คำแถลงประจำปีของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยต่อสาธารณะ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 28, 2009 15:39 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวคำแถลงประจำปีของผู้ว่าการ ธปท. ต่อสาธารณะ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2552

แม้ว่าขณะนี้ปัญหาเสถียรภาพการเมืองภายในประเทศจะคลี่คลายลง แต่ปัจจัยภายนอกโดยเฉพาะ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างรุนแรง ยังเป็นความเสี่ยงที่สำคัญต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ถึงแม้เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญกับสภาวะที่ยากลำบากมากขึ้นในปีนี้ แต่ก็มีปัจจัยหลายประการที่เชื่อว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยผ่านบททดสอบครั้งสำคัญนี้ไปได้

ประการแรก เสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาคอยู่ในเกณฑ์ดี

ประการที่สอง ระบบสถาบันการเงินมีความแข็งแกร่งพอจะรองรับวิกฤตการเงินโลก และสามารถ ทำหน้าที่เป็นตัวกลางทางการเงินต่อไปได้

ประการที่สาม ภาคเอกชนเองมีความแข็งแกร่งกว่าในอดีตมาก

ประการสุดท้าย คือ นโยบายเศรษฐกิจมหภาคทั้งนโยบายการเงินและการคลังของทางการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเศรษฐกิจ ภายใต้วินัยทางการเงินและการคลัง จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อไปได้

ดังนั้น ธปท. จึงเห็นว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้ยังมีแนวโน้มที่จะเติบโตต่อไปได้ โดยประมาณการเศรษฐกิจลาสุดของ ธปท. ชี้ว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะขยายตัวเฉลี่ยทั้งปีตั้งแต่ร้อยละ 0 ถึง 2.0 ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 0.5 ถึง 1.5 ต่อปี ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในบางเดือนอาจจะติดลบ ซึ่งเป็นผลของการปรับลดลงอย่างมากของราคาน้ำมัน โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันปีก่อน

แนวนโยบายการบริหารเศรษฐกิจการเงินของ ธปท. ในปี 2552

1. นโยบายการเงิน

ธปท. พร้อมที่จะดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย ภายใต้กรอบวินัยทางการเงิน ท่ามกลางสภาวการณ์ที่อัตราเงินเฟ้อลดลงมาก แต่เศรษฐกิจมีความเสี่ยงที่จะชะลอตัวจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศ ประกอบกับแรงกระตุ้นทางการคลังยังต้องอาศัยเวลาอีกระยะหนึ่ง ทั้งนี้ การดำเนินนโยบายการเงิน ที่ผ่อนคลายนั้น จะช่วยลดต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการ สอดรับกับนโยบายและมาตรการต่างๆ ของภาครัฐ และประคองให้เศรษฐกิจไทยยังคงสามารถเติบโตได้ในปีนี้

2. การดูแลอัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนเคลื่อนย้าย

ควบคู่ไปกับการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย ธปท. จะดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน ในลักษณะที่มีความยืดหยุ่นเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา โดยจะดูแลไม่ให้ค่าเงินบาทผันผวนมากเกินไปจนเป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจ สำหรับด้านเงินทุนเคลื่อนย้าย ธปท. จะยังคงยึดกรอบการดำเนินนโยบายเงินทุนเคลื่อนย้าย ที่ให้มีการเปิดเสรีอย่างค่อยเป็นค่อยไป

อนึ่ง ในสภาวการณ์ที่เงินทุนเคลื่อนย้ายมีแนวโน้มผันผวนสูงจากปัญหาวิกฤตการเงินโลก ซึ่งส่งผล ให้ค่าเงินต่างๆ สามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วนั้น ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับอัตราแลกเปลี่ยน ควรจะบริหารความเสี่ยงโดยทำประกันความเสี่ยงไว้อย่างสม่ำเสมอ เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน ที่อาจเปลี่ยนแปลงไปในทางตรงข้ามกับที่ได้คาดไว้

3. การดูแลสภาพคล่องและระบบสถาบันการเงิน

ขณะนี้สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ยังมีเพียงพอ สะท้อนจากปริมาณเงินฝากที่มีมากกว่าเงินให้สินเชื่ออยู่พอสมควร ซึ่งชี้ให้เห็นว่าสภาพคล่องส่วนเกินในระบบยังสามารถรองรับความต้องการทางธุรกิจ ทั้งของภาครัฐและเอกชน พร้อมกันนี้ ธปท. จะดูแลให้ระบบสถาบันการเงินและตลาดเงิน มีสภาพคล่องเพียงพออย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ สภาพคล่องของธุรกิจที่หลายฝ่ายมีความกังวลนั้น ธปท. เห็นว่ามาตรการภาครัฐที่จะช่วย ค้ำประกันเงินกู้ และสนับสนุนสินเชื่อแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมผ่านธนาคารของรัฐ จะสามารถ ช่วยบรรเทาปัญหานี้ได้พอควร และเมื่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น ก็เชื่อว่าสภาพคล่องของธุรกิจ จะปรับตัวดีขึ้นตามมา

นอกจากนี้ ธปท. มุ่งหมายให้แผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินระยะที่ 2 เริ่มดำเนินการได้ในปีนี้ ซึ่งจะมีมาตรการต่างๆ เพื่อลดต้นทุนของธุรกรรมการเงิน ส่งเสริมการแข่งขัน ให้ระบบสถาบันการเงิน มีประสิทธิภาพและภูมิคุ้มกันที่ดีขึ้น ตลอดจนประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างทั่วถึงมากขึ้น มาตรการเหล่านี้แม้จะยังไม่เห็นผลในระยะสั้น แต่เป็นสิ่งที่ไม่อาจละเลยได้ เพราะการเตรียมความพร้อมของระบบอย่างต่อเนื่องเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะเพิ่มความเข้มแข็งให้แก่ระบบเศรษฐกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ