แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนกันยายนและไตรมาสที่ 3 ปี 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 31, 2008 16:03 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ภาวะเศรษฐกิจในเดือนกันยายน 2551 ในด้านอุปทานมีแนวโน้มชะลอลง โดยผลผลิตอุตสาหกรรมชะลอลงต่อเนื่องจาก เดือนก่อน ขณะที่ราคาพืชผลสำคัญยังขยายตัวต่อเนื่องแม้ผลผลิตจะชะลอลง ทำให้รายได้เกษตรกรจากพืชผลสำคัญยังอยู่ในเกณฑ์ดี สำหรับการท่องเที่ยวหดตัวลงเนื่องจากได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองเป็นสำคัญ สำหรับด้านอุปสงค์ การลงทุนภาคเอกชนชะลอต่อเนื่องจากเดือนก่อน ขณะที่เครื่องชี้การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นโดยเป็นผลจากราคาน้ำมันและ อัตราเงินเฟ้อที่ลดลง สำหรับปริมาณการส่งออกและนำเข้าเร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อน

เมื่อพิจารณาทั้งไตรมาสที่ 3 ปี 2551 เศรษฐกิจโดยรวมมีสัญญาณการชะลอตัว เนื่องจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักธุรกิจต่ำลงจากปัจจัยการเมืองภายในประเทศ ประกอบกับความวิตกเกี่ยวกับผลกระทบจากวิกฤตการเงินโลกมากขึ้น แม้ว่าจะมีปัจจัยบวก จากราคาน้ำมันและอัตราเงินเฟ้อที่ลดลง สำหรับภาคการส่งออก ปริมาณการส่งออกชะลอตัวลงสอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรม ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวหดตัวลง อย่างไรก็ดี ผลผลิตและราคาพืชผลสำคัญขยายตัวในเกณฑ์ดี ส่งผลให้รายได้เกษตรกรจากพืชผลสำคัญขยายตัวดีต่อเนื่อง

เสถียรภาพด้านต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ดีจากเงินสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง แม้ว่าดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล ด้านเสถียรภาพในประเทศ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับลดลงต่อเนื่อง

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจในเดือนกันยายนและไตรมาสที่ 3 ปี 2551 มีดังนี้

1. ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เบื้องต้น) ขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 4.6 ชะลอลงจากเดือนก่อน ตามการชะลอตัวของการผลิตในหมวดอิเล็กทรอนิกส์ ที่อุปสงค์จากต่างประเทศชะลอตัวลง หมวดเหล็กและหมวดวัสดุก่อสร้าง จากภาวะก่อสร้าง ที่ชะลอตัว หมวดเครื่องดื่ม ที่เร่งผลิตในเดือนก่อนหน้า ประกอบกับการผลิตในหมวดปิโตรเลียม หดตัวเนื่องจากมีการปิดซ่อมโรงกลั่นบางส่วน สำหรับหมวดการผลิตที่มีการขยายตัวดี ได้แก่ หมวดยานยนต์ เนื่องจากเดือนนี้มีการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ทั้งรถยนต์ เชิงพาณิชย์และรถยนต์นั่งขนาดเล็ก สำหรับอัตราการใช้กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรม ในเดือนนี้อยู่ที่ร้อยละ 68.2 ลดลงจาก เดือนก่อน

ในไตรมาสที่ 3 ปี 2551 ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (เบื้องต้น) ขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 7.7 ชะลอลงจาก ไตรมาสก่อน ในเกือบทุกหมวดสินค้าตามการอ่อนตัวของอุปสงคทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้อัตราการใช้กำลังการผลิต ในไตรมาสที่ 3 ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 69.6

2. ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวร้อยละ 5.9 จากระยะเดียวกันปีก่อน ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อนตามการขยายตัวของการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค ณ ราคาคงที่และภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ที่เร่งตัวขึ้น รวมทั้งเครื่องชี้หมวดยานยนต์ที่ขยายตัว จากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์ที่ยังขยายตัวในเกณฑ์ดีเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน สำหรับดัชนี การลงทุนภาคเอกชน (ประมาณการ) ขยายตัวร้อยละ 2.6 จากระยะเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้ แม้การนำเข้าสินค้าทุน ณ ราคาคงที่ขยายตัว ในเกณฑ์ดี แต่ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์และปูนซีเมนต์ในประเทศยังคงหดตัวต่อเนื่องเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน

เมื่อพิจารณาทั้งไตรมาสที่ 3 ปี 2551 ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 5.2 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อน ตามการขยายตัวของเครื่องชี้เกือบทุกหมวด ยกเว้นหมวดเชื้อเพลิงที่หดตัวเนื่องจากราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูง ส่วนดัชนีการลงทุนภาคเอกชน (ประมาณการ) ขยายตัวร้อยละ 2.6 ชะลอลงต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน ตามการลดลงของเครื่องชี้เกือบทุกหมวด ยกเว้น การนำเข้าสินค้าทุน ณ ราคาคงที่ ที่ยังคงขยายตัวในเกณฑ์ดีเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน

3. ภาคการคลัง ในเดือนกันยายน 2551 รัฐบาลมีรายได้จัดเก็บ 180.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 30.0 จากรายได้ภาษีเป็นสำคัญ โดยเฉพาะภาษีฐานรายได้เพิ่มขึ้นมากจากภาษีเงินได้นิติบุคคล เนื่องจากในเดือนนี้มีการชำระภาษีเหลื่อม เดือนมาจากเดือนสิงหาคม สำหรับภาษีฐานการบริโภค เพิ่มขึ้นจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ขณะที่ภาษีสรรพสามิตและภาษีธุรกิจเฉพาะหดตัวต่อเนื่องจากผลของมาตรการของรัฐบาล สำหรับรายได้ที่มิใช่ภาษี ลดลงร้อยละ 65.2 เนื่องจากฐานสูงในปีก่อนที่มีการนำส่งรายได้ จากการยุบเลิกทุนรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนจำนวน 37 พันล้านบาท สำหรับดุลเงินสด รัฐบาลเกินดุล 63.5 พันล้านบาท ประกอบกับมีการกู้สุทธิ 26.6 พันล้านบาท ทำให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนเพิ่มขึ้น 90.1 พันล้านบาทเป็น 229.9 พันล้านบาท

สำหรับทั้งปีงบประมาณ 2551 รัฐบาลมีรายได้จัดเก็บรวม 1,839.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 8.0 ส่วนดุลเงินสดขาดดุลทั้งสิ้น 24.0 พันล้านบาท โดยมีการกู้ในประเทศสุทธิ 173.0 พันล้านบาท และชำระคืนเงินกู้ต่างประเทศสุทธิ 61.9 พันล้านบาท ทำให้เงินคงคลังเพิ่มขึ้น 87.1 พันล้านบาทเป็น 229.9 พันล้านบาท

4. ภาคต่างประเทศ ดุลการค้า เกินดุล 142 ล้านดอลลาร์ สรอ. การส่งออก มีมูลค่า 15,665 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัว ร้อยละ 19.5 เร่งขึ้นจากเดือนก่อนจากด้านปริมาณเป็นสำคัญ ขณะที่ราคาชะลอลงเกือบทุกหมวดยกเว้นหมวดสินค้าประมง โดยมูลค่า การส่งออกสินค้าเกษตรขยายตัวจากราคาที่ยังอยู่ในเกณฑ์สูง แต่มีทิศทางชะลอลงตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก สำหรับ การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเร่งขึ้นตามการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ และผลิตภัณฑ์โลหะ สำหรับการนำเข้า มีมูลค่า 15,523 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 38.6 เร่งขึ้นจากเดือนก่อน โดยปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นในทุกหมวดสินค้าโดยเฉพาะหมวด วัตถุดิบที่เร่งขึ้นมากตามการนำเข้าเคมีภัณฑ์และโลหะ ขณะที่ราคาชะลอลงทุกหมวดโดยเฉพาะหมวดผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม

เมื่อรวมกับดุลบริการ รายได้ และเงินโอน ที่ขาดดุล 845 ล้านดอลลาร์ สรอ. ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 703 ล้านดอลลาร์ สรอ. เงินทุนเคลื่อนย้ายสุทธิ 2/ เกินดุล 1,808 ล้านดอลลาร์ สรอ. ส่วนใหญ่เป็นการเกินดุลสุทธิของภาคธนาคารจากการลดสินทรัพย์ต่างประเทศ โดยรวมดุลการชำระเงินเกินดุล 2,033 ล้านดอลลาร์ สรอ. เงินสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2551 เท่ากับ 102.4 พันล้านดอลลาร์ สรอ. โดยมียอดคงค้างการซื้อเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าสุทธิ จำนวน 13.4 พันล้านดอลลาร์ สรอ.

สำหรับไตรมาสที่ 3 ปี 2551 ดุลการค้า ขาดดุล 1,296 ล้านดอลลาร์ สรอ. จากการนำเข้าที่เร่งขึ้นมากกว่าการส่งออกเมื่อรวมกับดุลบริการ รายได้และเงินโอนที่ขาดดุล 1,166 ล้านดอลลาร์ สรอ. เนื่องจากรายได้จากการท่องเที่ยวชะลอลงประกอบกับมีการส่งกลับกำไรและเงินปันผลของภาคเอกชนเพิ่มขึ้นมากกว่าระยะเดียวกันปีก่อน ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัด ขาดดุล 2,461 ล้านดอลลาร์ สรอ. สำหรับเงินทุนเคลื่อนย้ายสุทธิ ซึ่งเป็นตัวเลขเบื้องต้นเกินดุล 573 ล้านดอลลาร์ สรอ. โดยรวมดุลการชำระเงินเกินดุล 503 ลานดอลลาร์ สรอ.

5. อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ชะลอตัวลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนมาเท่ากับร้อยละ 6.0 ตามการลดลงของราคาน้ำมันและมาตรการ ของรัฐบาลเป็นสำคัญ แม้ว่าราคาอาหารสดจะเร่งตัวขึ้นจากพืชผลที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ชะลอลงเล็กน้อยมาเท่ากับร้อยละ 2.6 ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิตเท่ากับร้อยละ 19.0 ชะลอลงตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์สำคัญในตลาดโลก โดยเฉพาะราคาในหมวดผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม อย่างไรก็ดี ราคาในหมวดผลผลิตเกษตรยังปรับตัวสูงขึ้น จากภาวะน้ำท่วมในแหล่งผลิต ที่สำคัญ

ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเท่ากับร้อยละ 7.3 และ 2.9 ตามลำดับ ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนจากผลของราคาน้ำมันที่ลดลงและมาตรการของรัฐบาลเป็นสำคัญ แม้ราคาอาหารสดเร่งตัวขึ้นจากพืชผลที่ได้รับ ความเสียหายจากอุทกภัยและมีการทยอยส่งผ่านต้นทุนไปยังราคาอาหารบริโภคในและนอกบ้าน ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิตเร่งตัวขึ้น จากไตรมาสก่อนมาเท่ากับร้อยละ 20.6

6. ภาคการเงินฐานเงิน ณ สิ้นเดือนกันยายน 6. 2551 ขยายตัวร้อยละ 5.5 จากระยะเดียวกันปีก่อน ขณะที่ปริมาณเงิน ตามความหมายกว้าง (Broad Money) ขยายตัวร้อยละ 4.8 สำหรับเงินฝากของสถาบันรับฝากเงิน (Depository Corporations) ขยายตัวเพียงร้อยละ 1.4 แต่หากนับรวมการออกตราสารหนี้ประเภทตั๋วแลกเงิน (Bill of Exchange) ซึ่งมีลักษณะคล้ายการรับฝากเงินเข้าไป ในเงินฝากแล้ว เงินฝากจะขยายตัวร้อยละ 4.0 ส่วนสินเชื่อภาคเอกชนของสถาบันรับฝากเงินขยายตัวร้อยละ 10.8 ตามการขยายตัว ในเกณฑ์ดีต่อเนื่องของสินเชื่อที่ให้กับภาคครัวเรือนและการเร่งตัวของสินเชื่อที่ให้กับภาคธุรกิจ

อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในตลาดเงินปรับสูงขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2551 ส่งผลให้ ในเดือนกันยายนอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วันและอัตราดอกเบี้ยระหว่างธนาคารระยะ 1 วันเฉลี่ยสูงขึ้นจากเดือนสิงหาคม มาอยู่ที่ร้อยละ 3.75 และ 3.74 ต่อปี ตามลำดับ ทั้งนี้ หากพิจารณาตลอดทั้งไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในตลาดเงินปรับสูงขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า ตามการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายรวมร้อยละ 0.50 ต่อปีในไตรมาสนี้ สำหรับในช่วงวันที่ 1-28 ตุลาคม 2551 อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในตลาดเงินทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนกันยายนเนื่องจากคณะกรรมการนโยบายการเงินมีมติให้ คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2551

7. อัตราแลกเปลี่ยนและดัชนีค่าเงินบาท ในเดือนกันยายน 2551 อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยเท่ากับ 34.29 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. โดยมีความเคลื่อนไหวที่ค่อนข้างผันผวน และเฉลี่ยทั้งเดือนอ่อนค่าลงจากเดือนสิงหาคมเนื่องจากภาวะ Risk aversion ในตลาดการเงิน ทั่วโลก ซึ่งส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติลดการลงทุนในตลาดเกิดใหม่ (Emerging markets) อย่างต่อเนื่อง รวมถึงตลาดหลักทรัพย์ไทย อย่างไรก็ดี ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ปรับแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ระดับ 76.79 เพราะแม้ว่าเงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ สรอ. แต่อ่อนลงน้อยกว่าอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศส่วนใหญ่ ส่วนหนึ่งเพราะการไหลออกของเงินทุนจากประเทศไทย มีความรุนแรงน้อยกว่าประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค ดังนั้นเมื่อเปรียบเทียบกับค่าเงินของประเทศคู่ค้าคู่แข่งสำคัญโดยรวม ค่าเงินบาทจึง แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย

เมื่อพิจารณาทั้งไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 อัตราแลกเปลี่ยนอ่อนค่าลงจากค่าเฉลี่ยที่ 32.33 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสที่ 2 มาเท่ากับ 33.89 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ขณะที่ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) อ่อนลงร้อยละ 2.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า

ในช่วงวันที่ 1-28 ตุลาคม 2551 อัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อดอลลาร์ สรอ. เฉลี่ยเทากับ 34.36 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ใกล้เคียงกับเดือนกันยายน

ข้อมูลเพิ่มเติม: พรรณพิลาส เรืองวิสุทธิ์

โทร. 0-2283-5648, 0-2283-5639 e-mail: punpilay@bot.or.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ