แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนกุมภาพันธ์ 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 31, 2009 15:53 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในเดือนกุมภาพันธ์ยังคงหดตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน แต่หากพิจารณาข้อมูลที่ปรับฤดูกาลแล้ว ข้อมูลเศรษฐกิจบางตัวปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะผลผลิตอุตสาหกรรม อย่างไรก็ดี ผลผลิตพืชผลสำคัญที่ชะลอลงและราคาที่ลดลงทำให้รายได้เกษตรกรจากพืชผลสำคัญลดลง ขณะที่การท่องเที่ยวหดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานสูงในปีก่อนที่ตรงกับเทศกาลตรุษจีน สำหรับอุปสงค์ในประเทศ การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนหดตัวเมื่อเทียบกับ ระยะเดียวกันปีก่อน เช่นเดียวกับการส่งออกที่หดตัวต่อเนื่อง แต่การนำเข้าที่หดตัวลงมากกว่าทำให้ปริมาณการส่งออกสุทธิเพิ่มขึ้น และเมื่อประกอบกับการใช้จ่ายของรัฐบาลที่เร่งเบิกจ่ายมากขึ้นช่วยชดเชยอุปสงค์ภาคเอกชนที่ต่ำลง

ด้านเสถียรภาพด้านต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ดีจากเงินสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง รวมทั้งดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลสูง สำหรับเสถียรภาพในประเทศ อัตราเงินเฟ้อต่ำ ส่วนการจ้างงานมีสัญญาณการอ่อนตัวที่ชัดเจนขึ้น

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 มีดังนี้

1. ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เบื้องต้น) หดตัวร้อยละ 19.8 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน โดยหดตัวในเกือบทุกหมวด ตามการชะลอตัวของอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ ประกอบกับมีสต็อกในระดับสูง ยกเว้นในหมวดอาหารและอัญมณีและเครื่องประดับที่ยังขยายตัวเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม เมื่อปรับฤดูกาลแล้ว ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมที่การผลิตเพื่อการส่งออกเริ่มปรับตัวดีขึ้น อาทิ หมวดอิเล็กทรอนิกส์ สอดคล้องกับอัตราการใช้กำลังการผลิต ของภาคอุตสาหกรรมที่ปรับฤดูกาลแล้วอยู่ที่ร้อยละ 56.8 ใกล้เคียงกับเดือนก่อน

2. ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน หดตัวร้อยละ 7.1 จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยเครื่องชี้เกือบทุกตัวหดตัว โดยเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่และการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคที่หดตัวในเกณฑ์สูงต่อเนื่อง ขณะที่หมวดยานยนต์หดตัวต่อเนื่องจาก ผลของฐานสูงในปีก่อน สำหรับหมวดเชื้อเพลิง ปริมาณจำหน่ายเบนซินและดีเซลชะลอลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อน เนื่องจากการยกเลิกมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ณ สิ้นเดือนมกราคม ดัชนีการลงทุนภาคเอกชน (ประมาณการ) หดตัวร้อยละ 12.9 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ตามเครื่องชี้ในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่หดตัวลงมาก ขณะที่หมวดการก่อสร้างยังคงหดตัวต่อเนื่อง

3. ภาคการคลัง รัฐบาลมีรายได้จัดเก็บ 111.5 พันล้านบาท หดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 16.1 โดยเป็นผลมาจากรายได้ภาษีที่หดตัวร้อยละ 20.6 จากทุกฐานภาษี โดยภาษีฐานรายได้หดตัวทั้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งส่วนหนึ่งเนื่องจากมาตรการของรัฐ ที่ยกเว้นการเสียภาษีเงินได้เพิ่มขึ้นเป็น 150,000 บาทแรก และผลจากการลดโบนัสและชั่วโมงทำงานในหลายธุรกิจ ขณะที่ภาษีเงินได้ นิติบุคคลหดตัวเนื่องจากภาคธุรกิจได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว สำหรับภาษีฐานการบริโภคลดลงทุกฐานภาษี สำหรับรายได้ที่มิใช่ภาษี ขยายตัวร้อยละ 12.1 เพิ่มขึ้นจากการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจดุลเงินสด จากการที่รัฐบาลมีการเร่งเบิกจ่ายต่อเนื่องจากเดือนก่อน เนื่องจากการเบิกจ่ายมีความล่าช้าในช่วงแรกของปีงบประมาณ และเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายการเบิกจ่าย ขณะที่รายได้นำส่งลดลง ทำให้รัฐบาลขาดดุลเงินสด 51.5 พันล้านบาท และมีการชดเชยการขาดดุลด้วยการกู้สุทธิ 72.6 พันล้านบาท ทำให้เงินคงคลังเพิ่มขึ้น 21.1 พันล้านบาท จาก 37.4 พันล้านบาท ในเดือนมกราคม 2552 เป็น 58.5 พันล้านบาท

4. ภาคต่างประเทศ ดุลการค้า เกินดุล 3,946 ล้านดอลลาร์ สรอ. จากการนำเข้าที่หดตัวมากขึ้นเป็นสำคัญ โดยการส่งออก มีมูลค่า 11,582 ล้านดอลลาร์ สรอ. หดตัวร้อยละ 11.1 แต่หากไม่รวมการส่งออกทองคำซึ่งมีมูลค่า 1,865 ล้านดอลลาร์ สรอ. จะทำให้การส่งออกหดตัวถึงร้อยละ 24.5 โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูง ขณะที่การส่งออกน้ำตาลและอาหารยังขยายตัว ในด้านการนำเข้า มีมูลค่า 7,635 ล้านดอลลาร์ สรอ. หดตัวร้อยละ 43.5 ซึ่งเป็นการหดตัวในทุกหมวด เมื่อรวมกับดุลบริการ รายได้และเงินโอนที่เกินดุล 472 ล้านดอลลาร์ สรอ. จากรายจ่ายผลประโยชน์จากการลงทุนที่ลดลง ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 4,418 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขณะที่เงินทุนเคลื่อนย้าย1/ ขาดดุลสุทธิ 474 ล้านดอลลาร์ สรอ. โดยส่วนใหญ่เป็นเงินไหลออกในภาคธนาคารซึ่งมีการถอนเงินลงทุนโดยตรงของสาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศที่ปิดกิจการ และในภาคธุรกิจที่มิใช่ธนาคารซึ่งมีการชำระคืนสินเชื่อการค้าเป็นสำคัญ เมื่อรวมกับค่าความคลาดเคลื่อนสุทธิ ทำให้ดุลการชำระเงิน เกินดุล 3,621 ล้านดอลลาร์ สรอ. เงินสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2552 อยู่ที่ 113.3 พันล้านดอลลาร์ สรอ. โดยมียอดคงค้างการซื้อเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าสุทธิ จำนวน 3.9 พันล้านดอลลาร์ สรอ.

5. อัตราเงินเฟ้อทั่วไป หดตัวร้อยละ 0.1 เทียบกับเดือนมกราคมที่หดตัวร้อยละ 0.4 เนื่องจากราคาในหมวดพลังงานมีการปรับราคาน้ำมันขายปลีกสูงขึ้นจากการปรับเพิ่มภาษีสรรพสามิต ขณะที่ราคาในหมวดอาหารสดขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง นอกจากนี้ การที่รัฐบาลลดการอุดหนุนค่าน้ำประปาภายใต้มาตรการดูแลค่าครองชีพของภาครัฐลง ทำให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานสูงขึ้นจากเดือนก่อนเล็กน้อยมาเท่ากับร้อยละ 1.8 สำหรับดัชนีราคาผู้ผลิต หดตัวร้อยละ 4.0 ซึ่งเป็นการหดตัวมากขึ้นจากเดือนก่อน ตามราคาผลิตภัณฑ์จากเหมืองและผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ที่ยังคงหดตัวเป็นสำคัญ

6. ภาคการเงิน2/ ฐานเงิน ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 6. 2552 ขยายตัวร้อยละ 5.9 ทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน ขณะที่ปริมาณเงิน ตามความหมายกว้าง (Broad Money) ขยายตัวร้อยละ 9.1 สำหรับเงินฝากของสถาบันรับฝากเงิน (Depository Corporations) ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ 6.0 จากการย้ายเงินฝากในธนาคารพาณิชย์มาลงทุนในสินทรัพย์อื่น ๆ ที่ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า ส่วนสินเชื่อภาคเอกชนของสถาบันรับฝากเงินขยายตัวร้อยละ 6.8 จากระยะเดียวกันปีก่อนซึ่งเป็นอัตราที่ชะลอลงจากช่วงก่อนหน้า โดยเป็นการชะลอลงในสินเชื่อที่ให้แก่ภาคธุรกิจเป็นสำคัญ

อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในตลาดเงิน ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ทั้งอัตราดอกเบี้ยธุรกรรมซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน และ อัตราดอกเบี้ยระหว่างธนาคารระยะ 1 วัน เฉลี่ยลดลงมาอยู่ในอัตราเดียวกันที่ร้อยละ 1.92 ต่อปี ตามการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.50 ต่อปี เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2552 จากร้อยละ 2.00 เหลือร้อยละ 1.50 ต่อปี

ในช่วงวันที่ 1-25 มีนาคม 2552 ทั้งอัตราดอกเบี้ยธุรกรรมซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน และอัตราดอกเบี้ยระหว่างธนาคาร ระยะ 1 วัน เฉลี่ยลดลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ร้อยละ 1.50 และ 1.45 ต่อปี ตามลำดับ

7. อัตราแลกเปลี่ยนและดัชนีค่าเงินบาท ในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 อัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อดอลลาร์ สรอ. เฉลี่ยอยู่ที่ 35.33 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากค่าเฉลี่ยในเดือนมกราคม 2552 โดยค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอย่างมีเสถียรภาพในช่วงครึ่งแรก ของเดือน และกลับโน้มอ่อนค่าลงในช่วงครึ่งหลังของเดือนจากภาวะ Risk aversion ในตลาดการเงินโลก รวมทั้งการเร่งซื้อเงินดอลลาร์ สรอ. ของผู้นำเข้าและธนาคารพาณิชย์เป็นสำคัญ สำหรับดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ปรับแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากเดือนมกราคม 2552 มาอยู่ที่ระดับ 77.85 จากการอ่อนค่าลงของเงินบาทเทียบกับดอลลาร์ สรอ. ในอัตราที่ช้ากว่าการอ่อนค่าของเงินสกุลหลักและสกุลภูมิภาค

ในช่วงวันที่ 1-25 มีนาคม 2552 ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อยจากเดือนกุมภาพันธ์มาเฉลี่ยอยู่ที่ 35.86 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. แต่หลังจากสัปดาห์แรกของเดือนค่าเงินบาทกลับปรับแข็งค่าต่อเนื่องเทียบกับดอลลาร์ สรอ. จากการที่นักลงทุนมีความกล้าลงทุน ในสินทรัพย์เสี่ยง (Risk appetite) มากขึ้นเป็นสำคัญ

ข้อมูลเพิ่มเติม: พรรณพิลาส เรืองวิสุทธิ์

โทร. 0-2283-5648, 0-2283-5639 e-mail: punpilay@bot.or.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ