แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนตุลาคม 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 28, 2008 15:33 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ภาวะเศรษฐกิจในเดือนตุลาคม 2551 โดยรวมชะลอตัวลง ในด้านอุปทาน ผลผลิตอุตสาหกรรมชะลอลง ส่วนผลผลิต ภาคเกษตรลดลง กอปรกับราคาพืชผลสำคัญขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง ทำให้รายได้เกษตรกรจากพืชผลสำคัญชะลอจากเดือนก่อนหน้า ด้านจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติหดตัวต่อเนื่อง เนื่องจากยังคงได้รับผลกระทบจากจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง สำหรับ ด้านอุปสงค์ การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวเช่นเดียวกับปริมาณการนำเข้า ขณะที่ปริมาณการส่งออกหดตัว

อย่างไรก็ดี เสถียรภาพด้านต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ดีจากเงินสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง แม้ว่าดุลบัญชีเดินสะพัด ขาดดุล ด้านเสถียรภาพในประเทศ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับลดลงต่อเนื่อง

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจในเดือนตุลาคม 2551 มีดังนี้

1. ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เบื้องต้น) ขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 2.0 ชะลอลงค่อนข้างมากจากร้อยละ 4.3 ในเดือนก่อน ตามการชะลอตัวของการผลิตในหมวดอิเล็กทรอนิกส์ และการลดลงของการผลิตในหลายหมวด ที่สำคัญอาทิ หมวด ผลิตภัณฑ์เหล็ก หมวดเคมีภัณฑ์ และหมวดเครื่องดื่ม อย่างไรก็ดี การผลิตในบางหมวดยังขยายตัวแม้ชะลอลงบ้างจากเดือนก่อน ได้แก่ หมวดยานยนต์ ตามการผลิตรถยนต์นั่งขนาดเล็ก และหมวดอาหาร ที่ผลิตเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีอุปสงค์จากต่างประเทศในสินค้าประเภท อาหารทะเลกระป๋องและสับปะรดกระป๋อง สำหรับอัตราการใช้กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรม ในเดือนนี้อยู่ที่ร้อยละ 66.4 ลดลง จากเดือนก่อน

2. ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวร้อยละ 2.8 จากระยะเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนตามการชะลอตัว ของเครื่องชี้ในเกือบทุกหมวด โดยเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค ณ ราคาคงที่ รวมถึงเครื่องชี้หมวด ยานยนต์ที่ชะลอลงเช่นกัน สำหรับดัชนีการลงทุนภาคเอกชน (ประมาณการ) ขยายตัวร้อยละ 1.9 ชะลอลงจากเดือนก่อน แม้การนำเข้า สินค้าทุน ณ ราคาคงที่ยังคงขยายตัว แต่ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์และปูนซีเมนต์ในประเทศยังคงหดตัวต่อเนื่อง

3. ภาคการคลัง ในเดือนตุลาคม 2551 รัฐบาลมีรายได้จัดเก็บ 112.8 พันล้านบาท ลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 15.2 จากรายได้ที่มิใช่ภาษีที่ลดลงเป็นสำคัญ เนื่องจากรัฐวิสาหกิจบางแห่งเลื่อนนำส่งรายได้ สำหรับรายได้ภาษี เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 จาก ภาษีฐานรายได้จากภาษีเงินได้ปิโตรเลียมของบางบริษัทที่มาชำระในเดือนนี้ เป็นสำคัญ ขณะที่ภาษีฐานการบริโภคลดลง โดยส่วนหนึ่ง เป็นผลจากมาตรการภาครัฐ ทำให้รายได้จากภาษีสรรพสามิต และภาษีธุรกิจเฉพาะหดตัวต่อเนื่อง สำหรับภาษีมูลค่าเพิ่มชะลอลง จากเดือนก่อน ส่วนหนึ่งเนื่องจากราคาสินค้าที่ปรับลดลง สำหรับดุลเงินสด รัฐบาลขาดดุล 14.0 พันล้านบาท ประกอบกับมีการชำระ เงินกู้สุทธิ 35.5 พันล้านบาท ทำให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนลดลง 49.4 พันล้านบาท มาเป็น 180.5 พันล้านบาท

4. ภาคต่างประเทศ ดุลการค้า ขาดดุล 964 ล้านดอลลาร์ สรอ. การส่งออก มีมูลค่า 14,998 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 4.7 ชะลอลงจากเดือนก่อนจากราคาที่ชะลอลงและปริมาณที่หดตัวลงในเกือบทุกหมวด ประกอบกับฐานสูงในเดือนเดียวกันปีก่อน โดยหมวดสินค้าเกษตร ราคายางพาราและมันสำปะหลังชะลอลงมาก ขณะที่ปริมาณหดตัวในทุกสินค้า สำหรับสินค้าอุตสาหกรรม สินค้าที่ใช้เทคโนโลยีสูงหดตัวเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2545 ตามการหดตัวของการส่งออกคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ และแผงวงจรไฟฟ้าตามอุปสงค์จากต่างประเทศที่ชะลอลง สำหรับการนำเข้า มีมูลค่า 15,962 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 23.5 ชะลอลงจากเดือนก่อนทั้งด้านราคาและปริมาณในเกือบทุกหมวดตามอุปสงค์ในประเทศที่ชะลอตัว ยกเว้นปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบ เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่มีการปิดซ่อมบำรุง เมื่อรวมกับดุลบริการ รายได้ และเงินโอน ที่ขาดดุล 163 ล้านดอลลาร์ สรอ. ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 1,128 ล้านดอลลาร์ สรอ. เงินทุนเคลื่อนย้ายสุทธิ 1/ คาดว่าเกินดุล 3,597 ล้านดอลลาร์ สรอ. ส่วนใหญ่เป็นการเกินดุลสุทธิของภาคธนาคารจากการลด สินทรัพย์ต่างประเทศ โดยรวมดุลการชำระเงินเกินดุล 4,041 ล้านดอลลาร์ สรอ. เงินสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2551 เท่ากับ 103.2 พันล้านดอลลาร์ สรอ. โดยมียอดคงค้างการซื้อเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าสุทธิ จำนวน 8.9 พันล้านดอลลาร์ สรอ.

5. อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เท่ากับร้อยละ 3.9 ชะลอตัวลงจากราคาน้ำมันที่ปรับลดลงมาก อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเท่ากับ 2.4 ชะลอลง จากการปรับลดค่าโดยสารสาธารณะ และราคาอาหารสดที่ลดลงจากสภาพอากาศเอื้ออำนวยทำให้การส่งผ่านต้นทุนไปยังราคาอาหาร บริโภคใน-นอกบ้านมีน้อยลง ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิตเท่ากับร้อยละ 8.5 ชะลอลงมากจากเดือนก่อนตามราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและ ผลผลิตเกษตรที่ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง ในขณะที่ราคาผลิตภัณฑ์จากเหมืองหดตัวตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลง

6. ภาคการเงิน 2/ ฐานเงิน ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2551 ขยายตัวร้อยละ 9.6 จากระยะเดียวกันปีก่อน ขณะที่ปริมาณเงินตาม ความหมายกว้าง (Broad Money) ขยายตัวร้อยละ 5.3 สำหรับเงินฝากของสถาบันรับฝากเงิน (Depository Corporations) ขยายตัว เพียงร้อยละ 1.1 แต่หากนับรวมการออกตราสารหนี้ประเภทตั๋วแลกเงิน (Bill of Exchange) ซึ่งมีลักษณะคล้ายการรับฝากเงินเข้าไป ในเงินฝากแล้ว เงินฝากจะขยายตัวร้อยละ 4.0 ส่วนสินเชื่อภาคเอกชนของสถาบันรับฝากเงินขยายตัวร้อยละ 11.2 โดยเริ่มมีแนวโน้ม ทรงตัวจากเดิมที่เร่งขึ้นต่อเนื่องตลอด 9 เดือนแรกของปี

อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในตลาดเงินทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน จากการที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่เปลี่ยนแปลงตลอด ทั้งเดือน ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วันและอัตราดอกเบี้ยระหว่างธนาคารระยะ 1 วัน เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 3.75 และ 3.73 ต่อปี ตามลำดับ สำหรับในช่วงวันที่ 1-25 พฤศจิกายน 2551 อัตราดอกเบี้ยทั้งคู่เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 3.75 ต่อปี เท่ากับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

7. อัตราแลกเปลี่ยนและดัชนีค่าเงินบาท ในเดือนตุลาคม 2551 อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยอยู่ที่ 34.43 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. โดยมีความเคลื่อนไหวในช่วงแคบ ๆ และเฉลี่ยทั้งเดือนอ่อนค่าลงจากเดือนกันยายน จากการที่นักลงทุนถอนเงินทุนจากประเทศ กำลังพัฒนาไปถือครองสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ส่งผลให้ค่าเงินในภูมิภาคอ่อนค่าลงเทียบกับดอลลาร์ สรอ. อย่างไรก็ดี เงินบาทยังอ่อนค่าลงน้อยกว่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาค เพราะการไหลออกของเงินทุนจากประเทศไทยไม่ได้รุนแรง เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค

ในช่วงวันที่ 1-25 พฤศจิกายน 2551 อัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อดอลลาร์ สรอ. เฉลี่ยอยู่ที่ 35.04 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลง ต่อเนื่องจากเดือนตุลาคมตามค่าเงินในภูมิภาค

ข้อมูลเพิ่มเติม: พรรณพิลาส เรืองวิสุทธิ์ โทร. 0-2283-5648, 0-2283-5639 e-mail: punpilay@bot.or.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ