นายเกริก วณิกกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน เปิดเผยว่า ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงินตามกฏหมายใหม่ขึ้นเป็นครั้งแรก มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินงานของ ธปท. ในด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ประกอบด้วยคณะกรรมการทั้งหมด 11 คน โดยตำแหน่ง 6 คน และเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 5 คน
ในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2551 คณะกรรมการได้ประชุมกันเป็นครั้งแรกโดย ธปท. ได้รายงานฐานะและการดำเนินงานของระบบสถาบันการเงิน ให้คณะกรรมการได้รับทราบว่า ไตรมาส 3 ปี 2551 ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิ 2.4 หมื่นล้านบาท ลดลง 2.3 พันล้านบาทจากไตรมาส 2 ปี 2551 แต่เมื่อรวม 9 เดือนแรกของปี 2551 มีกำไรสุทธิทั้งสิ้น 8.1 หมื่นล้านบาท สูงกว่ากำไรทั้งปี 2550 ถึง 5.7 หมื่นล้านบาท เนื่องจากสินเชื่อขยายตัวได้ดี คุณภาพสินทรัพย์ดีขึ้นจาก NPL ลดลง กอปรกับภาระ กันสำรองปีนี้ลดลงมากหลังจากธนาคารทุกแห่งได้กันสำรองตามเกณฑ์มาตรฐานบัญชีสากล (IAS 39) ครบถ้วนแล้วตั้งแต่ปี 2550
สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ขยายตัวร้อยละ 13.2 จากระยะเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจาก ร้อยละ 11 ในไตรมาส 2 ปี 2551 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 โดยเป็นการเร่งตัวของสินเชื่อภาคธุรกิจ (สัดส่วนร้อยละ 75.7 ของสินเชื่อรวม) ที่ร้อยละ 12.3 เพิ่มขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 9.5 ในไตรมาส 2 ปี 2551 สวนหนึ่งสะท้อนความต้องการเงินทุนหมุนเวียนตามต้นทุนวัตถุดิบและค่าขนส่ง ที่สูงขึ้น ขณะที่สินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัวร้อยละ 16.1 ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนจากสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลัก
ระบบธนาคารพาณิชย์มีสภาพคล่องเพียงพอ โดยเครื่องชี้สภาพคล่อง คือสัดส่วนสินเชื่อ ต่อเงินฝากและตั๋วแลกเงิน (Bill of Exchange หรือ B/E) ที่ธนาคารพาณิชย์ระดมได้ เคลื่อนไหวอยู่ใน ช่วงแคบประมาณร้อยละ 90 ในไตรมาส 3 โดยปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยในเดือนกันยายนเป็นร้อยละ 90.9 จากที่สินเชื่อเร่งตัวต่อเนื่อง ขณะที่การระดมเงินผ่านเงินฝากและตั๋วแลกเงิน (B/E) รวมกันขยายตัวในอัตราร้อยละ 3.6 เท่ากับไตรมาส 2 ปี 2551 โดยช่วงประมาณเดือนสิงหาคม 2551 ธนาคารหลายแห่ง เร่งระดมเงินฝากประจำประเภทต่างๆ ทำให้เงินฝากขยายตัวเพิ่มเป็นร้อยละ 0.2
สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (gross NPL) มียอดคงค้าง 432.1 พันล้านบาท ลดลงจากไตรมาส 2 จำนวน 15.7 พันล้านบาท โดยสัดส่วนต่อสินเชื่อรวมลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 ทั้ง gross NPL และ net NPL ที่ร้อยละ 6 และร้อยละ 3.3 ตามลำดับ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการที่ธนาคารพาณิชย์ระมัดระวังในการดูแลคุณภาพสินเชื่ออย่างใกล้ชิด รวมทั้งจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้และมีการชำระหนี้เพิ่มขึ้นด้วย เมื่อพิจารณาเป็นรายกลุ่มธุรกิจปรากฏว่า สินเชื่อภาคธุรกิจมีสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวม ลดลงในเกือบทุกภาคธุรกิจ จากร้อยละ 7.2 เหลือร้อยละ 6.7 ในขณะที่สินเชื่ออุปโภคบริโภคมีสัดส่วน NPL ลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 3.8 เหลือร้อยละ 3.7
สำหรับสำรองหนี้สูญหรือสงสัยว่าจะสูญนั้น ได้มีการนำเกณฑ์ IAS 39 เข้ามาใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 การทยอยกันสำรองตั้งแต่ปี 2549 และ 2550 มีผลทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องสำรองเพิ่มเติม 2 ปีรวมกันถึง 1.49 แสนล้านบาท ส่วนปลายปี 2550 เมื่อหักสำรองออกแล้ว กำไรสุทธิจึงอยู่ที่ 2.4 หมื่นล้านบาท ทั้งที่กำไรจากการดำเนินงานมีอยู่ที่ 1.57 แสนล้านบาท ธนาคารพาณิชย์เองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจได้กันสำรองเกินสำรองพึงกันอยู่ถึงร้อยละ 120 เป็นการกันสำรองเผื่อความเสียหายไว้สูงมาก จึงไม่มีความน่าเป็นห่วงแต่ประการใด
เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของระบบธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 15.7 จากร้อยละ 15.2 เมื่อสิ้นไตรมาสก่อน จากผลกำไรและการเพิ่มทุน ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนด ร้อยละ 8.5
ในช่วงนี้ระบบการเงินโลกมีความผันผวนสูงมาก และมีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวมากขึ้น อย่างไรก็ดี ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยยังคงมีเสถียรภาพ และไม่ได้รับผลกระทบทางตรงเท่าใดนัก เพราะธนาคารพาณิชย์ไทยมีการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศเพียงร้อยละ 1.2 ของสินทรัพย์รวม ณ สิงหาคม 2551 โดยมีการลงทุนใน CDO เพียงร้อยละ 0.04 ของสินทรัพย์รวม และปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ไทยได้ขาย CDO ที่เกี่ยวข้องกับ Subprime ออกไปหมดแล้ว และธนาคารที่ลงทุนใน CDO ได้จัดชั้นและรับรู้ผลขาดทุนตามมาตรฐานบัญชี IAS 39 ครบถ้วนแล้ว ประกอบกับระบบธนาคารพาณิชย์ มีการพัฒนาระบบบริหารความเสี่ยงที่ดีขึ้นมาก ระบบจึงมีความแข็งแกร่งดีอยู่
คณะกรรมการเห็นว่า สภาพคล่องยังคงเพียงพอ ไม่มีสัญญาณของแรงกดดันจากการกู้ยืมระหว่างธนาคาร เพราะธนาคารพาณิชย์ไทยพึ่งพาเงินฝากในประเทศเป็นหลัก การเตรียมการและพัฒนาการของระบบธนาคารพาณิชย์ที่ผ่านมาทำให้ระบบมีเสถียรภาพเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ปัจจัยท้าทายที่ต้องติดตามซึ่งเป็นผลกระทบทางอ้อม คือ ผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยต่อคุณภาพสินทรัพย์ ซึ่งอาจจะเห็นชัดเจนขึ้นในไตรมาส 4 และในปีหน้าจึงต้องไม่นิ่งนอนใจและเน้นเสริมสร้างการบริหารความเสี่ยง และการดูแลอย่างใกล้ชิดของกรรมการและผู้บริหาร ของธนาคาร โดย ธปท. และผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ได้มีการร่วมหารือถึงพัฒนาการที่สำคัญดังกล่าว กันมาอย่างต่อเนื่องในช่วงปีที่ผ่านมา เพื่อดูแลเสถียรภาพและความสามารถในการปรับตัวของระบบธนาคารพาณิชย์