แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนธันวาคม และทั้งปี 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 30, 2009 16:26 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในเดือนธันวาคม 2551 หดตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน โดยในด้านอุปทาน ผลผลิต ภาคอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวหดตัวต่อเนื่อง ส่วนผลผลิตและราคาพืชผลสำคัญชะลอลง ทำให้รายได้เกษตรกรจากพืชผลสำคัญ ชะลอตัว ส่วนในด้านอุปสงค์ การส่งออกและการลงทุนหดตัวเช่นเดียวกับการนำเข้า ขณะที่การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนปรับดีขึ้น เล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนก่อนที่มีเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง กอปรกับมีวันหยุดยาวในช่วงเทศกาลปีใหม่

สำหรับทั้งปี 2551 เศรษฐกิจไทยโดยรวมชะลอลงจากปีก่อน โดยเฉพาะในไตรมาสสุดท้ายของปีจากปัจจัยลบ ทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและความไม่สงบทางการเมืองภายในประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว อย่างไรก็ดี ผลผลิตและราคาพืชผลสำคัญที่ยังอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับปีก่อน ทำให้รายได้เกษตรกรยังขยายตัว ในเกณฑ์ดี ทางด้านอุปสงค์ การบริโภคและการลงทุนลดลงมากในช่วงไตรมาสสุดท้าย แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะลดลงต่อเนื่องในช่วง ครึ่งหลังของปีตามราคาน้ำมันที่ลดลง การส่งออกและการนำเข้าขยายตัวในเกณฑ์ดีตลอดช่วง 3 ไตรมาสแรก แต่การส่งออกกลับมา หดตัวในไตรมาสสุดท้ายของปีตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ขณะที่การนำเข้าชะลอตัวลงมากเช่นกันตามการส่งออก และอุปสงค์ในประเทศ

เสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี เสถียรภาพด้านต่างประเทศเข้มแข็งจากเงินสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง ขณะที่ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดใกล้เคียงสมดุล สำหรับเสถียรภาพในประเทศ อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นเทียบกับปีก่อน จากราคาน้ำมัน ที่อยู่ในระดับสูง แม้จะมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปี ขณะที่อัตราการว่างงานโดยรวมยังอยู่ในระดับต่ำ แต่ก็มีสัญญาณ ของการจ้างงานที่ลดลงในช่วงไตรมาสสุดท้ายโดยเฉพาะในภาคการผลิตที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจ

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจในเดือนธันวาคม และทั้งปี 2551 มีดังนี้

1. ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เบื้องต้น) หดตัวมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ที่ร้อยละ 18.8 เทียบกับร้อยละ 14.9 ในเดือน พฤษภาคม 2541 โดยเป็นการหดตัวในเกือบทุกหมวด เนื่องจากการลดลงมากของอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ ที่สำคัญได้แก่ หมวด อิเล็กทรอนิกส์ หมวดเครื่องใช้ไฟฟ้า หมวดยานยนต์ และหมวดผลิตภัณฑ์เหล็ก ส่วนการผลิตหมวดเครื่องดื่มขยายตัวจาก การผลิตเบียร์เพื่อชดเชยสต็อกที่ลดลง สำหรับอัตราการใช้กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรม ในเดือนนี้อยู่ที่ร้อยละ 58.9 ลดลง เล็กน้อยจากร้อยละ 59.4 ในเดือนก่อน ส่วนใหญ่เป็นการลดลงในหมวดที่ผลิตเพื่อส่งออก

ภาพรวมปี 2551 ผลผลิตอุตสาหกรรม (เบื้องต้น) ขยายตัวร้อยละ 5.3 ชะลอลงจากร้อยละ 8.2 ในปีก่อน ตามการชะลอตัวของ กลุ่มที่ผลิตเพื่อส่งออกเป็นหลัก โดยเฉพาะหมวดอิเล็กทรอนิกส์ และหมวดเครื่องหนัง ขณะที่กลุ่มที่ผลิตเพื่อขายในประเทศเร่งตัวขึ้น ในช่วงครึ่งแรกของปีจากการผลิตรถยนต์นั่ง และรถจักรยานยนต์ เป็นสำคัญ สำหรับอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ระดับร้อยละ 69.3 ลดลงจากร้อยละ 73.9 ในปีก่อน

2. ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวร้อยละ 0.9 จากระยะเดียวกันปีก่อน ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน ตามการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคกลุ่มสินค้าไม่คงทน และดัชนีหมวดยานยนต์ที่ปรับสูงขึ้นตามปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ซึ่งขยายตัวสูงจากผลของฐานต่ำในปีก่อนที่ผู้บริโภคชะลอการซื้อรถยนต์เพื่อรอมาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับรถยนต์พลังงานทางเลือก (E20) ซึ่งบังคับใช้ช่วงต้นปี 2551 อย่างไรก็ดี ปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์หดตัวตามรายได้เกษตรกรที่ชะลอลง ดัชนีการลงทุน ภาคเอกชน (ประมาณการ) หดตัวร้อยละ 2.6 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ตามเครื่องชี้ในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์เป็นสำคัญ โดยการนำเข้าสินค้าทุน ณ ราคาคงที่ปรับตัวลดลง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานสูงในปีก่อน ส่วนปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ภายในประเทศและเครื่องชี้การลงทุนในหมวดการก่อสร้างยังคงหดตัวต่อเนื่อง

ภาพรวมปี 2551 ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวร้อยละ 3.6 จากปีก่อน โดยในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี เครื่องชี้ เกือบทุกตัวขยายตัวสูง โดยเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค และดัชนีหมวดยานยนต์ ขณะที่ดัชนีหมวด เชื้อเพลิงชะลอตัว เนื่องจากราคาขายปลีกน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ อย่างไรก็ตาม ในช่วงไตรมาสที่ 4 ดัชนีการอุปโภคบริโภค ภาคเอกชนมีแนวโน้มชะลอลง สอดคล้องกับทิศทางรายได้เกษตรกร ประกอบกับความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจาก ความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองและวิกฤตการเงินโลก สำหรับดัชนีการลงทุนภาคเอกชน (ประมาณการ) ขยายตัวจากปีก่อน ร้อยละ 2.9 ตามการขยายตัวของเครื่องชี้ในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าทุน ณ ราคาคงที่เป็นสำคัญ ขณะที่ ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ภายในประเทศมีแนวโน้มลดลงตั้งแต่ช่วงกลางปี ส่วนเครื่องชี้การลงทุนในหมวดการก่อสร้างหด ตัวอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี ส่งผลให้ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มชะลอลงและหดตัวในไตรมาสที่ 4

3. ภาคการคลัง ในเดือนธันวาคม 2551 รัฐบาลมีรายได้จัดเก็บ 101.9 พันล้านบาท หดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 7.1 จากรายได้ภาษีที่หดตัวร้อยละ 10.7 จากทุกฐานภาษี สำหรับรายได้ที่มิใช่ภาษี ขยายตัวร้อยละ 58.1 เพิ่มขึ้นจากการนำส่งรายได้ของ รัฐวิสาหกิจ ขณะที่รายจ่ายเร่งตัวขึ้น เป็นผลให้รัฐบาลขาดดุลเงินสด 47.5 พันล้านบาท ซึ่งชดเชยการขาดดุลด้วยการกู้สุทธิ 18.0 พันล้านบาท และใช้เงินคงคลัง 29.5 พันล้านบาท ทำให้เงินคงคลังลดลงจาก 91.0 พันล้านบาท เป็น 61.4 พันล้านบาท

ในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2552 (ตุลาคม-ธันวาคม 2551) รัฐบาลจัดเก็บรายได้ 341.3 พันล้านบาท หดตัวจาก ระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 9.2 ดุลเงินสดขาดดุล 147.6 พันล้านบาท ประกอบกับมีการชำระคืนเงินกู้สุทธิ 20.8 พันล้านบาท ทำให้ ใช้เงินคงคลังเพื่อชดเชยการขาดดุลทั้งสิ้น 168.5 พันล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ สิ้นไตรมาสแรก เป็น 61.4 พันล้านบาท ลดลงจาก 229.9 พันล้านบาทเมื่อสิ้นปีงบประมาณ 2551

4. ภาคต่างประเทศ เดือนธันวาคม 2551 ดุลการค้าเกินดุล 496 ล้านดอลลาร์ สรอ. โดยมีมูลค่าการส่งออก 11,515 ล้านดอลลาร์ สรอ. หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่สองที่ร้อยละ 15.7 จากด้านปริมาณเป็นสำคัญ ซึ่งเป็นการหดตัวในเกือบทุกหมวดยกเว้นหมวด อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานสูงที่ขยายตัวตามการส่งออกทองคำ และหมวดที่ใช้วัตถุดิบในประเทศตามการส่งออกน้ำตาล และอาหาร แปรรูปเป็นสำคัญ สำหรับการนำเข้ามีมูลค่า 11,019 ล้านดอลลาร์ สรอ. หดตัวร้อยละ 8.8 โดยเป็นการหดตัวทั้งด้านราคาและปริมาณ ตามปริมาณการนำเข้าที่หดตัวในหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง และราคาที่หดตัวในหมวดเชื้อเพลิงเป็นสำคัญ เมื่อรวมกับดุลบริการ รายได้ และเงินโอน ที่ขาดดุล 405 ล้านดอลลาร์ สรอ. จากการลดลงของรายรับจากการท่องเที่ยวและรายจ่ายจากการส่งกลับกำไร และเงินปันผลภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 91 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขณะที่เงินทุนเคลื่อนย้าย 1/ ขาดดุลสุทธิ 715 ล้านดอลลาร์ สรอ. จากภาคธนาคารที่มีการชำระคืนเงินกู้ต่างประเทศเป็นสำคัญ เมื่อรวมค่าความคลาดเคลื่อนสุทธิ ทำให้ ดุลการชำระเงิน เกินดุล 1,944 ล้านดอลลาร์ สรอ. เงินสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2551 อยู่ที่ระดับ 111.0 พันล้านดอลลาร์ สรอ. โดยมียอดคงค้างการซื้อเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าสุทธิ จำนวน 7.0 พันล้านดอลลาร์ สรอ.

สำหรับทั้งปี 2551 ดุลการค้าเกินดุล 237 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงจากที่เกินดุล 11,572 ล้านดอลลาร์ สรอ. ในปี 2550 โดย การส่งออกขยายตัวร้อยละ 16.8 ขณะที่การนำเข้าขยายตัวร้อยละ 26.4 ทั้งนี้ การส่งออกและการนำเข้าขยายตัวดีต่อเนื่องในช่วง 3 ไตรมาสแรก แต่ในไตรมาสสุดท้าย การส่งออกหดตัวลงตามภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ในขณะที่การนำเข้าชะลอลงมาก ตามอุปสงค์ในประเทศและภาวะการส่งออก ดุลบริการ รายได้และเงินโอนขาดดุล 416 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงจากปีก่อนที่เกินดุล 2,477 ล้านดอลลาร์ สรอ. เป็นผลจากการลดลงของรายรับด้านการท่องเที่ยวและการส่งกลับกำไรและเงินปันผลภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 178 ล้านดอลลาร์ สรอ. จากที่เกินดุลถึง 14,049 ล้านดอลลาร์ สรอ. ในปีก่อนหน้า เงินทุนเคลื่อนย้าย เกินดุลสุทธิ 12,817 ล้านดอลลาร์ สรอ. โดยเป็นเงินไหลเข้าสุทธิทั้งในภาคธนาคารจากธุรกรรมซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า กับ Resident และ Non-residents และภาคธุรกิจที่ไม่ใช่ธนาคารซึ่งส่วนใหญ่เป็นการไหลเข้าของเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเงินทุนเคลื่อนย้ายสุทธิในเดือนล่าสุดเป็นข้อมูลเร็วเบื้องต้น ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงและแก้ไขในเดือนถัดไป ในขณะที่เงินลงทุนในหลักทรัพย์ของต่างชาติและของไทยยังคงไหลออกสุทธิ เมื่อรวมกับค่าความคลาดเคลื่อนที่เป็นเงินไหลเข้าทำให้ ดุลการชำระเงิน เกินดุล 24,693 ล้านดอลลาร์ สรอ. สูงกว่าปีก่อนที่เกินดุล 17,102 ล้านดอลลาร์ สรอ.

5. อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ในเดือนธันวาคม 2551 เท่ากับร้อยละ 0.4 ชะลอลงมากจากเดือนก่อนหน้า ตามราคาในหมวดพลังงาน ที่ลดลงเป็นสำคัญ ในขณะที่ราคาในหมวดอาหารสดชะลอลงเล็กน้อย นอกจากนี้ ต้นทุนราคาน้ำมันที่ลดลงทำให้ค่าโดยสารสาธารณะ ลดลง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.8 ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิตหดตัวจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 1.7 เป็นการหดตัวครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2542 จากราคาในหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม โดยเฉพาะปิโตรเลียม และผลิตภัณฑ์ จากเหมืองที่หดตัว ขณะที่ราคาในหมวดผลผลิตเกษตรกรรมชะลอลง

สำหรับภาพรวมของปี 2551 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานสูงขึ้นจากปีก่อนเป็นร้อยละ 5.5 และ 2.4 ตามลำดับ จากราคาพลังงานและอาหารสดที่เร่งตัวขึ้นมากโดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปี โดยราคาต้นทุนที่สูงขึ้นทำให้มีการส่งผ่านต้นทุน ไปยังสินค้าในตะกร้าเงินเฟ้อพื้นฐาน อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อได้ปรับลดลงต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปีตามราคาน้ำมันที่ลดลง เป็นสำคัญ

6. ภาคการเงิน2/ ฐานเงิน ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2551 ขยายตัวร้อยละ 11.3 จากระยะเดียวกันปีก่อน ขณะที่ปริมาณเงินตาม ความหมายกว้าง (Broad Money) ขยายตัวร้อยละ 9.1 สำหรับเงินฝากของสถาบันรับฝากเงิน (Depository Corporations) ขยายตัว ร้อยละ 8.4 ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีเงินลงทุนของคนไทยในหลักทรัพย์ต่างประเทศที่ครบกำหนดไหลกลับเข้ามาฝากในระบบ ทั้งนี้ หาก นับรวมการออกตราสารหนี้ประเภทตั๋วแลกเงิน เงินฝากจะขยายตัวร้อยละ 8.9 จากระยะเดียวกันปีก่อน ส่วนสินเชื่อภาคเอกชนของ สถาบันรับฝากเงินขยายตัวร้อยละ 9.3 จากระยะเดียวกันปีก่อน ชะลอตัวลงจากสินเชื่อที่ให้แก่ภาคธุรกิจเป็นสำคัญ

สำหรับทั้งปี 2551 เงินฝากของสถาบันรับฝากเงินมีแนวโน้มชะลอตัวในช่วงครึ่งแรกของปี เนื่องจากผู้ฝากเงินได้เปลี่ยนไป ลงทุนในตราสารการเงินประเภทอื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า เช่น พันธบัตรออมทรัพย์ เงินลงทุนในกองทุนรวม เป็นต้น อย่างไรก็ดี เงินฝากมีแนวโน้มปรับสูงขึ้น เป็นผลจากการเคลื่อนย้ายการลงทุนจากแหล่งอื่นที่มีความเสี่ยงสูงกว่ากลับเข้ามาฝากในระบบ ซึ่งรวมถึง เงินลงทุนของคนไทยในหลักทรัพย์ต่างประเทศบางส่วนที่ครบกำหนด ส่วนทางด้านสินเชื่อของสถาบันรับฝากเงินมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในช่วง 3 ไตรมาสแรก แต่กลับชะลอลงในช่วงไตรมาสสุดท้ายตามสภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนตัวลง

อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในตลาดเงิน ในเดือนธันวาคม 2551 อัตราดอกเบี้ยธุรกรรมซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน และอัตราดอกเบี้ย ระหว่างธนาคารระยะ 1 วัน เฉลี่ยเท่ากันอยู่ที่ร้อยละ 2.85 ต่อปี ลดลงจากเดือนพฤศจิกายน เนื่องจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงร้อยละ 1 ต่อปี เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2551 จากร้อยละ 3.75 เหลือร้อยละ 2.75 ต่อปี

สำหรับทั้งปี 2551 อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในตลาดการเงินค่อนข้างทรงตัวในช่วงครึ่งแรกของปี และปรับลดลงในช่วงครึ่งหลัง ของปีตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นสำคัญ ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในตลาดเงินในปี 2551 ปรับลดลงโดยอัตราดอกเบี้ยซื้อคืน พันธบัตรระยะ 1 วัน และอัตราดอกเบี้ยระหว่างธนาคารระยะ 1 วัน เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 3.38 และ 3.35 ต่อปี ลดลงจากค่าเฉลี่ยในปี 2550 ที่ร้อยละ 3.77 และ 3.79 ต่อปี ตามลำดับ

ในช่วงวันที่ 1-27 มกราคม 2552 ทั้งอัตราดอกเบี้ยธุรกรรมซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน และอัตราดอกเบี้ยระหว่างธนาคาร ระยะ 1 วัน เฉลี่ยลดลงจากเดือนธันวาคม เท่ากันที่ร้อยละ 2.31 ต่อปี ตามการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.75 ต่อปี เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2552 ตั้งแต่เดือนกันยายน 2551 ธปท. ได้ปรับปรุงข้อมูลปริมาณเงินตามความหมายกว้าง เงินฝากและสินเชื่อภาคเอกชน ให้ครอบคลุมข้อมูลจากสหกรณ์ ออมทรัพย์ และกองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market Mutual Funds) นอกจากนี้ ปริมาณเงินตามความหมายกว้างยังนับรวมการออกตราสารหนี้ประเภท ตั๋วแลกเงิน (Bill of Exchange) เข้าไว้ด้วย

7. อัตราแลกเปลี่ยนและดัชนีค่าเงินบาท ในเดือนธันวาคม 2551 เฉลี่ยอยู่ที่ 35.04 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ย ในเดือนพฤศจิกายนที่ 35.09 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. โดยในช่วงต้นเดือนค่าเงินบาทยังคงอ่อนค่าต่อเนื่องจากปัญหาทางการเมืองที่ยืดเยื้อ การถูกปรับลด Outlook ของประเทศไทยลง แต่หลังจากช่วงกลางเดือนเป็นต้นมา ค่าเงินบาทกลับแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ สรอ. ที่ปรับอ่อนค่าลงเนื่องจากความกังวลในภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯ เป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ปรับอ่อนค่าลง ในเดือนธันวาคม

สำหรับทั้งปี 2551 อัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อดอลลาร์ สรอ. เฉลี่ยอยู่ที่ 33.38 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้นจากปีก่อน ร้อยละ 3.5 โดยในช่วงครึ่งแรกของปี ค่าเงินบาทเฉลี่ย 32.38 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. จากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นสำคัญ แต่ในช่วง ครึ่งหลังของปี ค่าเงินบาทเฉลี่ยอ่อนค่าลงมาเป็น 34.37 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. จากปัจจัยการเมืองในประเทศเป็นสำคัญ ส่วนดัชนี ค่าเงินบาท (NEER) อ่อนลงจากค่าเฉลี่ย 78.2 ในปี 2550 เป็น 77.9 ในปี 2551

ในช่วงวันที่ 1-27 มกราคม 2552 อัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อดอลลาร์ สรอ. เคลื่อนไหวอยู่ในช่วงแคบ ๆ โดยค่าเฉลี่ย 34.92 บาท ต่อดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากเดือนธันวาคม

ข้อมูลเพิ่มเติม: พรรณพิลาส เรืองวิสุทธิ์ โทร. 0-2283-5648, 0-2283-5639 e-mail: punpilay@bot.or.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ