ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคเหนือเดือนมกราคม 2552 อ่อนตัวลงจากเดือนก่อน โดยรายได้ของเกษตรกรชะลอลง ตามราคาพืชสำคัญขณะที่ด้านผลผลิตหดตัว การเบิกจ่ายเงินงบประมาณของภาครัฐขยายตัวเล็กน้อยตามการเบิกจ่ายของ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนทรงตัวจากเดือนก่อนเป็นผลจากการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการ ที่ช่วยพยุงการใช้จ่ายของภาคเอกชน อย่างไรก็ตาม จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัว ต่อเนื่องโดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ นักท่องเที่ยวชะลอการเดินทาง การลงทุนของภาคเอกชนและการส่งออก/นำเข้า ลดลง ขณะที่เงินเฟ้อทรงตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนเป็นผลจากราคาน้ำมันที่ลดลงและมาตรการของภาครัฐ สำหรับเงินฝาก ขยายตัวต่อเนื่องขณะที่สินเชื่อชะลอตัว
รายละเอียดของแต่ละภาคเศรษฐกิจ มีดังนี้
1. ภาคเกษตร รายได้ของเกษตรกรขยายตัวที่ร้อยละ 0.6 เป็นผลจากราคาที่ชะลอลงมากในขณะที่ผลผลิต หดตัว โดยดัชนีราคาพืชผลหลักขยายตัวร้อยละ 2.2 ชะลอลงเมื่อเทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 16.7 ระยะเดียวกันปีก่อน ตามราคา ข้าวเปลือกเจ้านาปีที่ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 52.7 นับว่ายังอยู่ในเกณฑ์ดีเป็นผลจากมาตรการรับจำนำของทางการ ส่วนราคา ข้าวเปลือกเหนียวนาปี มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หดตัวร้อยละ 10.1 ร้อยละ 42.6 และร้อยละ 19.0 ตามลำดับ ทางด้าน ดัชนีผลผลิตพืชสำคัญหดตัวร้อยละ 1.6 จากอ้อยโรงงานที่หดตัวร้อยละ 4.7 เป็นสำคัญ เนื่องจากราคาอ้อยขั้นต้นของปีเพาะปลูก ก่อนหน้าอยู่ในเกณฑ์ต่ำขณะที่ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น ทำให้เกษตรกรส่วนหนึ่งปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่น เช่น มันสำปะหลัง ผลผลิตข้าวนาปรังลดลงร้อยละ 11.9 โดยส่วนหนึ่งจากปริมาณน้ำไม่เอื้ออำนวยเช่นปีก่อน อย่างไรก็ดี ผลผลิตข้าวนาปี มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 ร้อยละ 13.2 และร้อยละ 1.6 ตามลำดับ เนื่องจากราคาของปีก่อนจูงใจให้เกษตรกร เพิ่มการผลิตและสภาพอากาศเหมาะสมทำให้ผลให้ผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น
2. ภาคอุตสาหกรรม การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัว โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมภาคเหนือหดตัวจาก ระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 33.4 ต่อเนื่องจากเดือนก่อน ตามการลดลงของการผลิตในเกือบทุกหมวดอุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรม อิเล็กทรอนิกส์ที่หดตัวร้อยละ 47.1 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกส่งผลให้คำสั่งซื้อจากต่างประเทศลดลง อุตสาหกรรมอาหารหดตัวร้อยละ 3.0 ตามการผลิตน้ำตาลที่ลดลง การผลิตเครื่องดื่มลดลงมากเนื่องจากการเร่งผลิตเครื่องดื่ม ที่มีแอลกอฮอล์ในเดือนก่อนทำให้สินค้าคงคลังมีปริมาณสูง การผลิตเซรามิกประเภทเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารเพื่อส่งออกหดตัว ร้อยละ 11.4 ตามความต้องการที่ชะลอลงในตลาดยุโรป การอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับการผลิตลดลงมากโดยเฉพาะ การเจียระไนเพชรเพื่อส่งออก ส่วนอุตสาหกรรมผลิตเครื่องแต่งกายและวัสดุก่อสร้าง การผลิตยังคงหดตัวต่อเนื่องแต่ในอัตราที่ ดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน
3. ภาคบริการ อยู่ในเกณฑ์ลดลง เนื่องจากนักท่องเที่ยวระมัดระวังการใช้จ่ายจากความกังวลเกี่ยวกับการ ชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและของประเทศ โดยเครื่องชี้ที่สำคัญได้แก่ การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มประเภทโรงแรมและภัตตาคาร หดตัวร้อยละ 12.8 แต่ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากนโยบายของทางการที่กำหนดให้มีวันหยุดยาวต่อเนื่อง ด้านจำนวนผู้โดยสารผ่านท่าอากาศยานหดตัวร้อยละ 13.3 ต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยหดตัวในทุกท่าอากาศยานของภาคเหนือ สำหรับอัตราการเข้าพักของโรงแรมในภาคเหนือลดลงจากร้อยละ 74.2 ในช่วงเดียวกันปีก่อนเหลือร้อยละ 71.4 อย่างไรก็ดี ราคาห้องพักโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 จากระยะเดียวกันปีก่อน เนื่องจากมีความต้องการเข้าพักในช่วงที่มีการจัดกิจกรรม ของบางจังหวัด
4. การอุปโภคบริโภค ทรงตัวจากเดือนก่อน โดยนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วย พยุงการใช้จ่ายของภาคเอกชน เครื่องชี้กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญได้แก่ การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มขยายตัวจากระยะเดียวกัน ปีก่อนร้อยละ 6.1 เร่งตัวจากเดือนก่อนตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการ สำหรับปริมาณการจดทะเบียนรถยนต์และ รถจักรยานยนต์หดตัวร้อยละ 13.3 และร้อยละ 8.3 โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างตามการชะลอตัวของรายได้เกษตรกร ประกอบกับผู้ประกอบการเพิ่มความเข้มงวดในการให้สินเชื่อเช่าซื้อ อย่างไรก็ตาม รถยนต์นั่งส่วนบุคคลขยายตัวร้อยละ 4.4 แต่เป็นผลจากปัจจัยชั่วคราวจากการขยายสาขาของตัวแทนจำหน่ายบางราย
5. การลงทุนภาคเอกชน หดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน เนื่องจากนักลงทุนมีความกังวลในวิกฤตเศรษฐกิจ โลกและสถานการณ์การเมืองในประเทศ สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายวัสดุก่อสร้างที่หดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน พื้นที่ก่อสร้าง ที่ได้รับอนุญาตในเขตเทศบาลหดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 47.1 โดยเฉพาะในประเภทเพื่อที่อยู่อาศัยและเพื่อการพาณิชย์ ที่หดตัวร้อยละ 30.8 และร้อยละ 32.7 ตามลำดับ สำหรับรายได้ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนที่ดินหดตัวร้อยละ 39.0 อย่างไรก็ดี ทางด้านจำนวนรายของการทำธุรกรรมขยายตัวร้อยละ 1.2 ซึ่งเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นของภาครัฐ แนวโน้มการลงทุนในด้าน เครื่องจักรและอุปกรณ์สะท้อนจากการส่งเสริมการลงทุนของภาคเหนือ มีจำนวนเงินลงทุนลดลงเป็น 64.2 ล้านบาท หดตัวจาก ระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 93.1
6. การค้าต่างประเทศ การค้าผ่านด่านศุลกากรในภาคเหนือหดตัวทั้งการส่งออกและนำเข้า โดยการส่งออก ผ่านด่านศุลกากรในภาคเหนือหดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 34.3 เหลือ 138.2 ล้านดอลลาร์ สรอ. เทียบกับที่หดตัวร้อยละ 27.9 เดือนก่อน ตามการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่หดตัวร้อยละ 28.8 เนื่องจากการลดลงของการส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นสำคัญ ด้านการส่งออกสินค้าเกษตรหดตัวร้อยละ 60.3 จากการลดลงของมูลค่าการส่งออกยางแผ่นรมควัน สำหรับการส่งออก ผ่านด่านชายแดนหดตัวร้อยละ 15.2 เหลือ 60.9 ล้านดอลลาร์ สรอ. โดยการส่งออกไปพม่าหดตัวร้อยละ 11.8 ซึ่งลดลงเป็นครั้งแรก ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2550 การส่งออกไปจีนตอนใต้และลาวหดตัวร้อยละ 46.6 และร้อยละ 2.8 ตามลำดับ ตามการลดลงของการ ส่งออกสินค้าผลิตภัณฑ์ยางและวัสดุก่อสร้าง
การนำเข้าผ่านด่านศุลกากรในภาคเหนือลดลงร้อยละ 48.6 เหลือ 65.5 ล้านดอลลาร์ สรอ. ต่ำสุดนับตั้งแต่ เดือนธันวาคม 2544 เป็นผลจากการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางและสินค้าทุนที่ลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนโดยหดตัว ร้อยละ 58.6 และร้อยละ 30.2 ตามลำดับ โดยเฉพาะการนำเข้าของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ ลำพูน ประกอบกับการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคที่หดตัว แต่ส่วนหนึ่งเนื่องจากในเดือนเดียวกันปีก่อนมีการนำเข้าเภสัชภัณฑ์ มูลค่าสูง ด้านการนำเข้าผ่านด่านชายแดนหดตัวร้อยละ 11.2 เหลือ 8.3 ล้านดอลลาร์ สรอ. ตามการนำเข้าจากจีนตอนใต้และลาวที่ หดตัวร้อยละ 36.9 และร้อยละ 28.0 ตามลำดับ จากการนำเข้าผักและผลไม้ที่ลดลงเป็นสำคัญ ส่วนการนำเข้าจากพม่าขยายตัว ร้อยละ 14.9 ชะลอลงเมื่อเทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 28.6 เดือนก่อน
ดุลการค้าในเดือนมกราคม 2552 เกินดุล 72.8 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนและเดือนก่อน ที่เกินดุล 83.0 และ 84.8 ล้านดอลลาร์ สรอ. ตามลำดับ
7. การเบิกจ่ายเงินงบประมาณผ่านคลังจังหวัดในภาคเหนือ มีจำนวนทั้งสิ้น 19,034.2 ล้านบาท ขยายตัว จากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 0.9 โดยรายจ่ายลงทุนขยายตัวร้อยละ 1.7 เป็นการเบิกจ่ายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะเงินอุดหนุนทั่วไปและอุดหนุนเฉพาะกิจที่ขยายตัวร้อยละ 6.2 และร้อยละ 31.8 ตามลำดับ ซึ่งมีการเบิกจ่ายมากที่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย พิษณุโลก และนครสวรรค์ ขณะที่การเบิกจ่ายเงินหมวดที่ดินและสิ่งก่อสร้างหดตัวร้อยละ 24.5 เนื่องจาก ส่วนราชการได้รับการจัดสรรเงินงบประมาณประจำปี 2552 เมื่อเดือนธันวาคม 2551 จึงอยู่ระหว่างการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง ด้านรายจ่ายประจำมีจำนวน 8,529.6 ล้านบาท ใกล้เคียงกับระยะเดียวกันปีก่อน
8. ระดับราคา ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปไม่เปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน โดยหมวดอาหาร และเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.7 ตามการเพิ่มขึ้นของหมวดเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ ที่ร้อยละ 13.8 ประกอบกับหมวดผัก และผลไม้เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.0 เนื่องจากมีความต้องการเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลตรุษจีน อย่างไรก็ตาม หมวดที่ไม่ใช่อาหารและ เครื่องดื่มลดลงร้อยละ 8.6 จากผลของมาตรการของภาครัฐและราคาน้ำมันที่ลดลง ส่งผลให้ราคาสินค้าหมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร ลดลงร้อยละ 15.1 สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 2.5
9. การจ้างงาน จากข้อมูลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในเดือน ธันวาคม 2551 ภาคเหนือมีกำลังแรงงานรวม 7.2 ล้านคน เป็นผู้มีงานทำ 7.1 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 6.6 การจ้างงานนอกภาคเกษตรขยายตัวร้อยละ 16.2 จากการเพิ่มขึ้นของการจ้างงานในสาขาค้าส่ง/ปลีก สาขาการก่อสร้าง สาขา การผลิต และสาขาโรงแรมและภัตตาคาร ที่ร้อยละ 35.3 ร้อยละ 26.2 ร้อยละ 8.8 และร้อยละ 0.9 ตามลำดับ ขณะที่การจ้างงานใน ภาคเกษตรหดตัวเล็กน้อยร้อยละ 0.8 ในด้านผู้ว่างงานมีจำนวน 81,790 คน คิดเป็นอัตราการว่างงานที่ร้อยละ 1.1 สูงกว่าร้อยละ 0.8 ในช่วงเดียวกันปีก่อน สำหรับผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 เพียงสิ้นเดือนมกราคม 2552 มีจำนวน 586,106 คน หดตัวร้อยละ 1.1 และร้อยละ 1.9 จากเดือนก่อนและระยะเดียวกันปีก่อน โดยลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ส่วนผู้ประกันตนตาม มาตรา 39 มีจำนวน 73,968 คน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนและระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 3.1 และร้อยละ 30.2 ตามลำดับ
10. การเงิน ยอดคงค้างเงินฝากที่สาขาธนาคารพาณิชย์ในภาคเหนือ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2551 มีทั้งสิ้น 375,543 ล้านบาท ขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 10.5 ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน จากการเพิ่มขึ้นของเงินฝาก ในส่วนราชการ ประกอบกับธนาคารพาณิชย์ได้มีการแข่งขันระดมเงินฝากโดยให้ดอกเบี้ยพิเศษ ส่งผลให้เงินฝากประเภทประจำ เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.4 โดยเพิ่มขึ้นมากที่จังหวัดเชียงใหม่ นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ เชียงราย และพิจิตร ด้านเงินให้สินเชื่อมียอดคงค้าง 305,704 ล้านบาท ขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 5.3 ชะลอลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อประเภท ธุรกิจค้าพืชไร่ สหกรณ์ออมทรัพย์ครู สินเชื่อส่วนบุคคล และธุรกิจค้าปลีก/ค้าส่ง ซึ่งเพิ่มขึ้นมากที่จังหวัดเพชรบูรณ์ เชียงใหม่ ลำปาง และกำแพงเพชร สำหรับสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากอยู่ที่ร้อยละ 81.4 ลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 85.5 ระยะเดียวกันปีก่อน