ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคเหนือเดือนกรกฎาคม 2551 ชะลอลงจากเดือนก่อน โดยด้านอุปทาน รายได้เกษตรกรจากการจำหน่ายพืชหลักยังเพิ่มขึ้นในเกณฑ์สูง การผลิตภาคอุตสาหกรรมเร่งตัวในกลุ่มที่ผลิตเพื่อการส่งออก แต่ที่ผลิตเพื่อการบริโภคในประเทศลดลง ภาคบริการชะลอลงตามฤดูกาล ด้านอุปสงค์ การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนโดยรวมชะลอตัวลงมาก แต่ยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นมากตามรายได้เกษตรกร การเบิกจ่ายเงินงบประมาณของภาครัฐการส่งออกและนำเข้าขยายตัวดี ดัชนีราคาผู้บริโภคเร่งตัวตามราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและอาหาร เงินฝากและสินเชื่อยังขยายตัว
รายละเอียดของแต่ละภาคเศรษฐกิจ มีดังนี้
1. ภาคเกษตร เดือนกรกฎาคม 2551 รายได้เกษตรกรจากพืชสำคัญเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 65.5 ชะลอลงจากเดือนก่อนทั้งราคาและผลผลิต แต่ยังขยายตัวในเกณฑ์สูง โดยด้านราคาสูงขึ้นร้อยละ 63.3 จากราคาข้าวเปลือกเจ้านาปรังและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 97.5 และร้อยละ 45.3 ตามราคาตลาดโลก สำหรับลำไยราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 50.0 เนื่องจากความต้องการส่งออกเพิ่มขึ้นในขณะที่ผลผลิตลดลง ทางด้านผลผลิตพืชหลักเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 2.2 โดยข้าวนาปรัง ถั่วเขียว และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.5 ร้อยละ 1.1 และร้อยละ 2.7 ตามลำดับ เป็นผลจากราคาที่อยู่ในเกณฑ์สูงเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรเพิ่มการผลิต อย่างไรก็ตาม ผลผลิตลำไยลดลงร้อยละ 4.4 จากสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยในช่วงติดดอกออกผล ประกอบกับราคาปีที่ผ่านมาไม่จูงใจให้เกษตรกรเพิ่มการผลิต
2. ภาคอุตสาหกรรม เดือนกรกฎาคม 2551 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมภาคเหนือขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 9.5 ตามการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ขยายตัวร้อยละ 12.8 จากการผลิตสินค้าประเภททรานซสิเตอร์ ไดโอด ไอซี และตัวเก็บประจุ เนื่องจากความต้องการต่างประเทศที่ขยายตัวเพื่อใช้เป็นส่วนประกอบในการผลิตโทรศัพท์เคลื่อนที่ โทรทัศน์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งเป็นชิ้นส่วนของอุปกรณ์เซ็นเซอร์และจอ Navigator ในรถยนต์ด้านอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.2 ใกล้เคียงกับเดือนก่อน ตามการแปรรูปผักสด/แช่แข็งและอบแห้ง การผลิตเซรามิกประเภท Tableware เพิ่มขึ้นจากการขยายตลาดใหม่ในประเทศกลุ่มยุโรป ด้านอุตสาหกรรมเจียระไนอัญมณีชะลอลงตามความต้องการในตลาดโลก ส่วนอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องดื่มลดลงร้อยละ 41.0 ต่อเนื่องจากเดือนก่อน จากการเสียส่วนแบ่งตลาดให้คู่แข่งขัน
3. ภาคบริการ เดือนกรกฎาคม 2551 ชะลอตัวตามฤดูกาล ประกอบกับราคาน้ำมันที่สูงขึ้นส่งผลให้นักท่องเที่ยวชาวไทยระมัดระวังการใช้จ่าย อย่างไรก็ดีการจัดประชุมสัมมนาจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนไทยและองค์กรต่างประเทศโดยเฉพาะจังหวัดสำคัญทางภาคเหนือตอนล่างทำให้กิจกรรมภาคบริการที่สำคัญยังคงขยายตัว อาทิการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มประเภทโรงแรมและภัตตาคารเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 1.1 อัตราการเข้าพักขยายตัวร้อยละ 43.3 ราคาห้องพักเฉลี่ยปรับสูงขึ้นร้อยละ 2.5 เนื่องจากโรงแรมลดราคาช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยวน้อยกว่าปีก่อนเล็กน้อย เพราะต้นทุนการประกอบการที่สูงขึ้น ด้านจำนวนผู้โดยสารผ่านท่าอากาศยานลดลงร้อยละ 8.7 โดยลดลงมากในจังหวัดเชียงรายแม่ฮ่องสอน พิษณุโลกและเชียงใหม่ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการลดเที่ยวบินของสายการบินเพราะประสบปัญหาด้านต้นทุนค่าน้ำมันที่สูงขึ้นมาก
4. การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน เดือนกรกฎาคม 2551 ลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนตามการระมัดระวังการใช้จ่ายของประชาชน ซึ่งสะท้อนจากเครื่องชี้กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญได้แก่ การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 9.9 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่ลดลงต่อเนื่อง ปริมาณจดทะเบียนรถยนต์ลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 8.9 ปริมาณการใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนเดือนมิถุนายน 2551 ลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 1.7 อย่างไรก็ดีสำหรับปริมาณการจดทะเบียนรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 25.3 เนื่องจากรายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้น และผู้บริโภคบางส่วนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาใช้รถจักรยานยนต์แทนการใช้รถยนต์
5. การลงทุนภาคเอกชน เดือนกรกฎาคม 2551 อยู่ในเกณฑ์ลดลง แต่ความสนใจลงทุนปรับตัวดีขึ้นสะท้อนจากเครื่องชี้สำคัญได้แก่ ปริมาณการจำหน่ายวัสดุก่อสร้างลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 31.4 สาเหตุจากราคาที่ปรับสูงขึ้น อีกทั้งการส่งออกชายแดนไม่คล่องตัวเนื่องจากพม่าเข้มงวดการนำเข้าสินค้าวัสดุก่อสร้าง อย่างไรก็ดี รายได้ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนที่ดินเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 11.4 เทียบกับเดือนก่อนที่ลดลงร้อยละ 21.6 พื้นที่ก่อสร้างที่ได้รับอนุญาตในเขตเทศบาล เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 7.6 และปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนที่ลดลงร้อยละ 6.2 โดยเป็นการขยายตัวการขออนุญาตประเภทบริการและขนส่งในจังหวัดหลักของภาค ส่วนเงินลงทุนที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุน ทั้งสิ้น 127.0 ล้านบาท ขยายตัวในหมวดเกษตรกรรมและผลิตผลการเกษตร และหมวดบริการและสาธารณูปโภค
6. การค้าต่างประเทศ เดือนกรกฎาคม 2551 การส่งออกผ่านด่านศุลกากรในภาคเหนือเพิ่มขึ้นร้อยละ 37.0 เป็น 242.6 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.9 ตามการส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ขยายตัว อีกทั้งการส่งออกเครื่องประดับเพชรพลอยไปประเทศสหรัฐอาหรับอิมิเรตส์ขยายตัวดี ด้านการส่งออกชิ้นส่วนเครื่องยนต์ขยายตัวดีโดยเฉพาะชิ้นส่วนจักรยานยนต์ ส่วนการส่งออกเพชรเจียระไนชะลอตัวจากเดือนก่อน ด้านการส่งออกผ่านด่านชายแดนเพิ่มขึ้นร้อยละ 49.5 เป็น 78.4 ล้านดอลลาร์ สรอ. จากการส่งออกไปพม่าที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 79.1 และลาวที่เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว สินค้าที่เพิ่มขึ้น อาทิ น้ำมันพืช อาหารแปรรูปไม่บรรจุกระป๋อง ส่วนการส่งออกไปจีนตอนใต้ลดลงร้อยละ 42.0 จากการลดลงของยางแผ่นรมควันเป็นสำคัญการนำเข้าผ่านด่านศุลกากรในภาคเหนือเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.9 เป็น 154.3 ล้านดอลลาร์ สรอ. จากการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าอุปโภคบริโภคที่ขยายตัวร้อยละ 16.1 และร้อยละ 13.3 ตามลำดับ โดยเฉพาะมูลค่าการนำเข้าวัตถุดิบเพชรและเครื่องประดับที่ขยายตัวดี อีกทั้งชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ขยายตัวดีตามการส่งออก ส่วนการนำเข้าสินค้าทุนลดลงร้อยละ 13.8 ในสินค้าประเภทส่วนประกอบเครื่องจักรไฟฟ้าและชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ด้านการนำเข้าผ่านด่านชายแดนเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.9 เป็น 10.6 ล้านดอลลาร์ สรอ. ตามการนำเข้าจากจีนตอนใต้ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 91.7 ประกอบกับการนำเข้าจากลาวที่เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว จากสินค้าเกษตรและถ่านหินลิกไนท์ ส่วนการนำเข้าจากพม่าลดลงร้อยละ 29.1 ดุลการค้า เกินดุล 88.4 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนที่เกินดุล 54.5 ล้านดอลลาร์สรอ. แต่ลดลงจากเดือนก่อนที่เกินดุล 121.4 ล้านดอลลาร์ สรอ.
7. การเบิกจ่ายเงินงบประมาณในภาคเหนือ เดือนกรกฎาคม 2551 มีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 11,672.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 0.9 โดยรายจ่ายประจำเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5 ตามการเพิ่มขึ้นของหมวดเงินเดือนจากการปรับฐานเงินเดือนของข้าราชการตั้งแต่เดือนตุลาคม 2550 ด้านรายจ่ายลงทุนลดลงร้อยละ 13.4 โดยเฉพาะในส่วนของที่ดิน/สิ่งก่อสร้าง เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาได้มีการเร่งเบิกจ่ายอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการสร้างอ่างเก็บน้ำฝาย ปรับปรุงหนองน้ำธรรมชาติ และเขื่อนแควน้อยที่จังหวัดพิษณุโลก การสร้างและปรับผิวถนนทางหลวงและถนนในหมู่บ้าน เป็นต้น
8. ระดับราคา เดือนกรกฎาคม 2551 ดัชนีราคาผู้บริโภคภาคเหนือเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 10.7 เร่งตัวขึ้นมาก จากการเพิ่มขึ้นทั้งราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม และหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มถึงร้อยละ 14.2 และร้อยละ 8.5 ตามลำดับ โดยราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นได้แก่หมวดข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้งหมวดเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.4 และร้อยละ 15.9 ตามลำดับ ด้านหมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.3 ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 4.3 เทียบกับที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 เดือนก่อน
9. การจ้างงาน จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในเดือนมิถุนายน 2551 ภาคเหนือมีกำลังแรงงานรวมจำนวน 6.642 ล้านคน เป็นผู้มีงานทำ 6.578 ล้านคน คิดเป็นอัตราการมีงานทำเท่ากับร้อยละ 99.0 สูงกว่าร้อยละ 98.5 ระยะเดียวกันปีก่อน ตามการขยายตัวของการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.5 โดยเพิ่มขึ้นมากในสาขาโรงแรมและภัตตาคารร้อยละ 14.6 และค้าปลีก/ส่งร้อยละ 12.4 ส่วนการจ้างงานในภาคเกษตรลดลงร้อยละ 9.5 สำหรับผู้ว่างงานมีจำนวน 0.060 ล้านคน คิดเป็นอัตราการว่างงานเท่ากับร้อยละ 0.9 ต่ำกว่าร้อยละ 1.1 ระยะเดียวกันปีก่อนด้านผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 ในเดือนกรกฏาคม 2551 มีจำนวน 0.598 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 0.2
10. การเงิน ธนาคารพาณิชย์ในภาคเหนือมียอดเงินฝากคงค้าง ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2551 356,061 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 2.8 แต่ชะลอลงจากเดือนก่อน ส่วนหนึ่งเนื่องจากการถอนเงินฝากเพื่อไปลงทุนในทางเลือกอื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า อย่างไรก็ตามเงินฝากประเภทประจำซึ่งมีสัดส่วนกว่าร้อยละ 50 ของเงินฝากรวมกลับเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 จากการแข่งขันระดมเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ โดยเพิ่มขึ้นมากที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงรายและพิษณุโลก ด้านเงินให้สินเชื่อ มียอดคงค้าง 302,118 ล้านบาท ขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 7.9 ทั้งนี้สินเชื่อส่วนบุคคลขยายตัวมากร้อยละ 25.5 โดยเฉพาะการซื้อขายหรือเช่าซื้อรถยนต์/รถจักรยานยนต์และเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลอื่นๆ และเพิ่มขึ้นมากที่จังหวัดเชียงใหม่ พิษณุโลก เพชรบูรณ์และอุตรดิตถ์ ขณะที่สินเชื่อเพื่อขายส่ง-ขายปลีกเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 อย่างไรก็ตาม สินเชื่อเพื่อการก่อสร้าง การโรงแรมและการผลิตลดลงร้อยละ 11.6 ร้อยละ 4.6 และร้อยละ 0.5 ตามลำดับสำหรับสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากอยู่ที่ร้อยละ 84.9 สูงขึ้นเมื่อเทียบกับร้อยละ 80.9 ระยะเดียวกันปีก่อน
ข้อมูลเพิ่มเติม : คณุ สรุนิทร์ อินต๊ะชุ่ม โทร 0 5393 1166 E-mail: surini@bot.or.th