ภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ไตรมาส 4 ปี 2551 และแนวโน้ม ปี 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 3, 2009 17:07 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ภาวะเศรษฐกิจภาคใต้ไตรมาสที่ 4 ปี 2551 ชะลอตัว โดยทางด้านอุปทาน ผลผลิตพืชผล สำคัญชะลอตัว ขณะที่ราคาลดลง ส่งผลให้รายได้เกษตรกรลดลง ขณะเดียวกันผลผลิตอุตสาหกรรมและประมง ลดลง ส่วนการท่องเที่ยวชะลอตัว ทางด้านอุปสงค์ การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน การส่งออกและการลงทุน ชะลอตัว ขณะที่การเบิกจ่ายงบประมาณลดลง รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 ปี 2551 มีดังนี้

1. ภาคเกษตร รายได้จากการขายพืชผลสำคัญของเกษตรกรลดลงร้อยละ 29.0 ตามราคา พืชผลสำคัญที่ลดลงร้อยละ 32.8 เนื่องจากราคายางพาราและปาล์มน้ำมันที่สูงขึ้นในช่วง 3 ไตรมาสแรก ลด ต่ำลงอย่างรวดเร็ว โดยราคายางแผ่นดิบคุณภาพ 3 เฉลี่ยกิโลกรัมละ 50.61 บาท ลดลงร้อยละ 33.5 ราคา ปาล์มน้ำมันทั้งทะลายเฉลี่ยกิโลกรัมละ 2.94 บาท ลดลงร้อยละ 41.6 ตามราคาโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ปรับ ลดลงอย่างรวดเร็ว จากความกังวลในวิกฤตเศรษฐกิจโลก ขณะที่ผลผลิตพืชหลักเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7 ชะลอลง เมื่อเทียบกับที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.2 ในไตรมาสที่ 3 ที่ผ่านมา ผลจากผลผลิตปาล์มลดลงร้อยละ 0.7 ขณะที่ยาง เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7

ส่วนการประมงลดลงต่อเนื่อง โดยปริมาณและมูลค่าสัตว์น้ำนำขึ้นที่ท่าเทียบเรือในภาคใต้ลดลง ร้อยละ 8.2 และ 4.9 ตามลำดับ เนื่องจากปริมาณสัตว์น้ำในทะเลลดลง ต้นทุนอยู่ในระดับสูงและการประมง นอกน่านน้ำที่เข้มงวด ทางด้านการเพาะเลี้ยงกุ้ง ผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 32.9 ขณะที่ความต้องการชะลอลงตาม การส่งออก ทำให้ราคาปรับตัวลดลง โดยราคากุ้งขาวขนาด 50 ตัวต่อกิโลกรัม เฉลี่ยกิโลกรัมละ 118.12 บาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 12.0

2. ภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 7.3 ตามการส่งออก เนื่องจากความต้องการจากต่างประเทศชะลอลงจากความไม่มั่นใจในภาวะเศรษฐกิจ โดยอุตสาหกรรมยางมี ปริมาณส่งออก จำนวน 507,214.4 เมตริกตัน ลดลงจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 16.6 อุตสาหกรรม อาหารทะเลแช่เย็นแช่แข็ง มีปริมาณการส่งออก 28,768.0 เมตริกตัน ลดลงร้อยละ 0.7 แต่อาหารบรรจุกระป๋อง มีปริมาณส่งออก 32,953.4 เมตริกตัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 2.0 โดยส่งออกไปตลาด ออสเตรเลีย ญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ยอดรวมการส่งออกชะลอลงมากเมื่อเทียบกับ ไตรมาสก่อน ที่มีปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.6 ส่วนผลผลิตน้ำมันปาล์มดิบมีจำนวน 277,857.0 เมตริกตัน ลดลงจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 0.2

3. การท่องเที่ยว ภาวะการท่องเที่ยวขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง โดยนักท่องเที่ยวชาว ต่างประเทศเดินทางผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองในภาคใต้ทั้งสิ้น 940,971 คน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน ร้อยละ 3.5 แต่ชะลอลงจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 8.8 เนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมือง ในประเทศที่มีการปิดสนามบิน และวิกฤตเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางผ่านตรวจคนเข้าเมือง ภูเก็ตและกระบี่ลดลงร้อยละ 5.2 และ 13.9 ตามลำดับ ส่วนภาคใต้ตอนล่างนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเที่ยว เพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง โดยนักท่องเที่ยวที่เดินทางผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสงขลาเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.7 ชะลอลงจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 39.9 อย่างไรก็ตาม การที่ภาครัฐและเอกชนเร่งประชาสัมพันธ์ เพื่อความสร้างเข้าใจในสถานการณ์ และการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว ทำให้นักท่องเที่ยวมีความมั่นใจ ในความปลอดภัย รวมทั้งเป็นช่วงปิดภาคเรียนของมาเลเซีย ส่งผลให้นักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียที่เป็น นักท่องเที่ยวหลักของภาคใต้ตอนล่างเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น จึงทำให้ยอดนักท่องเที่ยวโดยรวมชะลอลง ไม่มาก สำหรับอัตราการเข้าพักเฉลี่ยร้อยละ 49.2

4. การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 ชะลอลงเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3 ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 โดยเครื่องชี้การบริโภคที่สำคัญได้แก่ การใช้ไฟฟ้าที่อยู่ อาศัยเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.2 ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ปี 2543 จัดเก็บได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 และดัชนียานยนต์ลดลงร้อยละ 7.3 เนื่องจากราคาพืชผลเกษตรที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว

5. การลงทุนภาคเอกชน ชะลอตัว จากความไม่มั่นใจในวิกฤตเศรษฐกิจ ประกอบกับ ผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมือง การท่องเที่ยวที่ชะลอลง และการระมัดระวังในการให้สินเชื่อ ของสถาบันการเงิน โดยพื้นที่ก่อสร้างที่ได้รับอนุญาตในเขตเทศบาลมีจำนวน 373,173 ตารางเมตร ลดลงจาก ไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 14.4 จากการลดลงของการก่อสร้างเพื่อการพาณิชย์เป็นสำคัญ ส่วนการก่อสร้าง ที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 จากมาตรการลดค่าธรรมเนียมและภาษีธุรกิจเฉพาะ ส่วนการจดทะเบียนธุรกิจนิติ บุคคล จำนวนรายเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 แต่เงินทุนจดทะเบียนลดลงร้อยละ 15.0 ส่วนใหญ่เป็นการจดทะเบียนใน จังหวัดภูเก็ต สุราษฎร์ธานี และสงขลา กิจการที่มีการจดทะเบียนมากที่สุดเป็นกิจการรับเหมาก่อสร้าง รองลงมา เป็นกิจการโรงแรม ภัตตาคาร ร้านอาหาร สำหรับโครงการลงทุนที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการ ส่งเสริมการลงทุน(BOI) เพิ่มขึ้นทั้งจำนวนรายและเงินลงทุน ส่วนใหญ่เป็นกิจการน้ำมันปาล์มดิบ การผลิตไฟฟ้า จากเชื้อเพลิงชีวมวล โรงแรม และผลิตภัณฑ์ยาง

6. การจ้างงาน การจ้างงานเพิ่มขึ้น จากตำแหน่งงานว่าง จำนวน 10,512 อัตรา มีผู้สมัครงาน 11,416 คน และมีผู้ได้รับการบรรจุงาน 8,934 อัตรา เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 17.0 15.8 และ 67.0 ตามลำดับ ส่วนใหญ่จะเป็นการเพิ่มขึ้นในจังหวัดภูเก็ต สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราชและสงขลา

7. ระดับราคา อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของภาคใต้ในไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ 3.2 ชะลอลงมากเมื่อ เทียบกับไตรมาสก่อนที่มีอัตราเฟ้ออยู่ในระดับร้อยละ 8.8 สาเหตุหลักมาจากราคาสินค้าในหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่ อาหารและเครื่องดื่มลดลงร้อยละ 4.3 ตามการลดลงของราคาสินค้าหมวดเคหสถาน และหมวดพาหนะ การ ขนส่งและการสื่อสาร ส่วนหมวดอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.5 ตามราคาสินค้าในหมวดข้าว แป้งและ ผลิตภัณฑ์จากแป้ง เครื่องประกอบอาหาร ผักและผลไม้ ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกัน ปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8

8. การค้าต่างประเทศ มูลค่าการค้าต่างประเทศรวมของภาคใต้มีทั้งสิ้น 4,965.5 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 22.1 โดยแยกเป็นมูลค่าการส่งออก จำนวน 3,120.7 ล้านดอลลาร์ สรอ.เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 18.6 ตามการเพิ่มขึ้นของมูลค่าส่งออก สินค้าที่สำคัญ ได้แก่ ถุงมือยาง อาหารกระป๋อง และสัตว์น้ำแช่แข็ง ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 1,844.8 ล้าน ดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 28.5 จากมูลค่าการนำเข้าสัตว์น้ำแช่แข็งและ เครื่องจักรอุปกรณ์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของบริษัทในกรุงเทพมหานครและภาคกลาง ผ่านด่านในภาคใต้

9. ภาคการคลัง การเบิกจ่ายเงินงบประมาณของส่วนราชการต่างๆในภาคใต้ มีจำนวน 23,626.1 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 14.2 ตามการลดลงของการเบิกจ่ายเงิน งบประมาณของทุกคลังจังหวัด ซึ่งเงินงบประมาณที่ลดลงเป็นงบรายจ่ายด้านการลงทุน เนื่องจากปัญหาการ จัดสรรเงินอุดหนุนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ยังอยู่ระหว่างรอการพิจารณาของคณะกรรมการการ กระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทางด้านรายได้จากการจัดเก็บภาษีมีจำนวนทั้งสิ้น 6,396.4 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 11.1 เป็นผลจากการดำเนินนโยบายด้านภาษีเพื่อฟื้นฟูและ กระตุ้นเศรษฐกิจเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2551 โดยภาษีสรรพากรลดลงร้อยละ 10.2 ขณะเดียวกันภาษีสรรพสามิต และภาษีศุลกากรลดลงร้อยละ 18.1และ 15.0 ตามลำดับ

10. การเงิน เงินฝากและสินเชื่อชะลอตัว ตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว คาดว่า ณ สิ้นเดือน ธันวาคมนี้ เงินฝากจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.5 ส่วนสินเชื่อจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.7ผลจากการที่ธนาคารพาณิชย์ ระมัดระวังการให้สินเชื่อ นอกจากยังเป็นผลจากสินเชื่อเพื่อทุนหมุนเวียนน้อยลงตามราคาพืชผล ขณะที่ ดอกเบี้ยมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อลดลง ตามราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง ประกอบกับ ความเสี่ยงในการขยายตัวของเศรษฐกิจมีมากขึ้น แนวโน้มปี 2552

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจปี 2552 คาดว่าจะชะลอตัวต่อเนื่อง เนื่องจากได้รับผลกระทบจาก วิกฤตเศรษฐกิจโลก ประกอบกับรายได้เกษตรกรมีแนวโน้มชะลอลง จากการที่ราคายางและปาล์มน้ำมันมี แนวโน้มลดลงตามราคาในตลาดโลก อันเนื่องมาจากความต้องการที่ลดลง นอกจากนี้การส่งออกและการ ท่องเที่ยวจะชะลอตัวตามการชะลอตัวลงเศรษฐกิจโลก

ข้อมูลเพิ่มเติม : นายพสุธา ระวังสุข โทร.0-7423-6200 ต่อ 4345 e-mail : pasuthar@bot.or.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ