แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนมกราคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 27, 2009 16:17 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในเดือนมกราคม 2552 ยังคงหดตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน โดยเฉพาะผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกที่หดตัวสูงต่อเนื่อง ขณะเดียวกันการอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มลดลงสอดคล้องกับการนำเข้าที่หดตัวลงมาก นอกจากนี้ ผลผลิตและราคาพืชผลสำคัญชะลอลงต่อเนื่องทำให้รายได้เกษตรกรจากพืชผลสำคัญชะลอตัว สำหรับการท่องเที่ยวยังคงหดตัวแต่ในอัตราที่น้อยลง เสถียรภาพด้านต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ดีจากเงินสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง รวมทั้งดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลจากการนำเข้าที่ลดลงมาก สำหรับเสถียรภาพในประเทศ อัตราเงินเฟ้อในเดือนมกราคมติดลบเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2542 ส่วนการจ้างงาน แม้อัตราการว่างงานโดยรวมยังอยู่ในระดับต่ำ แต่การจ้างงานในภาคการผลิตยังคงลดลงต่อเนื่อง

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจในเดือนมกราคม 2552 มีดังนี้

1. ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เบื้องต้น) หดตัวร้อยละ 21.3 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนโดยเป็นการหดตัวต่อเนื่องในเกือบทุกหมวด เนื่องจากการลดลงของอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ ที่สำคัญได้แก่ หมวดอิเล็กทรอนิกส์ หมวดเครื่องใช้ไฟฟ้า หมวดอาหาร หมวดผลิตภัณฑ์เหล็ก รวมทั้งหมวดยานยนต์ ซึ่งส่วนหนึ่งเนื่องจากสต็อกที่ยังอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเมื่อปรับฤดูกาลแล้วค่อนข้างทรงตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อน สอดคล้องกับอัตราการใช้กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมที่ปรับฤดูกาลแล้วอยู่ที่ร้อยละ 57.1 สูงกว่าร้อยละ 56.5 ในเดือนก่อนหน้า

2. ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน (ประมาณการ) หดตัวร้อยละ 4.5 จากระยะเดียวกันปีก่อน เครื่องชี้เกือบทุกตัวหดตัว ยกเว้นหมวดเชื้อเพลิงซึ่งได้รับผลบวกจากมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเป็นเดือนสุดท้าย การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค และภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่หดตัวลงมาก อย่างไรก็ดี การใช้ไฟฟ้าสำหรับที่อยู่อาศัยที่หดตัวในเกณฑ์สูงเป็นเพราะสภาพอากาศ หนาวเย็นยาวนานกว่าปกติ เช่นเดียวกับปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเริ่มหดตัวในเดือนนี้ ส่วนหนึ่งเพราะฐานสูงในปีก่อน จากผลของนโยบายภาษีรถยนต์ E20 ดัชนีการลงทุนภาคเอกชน (ประมาณการ) หดตัวร้อยละ 7.9 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ตามเครื่องชี้ในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่หดตัวลงมากตามการนำเข้าสินค้าทุน ณ ราคาคงที่และปริมาณจำหน่ายรถยนต์ เชิงพาณิชย์ภายในประเทศที่หดตัวในอัตราที่เร่งขึ้น

3. ภาคการคลัง รัฐบาลมีรายได้จัดเก็บ 109.0 พันล้านบาท หดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 11.9 จากรายได้ภาษีที่หดตัวร้อยละ 14.9 เป็นสำคัญ ขณะที่รายได้ที่มิใช่ภาษีขยายตัวจากการนำส่งรายได้ของหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจ สำหรับรายได้ภาษี ที่หดตัวมาก ได้แก่ ภาษีฐานการบริโภคที่ลดลงมากจากภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมทั้งภาษีสรรพสามิตและภาษีธุรกิจเฉพาะซึ่งส่วนหนึ่ง เป็นผลจากมาตรการลดหย่อนภาษีของภาครัฐ ขณะที่ภาษีฐานการค้าระหว่างประเทศลดลงตามการนำเข้า อย่างไรก็ตาม ภาษีฐานรายได้ ยังคงขยายตัวร้อยละ 6.3 เพิ่มขึ้นทั้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคล ด้านรายจ่ายรัฐบาลเร่งตัวขึ้น ส่งผลให้รัฐบาล ขาดดุลเงินสด 102.7 พันล้านบาท ซึ่งชดเชยการขาดดุลด้วยการกู้สุทธิ 78.7 พันล้านบาท และใช้เงินคงคลัง 24.0 พันล้านบาท ทำให้ เงินคงคลังลดลงจาก 61.4 พันล้านบาท เป็น 37.4 พันล้านบาท

4. ภาคต่างประเทศ ดุลการค้า เกินดุล 1,688 ล้านดอลลาร์ สรอ. โดยการส่งออกหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ขณะที่การนำเข้า หดตัวมากขึ้นจากเดือนก่อน ทั้งนี้ การส่งออกมีมูลค่า 10,382 ล้านดอลลาร์ สรอ. หดตัวร้อยละ 25.3 เป็นผลจากปัจจัยด้านปริมาณ เป็นสำคัญ โดยเป็นการหดตัวในทุกหมวดยกเว้นหมวดอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานสูงที่ขยายตัวตามการส่งออกทองคำ ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 8,694 ล้านดอลลาร์ สรอ. หดตัวถึงร้อยละ 36.5 โดยเป็นการหดตัวในทุกหมวดสินค้า เมื่อรวมกับดุลบริการ รายได้ และเงินโอน ที่เกินดุล 601 ล้านดอลลาร์ สรอ. เนื่องจากรายจ่ายด้านผลประโยชน์จากการลงทุนที่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อน ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 2,289 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขณะที่เงินทุนเคลื่อนย้าย1/ ขาดดุลสุทธิ 718 ล้านดอลลาร์ สรอ. จากการทำธุรกรรมซื้อเงินตราต่างประเทศของธนาคารพาณิชย์กับ Residents เป็นสำคัญ เมื่อรวมกับค่าความคลาดเคลื่อนสุทธิ ทำให้ดุลการชำระเงิน เกินดุล 1,976 ล้านดอลลาร์ สรอ. เงินสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมกราคม 2552 อยู่ที่ 110.7 พันล้านดอลลาร์ สรอ. โดยมียอดคงค้างการซื้อเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าสุทธิ จำนวน 6.1 พันล้านดอลลาร์ สรอ.

5. อัตราเงินเฟ้อทั่วไป หดตัวร้อยละ 0.4 โดยเป็นอัตราเงินเฟ้อที่ติดลบเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2542 ตามราคา ในหมวดพลังงานที่อยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ราคาในหมวดอาหารสดเริ่มขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง นอกจากนี้ ต้นทุนราคาน้ำมันที่ลดลง ทำให้ค่าโดยสารสาธารณะลดลงตั้งแต่ช่วงปลายเดือนธันวาคม 2551 ประกอบกับราคาน้ำมันปาล์มและอาหารสำเร็จรูปปรับลดลง ทำให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.6 ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิตหดตัวเป็นเดือนที่ 2 ที่ร้อยละ 2.5 ตามราคาในหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง และผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ลดลง ภาคการเงิน2/ ฐานเงิน ณ สิ้นเดือนมกราคม

6. 2552 ขยายตัวร้อยละ 5.7 จากระยะเดียวกันปีก่อน ขณะที่ปริมาณเงิน ตามความหมายกว้าง (Broad Money) ขยายตัวร้อยละ 9.2 สำหรับเงินฝากของสถาบันรับฝากเงิน (Depository Corporations) ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ 6.9 จากการถอนเงินฝากในธนาคารพาณิชย์มาลงทุนในหลักทรัพย์อื่น ๆ ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า ส่วนสินเชื่อภาคเอกชนของสถาบันรับฝากเงินขยายตัวร้อยละ 8.7 ซึ่งเป็นอัตราที่ชะลอลงจากช่วงก่อนหน้า โดยเป็นการชะลอตัวลง ในสินเชื่อที่ให้แก่ภาคธุรกิจเป็นสำคัญ ขณะที่สินเชื่อที่ให้แก่ภาคครัวเรือนยังขยายตัวในอัตราที่ใกล้เคียงกับเดือนก่อน

อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในตลาดเงิน ทั้งอัตราดอกเบี้ยธุรกรรมซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน และอัตราดอกเบี้ยระหว่างธนาคารระยะ 1 วัน เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 2.26 ต่อปี ลดลงจากเดือนธันวาคม 2551 ตามการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.75 ต่อปี เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2552 จากร้อยละ 2.75 เหลือร้อยละ 2.00 ต่อปี ทำให้ในช่วงวันที่ 1-24 กุมภาพันธ์ 2552 ทั้งอัตราดอกเบี้ยธุรกรรมซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน และอัตราดอกเบี้ยระหว่างธนาคารระยะ 1 วัน เฉลี่ยลดลงจากเดือนมกราคมมาอยู่ที่ร้อยละ 2.00 ต่อปีเช่นกัน

7. อัตราแลกเปลี่ยนและดัชนีค่าเงินบาท ในเดือนมกราคม 2552 ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวค่อนข้างมีเสถียรภาพเฉลี่ยอยู่ที่ 34.92 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากค่าเฉลี่ยในเดือนธันวาคมที่ 35.04 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. จากการขายดอลลาร์ สรอ. ของผู้ส่งออกทองคำและสถานการณ์การเมืองที่เริ่มคลี่คลายลงจากช่วงก่อนหน้า เป็นสำคัญ ทั้งนี้ ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ปรับแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยเช่นกันจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 76.72 มาอยู่ที่ระดับ 77.23

ในช่วงวันที่ 1-24 กุมภาพันธ์ 2552 อัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อดอลลาร์ สรอ. เฉลี่ยอยู่ที่ 35.22 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากค่าเฉลี่ยในเดือนมกราคมตามค่าเงินในภูมิภาคจากความต้องการถือเงินดอลลาร์ สรอ. และเงินเยน ซึ่งถือเป็นสกุลเงินที่มี ความมั่นคงสูง (Safe Haven Currency) เป็นสำคัญ

ข้อมูลเพิ่มเติม: พรรณพิลาส เรืองวิสุทธิ์

โทร. 0-2283-5648, 0-2283-5639 e-mail: punpilay@bot.or.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ