ภาวะเศรษฐกิจในเดือนกรกฎาคม 2551 โดยรวมยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยเครื่องชี้การอุปโภคบริโภคและการลงทุน ภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น สอดคล้องกับการนำเข้าที่เร่งตัวขึ้นมาก ขณะที่การส่งออกยังคงขยายตัวในเกณฑ์สูง สำหรับเครื่องชี้ด้านอุปทาน ผลผลิตและราคาพืชผลสำคัญที่ขยายตัวในเกณฑ์ดี ส่งผลให้รายได้เกษตรกรจากพืชผลสำคัญขยายตัวในอัตราที่เร่งตัวขึ้น ส่วนผลผลิต อุตสาหกรรมขยายตัวดีใกล้เคียงกับเดือนก่อน อย่างไรก็ดี ภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มชะลอลงบ้าง
เสถียรภาพด้านต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ดีจากเงินสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง ด้านเสถียรภาพในประเทศ อัตรา เงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังคงอยู่ในระดับสูง
รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจในเดือนกรกฎาคม 2551 มีดังนี้
1. ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เบื้องต้น) ขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 10.9 ใกล้เคียงกับเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 11.2 ทั้งนี้ การผลิตเพื่อการส่งออกขยายตัวดีต่อเนื่องตามอุปสงค์จากต่างประเทศ ซึ่งได้แก่ หมวดอิเล็กทรอนิกส์ หมวดยานยนต์ หมวด อาหารและหมวดผลิตภัณฑ์เหล็ก สำหรับอัตราการใช้กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมในเดือนนี้อยู่ที่ร้อยละ 71.9 ลดลงจากร้อยละ 73.1 ในเดือนก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการขยายกำลังการผลิตในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ อัตราการใช้กำลังการผลิตที่ปรับ ฤดูกาลแล้วใกล้เคียงกับเดือนก่อน
2. ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวร้อยละ 9.3 จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการเร่งตัวของภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และมูลค่าการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค ณ ราคาคงที่ ขณะที่ยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งยังขยายตัวในเกณฑ์ดี และยอดจำหน่าย รถจักรยานยนต์เพิ่มสูงขึ้นตามรายได้เกษตรกรที่อยู่ในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง สำหรับดัชนีการลงทุนภาคเอกชน (ประมาณการ) ขยายตัวร้อยละ 3.9 จากระยะเดียวกันปีก่อน ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน ตามการเร่งตัวของมูลค่าการนำเข้าสินค้าทุน ณ ราคาคงที่ เป็นสำคัญ
3. ภาคการคลัง รัฐบาลมีรายได้จัดเก็บ 124.9 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 12.6 โดยเพิ่มขึ้นจากรายได้ ภาษีเป็นสำคัญ โดยรายได้ภาษี เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.4 ตามการขยายตัวของเกือบทุกฐานภาษี โดยเฉพาะภาษีฐานการบริโภค เพิ่มขึ้นตาม ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ขยายตัวตามการนำเข้าและราคาสินค้าในประเทศที่สูงขึ้น ส่วนภาษีสรรพสามิตเพิ่มขึ้นจากภาษีสุราเป็นสำคัญ เนื่องจาก ผู้ผลิตคาดว่าจะมีการปรับขึ้นเพดานอัตราภาษีสุราจึงเร่งผลิตเพิ่มขึ้น ขณะที่ภาษีธุรกิจเฉพาะลดลงต่อเนื่องจากผลของมาตรการลดอัตรา ภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายอสังหาริมทรัพย์ ประกอบกับการจัดเก็บภาษีธุรกรรมของสถาบันการเงินที่ยังคงลดลงต่อเนื่อง สำหรับ ดุลเงินสด รัฐบาลขาดดุล 31.2 พันล้านบาท โดยมีการชำระคืนเงินกู้สุทธิ 30.5 พันล้านบาท ทำให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนลดลง 61.7 พันล้านบาท อยู่ที่ 127.2 พันล้านบาท
4. ภาคต่างประเทศ ดุลการค้า ขาดดุล 762 ล้านดอลลาร์ สรอ. จากการนำเข้าที่ขยายตัวในอัตราที่เร่งขึ้นมาก แม้ว่าการส่งออก จะยังขยายตัวในเกณฑ์สูง การส่งออกมีมูลค่า 16,787 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 43.9 จากด้านปริมาณเป็นสำคัญ โดยหมวด สินค้าเกษตรขยายตัวดีต่อเนื่อง โดยเฉพาะการส่งออกข้าวและยางพารา สำหรับหมวดสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวดีตามการส่งออก ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ยานยนต์ คอมพิวเตอร์ รวมทั้งอัญมณีและเครื่องประดับที่ส่วนหนึ่งมีการส่งออกทองคำเพิ่มขึ้น สำหรับการนำเข้า มีมูลค่า 17,550 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 53.4 เร่งขึ้นตามปริมาณการนำเข้า ขณะที่ราคาเพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับเดือนก่อน โดยปริมาณขยายตัวเร่งขึ้นทุกหมวด โดยเฉพาะหมวดวัตถุดิบและสินค้าทุน สอดคล้องกับการส่งออกที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ในหมวด เชื้อเพลิงและผลิตภัณฑ์มีปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน เนื่องจากโรงกลั่นน้ำมันที่ปิดซ่อมบำรุงกลับมาดำเนินการ ได้ตามปกติ รวมทั้งมีการนำเข้าก๊าซปิโตรเลียม (LPG) เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับอุปสงค์ในประเทศที่เพิ่มขึ้นจากการนำไปใช้ในรถยนต์จากดุลการค้าที่ขาดดุล เมื่อรวมกับดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่เกินดุล 208 ล้านดอลลาร์ สรอ. ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัด ขาดดุล 555 ล้านดอลลาร์ สรอ. ทั้งนี้ จากข้อมูลเร็วเบื้องต้น เงินทุนเคลื่อนย้ายสุทธิ1/ เดือนกรกฎาคม 2551 ขาดดุลสุทธิ 1,799 ล้าน ดอลลาร์ สรอ. ส่วนใหญ่จากการไหลออกของเงินลงทุนในหลักทรัพย์ทั้งของต่างชาติและคนไทย ทำให้โดยรวมดุลการชำระเงินขาดดุล 680 ล้านดอลลาร์ สรอ. เงินสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2551 อยู่ที่ระดับ 104.8 พันล้านดอลลาร์ สรอ. โดยมียอดคงค้าง การซื้อเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าสุทธิ จำนวน 16.6 พันล้านดอลลาร์ สรอ.
5. อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยอยู่ที่ร้อยละ 9.2 ตามราคาในหมวดอาหารสดและพลังงาน ถึงแม้ว่าราคาน้ำมันจะลดลงในช่วงปลายเดือนตามราคาในตลาดโลกและนโยบายลดภาษีสรรพสามิตของรัฐ สำหรับอัตราเงินเฟ้อ พื้นฐานปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 3.7 จากการส่งผ่านต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นไปยังราคาในหมวดที่ไม่ใช่พลังงานและอาหารสด โดยราคา สินค้าที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ อาหารบริโภคใน-นอกบ้าน ค่าที่พักอาศัย และค่าโดยสารสาธารณะ ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิตปรับตัวสูงขึ้นจาก ระยะเดียวกันปีก่อนถึงร้อยละ 21.2 จากการปรับสูงขึ้นของดัชนีราคาทุกหมวด
6. ภาวะการเงิน เงินฝากของสถาบันรับฝากเงิน2/ (Depository Corporations) ลดลงร้อยละ 1.7 จากระยะเดียวกันปีก่อน แต่หากนับรวมการออกตราสารหนี้ประเภทตั๋วแลกเงิน (Bill of Exchange) ซึ่งมีลักษณะคล้ายการรับฝากเงินเข้าไปในเงินฝากแล้ว เงินฝาก ของสถาบันรับฝากเงินจะขยายตัวร้อยละ 1.8 สำหรับสินเชื่อภาคเอกชนของสถาบันรับฝากเงินขยายตัวร้อยละ 10.3 เร่งตัวต่อเนื่อง จากเดือนก่อนตามการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อที่ให้แก่ภาคธุรกิจเป็นสำคัญ
ฐานเงิน ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2551 ขยายตัวร้อยละ 8.5 จากระยะเดียวกันปีก่อน ขณะที่ปริมาณเงินตามความหมายกว้าง (Broad Money) หดตัวร้อยละ 1.2 จากระยะเดียวกันปีก่อน อย่างไรก็ดี ปริมาณเงินดังกล่าวยังไม่ได้นับรวมการออกตั๋วแลกเงิน ดยธนาคารพาณิชย์ ซึ่งหากรวมการออกตั๋วแลกเงินจะขยายตัวร้อยละ 2.3 จากระยะเดียวกันปีก่อน
อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในตลาดเงิน ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยอัตราดอกเบี้ยธุรกรรมซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน และอัตรา ดอกเบี้ยระหว่างธนาคารระยะ 1 วัน เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 3.38 และ 3.35 ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย นโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี เป็นร้อยละ 3.50 ต่อปี ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2551
ในช่วงวันที่ 1-25 สิงหาคม 2551 อัตราดอกเบี้ยธุรกรรมซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน และอัตราดอกเบี้ยระหว่างธนาคารระยะ 1 วัน ปรับเพิ่มขึ้นมาเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 3.50 และ 3.49 ต่อปี ตามลำดับ
7. อัตราแลกเปลี่ยนและดัชนีค่าเงินบาท ในเดือนกรกฎาคม 2551 เฉลี่ยอยู่ที่ 33.50 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลงจากค่าเฉลี่ย ในเดือนมิถุนายนที่ 33.20 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. จากความต้องการซื้อดอลลาร์ สรอ. ของผู้นำเข้าโดยเฉพาะบริษัทน้ำมัน ประกอบกับ นักลงทุนต่างชาติยังคงขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ไทยอย่างต่อเนื่อง และจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลหลัก เช่น ดอลลาร์ สรอ. และยูโร ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) อ่อนตัวลงจากเดือนก่อนที่ระดับ 76.76 มาอยู่ที่ระดับ 75.68
ในช่วงวันที่ 1-25 สิงหาคม 2551 ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงอีกเล็กน้อยมาเฉลี่ยอยู่ที่ 33.78 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. จากความเชื่อมั่น ในค่าเงินดอลลาร์ สรอ. ที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง ในขณะที่ผู้นำเข้ายังซื้อดอลลาร์ สรอ. ต่อเนื่องจากเดือนก่อน
ข้อมูลเพิ่มเติม: พรรณพิลาส เรืองวิสุทธิ์ โทร. 0-2283-5648, 0-2283-5639 e-mail: punpilay@bot.or.th