ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคเหนือเดือนพฤศจิกายน 2551 ชะลอตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยเป็นผลจากการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวต่อเนื่องโดยเฉพาะการผลิตเพื่อส่งออกตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ภาคบริการลดลงจากสถานการณ์การเมืองในประเทศเป็นสำคัญ ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนยังคงมีแนวโน้มลดลง แต่เริ่มมีสัญญาณการปรับตัวที่ดีขึ้นการส่งออกและนำเข้าหดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน อย่างไรก็ตาม รายได้เกษตรกรยังคงขยายตัวต่อเนื่องจากผลของมาตรการรับจำนำสินค้าเกษตรของภาครัฐ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยพยุงการอุปโภคบริโภคของภาคเหนือในเดือนนี้ ประกอบกับกำลังซื้อของประชาชนที่เพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันที่ลดลงและผลของมาตรการภาครัฐ ทั้งนี้ รายได้เกษตรกรอยู่ในทิศทางที่ลดลงตามแนวโน้มราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกซึ่งจะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการอุปโภคบริโภคในระยะต่อไป การเบิกจ่ายเงินงบประมาณของภาครัฐขยายตัวเล็กน้อย สำหรับอัตราเงินเฟ้อชะลอตัวตามราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ลดลง ส่วนเงินฝากและสินเชื่อ ณ สิ้นเดือนตุลาคมยังคงขยายตัว
รายละเอียดของแต่ละภาคเศรษฐกิจ มีดังนี้
1. ภาคเกษตร เดือนพฤศจิกายน 2551 รายได้เกษตรกรขยายตัวร้อยละ 33.8 จากการเพิ่มขึ้นของราคาข้าวเป็นสำคัญ โดยดัชนีราคาพืชหลักขยายตัวร้อยละ 29.0 ตามราคาข้าวเปลือกเจ้านาปีที่ขยายตัวร้อยละ 53.9 จากผลของมาตรการรับจำนำข้าวเปลือกนาปีเป็นสำคัญ ทางด้านดัชนีผลผลิตพืชผลสำคัญขยายตัวร้อยละ 4.8 ตามการขยายตัวของผลผลิตข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ร้อยละ 3.3 และรอ้ยละ 2.7 ตามลำดับจากการขยายพื้นที่เพาะปลกูประกอบกบั สภาพอากาศเอื้ออำนวย ทำให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ผลผลิตถั่วเขียวหดตัวร้อยละ 0.9 เนื่องจากเกษตรกรส่วนหนึ่งหันไปปลูกพืชอื่นทดแทน ทั้งนี้ รายได้เกษตรกรแม้ยังคงขยายตัวแต่อยู่ในแนวโน้มที่ลดลงตามราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลก
2. ภาคอุตสาหกรรม เดือนพฤศจิกายน 2551 การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนโดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมภาคเหนือหดตัวร้อยละ 23.0 จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการผลิตเพื่อส่งออกที่ลดลงเกือบทุกหมวดอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นผลมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ ส่งผลให้การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เพื่อส่งออกหดตัวร้อยละ 7.6 โดยเฉพาะสินค้าไอซี ไดโอด และตัวเก็บประจุ ด้านอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรลดลงจากการผลิตลำไยอบแห้งลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนเนื่องจากวัตถุดิบในปีนี้มีน้อย การผลิตเซรามิคหดตัวร้อยละ 10.2 จากการผลิตสินค้าประเภทเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารที่เน้นส่งออกไปยังตลาดยุโรป การผลิตวัสดุก่อสร้างหดตัวร้อยละ 16.7 ปรับตัวดีขึ้นจากการหดตัวในเดือนก่อน อย่างไรก็ดี สำหรับการผลิตเครื่องดื่มขยายตัวร้อยละ 1.0 ตามการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการจำหน่ายในช่วงเทศกาลปลายปี
3. ภาคบริการ เดือนพฤศจิกายน 2551 มีแนวโน้มลดลง โดยมีสาเหตุสำคัญจากความกังวลของนักท่องเที่ยวต่อสถานการณ์การเมืองในประเทศและผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเครื่องชี้ภาคบริการที่สำคัญหดตัวทุกรายการ ได้แก่ จำนวนผู้โดยสารผ่านท่าอากาศยานหดตัวร้อยละ 28.5 โดยหดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนในทุกท่าอากาศยานของภาคเหนือ การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มประเภทโรงแรมและภัตตาคารหดตัวร้อยละ 1.1 จากระยะเดียวกันปีก่อน อัตราการเข้าพักของโรงแรมลดลงจากร้อยละ 69.5 ในช่วงเดียวกันปีก่อนเหลือเพียงร้อยละ 64.9 สาเหตุจากชุมนุมปิดท่าอากาศยานในกรุงเทพฯ เป็นหลัก ส่งผลให้นักท่องเที่ยวเดินทางยากลำบากและมีการยกเลิกห้องพัก ภายใต้สถานการณ์ ดังกล่าวราคาห้องพักเฉลี่ยจึงหดตัวร้อยละ 1.1 จากระยะเดียวกันปีก่อน เนื่องจากมีการแข่งขันด้านราคาและผู้ประกอบการสูญเสียอำนาจในการต่อรองราคา
4. การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน เดือนพฤศจิกายน 2551 ขยายตัวส่วนหนึ่งเนื่องจากราคาน้ำมันที่ลดลงและผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐเป็นสำคัญ โดยกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญได้แก่ การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มขยายตัวร้อยละ 9.4 จากระยะเดียวกันปีก่อน เทียบกับที่หดตัวร้อยละ 2.4 ในเดือนก่อน แต่ส่วนหนึ่งเป็นผลจากภาษีที่เก็บจากหมวดอุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่จำหน่ายไปยังร้านค้าเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับในช่วงเทศกาล ปริมาณการจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ขยายตัวร้อยละ 3.4 จากระยะเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากร้อยละ 17.5 ในเดือนก่อน ด้านปริมาณการจดทะเบียนรถยนต์ แม้หดตัวลงร้อยละ 13.1 จากระยะเดียวกันปีก่อนแต่สำหรับปริมาณการจดทะเบียนประเภทรถยนต์นั่งส่วนบุคคลยังคงขยายตัว จากราคาน้ำมันที่ลดลงต่อเนื่องและการส่งเสริมการขายของผู้ประกอบการ
5. การลงทุนภาคเอกชน เดือนพฤศจิกายน 2551 การลงทุนด้านก่อสร้างยังคงอยู่ในแนวโน้มลดลงสะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายวัสดุก่อสร้างหดตัวร้อยละ 23.4 จากระยะเดียวกันปีก่อน อย่างไรก็ดี แนวโน้มการก่อสร้างเริ่มมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น โดยเครื่องชี้ที่สะท้อนความสนใจในการลงทุนก่อสร้างในระยะต่อไปยังคงขยายตัว ซึ่งได้แก่ พื้นที่ก่อสร้างที่ได้รับอนุญาตในเขตเทศบาลที่ขยายตัวร้อยละ 29.2 จากระยะเดียวกันปีก่อนตามการขยายตัวของการขออนุญาตก่อสร้างประเภทเพื่อการพาณิชย์ในจังหวัดสำคัญทางเศรษฐกิจของภาคเหนือ ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนที่ดินหดตัวร้อยละ 44.1 จากระยะเดียวกันปีก่อน แต่เป็นผลจากมาตรการภาครัฐเป็นสำคัญ เพราะจำนวนรายที่ทำธุรกรรมยังคงขยายตัว สำหรับการลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ยังมีแนวโน้มในเกณฑ์ดี สะท้อนจากการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในภาคเหนือจำนวนเงินลงทุนทั้งสิ้น 1,150.9 ล้านบาท ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยส่วนใหญ่เป็นการส่งเสริมการลงทุนในหมวดผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ หมวดบริการและสาธารณูปโภค หมวดเกษตรกรรมและผลิตผลการเกษตรและหมวดอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องไฟฟ้า
6. การค้าต่างประเทศ เดือนพฤศจิกายน 2551 การค้าผ่านด่านศุลกากรในภาคเหนือลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยการส่งออกผ่านด่านศุลกากรใน ภาคเหนือหดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 13.3 เหลือ 198.4 ล้านดอลลาร์ สรอ. เป็นผลจากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่หดตัวร้อยละ 6.6 ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ประกอบกับได้รับผลกระทบจากการปิดสนามบินสุวรรณภูมิในช่วงปลายเดือน โดยตลาดหลักที่ลดลงได้แก่ จีน สิงคโปร์ และอิสราเอล โดยสินค้าสำคัญที่ลดลงได้แก่ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อัญมณี และชิ้นส่วนเครื่องจักรกล อย่างไรก็ดี การส่งออกผ่านด่านชายแดนขยายตัวร้อยละ 40.2 เป็น 80.2 ล้านดอลลาร์ สรอ. ตามการส่งออกไปพม่าจีนตอนใต้ และลาวที่ขยายตัวร้อยละ 38.9 ร้อยละ 29.3 และร้อยละ 113.7ตามลำดับ ตามการขยายตัวของส่งออกสินค้าน้ำมันพืชน้ำมันเชื้อเพลิง และยานพาหนะ
การนำเข้าผ่านด่านศุลกากรในภาคเหนือหดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 19.6 เหลือ 106.7 ล้านดอลลาร์ สรอ. โดยการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางหดตัวกว่าร้อยละ 34.0 ตามการชะลอตัวของอุตสาหกรรมการผลิตโดยเฉพาะการผลิตเพื่อส่งออกในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ ลำพูน และจากการปิดสนามบินสุวรรณภูมิช่วงปลายเดือน ทำให้ไม่สามารถนำวัตถุดิบเข้ามาผลิตได้ โดยเป็นการลดลงของการนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อัญมณี และผลิตภัณฑ์พลาสติก เป็นสำคัญ ด้านการนำเข้าผ่านด่านชายแดนขยายตัวร้อยละ 32.2 เป็น 14.6 ล้านดอลลาร์ สรอ. จากการขยายตัวของการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น ผักผลไม้ และผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ เป็นผลให้การนำเข้าจากพม่าและจีนตอนใต้ขยายตัวร้อยละ 41.1 และร้อยละ 45.6 ตามลำดับ ส่วนการนำเข้าจากลาวหดลงร้อยละ 25.6 ตามการลดลงของการนำเข้าสินค้าธัญพืชและอาหารสัตว์เป็นหลัก
ดุลการค้า ในเดือนพฤศจิกายน 2551 เกินดุล 91.7 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนและเดือนก่อนที่เกินดุล 95.9 และ 102.0 ล้านดอลลาร์ สรอ. ตามลำดับ
7. การเบิกจ่ายเงินงบประมาณในภาคเหนือ เดือนพฤศจิกายน 2551 มีการเบิกจ่ายทั้งสิ้นจำนวน 10,790.8 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 2.5 จากระยะเดียวกันปีก่อนโดยรายจ่ายประจำขยายตัวร้อยละ 7.2 ตามการขยายตัวของหมวดเงินอุดหนุนทั่วไปที่เป็นรายจ่ายประจำและรายจ่ายอื่น ด้านรายจ่ายลงทุนมีจำนวน 1,747.6 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 16.2 จากรายจ่ายหมวดที่ดิน/สิ่งก่อสร้างที่ลดลงร้อยละ 4.9 อย่างไรก็ตาม การเบิกจ่ายหมวดเงินอุดหนุนเฉพาะกิจขยายตัวร้อยละ 10.2 จากระยะเดียวกันปีก่อน
8. ระดับราคา เดือนพฤศจิกายน 2551 ดัชนีราคาผู้บริโภคภาคเหนือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 ชะลอลงจากร้อยละ 4.7 ในเดือนก่อน เนื่องจากราคาในหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มลดลงร้อยละ 6.3 ตามราคาน้ำมันที่ลดลงต่อเนื่อง และผลของมาตรการภาครัฐ สำหรับราคาในหมวดอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.0 จากการเพิ่มขึ้นของหมวดผักและผลไม้เป็นสำคัญ โดยประเภทผักสดแปรรูปและอื่นๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 37.4 เนื่องจากผลผลิตได้รับความเสียหายจากภาวะฝนตกชุก ประกอบกับอากาศที่เย็นลง สำหรับราคาในหมวดข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง และหมวดเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.8 และร้อยละ 14.5 ตามลำดับ ด้านดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 จากระยะเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากร้อยละ 3.3 ในเดือนก่อน
9. การจ้างงาน จากการสำรวจภาวะการทำงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เพียงเดือนตุลาคม 2551 กำลังแรงงานของภาคเหนือ มีจำนวน 7.1 ล้านคน เป็นผู้มีงานทำ 7.0 ล้านคน การจ้างงานโดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.5 จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการจ้างงานในภาคเกษตรที่ขยายตัวร้อยละ 9.3 เนื่องจากมีความต้องการแรงงานในช่วงฤดูกาลเกษตร ขณะที่การจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9 จากการขยายตัวของการจ้างงานในสาขาการก่อสร้างที่ร้อยละ 14.9 อย่างไรก็ตาม มีสัญญาณของการหดตัวของการจ้างงานในบางสาขา ได้แก่ สาขาโรงแรมและภัตตาคารที่หดตัวร้อยละ 3.5 ตามภาวะการท่องเที่ยวที่ชะลอลง และสาขาการผลิตที่หดตัวร้อยละ 11.0 ซึ่งเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ส่วนด้านผู้ว่างงานมีจำนวน 70,990 คน คิดเป็นอัตราการว่างงานเท่ากับร้อยละ 1.0 ลดลงเมื่อเทียบกับร้อยละ 1.3 ในช่วงเดียวกันปีก่อน ด้านผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 ในเดือนพฤศจิกายน 2551 มีจำนวน 596,289 คน หดตัวจากเดือนก่อนและระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 0.2 และร้อยละ 0.4 ตามลำดับ
10. การเงิน ยอดคงค้างเงินฝากที่สาขาธนาคารพาณิชย์ในภาคเหนือ ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2551 มียอดคงค้างทั้งสิ้น 360,858 ล้านบาทขยายตัวร้อยละ 3.5 จากระยะเดียวกันปีก่อน ชะลอจากเดือนก่อน ส่วนหนึ่งจากการถอนเงินฝากของสว่นราชการ และการถอนเงินฝากเพื่อไปลงทุนในตั๋วแลกเงินและกองทุนรวมที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า อย่างไรก็ตาม เงินฝากประเภทประจำซึ่งมีสัดส่วนกว่าร้อยละ 50 ของเงินฝากรวมยังคงขยายตัวร้อยละ 10.5 จากการแข่งขันระดมเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ โดยเพิ่มขึ้นมากที่จังหวัดเชียงใหม่ นครสวรรค์ พิษณุโลก และกำแพงเพชร ด้านเงินให้สินเชื่อ มียอดคงค้าง 302,052 ล้านบาทขยายตัวร้อยละ 7.4 จากระยะเดียวกันปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อประเภทธุรกิจค้าพืชไร่ ธุรกิจลิสซิ่งอุตสาหกรรมแปรรูปเกษตร และจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง โดยเพิ่มขึ้นมากที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย พิษณุโลกเพชรบูรณ์ และตาก สำหรับสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากอยู่ที่ร้อยละ 83.7 สูงขึ้นจากร้อยละ 80.7 ระยะเดียวกันปีก่อน
ข้อมูลเพิ่มเติม : คณุ สุรินทร์ อินตะชุ่ม
โทร 0 5393 1166
E-mail: Surini@bot.or.th