แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนพฤศจิกายน 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 30, 2008 14:15 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในเดือนพฤศจิกายน 2551 ชะลอตัวลงชัดเจน แม้ว่าในภาคเกษตรผลผลิตพืชผลสำคัญ ขยายตัวสูงขึ้น ทำให้รายได้เกษตรกรจากพืชผลสำคัญปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน แต่ราคายังมีแนวโน้มชะลอลงต่อเนื่อง ด้านจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติลดลงมากเนื่องจากสถานการณ์การเมืองและการปิดสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมืองในช่วงปลายเดือน ขณะที่ผลผลิตอุตสาหกรรมและมูลค่าการส่งออกหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี เช่นเดียวกับการบริโภคภาคเอกชนที่หดตัวในเดือนนี้ ซึ่งสอดคล้องกับความเชื่อมั่นที่ลดลงต่อเนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจและการเมืองในประเทศ ส่งผลให้ปริมาณการนำเข้าหดตัวลงเช่นกัน

แม้ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดยังคงขาดดุล แต่เสถียรภาพด้านต่างประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดีจากเงินสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง ด้านเสถียรภาพในประเทศ อัตราเงินเฟ้อปรับลดลงต่อเนื่องตามราคาน้ำมันในตลาดโลก

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจในเดือนพฤศจิกายน 2551 มีดังนี้

1. ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เบื้องต้น) หดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 6.6 โดยเป็นการหดตัวในเกือบทุกหมวดการผลิต อาทิ หมวดอิเล็กทรอนิกส์ หมวดอาหาร และหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่การผลิตลดลงตามอุปสงค์จากต่างประเทศ อย่างไรก็ดี การผลิต ในบางหมวดยังขยายตัวแม้ชะลอลงบ้างจากเดือนก่อน ได้แก่ หมวดยานยนต์ ตามการผลิตรถยนต์นั่งขนาดเล็ก และหมวดปิโตรเลียม ซึ่งเป็นผลจากฐานต่ำในปีก่อนที่มีการปิดซ่อมโรงงาน สำหรับอัตราการใช้กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรม ลดลงจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ 61.2

2. ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน หดตัวร้อยละ 1.6 จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการลดลงของเครื่องชี้ในเกือบทุกหมวด ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ดัชนีหมวดเชื้อเพลิง และการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค ณ ราคาคงที่ ขณะที่เครื่องชี้หมวดยานยนต์ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง สำหรับดัชนีการลงทุนภาคเอกชน (ประมาณการ) ขยายตัวร้อยละ 1.2 ชะลอลงต่อเนื่องตามการนำเข้าสินค้าทุน ณ ราคาคงที่ เป็นสำคัญ

3. ภาคการคลัง รัฐบาลมีรายได้จัดเก็บ 126.5 พันล้านบาท ลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 5.1 จากรายได้ภาษีที่ลดลง ร้อยละ 8.7 ตามการลดลงของภาษีฐานการบริโภคที่หดตัว ทั้งภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสรรพสามิต และภาษีธุรกิจเฉพาะ ที่ลดลงจากผลของมาตรการของรัฐบาล สำหรับรายได้ที่มิใช่ภาษีเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งจากการจัดเก็บค่าภาคหลวงปิโตรเลียมได้สูงขึ้น เนื่องจากราคาน้ำมันดิบที่อยู่ในระดับสูงในช่วงที่ผ่านมา สำหรับดุลเงินสด รัฐบาลขาดดุล 86.1 พันล้านบาท เมื่อรวมกับการชำระคืนเงินกู้สุทธิ 3.4 พันล้านบาท ทำให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนลดลง 89.5 พันล้านบาท มาเป็น 91.0 พันล้านบาท

4. ภาคต่างประเทศ การส่งออกมีมูลค่า 11,759 ล้านดอลลาร์ สรอ. หดตัวร้อยละ 17.7 ซึ่งเป็นการหดตัวครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2545 โดยเป็นการหดตัวในเกือบทุกหมวด ยกเว้น หมวดอุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบในประเทศ และหมวดประมงทมูลค่าส่งออกยังขยายตัวเล็กน้อยจากด้านราคาเป็นสำคัญ ขณะที่ปริมาณส่งออกหดตัวในทุกหมวด ด้านการนำเข้ามีมูลค่า 12,655 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.2 เนื่องจากการนำเข้าวัตถุดิบที่หดตัว การส่งออกที่ลดลงมากส่งผลให้ดุลการค้าขาดดุล 896 ล้านดอลลาร์ สรอ. เมื่อรวมกับดุลบริการ รายได้ และเงินโอน ที่ขาดดุล 39 ล้านดอลลาร์ สรอ. จากการลดลงของรายรับจากการท่องเที่ยว ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 935 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขณะที่ เงินทุนเคลื่อนย้ายสุทธิ 1/ คาดว่าขาดดุล 214 ล้านดอลลาร์ สรอ. ส่วนใหญ่เป็นการไหลออกสุทธิของภาคธนาคารจากการชำระคืนเงินกู้เป็นสำคัญ โดยรวมดุลการชำระเงินเกินดุล 2,212 ล้านดอลลาร์ สรอ. และ เงินสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2551 เพิ่มขึ้นเป็น 106.3 พันล้านดอลลาร์ สรอ. โดยมียอดคงค้างการซื้อเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าสุทธิ จำนวน 6.5 พันล้านดอลลาร์ สรอ.

5. อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เท่ากับร้อยละ 2.2 ลดลงตามราคาน้ำมันที่ปรับลดลงเป็นสำคัญ ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเท่ากับร้อยละ 2.0 ลดลงจากการปรับลดค่าโดยสารสาธารณะที่เริ่มปรับลดมาตั้งแต่เดือนตุลาคม ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิตเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวก่อนร้อยละ 1.9 ชะลอลงมากจากเดือนก่อนตามราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและผลิตภัณฑ์จากเหมืองเป็นสำคัญ

6. ภาคการเงิน2/ ฐานเงิน ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2551 ขยายตัวร้อยละ 8.6 จากระยะเดียวกันปีก่อน ขณะที่ปริมาณเงินตาม

ความหมายกว้าง (Broad Money) ขยายตัวร้อยละ 7.3 สำหรับเงินฝากของสถาบันรับฝากเงิน (Depository Corporations) ขยายตัว ร้อยละ 4.5 เร่งขึ้นมากจากช่วงก่อนหน้าส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ภาคครัวเรือนหันมาฝากเงินในระบบสถาบันการเงินเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ หากนับรวมการออกตราสารหนี้ประเภทตั๋วแลกเงิน (Bill of Exchange) ซึ่งมีลักษณะคล้ายการรับฝากเงินเข้าไปในเงินฝากแล้ว เงินฝากจะขยายตัวร้อยละ 6.7 ซึ่งเป็นอัตราที่เร่งขึ้นเช่นกัน ส่วนสินเชื่อภาคเอกชนของสถาบันรับฝากเงินขยายตัวร้อยละ 10.2 โดยเริ่มมีแนวโน้มชะลอตัวจากเดิมที่เร่งขึ้นต่อเนื่องตลอด 10 เดือนแรกของปี

อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในตลาดเงินทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน จากการที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่เปลี่ยนแปลงตลอด ทั้งเดือน ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วันและอัตราดอกเบี้ยระหว่างธนาคารระยะ 1 วัน เฉลี่ยเท่ากันอยู่ที่ร้อยละ 3.75 ต่อปี สำหรับในช่วงวันที่ 1-25 ธันวาคม 2551 อัตราดอกเบี้ยทั้งคู่เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 2.87 ต่อปี ตามการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2551

7. อัตราแลกเปลี่ยนและดัชนีค่าเงินบาท ในเดือนพฤศจิกายน 2551 อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยอยู่ที่ 35.09 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลงจากค่าเฉลี่ยในเดือนตุลาคม โดยเฉพาะในช่วงปลายเดือนเงินบาทปรับอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วจากปัจจัยทางการเมืองที่ทวีความรุนแรงจากการปิดสนามบินและข่าวลือการปฏิวัติ ทำให้ค่าเงินบาทโน้มอ่อนค่าต่ำสุดในรอบ 21 เดือน ส่วนดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในเดือนพฤศจิกายนยังทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนตุลาคม

ในช่วงวันที่ 1-25 ธันวาคม 2551 อัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อดอลลาร์ สรอ. เฉลี่ยอยู่ที่ 35.05 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยเดือนพฤศจิกายน จากปัจจัยทางการเมืองที่ยืดเยื้อต่อเนื่องมาถึงต้นเดือนธันวาคม แต่หลังจากช่วงกลางเดือน ค่าเงินบาทกลับแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์ สรอ. เนื่องจากความกังวลในภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯ ประกอบกับ การจัดตั้งรัฐบาลไทยมีความชัดเจนขึ้นเป็นลำดับ

ข้อมูลเพิ่มเติม: พรรณพิลาส เรืองวิสุทธิ์

โทร. 0-2283-5648, 0-2283-5639 e-mail: punpilay@bot.or.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ