ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคเหนือเดือนตุลาคม 2551 ชะลอตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยด้านอุปทาน รายได้เกษตรกรยังคงขยายตัวดี แม้ว่าราคาพืชผลสำคัญจะขยายตัวชะลอลง การผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลงตามการชะลอตัว ของเศรษฐกิจโลกและอุปสงค์ในประเทศ ภาคบริการลดลงเนื่องจากสถานการณ์การเมืองในประเทศที่ยังไม่คลี่คลาย ประกอบกับ เศรษฐกิจโลกชะลอลง ด้านอุปสงค์ การอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนลดลงจากการที่นักลงทุนระมัดระวังการใช้จ่าย และมีความเชื่อมั่นลดลง การเบิกจ่ายเงินงบประมาณของภาครัฐลดลงตามการเบิกจ่ายเพื่อการลงทุน ขณะที่มูลค่าการส่งออก ลดลงเป็นเดือนแรกนับแต่ต้นปี ดัชนีราคาผู้บริโภคชะลอตัวตามราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ลดลง ส่วนเงินฝากและสินเชื่อยังคง ขยายตัว
รายละเอียดของแต่ละภาคเศรษฐกิจ มีดังนี้
1. ภาคเกษตร เดือนตุลาคม 2551 รายได้ของเกษตรกรจากการจำหน่ายพืชสำคัญเพิ่มขึ้นร้อยละ 32.9 โดยเป็นผลจากราคาเป็นหลัก โดยดัชนีราคาพืชหลักสูงขึ้นร้อยละ 27.5 ตามราคาข้าวเปลือกเจ้านาปีที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 69.2 จากผลของมาตรการรับจำนำของภาครัฐ ในขณะที่ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และมันสำปะหลังลดลงร้อยละ 11.3 และร้อยละ 11.6 ตามลำดับ เนื่องจากมีผลผลิตออกสู่ตลาดมากและคุณภาพด้อยลง ทางด้านดัชนีผลผลิตพืชผลสำคัญเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 จากข้าวนาปี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 ร้อยละ 2.7 และร้อยละ 14.4 ตามลำดับ เนื่องจาก ราคาในปีก่อนอยู่ในเกณฑ์สูงจูงใจให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูก
2. ภาคอุตสาหกรรม เดือนตุลาคม 2551 มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ภาคเหนือลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 10.0 โดยเป็นการลดลงของอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกเป็นหลัก ตามการ ชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ลดลงร้อยละ 2.6 อุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตทาง การเกษตรลดลงร้อยละ 24.7 ส่วนหนึ่งจากการผลิตผลไม้แช่แข็งและลำไยอบแห้งที่ลดลงมากหลังจากที่มีการผลิตมากกว่า ปกติในปีก่อนหน้า การผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปลดลงโดยเฉพาะในตลาดยุโรปและการเจียระไนเพชรที่ลดลง อย่างไรก็ดี การผลิต เซรามิคประเภทเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารเพื่อส่งออกยังคงเพิ่มขึ้น ในขณะที่อุตสาหกรรมเพื่อบริโภคในประเทศลดลง ได้แก่ การผลิตวัสดุก่อสร้างยังคงลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนตามการลงทุนด้านการก่อสร้าง อุตสาหกรรมผลิตเครื่องดื่มลดลง เนื่องจากมีการเร่งผลิตในช่วงก่อนหน้า
3. ภาคบริการ เดือนตุลาคม 2551 อยู่ในเกณฑ์ลดลงต่อเนื่อง เนื่องจากนักท่องเที่ยวกังวลในสถานการณ์ การเมืองในประเทศเป็นสำคัญ โดยเครื่องชี้ที่สำคัญได้แก่ การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มประเภทโรงแรมและภัตตาคารลดลงจากระยะ เดียวกันปีก่อนร้อยละ 8.7 อัตราการเข้าพักของโรงแรมลดลงจากร้อยละ 45.3 ในช่วงเดียวกันปีก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ 42.7 ด้าน จำนวนผู้โดยสารผ่านท่าอากาศยานลดลงร้อยละ 14.8 โดยลดลงทุกท่าอากาศยานของภาคเหนือ สำหรับราคาห้องพักเฉลี่ยเพิ่มขึ้น จากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 2.2 ตามต้นทุนที่สูงขึ้น
4. การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน เดือนตุลาคม 2551 ลดลงตามการระมัดระวังการใช้จ่ายของประชาชน อย่างไรก็ดี ผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐและราคาน้ำมันที่ลดลงต่อเนื่องเป็นปัจจัยบวกที่ยังช่วยพยุงการอุปโภค บริโภค โดยกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญได้แก่ การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 3.1 เทียบกับเดือน ก่อนที่ลดลงร้อยละ 6.3 ปริมาณการจดทะเบียนรถยนต์ลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 4.3 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนที่ลดลง ร้อยละ 4.9 โดยเฉพาะประเภทรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ขนาดไม่เกิน 2,000 ซีซี เนื่องจากมีสินค้ารุ่นใหม่ออกสู่ตลาดประกอบกับราคา น้ำมันปรับลดลงต่อเนื่อง สำหรับปริมาณการจดทะเบียนรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 17.5 ชะลอจากเดือน ก่อน สาเหตุส่วนหนึ่งเนื่องจากสิ้นสุดระยะเวลาการผ่อนผันการจดทะเบียนถือครองรถจักรยานยนต์ของประเทศพม่า อย่างไรก็ดีการ ออกสินค้ารุ่นใหม่ของผู้ผลิตบวกกับรายได้ของเกษตรกรที่เพิ่มขึ้น เป็นปัจจัยหนุนต่อการเพิ่มขึ้นของยอดจดทะเบียนรถจักรยานยนต์
5. การลงทุนภาคเอกชน เดือนตุลาคม 2551 การลงทุนด้านการก่อสร้างมีแนวโน้มลดลง สะท้อนจาก ปริมาณการจำหน่ายวัสดุก่อสร้างลดลง อย่างไรก็ดี เครื่องชี้ที่สะท้อนความสนใจที่จะลงทุนก่อสร้างในระยะต่อไปยังคงขยายตัว ซึ่ง ได้แก่ พื้นที่ก่อสร้างที่ได้รับอนุญาตในเขตเทศบาลเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 4.3 ตามการขยายตัวประเภทเพื่อการ พาณิชย์ในจังหวัดสำคัญทางเศรษฐกิจของภาคเหนือ ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนที่ดินลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อน ร้อยละ 31.6 แต่เป็นผลจากการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนที่ดินของภาครัฐเป็นสำคัญ ขณะที่จำนวนรายที่ทำธุรกรรมเพิ่มขึ้นตาม มาตรการกระตุ้นภาคอสังหา ฯ ดังกล่าว นอกจากนี้ การลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ยังอยู่ในเกณฑ์ดีสะท้อนจากการอนุมัติ ส่งเสริมการลงทุนในภาคเหนือมี 11 โครงการ จำนวนเงินลงทุน 2,611.2 ล้านบาท ซึ่งเป็นการลงทุนในหมวดเกษตรกรรม ผลิตผล การเกษตร บริการ สาธารณูปโภค หมวดอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร/อุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์กระดาษและ พลาสติก
6. การค้าต่างประเทศ เดือนตุลาคม 2551 การค้าผ่านด่านศุลกากรในภาคเหนือลดลง โดยการส่งออก ผ่านด่านศุลกากรในภาคเหนือมีมูลค่า 230.4 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 1.1 จากระยะเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นการลดลงเดือน แรกนับแต่ต้นปี ตามการลดลงของการส่งออกชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ การส่งออกเพชรเจียระไน ตลาดสำคัญที่ลดลง ได้แก่ จีน อิสราเอล และสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ดี การส่งออกผ่านด่านชายแดนมีมูลค่า 79.6 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.6 จาก การส่งออกไปพม่าที่ขยายตัวร้อยละ 46.9 และลาวที่เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว สินค้าส่งออกสำคัญได้แก่ รถจักรยานยนต์และน้ำมัน เชื้อเพลิง ส่วนการส่งออกไปจีนตอนใต้ลดลงร้อยละ 22.1 ตามการส่งออกลำไยอบแห้งและผลิตภัณฑ์ยางที่ลดลง
การนำเข้าผ่านด่านศุลกากรในภาคเหนือมีมูลค่า 128.4 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 17.0 ตามการนำเข้า สินค้าขั้นกลางและวัตถุดิบที่ลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยเฉพาะการนำเข้าวัตถุดิบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และวัตถุดิบเพชรเพื่อ เจียระไนลดลงเป็นสำคัญ ตลาดสำคัญที่ลดลงได้แก่ สิงคโปร์ อิสราเอล เกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ดี การนำเข้าสินค้า ผ่านด่านชายแดนเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.7 เป็น 11.2 ล้านดอลลาร์ สรอ. จากอุปโภคบริโภคที่ยังขยายตัวดีต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดย การนำเข้าจากพม่าและจีนตอนใต้ขยายตัวร้อยละ 28.4 และร้อยละ 20.4 ตามลำดับ เนื่องจากมีการนำเข้าผักและผลไม้เพิ่มขึ้น ส่วน การนำเข้าจากลาวลดลงร้อยละ 4.0 ตามการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ลดลง
ดุลการค้า ในเดือนตุลาคม 2551 เกินดุล 102.0 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนและเดือน ก่อนที่เกินดุล 78.3 และ 98.5 ล้านดอลลาร์ สรอ. ตามลำดับ
7. การเบิกจ่ายเงินงบประมาณในภาคเหนือ เดือนตุลาคม 2551 มีการเบิกจ่ายทั้งสิ้นจำนวน 7,298.6 ล้าน บาท ลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 41.5 โดยรายจ่ายลงทุนลดลงร้อยละ 89.8 เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้น ทำให้พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2552 ไม่สามารถประกาศใช้ทันปีงบประมาณ จึงไม่มีการเบิกจ่ายงบลงทุน ปีปัจจุบัน มีเพียงการเบิกจ่ายจากปีงบประมาณก่อน (carry-over) โดยรายจ่ายหมวดที่ดิน/สิ่งก่อสร้างและเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ ลดลงร้อยละ 34.2 และร้อยละ 37.5 ตามลำดับ ด้านรายจ่ายประจำมีจำนวน 6,678.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0 ตามการเพิ่มขึ้น ของหมวดเงินเดือน
8. ระดับราคา เดือนตุลาคม 2551 ดัชนีราคาผู้บริโภคภาคเหนือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 ชะลอลงจากร้อยละ 7.5 ในเดือนก่อน เนื่องจากหมวดที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มลดลงร้อยละ 2.3 จากราคาน้ำมันที่ลดลงต่อเนื่อง และจากผล 6 มาตรการ 6 เดือนของภาครัฐ ส่วนหมวดอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.0 จากการเพิ่มขึ้นของหมวดข้าว เนื้อสัตว์ และผักผลไม้ในอัตรา ร้อยละ 11.5 ร้อยละ 16.5 ร้อยละ 20.3 ตามลำดับ ด้านดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 3.3 ชะลอ ลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับร้อยละ 3.4 ในเดือนก่อน
9. การจ้างงาน จากข้อมูลการสำรวจภาวะการทำงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในเดือนกันยายน 2551 กำลังแรงงานรวมในภาคเหนือมีจำนวน 7.134 ล้านคน เป็นผู้มีงานทำ 7.036 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3 จากระยะเดียวกันปี ก่อน ตามการเพิ่มขึ้นของการจ้างงานในเกือบทุกสาขาเศรษฐกิจ ยกเว้น ภาคอุตสาหกรรม โดยในภาคเกษตรมีแรงงานเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.9 เนื่องจากเข้าสู่ฤดูกาลเกษตร สาขาการก่อสร้าง ร้อยละ 19.2 การค้าปลีก/ส่งร้อยละ 11.6 และโรงแรม/ภัตตาคาร ร้อยละ 12.4 ด้านผู้ว่างงานมีจำนวน 87,000 คน คิดเป็นอัตราการว่างงานเท่ากับร้อยละ 1.2 ลดลงจากร้อยละ 1.5 ในช่วง เดียวกันปีก่อน ด้านผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 ในเดือนตุลาคม 2551 มีจำนวน 600,000 คน ลดลงจาก เดือนก่อนและระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 0.4 และร้อยละ 0.1 ตามลำดับ
10. การเงิน เงินฝากที่สาขาธนาคารพาณิชย์ในภาคเหนือ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2551 มียอดคงค้างทั้งสิ้น 361,706 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 4.3 จากการแข่งขันระดมเงินฝากโดยเงินฝากประเภทประจำซึ่งมี สัดส่วนกว่าร้อยละ 50 ของยอดเงินฝากรวม เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 9.4 โดยเพิ่มขึ้นมากที่จังหวัดเชียงใหม่ นครสวรรค์ พิษณุโลก กำแพงเพชรและพิจิตร ขณะที่เงินฝากประเภทกระแสรายวันและออมทรัพย์ลดลงร้อยละ 11.7 และร้อยละ 0.9 ตามลำดับ ด้าน เงินให้สินเชื่อ มียอดคงค้าง 301,804 ล้านบาท ขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 8.5 สินเชื่อเพิ่มขึ้นมากที่สุดคือสินเชื่อ ส่วนบุคคล โดยเฉพาะการเช่าซื้อรถยนต์/รถจักรยานยนต์ รองลงมาเป็นสินเชื่อบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ เช่น อพาร์ทเม้นท์ หอพัก เป็นต้น โดยสินเชื่อเพิ่มขึ้นมากที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย พิษณุโลก และนครสวรรค์ ขณะที่สินเชื่อเพื่อการผลิต การ โรงแรม การบริการด้านสุขภาพและการขนส่งลดลง สำหรับสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากอยู่ที่ร้อยละ 83.4 สูงขึ้นจากร้อยละ 80.2 ในช่วงเดียวกันปีก่อน
ข้อมูลเพิ่มเติม : คุณสุวีวรรณ เลิศวิภาภัทร โทร 0 5393 1164 E-mail: Suweewal@bot.or.th