สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ เดือนพฤศจิกายน 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 25, 2008 14:13 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ภาวะเศรษฐกิจภาคใต้เดือนพฤศจิกายน ชะลอตัว ด้านอุปทาน ผลผลิตพืชผล เพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง ตามผลผลิตปาล์มน้ำมันที่ลดลง ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมและ ประมงทะเลลดลง ส่วนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ด้านอุปสงค์ การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนชะลอตัว ตามรายได้เกษตรกรและท่องเที่ยวที่ลดลง ขณะเดียวกันการลงทุนชะลอตัว ส่วนการเบิกจ่ายงบประมาณและการส่งออกขยายตัว สำหรับอัตราเงินเฟ้อปรับลดลงต่อเนื่อง ด้านสินเชื่อและ เงินฝากขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจในเดือนพฤศจิกายน ปี 2551 มีดังนี้

1. ภาคเกษตร ผลผลิตพืชผลสำคัญเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 ชะลอลงจากเดือนก่อนซึ่ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.2 ตามผลผลิตปาล์มน้ำมันที่ลดลง ขณะเดียวกันราคาพืชผลสำคัญลดลงร้อยละ 31.5 ตามราคาปาล์มน้ำมันและยางพาราที่ลดลงร้อยละ 42.2 และ 32.1 ตามลำดับ เนื่องจากได้รับ ผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก ทำให้ความต้องการในตลาดโลกลดลง ส่งผลให้รายได้ของ เกษตรกรจากการขายพืชผลลดลง ร้อยละ 29.2 ต่อเนื่องจากเดือนก่อน

ด้านประมงทะเล ลดลงต่อเนื่อง จากปริมาณสัตว์น้ำที่ลดลง ต้นทุนการทำประมงอยู่ ในระดับสูง และการทำประมงในประเทศเพื่อนบ้านมีความเข้มงวดขึ้น ส่งผลให้ปริมาณและมูลค่า สัตว์น้ำที่นำขึ้นท่าเทียบเรือขององค์การสะพานปลาในภาคใต้ลดลงร้อยละ 7.0 และ 12.7 ตามลำดับ ส่วนการเพาะเลี้ยงกุ้ง ผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.9 เนื่องจากเกษตรกรมี ความกังวลกับสภาพอากาศที่แปรปรวนและราคากุ้งที่อาจปรับลดลง จึงเร่งนำผลผลิต ออกจำหน่าย ขณะที่ผู้ส่งออกชะลอการซื้อตามความต้องการจากตลาดต่างประเทศ ส่งผลให้ ราคาลดลง โดยกุ้งขาวขนาด 50 ตัวต่อกิโลกรัม ที่ตลาดมหาชัยราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ110.8 บาท ลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 15.5

2. ภาคอุตสาหกรรม การผลิตหดตัว ผลจากวิกฤตเศรษฐกิจ ทำให้ความต้องการ จากตลาดต่างประเทศลดลง โดยดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนนี้ลดลงร้อยละ 18.0 จาก การผลิตในอุตสาหกรรมยางที่ลดลง โดยอุตสาหกรรมยางแผ่นรมควัน ยางแท่งและน้ำยางข้น มี ปริมาณส่งออกผ่านด่านศุลกากรในภาคใต้ จำนวน 27,189.3 เมตริกตัน 56,520.9 เมตริกตัน และ 58,336.5 เมตริกตัน ลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 26.9 18.0 และ 11.2ตามลำดับ

ขณะเดียวกันอุตสาหกรรมอาหารทะเลบรรจุกระป๋องมีปริมาณส่งออก 10,062.2 เมตริกตัน และสัตว์น้ำแช่แข็งมีปริมาณส่งออก 9,743.5 เมตริกตันลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อนในอัตราที่เท่ากัน คือ ร้อยละ 13.6 ส่วนอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มดิบมีผลผลิตจำนวน 86,881.2 เมตริกตัน ลดลง จากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 10.8 ตามปริมาณวัตถุดิบ

3. การท่องเที่ยว ขยายตัว โดยในเดือนนี้มีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเดินทางผ่าน ด่านตรวจคนเข้าเมืองในภาคใต้ 295,736 คน เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 7.6 เป็น การเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวในภาคใต้ตอนล่างเป็นสำคัญ โดยมีนักท่องเที่ยวเดินทางผ่านด่าน ตรวจคนเข้าเมืองในจังหวัดสงขลาเพิ่มขึ้นร้อยละ 32.2 ขณะที่ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีนักท่องเที่ยว เดินทางผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองภูเก็ตลดลงร้อยละ 3.2 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากวิกฤต เศรษฐกิจโลก และเหตุการณ์ทางการเมืองในประเทศ แต่ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนที่มี นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาทางด่านตรวจคนเข้าเมืองภูเก็ตลดลงร้อยละ 7.7 เนื่องจากมีการจัด โปรโมชั่นพิเศษ เช่น การลดราคาค่าห้องพัก และไม่มีService charge เป็นต้น ทางด้านรายได้ จากการท่องเที่ยวในภาคใต้ยังคงลดลงต่อเนื่อง จากการลดลงของนักท่องเที่ยวฝั่งตะวันตก ซึ่งเป็น นักท่องเที่ยวที่มีการใช้จ่ายต่อคนสูงกว่านักท่องเที่ยวภาคใต้ตอนล่าง

4. การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ชะลอตัว ตามรายได้เกษตรกรและการท่องเที่ยวที่ลดลง โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 3.3 ตาม การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ปี 2543 เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.7 อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นของ การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมีการขยายฐานการจัดเก็บภาษีจาก ผู้ประกอบการรายใหม่ ขณะที่ดัชนีหมวดเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 ส่วนดัชนีในหมวดยานยนต์ ลดลงร้อยละ 0.9 ตามการจดทะเบียนรถที่ลดลงทุกประเภท

5. การลงทุนภาคเอกชน ชะลอตัว เนื่องมีปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อการลงทุน อาทิ ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว สถานการณ์ทางด้านการเมือง รายได้เกษตรกรที่ลดลง และการ ระมัดระวังการให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ โดยพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลลดลง ร้อยละ 25.6 ทางด้านโครงการที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุน มีจำนวน 11 โครงการ เงิน ลงทุน 1,901.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 83.3 และ 106.5 ตามลำดับ โดย โครงการที่มีเงินลงทุนมากที่สุดคือ กิจการบริการด้านพลังงานที่จังหวัดนครศรีธรรมราช มีเงินลงทุน 840.0ล้านบาท ส่วนการจดทะเบียนธุรกิจนิติบุคคลใหม่ จำนวนรายลดลงร้อยละ 16.2 แต่ทุนจด ทะเบียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจโรงแรม ห้องพัก ภัตตาคาร รับเหมาก่อสร้างและ อสังหาริมทรัพย์

6. การจ้างงานมีผู้ได้รับการบรรจุงานเดือนนี้มีจำนวน 3,743 อัตรา เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 122.0 ขณะที่ตำแหน่งงานว่างที่ผู้ประกอบการใช้บริการผ่านสำนักงาน จัดหางานจังหวัดในภาคใต้ มีจำนวน 3,239 อัตราลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 10.5 ส่วนผู้สมัครงาน มีจำนวน 4,422 คน เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 28.2 สำหรับแรงงาน ที่เข้าโครงการประกันสังคม ณ สิ้นเดือนนี้ มีจำนวนทั้งสิ้น 586,829 คน เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกัน ปีก่อนร้อยละ 0.7

7. ระดับราคา อัตราเงินเฟ้อของภาคใต้ในเดือนนี้อยู่ที่ร้อยละ 2.9 ชะลอลงอย่าง ต่อเนื่อง เป็นผลมาจากราคาสินค้าในหมวดที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มที่ลดลงร้อยละ 4.8 ตามการลดลงของราคาน้ำมัน ค่าน้ำประปา และค่าไฟฟ้า ส่วนสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ยังคงเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.4 ตามการเพิ่มขึ้นของสินค้าหมวดข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง หมวด เนื้อสัตว์ เครื่องประกอบอาหาร ผักและผลไม้ สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของภาคใต้อยู่ที่ร้อยละ 3.8 ชะลอลงเมื่อเทียบกับร้อยละ 4.3 ในเดือนก่อน

8. การค้าต่างประเทศ ขยายตัว มูลค่าการค้าผ่านด่านศุลกากรในภาคใต้มีจำนวน ทั้งสิ้น 1,769.1 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 31.3 แยกเป็นมูลค่าการ ส่งออก 1,009.5 ล้านดอลลาร์ สรอ.เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 16.1 ชะลอลง จากร้อยละ 47.9 ในเดือนก่อน เนื่องจากสินค้าส่งออกสำคัญส่วนใหญ่มีมูลค่าลดลง โดยเฉพาะ ยางและอาหารทะเลแช่แข็ง ซึ่งเป็นสินค้าสำคัญลดลงร้อยละ 20.8 และ4.1 มีเพียงถุงมือยางและ อาหารทะเลกระป๋อง ที่มูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 759.6 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 59.1 เร่งตัวขึ้นมาก เป็นผลจากการนำเข้าเครื่องจักรและ อุปกรณ์ เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ ส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของการนำเข้าชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์ทางด่าน ศุลกากรท่าอากาศยานภูเก็ตและสะเดา ผลจากมีการประท้วงปิดสนามบินสุวรรณภูมิ

9. ภาคการคลัง ขยายตัว การเบิกจ่ายเงินงบประมาณของส่วนราชการต่างๆใน ภาคใต้ มีจำนวน 10,341.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 12.3 ตามการเพิ่มขึ้น ของการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของคลังจังหวัดยะลา พังงา นครศรีธรรมราช ชุมพรและปัตตานี ส่วนภาษีอากรจัดเก็บได้ 2,117.9 ล้านบาท ลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 7.5 เนื่องจาก จัดเก็บภาษีทุกประเภทได้ลดลง โดยเฉพาะภาษีสรรพากรที่จัดเก็บได้ลดลงร้อยละ 5.5 ตามการ ลดลงของการจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะ เป็นสำคัญ ซึ่งเป็นผลจากการดำเนินนโยบายทางด้านภาษี ของรัฐบาลเพื่อฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2551 โดยยอดลดลงมากที่จังหวัด ภูเก็ตและสุราษฎร์ธานี

10. การเงิน ชะลอตัว ตามภาวะเศรษฐกิจ โดยเงินฝากคงค้าง ณ สิ้นเดือน พฤศจิกายน 2551 ของสาขาธนาคารพาณิชย์ในภาคใต้ มีประมาณ 416,400.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้น จากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 5.7 ส่วนสินเชื่อมียอดคงค้างประมาณ 375,100.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 13.1

ข้อมูลเพิ่มเติม : นายพสุธา ระวังสุข โทร.0-7423-6200 ต่อ 4345 e-mail : pasuthar@bot.or.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ