต่อปี ในจังหวัด สุราษฎร์ธานี เงินทุน 1,560 ล้านบาท ส่วนการจดทะเบียนธุรกิจนิติบุคคลใหม่ จำนวนรายเพิ่มขึ้น จากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 55.3 แต่ทุนจดทะเบียนลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 52.2
6. การจ้างงาน เพิ่มขึ้น โดยมีผู้ได้รับการบรรจุงานเดือนนี้มีจำนวน 4,374 อัตรา เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 26.3 ขณะเดียวกันความต้องการจ้างงานเพิ่มขึ้น โดย ตำแหน่งงานว่างที่ผู้ประกอบการใช้บริการผ่านสำนักงานจัดหางานจังหวัดในภาคใต้มีจำนวน 3,882 อัตรา เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 14.0 เพิ่มขึ้นมากในจังหวัดภูเก็ต นราธิวาส และนครศรีธรรมราช ส่วนผู้สมัครงาน มีจำนวน 3,842 คน ลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 16.8 ทางด้านผู้ประกันตน ณ สิ้นเดือนนี้ มีจำนวนทั้งสิ้น 582,056 คน เพิ่มขึ้นจากสิ้นเดือน เดียวกันปีก่อนร้อยละ 0.1
7. ระดับราคา อัตราเงินเฟ้อของภาคใต้ในเดือนนี้ อยู่ที่ร้อยละ 11.0 เพิ่มขึ้นจาก ร้อยละ 10.2 ในเดือนก่อน เนื่องจากราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม เพิ่มขึ้นร้อยละ14.3 ตามการเพิ่มขึ้นของข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ขณะเดียวกันหมวดอื่นที่ไม่ใช่อาหารและ เครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.8 ตามราคาน้ำมันที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ค่าขนส่งและ ค่าใช้จ่ายในการบริโภคสินค้าทุกชนิดเพิ่มขึ้น สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของภาคใต้ อยู่ที่ร้อยละ 5.7 สูงขึ้นจากร้อยละ 5.5 ในเดือนก่อน
8. การค้าต่างประเทศ ขยายตัว โดยมูลค่าการค้าผ่านด่านศุลกากรในภาคใต้มี จำนวนทั้งสิ้น 2,075.4 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 66.7 แยกเป็น มูลค่าการส่งออก 1,253.1 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 52.8 ตาม การเพิ่มขึ้นของการส่งออกยางพารา น้ำมันปาล์ม อาหารกระป๋องและสัตว์น้ำแช่แข็ง เป็นสำคัญ ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 822.3 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 93.6 เป็นผลจากการนำเข้าสัตว์น้ำแช่แข็ง เครื่องจักรและอุปกรณ์ เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ
9. ภาคการคลัง การเบิกจ่ายเงินงบประมาณของส่วนราชการต่างๆในภาคใต้ มี จำนวน 9,023.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 0.9 ส่วนภาษีอากรจัดเก็บได้ 2,285.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 9.4 เนื่องจากจัดเก็บภาษีสรรพากรได้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.7 ส่วนภาษีสรรพสามิตและภาษีศุลกากร จัดเก็บได้เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 8.8 และ 6.3 ตามลำดับ
10. การเงิน เงินฝากคงค้าง ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2551 ของสาขาธนาคาร พาณิชย์ในภาคใต้ มีประมาณ 413,400.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ6.1 ซึ่ง ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากเดือนก่อนนี้ เนื่องจากมีการออมในลักษณะอื่นที่ได้รับผลตอบแทน สูงกว่ามากขึ้น ทางด้านสินเชื่อคงค้างมี ประมาณ 364,400.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกัน ปีก่อนร้อยละ 15.9 ยังคงขยายตัวในสินเชื่อประเภทส่วนบุคคล อสังหาริมทรัพย์ และการ
ข้อมูลเพิ่มเติม : นายพสุธา ระวังสุข โทร.0-7423-6200 ต่อ 4345 e-mail : pasuthar@bot.or.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ