การแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายการเงิน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 7, 2008 15:58 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

          นายอรรคบุษย์ ไกรฤกษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายช่วยงานบริหาร เลขานุการคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (คณะกรรมการ ธปท.) เปิดเผยว่า เนื่องจากกระบวนการแต่งตั้งคณะกรรมการ ธปท. ชุดใหม่ยังไม่เสร็จสิ้น ส่งผลให้ยังไม่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ชุดใหม่ขึ้นแทนชุดเดิมที่หมดวาระลง ตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2551 ประกอบกับ กนง. มีกำหนดการประชุม ครั้งต่อไปในวันที่ 8 ตุลาคม 2551 ซึ่งจำเป็นต้องปฏิบัติหน้าที่เพื่อดูแลให้นโยบายการเงินมีความต่อเนื่องพร้อมรับมือวิกฤตการเงินโลกที่มีความผันผวนในปัจจุบัน
เมื่อวานนี้ (วันที่ 6 ตุลาคม 2551) ได้มีการประชุมคณะกรรมการ ธปท. วาระพิเศษ เพื่อพิจารณาแต่งตั้ง กนง. ชุดใหม่ ภายใต้พระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2485 ที่แก้ไข เพิ่มเติม องค์ประกอบของ กนง. ตาม พ.ร.บ. ดังกล่าว ประกอบด้วยกรรมการ จำนวน 7 คน มีผู้ว่าการ เป็นประธาน รองผู้ว่าการซึ่งผู้ว่าการกำหนดจำนวน 2 คน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์หรือด้านการเงินการธนาคารที่ กกธ. แต่งตั้ง จำนวน 4 คน
คณะกรรมการ ธปท.ได้พิจารณาคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิตามหลักเกณฑ์และคุณสมบัติที่กฎหมายกำหนดเพื่อแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน กนง. เสร็จสิ้นแล้ว มีผู้ที่ได้รับการคัดเลือก ดังนี้
1. นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช
2. นายพรายพล คุ้มทรัพย์
3. นายอัมมาร์ สยามวาลา
4. นายอำพน กิตติอำพน
สำหรับ กรอบการทำงานของ กนง. ชุดใหม่ นอกจากมีอำนาจ หน้าที่ที่สำคัญในการกำหนดเป้าหมายนโยบายการเงินและการบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว ยังมีอำนาจหน้าที่ที่เพิ่มเติม จากเดิม คือ
1. ต้องรายงานผลการดำเนินงานนโยบายการเงินแก่ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ทุก 6 เดือน
2. ภายในเดือนธันวาคมของทุกปี กนง. ต้องจัดทำเป้าหมายเงินเฟ้อในปีถัดไป ร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก่อนนำเสนอต่อ ครม. เพื่อพิจารณาอนุมัติ และเมื่อได้รับการอนุมัติจาก ครม. แล้วให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ