เศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือเดือนธันวาคม 2551 และ ปี 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 2, 2009 15:19 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคเหนือเดือนธันวาคม 2551 ชะลอตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน รายได้เกษตรกร ขยายตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน โดยเป็นผลจากปัจจัยด้านราคาตามมาตรการรับจำนำข้าวของทางการ ด้านการอุปโภคบริโภค ภาคเอกชนชะลอตัวจากเดือนก่อน ขณะที่การเบิกจ่ายเงินงบประมาณภาครัฐเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะรายจ่ายประจำ อย่างไรก็ตาม การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวมากขึ้น โดยเฉพาะการผลิตของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ในขณะเดียวกันเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติลดลง การลงทุนภาคเอกชนทรงตัวจากเดือนก่อนแต่ มีสัญญาณการลงทุนในระยะต่อไปดีขึ้นทั้งด้านก่อสร้างและเครื่องจักร การส่งออกและนำเข้าหดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน อัตราเงินเฟ้อลดลงตามราคาน้ำมันและมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ เงินฝากขยายตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อน ขณะที่สินเชื่อชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2

ปี 2551 ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคเหนือขยายตัวจากปีก่อน โดยปริมาณและราคาผลผลิตทางการเกษตร ขยายตัวดีส่งผลให้รายได้เกษตรกรสูงขึ้น ประกอบกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขยายตัวตามการผลิตเพื่อส่งออกโดยเฉพาะ ในครึ่งปีแรก การส่งออกและการนำเข้าขยายตัวดี การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนทรงตัวจากการระมัดระวังการใช้จ่ายของ ประชาชน ขณะที่ภาคบริการหดตัว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมันที่อยู่ระดับสูงในช่วงครึ่งปีแรกและความผันผวนของ สถานการณ์ด้านการเมือง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนอย่างมาก ทำให้การลงทุนภาคเอกชนหด ตัวต่อเนื่องจากปีก่อนโดยเฉพาะภาคการก่อสร้าง ด้านการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของภาครัฐลดลงตามการเบิกจ่ายงบลงทุน อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นจากราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มเป็นสำคัญ สำหรับเงินฝากและสินเชื่อยังคงขยายตัวต่อเนื่อง จากปีก่อน

รายละเอียดของแต่ละภาคเศรษฐกิจ มีดังนี้

1. ภาคเกษตร เดือนธันวาคม 2551 รายได้เกษตรกรขยายตัวร้อยละ 29.0 เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของราคา และผลผลิตข้าวนาปีเป็นสำคัญ โดยดัชนีราคาพืชผลสำคัญขยายตัวร้อยละ 25.6 ตามราคาข้าวเปลือกเจ้านาปีที่ขยายตัวร้อยละ 44.1 จากราคารับจำนำของทางการ และราคาอ้อยโรงงานที่เพิ่มขึ้น ส่วนราคาข้าวเปลือกเหนียวนาปีและมันสำปะหลังหดตัว ร้อยละ 16.7 และร้อยละ 34.2 ตามลำดับ ทางด้านดัชนีผลผลิตพืชผลหลักขยายตัวร้อยละ 3.4 จากข้าวนาปีและมันสำปะหลังที่ ขยายตัวร้อยละ 3.3 ร้อยละ 13.2 ตามลำดับ เนื่องจากเกษตรกรเพิ่มการผลิตตามแรงจูงใจของราคาที่อยู่ในเกณฑ์สูงในช่วงต้นปี ประกอบกับผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย สำหรับอ้อยโรงงานหดตัวร้อยละ 4.7 จากการลดพื้นที่เพาะปลูก เนื่องจากราคาในฤดูการผลิตก่อนหน้าไม่จูงใจและต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น

ปี 2551 รายได้ของเกษตรกรในภาคเหนือขยายตัวร้อยละ 42.3 เร่งตัวเมื่อเทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 11.4 ในปีก่อน โดยดัชนีราคาพืชผลหลักขยายตัวร้อยละ 33.1 เป็นผลจากราคาพืชสำคัญที่เร่งตัวขึ้นมากตามราคาตลาดโลกในช่วงต้น ปี โดยเฉพาะราคาข้าวเปลือกเจ้านาปีและนาปรังที่ขยายตัวร้อยละ 72.3 และร้อยละ 95.6 ตามลำดับ ประกอบกับราคาข้าวโพด เลี้ยงสัตว์ อ้อยโรงงาน มันสำปะหลังขยายตัวร้อยละ 10.8 ร้อยละ 12.4 ร้อยละ 33.2 ตามลำดับ ขณะที่ราคาข้าวเปลือกเหนียว นาปีหดตัวร้อยละ 19.9 เป็นผลจากฐานสูงในปี 2550 เนื่องจากปัจจัยชั่วคราวตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นในช่วงก่อนกีฬา โอลิมปิกเพื่อไปผลิตเหล้าสาเกและอาหาร ทางด้านดัชนีผลผลิตพืชสำคัญขยายตัวร้อยละ 9.2 จากผลผลิตข้าวนาปี ข้าวนาปรัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และอ้อยโรงงานที่ขยายตัวร้อยละ 3.3 ร้อยละ 32.5 ร้อยละ 1.6 และร้อยละ 8.0 ตามลำดับ เนื่องจากราคาอยู่ ในเกณฑ์สูงจูงใจให้เกษตรกรเพิ่มการผลิตประกอบกับสภาพอากาศเอื้ออำนวยทำให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น ขณะที่ลำไยและหอมแดงผลผลิตต่อไร่ลดลงมาก เนื่องจากราคาในปีก่อนไม่จูงใจให้เกษตรกรบำรุงและดูแลรักษา ส่วนมันสำปะหลังหดตัวร้อยละ 2.3 เนื่องจากเกษตรกรส่วนหนึ่งหันปลูกพืชอื่น เช่น อ้อยโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

2. ภาคอุตสาหกรรม เดือนธันวาคม 2551 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ภาคเหนือหดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 24.1 เทียบกับที่หดตัวร้อยละ 23.2 เดือนก่อน เป็นผลจากผลผลิตอุตสาหกรรม อิเล็กทรอนิกส์และอาหารที่หดตัวร้อยละ 33.9 และร้อยละ 21.4 เป็นสำคัญ โดยการผลิตของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ลดลงทุก ผลิตภัณฑ์ เช่น มอเตอร์ไฟฟ้าและส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากคำสั่งซื้อของประเทศคู่ค้าที่หดตัวตามการชะลอตัวของ เศรษฐกิจโลก ส่วนการผลิตของอุตสาหกรรมอาหารลดลงตามผลผลิตลำไยอบแห้งเพื่อส่งออก ขณะที่ผลผลิตน้ำตาลหดตัวร้อยละ 9.5 จากพื้นที่เพาะปลูกที่ลดลงและโรงงานน้ำตาลส่วนใหญ่เปิดหีบช้า ด้านการผลิตเซรามิกประเภทเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร เพื่อส่งออกหดตัวร้อยละ 1.6 ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อน ด้านการเจียระไนอัญมณีผลผลิตลดลงมากจากความต้องการ ในตลาดโลกที่หดตัว อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องดื่มขยายตัวร้อยละ 39.6 ตามการผลิตเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ที่ เพิ่มขึ้นมาก

ปี 2551 การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวจากปีก่อน โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมภาคเหนือขยายตัว ร้อยละ 1.3 เทียบกับร้อยละ 0.4 ปีก่อน อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ขยายตัวร้อยละ 2.3 โดยเฉพาะครึ่งแรกของปีตาม การผลิตมอเตอร์ไฟฟ้า และชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น ไดโอด ตัวเก็บประจุ และไอซี อย่างไรก็ตาม การผลิตในช่วง ปลายปีมีแนวโน้มลดลงจากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลก ด้านการผลิตเซรามิกเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารขยายตัวร้อยละ 26.6 เป็น ผลจากส่วนแบ่งตลาดที่เพิ่มขึ้นในตลาดยุโรป การผลิตสังกะสีขยายตัวร้อยละ 6.3 ตามการส่งออกที่ขยายตัวดี สำหรับ อุตสาหกรรมการผลิตในภาคเหนือที่หดตัว ได้แก่ การผลิตอาหารและเครื่องดื่มหดตัวร้อยละ 1.9 และ ร้อยละ 7.6 ตามลำดับ เป็นผลจากการลดลงของผลผลิตลำไยอบแห้งและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ สำหรับการผลิตวัสดุก่อสร้างหดตัวจากการก่อสร้าง ภาครัฐและเอกชนที่ซบเซา การผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปลดลงตามต้นทุนการผลิตและการแข่งขันที่อยู่ในระดับสูง อุตสาหกรรม เจียระไนอัญมณีลดลงมากในช่วงครึ่งหลังของปีตามความต้องการในตลาดต่างประเทศลดลง

3. ภาคบริการ เดือนธันวาคม 2551 มีแนวโน้มหดตัว จากความกังวลของนักท่องเที่ยวที่มีต่อ สถานการณ์การเมืองในประเทศและการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้เครื่องชี้ภาคบริการที่สำคัญหดตัวต่อเนื่องจาก เดือนก่อนทุกรายการ ได้แก่ จำนวนผู้โดยสารผ่านท่าอากาศยานหดตัวร้อยละ 32.0 ต่อเนื่องจากเดือนก่อนในทุกท่าอากาศ ยานของภาคเหนือ การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มประเภทโรงแรมและภัตตาคารหดตัวร้อยละ 33.2 อัตราการเข้าพักของโรงแรม ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 73.9 เทียบกับร้อยละ 76.0 ระยะเดียวกันปีก่อน ขณะที่ราคาห้องพักเฉลี่ยหดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน ร้อยละ 1.1 เนื่องจากมีการแข่งขันด้านราคาและนโยบายด้านราคาเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวของทางการ

ปี 2551 ภาวะภาคบริการหดตัวจากปีก่อน สาเหตุสำคัญจากปัจจัยทางการเมืองในประเทศ กอปรในช่วงครึ่งแรกของปี ต้นทุนการเดินทางท่องเที่ยวอยู่ในเกณฑ์สูงจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ประชาชนระมัดระวัง การใช้จ่าย อีกทั้งในครึ่งหลังของปีได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก เป็นผลให้เครื่องชี้ภาคบริการที่สำคัญ ได้แก่ จำนวนผู้โดยสารผ่านท่าอากาศยานหดตัวร้อยละ 7.7 การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มประเภทโรงแรมและภัตตาคารหดตัว เล็กน้อยร้อยละ 0.8 อัตราการเข้าพักของโรงแรมลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 51.9 เทียบกับร้อยละ 53.7 ปีก่อน ขณะที่ราคาห้องพัก เฉลี่ยเพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.3 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของโรงแรมขนาดใหญ่ในภาคเหนือโดยเฉพาะจังหวัด เชียงใหม่ส่งผลให้ระดับราคาห้องพักเฉลี่ยปรับตัวสูงขึ้น

4. การอุปโภคบริโภค เดือนธันวาคม 2551 ขยายตัวเล็กน้อยจากปัจจัยราคาน้ำมันที่ลดลงและนโยบาย กระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง โดยเครื่องชี้กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญได้แก่ การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มขยายตัว จากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 1.9 ชะลอลงเมื่อเทียบกับร้อยละ 9.8 เดือนก่อน ปริมาณการจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ขยายตัว ร้อยละ 13.6 เร่งตัวจากร้อยละ 3.4 ในเดือนก่อน ตามรายได้เกษตรกรที่ยังขยายตัวดีโดยเฉพาะในภาคเหนือตอนล่าง ขณะที่ ปริมาณการจดทะเบียนรถยนต์หดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 0.1 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนตามการขยายตัวของ ปริมาณจดทะเบียนรถยนต์นั่งส่วนบุคคล

ปี 2551 การอุปโภคบริโภคขยายตัวใกล้เคียงกับปีก่อนตามการระมัดระวังการใช้จ่ายของประชาชน เนื่องจากได้รับผลกระทบราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องในช่วงต้นปี ส่งผลให้ต้นทุนสินค้าและบริการต่างๆ ปรับ สูงขึ้น โดยเครื่องชี้กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญได้แก่ ปริมาณการจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ขยายตัวร้อยละ 8.5 ตามการ เปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคจากปัญหาราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ประกอบกับรายได้เกษตรกรที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในภาคเหนือ ตอนล่าง สำหรับปริมาณการจดทะเบียนรถยนต์ขยายตัวร้อยละ 0.2 เทียบกับที่หดตัวในปีก่อน ขณะที่การจัดเก็บ ภาษีมูลค่าเพิ่มหดตัวร้อยละ 2.4 จากปีก่อน

5. การลงทุนภาคเอกชน เดือนธันวาคม 2551 หดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน สะท้อนจากปริมาณการ จำหน่ายวัสดุก่อสร้างที่หดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน อย่างไรก็ตาม เครื่องชี้ที่สะท้อนความสนใจในการลงทุนก่อสร้างระยะต่อไป ยังอยู่ในเกณฑ์ดี ซึ่งได้แก่ พื้นที่ก่อสร้างที่ได้รับอนุญาตในเขตเทศบาลขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 50.2 ตามการ เพิ่มขึ้นของการขออนุญาตก่อสร้างประเภทเพื่อที่อยู่อาศัยและเพื่อการพาณิชย์ ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนที่ดิน หดตัวร้อยละ 34.6 แต่เป็นผลจากมาตรการภาครัฐเป็นสำคัญ สำหรับแนวโน้มการลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ยังอยู่ใน เกณฑ์ดี สะท้อนจากการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในภาคเหนือที่ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนโดยมีจำนวนเงินลงทุนทั้งสิ้น 2,271 ล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในหมวดบริการ สาธารณูปโภคและเกษตรกรรม

ปี 2551 การลงทุนภาคเอกชนหดตัวต่อเนื่องจากปีก่อน สาเหตุจากความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ลดลงจากใน ภาวะเศรษฐกิจและต้นทุนที่สูงในช่วงครึ่งแรกของปีเป็นสำคัญ สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายวัสดุก่อสร้างที่หดตัวต่อเนื่อง จากปีก่อน ส่วนเครื่องชี้ที่แสดงถึงความสนใจในการลงทุนในระยะต่อไปคือ พื้นที่ก่อสร้างที่ได้รับอนุญาตในเขตเทศบาลขยายตัว ร้อยละ 9.5 เทียบกับปีก่อนที่หดตัวร้อยละ 5.6 สำหรับความสนใจลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์สะท้อนจากการอนุมัติ ส่งเสริมการลงทุนในภาคเหนือขยายตัวจากปีก่อนร้อยละ 17.2 จำนวนเงินลงทุน 9,244 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่อยู่ในหมวด บริการและสาธารณูปโภค เกษตรกรรมและผลิตผลการเกษตร

6. การค้าต่างประเทศ เดือนธันวาคม 2551 การค้าผ่านด่านศุลกากรในภาคเหนือหดตัว โดยการส่งออก ผ่านด่านศุลกากรในภาคเหนือหดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 27.9 เหลือ 189.3 ล้านดอลลาร์ สรอ. ตามการส่งออก สินค้าอุตสาหกรรมที่หดตัวร้อยละ 12.0 โดยเฉพาะการส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และการเจียระไนอัญมณีที่หดตัวจากคำ สั่งซื้อที่ลดลงมาก ด้านการส่งออกสินค้าเกษตรหดตัวร้อยละ 37.6 ตามการส่งออกยางแผ่นรมควันที่ลดลง สำหรับการส่งออก ผ่านด่านชายแดนหดตัวร้อยละ 24.0 เหลือ 71.9 ล้านดอลลาร์ สรอ. โดยหดตัวเป็นเดือนแรกนับแต่เดือนเมษายน 2550 ตาม การส่งออกไปจีนตอนใต้ที่หดตัวถึงร้อยละ 75.8 อย่างไรก็ดี การส่งออกไปพม่าและลาวยังคงขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน ร้อยละ 10.3 และร้อยละ 118.7 จากสินค้าน้ำมันพืช น้ำมันเชื้อเพลิง และยางแผ่นรมควัน

การนำเข้าผ่านด่านศุลกากรในภาคเหนือหดตัวร้อยละ 14.4 เหลือ 104.5 ล้านดอลลาร์ สรอ. เป็นผลจากการ นำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางที่หดตัวร้อยละ 49.1 เป็นสำคัญ โดยเฉพาะการลดลงของนำเข้าวัตถุดิบในอุตสาหกรรม อิเล็กทรอนิกส์ สินค้านำเข้าที่ลดลงได้แก่ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เพชรเพื่อเจียระไน และส่วนประกอบเครื่องจักรไฟฟ้า เป็นต้น ด้านการนำเข้าผ่านด่านชายแดนยังคงขยายตัวดีร้อยละ 45.7 เป็น 13.4 ล้านดอลลาร์ สรอ. เร่งตัวจากเดือนก่อน โดยการนำเข้า จากพม่า ลาว และจีนตอนใต้ ขยายตัวร้อยละ 28.6 ร้อยละ 72.2 และร้อยละ 55.9 ตามลำดับ

ดุลการค้า ในเดือนธันวาคม 2551 เกินดุล 84.8 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนและ เดือนก่อนที่เกินดุล 140.6 และ 91.7 ล้านดอลลาร์ สรอ. ตามลำดับ

ปี 2551 มูลค่าการค้าผ่านด่านศุลกากรในภาคเหนือขยายตัวจากปีก่อนร้อยละ 4.5 เป็น 4,426.8 ล้านดอลลาร์ สรอ. เทียบกับที่หดตัวร้อยละ 2.9 ในปีก่อน โดยการส่งออกผ่านด่านศุลกากรในภาคเหนือขยายตัวร้อยละ 3.7 เป็น 2,798.9 ล้านดอลลาร์ สรอ. โดยขยายตัวดีในช่วงครึ่งปีแรกตามการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่ขยายตัวร้อยละ 13.2 ในสินค้าประเภทแผงวงจรไฟฟ้าสำเร็จรูป เพชรเจียระไนและเครื่องประดับ เลนส์กล้องถ่ายรูป และน้ำมันเชื้อเพลิง อย่างไรก็ดี ภาวะ เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าชะลอตัวลงชัดเจนในช่วงปลายปีส่งผลให้การส่งออกหดตัวในไตรมาส 4 ขณะที่การส่งออกผ่านด่าน ชายแดนขยายตัวร้อยละ 37.4 เป็น 927.0 ล้านดอลลาร์ สรอ. เร่งตัวขึ้นจากปีก่อน โดยการส่งออกไปพม่าขยายตัวร้อยละ 59.1 เป็น 757.3 ล้านดอลลาร์ สรอ. เนื่องจากช่วงกลางปีพม่าประสบปัญหาภัยธรรมชาติจึงมีความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภค เพิ่มขึ้น การส่งออกไปลาวขยายตัวร้อยละ 68.6 เป็น 59.6 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขณะที่การส่งออกไปจีนตอนใต้หดตัวร้อยละ 32.7 เหลือ 110.1 ล้านดอลลาร์ สรอ.

การนำเข้า ผ่านด่านศุลกากรในภาคเหนือขยายตัวจากปีก่อนร้อยละ 5.7 เป็น 1,627.9 ล้านดอลลาร์ สรอ. เร่งตัวปีก่อน เป็นผลจากการนำเข้าที่ขยายตัวดีตามการส่งออกในช่วงครึ่งปีแรก โดยการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัว ร้อยละ 19.5 ตามการนำเข้าผักและผลไม้ ขณะที่ในช่วงปลายปีการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง และสินค้าทุนหดตัวร้อยละ 1.2 และร้อยละ 3.7 ตามลำดับ สอดคล้องกับการชะลอตัวของความต้องการในประเทศและการส่งออกที่หดตัว สินค้านำเข้า สำคัญได้แก่ วัตถุดิบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เพชรเพื่อเจียระไนและเครื่องประดับ ด้านตลาดนำเข้าที่ขยายตัวดี ได้แก่ ญี่ปุ่น มาเลเซีย และจีน การนำเข้าผ่านด่านชายแดนขยายตัวร้อยละ 13.6 เป็น 114.3 ล้านดอลลาร์ สรอ. เร่งตัวจากปีก่อน ตามการ นำเข้าจากจีนตอนใต้และลาวที่ขยายตัวร้อยละ 41.3 และร้อยละ 15.8 ตามลำดับ ส่วนการนำเข้าจากพม่าหดตัวร้อยละ 2.5

ดุลการค้า ปี 2551 เกินดุล 1,171.0 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปีก่อนที่เกินดุล 1,157.8 ล้านดอลลาร์ สรอ.

7. การเบิกจ่ายเงินงบประมาณผ่านคลังจังหวัดในภาคเหนือ เดือนธันวาคม 2551 มีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น จำนวน 11,240.4 ล้านบาท ขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 5.8 เป็นผลจากรายจ่ายประจำที่ขยายตัวร้อยละ 9.6 ตาม การขยายตัวของการเบิกจ่ายหมวดเงินอุดหนุนทั่วไปที่เป็นรายจ่ายประจำ งบดำเนินงานและรายจ่ายอื่น ส่วนรายจ่ายลงทุนหด ตัวร้อยละ 8.4 เหลือ 2,065.4 ล้านบาท ตามรายจ่ายหมวดที่ดิน/สิ่งก่อสร้างที่หดตัวร้อยละ 10.2 จากระยะเดียวกันปีก่อน

ปี 2551 (มกราคม ธันวาคม 2551) การเบิกจ่ายเงินงบประมาณผ่านคลังจังหวัดในภาคเหนือหดตัวร้อยละ 4.1 เหลือ 149,408 ล้านบาท เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 18.8 ในปีก่อน เป็นผลจากความผันผวนของปัจจัยทางการเมืองและต้นทุนที่ สูงขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปีเป็นสำคัญ โดยการเบิกจ่ายงบลงทุนหดตัวร้อยละ 18.9 เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 44.3 ในปีก่อน โดยเฉพาะลดลงในหมวดที่ดิน/สิ่งก่อสร้าง และหมวดเงินอุดหนุนทั่วไปที่เป็นรายจ่ายลงทุนและครุภัณฑ์ อย่างไรก็ดี การเบิกจ่าย ด้านรายจ่ายประจำขยายตัวร้อยละ 4.2 ตามหมวดเงินเดือนและเงินอุดหนุนทั่วไปที่ขยายตัวร้อยละ 0.8 และร้อยละ 44.9 ตามลำดับ

8. ระดับราคา เดือนธันวาคม 2551 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 ชะลอลงเมื่อเทียบกับ ร้อยละ 2.6 เดือนก่อน เป็นผลจากราคาน้ำมันที่ลดลงและมาตรการภาครัฐ ส่งผลให้ราคาสินค้าในหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหาร และเครื่องดื่มลดลงร้อยละ 8.7 โดยหมวดเคหะสถาน และหมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสารลดลงร้อยละ 9.5 และร้อยละ 14.7 ตามลำดับ สำหรับราคาในหมวดอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.7 ตามราคาที่เพิ่มขึ้นของข้าว แป้ง ผลิตภัณฑ์ จากแป้ง เนื้อสัตว์ และผักและผลไม้ ด้านดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 3.0 ใกล้เคียงกับ เดือนก่อน

ปี 2551 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.6 เร่งตัวขึ้นเมื่อเทียบกับร้อยละ 2.3 ปีก่อน โดยดัชนี หมวดอาหารและเครื่องดื่ม และหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 14.2 และร้อยละ 2.0 ตามลำดับ โดยเป็นการเพิ่มขึ้นมากในช่วงครึ่งแรกของปีจากราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และปรับลดลงในช่วงครึ่งหลังของปีตามราคาน้ำมันในประเทศปรับลดลงอย่างต่อเนื่องจากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลกและผลของ มาตรการบรรเทาค่าครองชีพของประชาชน (6 มาตรการ 6 เดือน) ด้านดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 สูงขึ้นเมื่อ เทียบกับร้อยละ 0.6 ปีก่อน

9. การจ้างงาน สำนักงานสถิติแห่งชาติได้สำรวจภาวะการทำงานของประชากรในเดือนพฤศจิกายน 2551 พบว่าภาคเหนือมีกำลังแรงงานรวม 7.0 ล้านคน เป็นผู้มีงานทำ 6.9 ล้านคน โดยการจ้างงานรวมเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน ร้อยละ 5.5 การจ้างงานในภาคเกษตรขยายตัวร้อยละ 4.7 เป็นผลจากความต้องการแรงงานที่เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูกาลเกษตร ประกอบกับการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่ขยายตัวร้อยละ 6.4 เพิ่มขึ้นในสาขาการก่อสร้างและสาขาโรงแรมและภัตตาคาร ด้าน อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.1 ใกล้เคียงกับระยะเดียวกันปีก่อน ด้านผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 เพียง สิ้นเดือนธันวาคม 2551 มีจำนวน 592,663 คน หดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 1.1 โดยเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ขณะที่ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 มีจำนวน 71,725 คน เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 28.5

10. การเงิน เงินฝากที่สาขาธนาคารพาณิชย์ในภาคเหนือ ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2551 มียอดคงค้าง ทั้งสิ้น 366,499 ล้านบาท ขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 6.6 เร่งตัวจากเดือนก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากเงินฝาก ของส่วนราชการและการแข่งขันระดมเงินฝากดอกเบี้ยพิเศษของธนาคารพาณิชย์ ส่งผลให้เงินฝากประเภทประจำขยายตัว ร้อยละ 14.8 โดยเฉพาะในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน พิษณุโลก และนครสวรรค์ ด้านเงินให้สินเชื่อมียอดคงค้าง 303,914 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 6.7 ชะลอลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ตามการชะลอตัวของสินเชื่อประเภทธุรกิจค้าพืชไร่ ค้าปลีก/ค้าส่ง สินเชื่อส่วนบุคคล ธุรกิจลิสซิ่งและสหกรณ์ออมทรัพย์ สินเชื่อที่เพิ่มขึ้นมากอยู่ในจังหวัดเชียงราย นครสวรรค์ เชียงใหม่และแพร่ เป็นหลัก สำหรับสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากอยู่ที่ร้อยละ 83.0 ใกล้เคียงกับร้อยละ 82.8 ในช่วงเดียวกันปีก่อน

ข้อมูลเพิ่มเติม : คุณนุกุล มุกลีมาศ โทร 0 5393 1142 e-mail : nukulm@bot.or.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ