แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนมีนาคมและไตรมาสที่ 1 ปี 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 30, 2009 16:55 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ภาวะเศรษฐกิจในเดือนมีนาคมยังคงหดตัวต่อเนื่องเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน แต่มีสัญญาณการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ในบางภาคการผลิตเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ทั้งการผลิตในภาคอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว ส่วนผลผลิตและราคาพืชผลสำคัญ ในภาคเกษตรลดลงต่อเนื่อง ทำให้รายได้เกษตรกรจากพืชผลสำคัญหดตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน สำหรับอุปสงค์ในประเทศ ดัชนีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนหดตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้การนำเข้าหดตัวมากกว่าการส่งออก ขณะที่การชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทำให้รัฐบาลจัดเก็บรายได้ได้น้อยลง ขณะที่รายจ่ายเร่งขึ้นมาก ส่งผลให้ดุลเงินสดขาดดุลและเงินคงคลังลดลงต่อเนื่อง

โดยรวมไตรมาสแรกของปี 2552 ภาวะเศรษฐกิจหดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน โดยในภาคเกษตร ทั้งผลผลิตและราคาพืชผลสำคัญมีแนวโน้มลดลง ทำให้รายได้เกษตรกรจากพืชผลสำคัญชะลอลงจากไตรมาสก่อน ส่วนผลผลิตนอกภาคเกษตรหดตัวตาม การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและอุปสงค์ในประเทศที่มีสัญญาณการชะลอตัว สะท้อนจากเครื่องชี้ที่หดตัวลง เนื่องจากความเชื่อมั่น และรายได้ที่ลดลง ในด้านต่างประเทศ การส่งออกหดตัวมากเนื่องจากผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจโลก ขณะที่การนำเข้าหดตัวตามอุปสงค์ในอัตราที่มากกว่า ทำให้การส่งออกสุทธิสูงขึ้น เช่นเดียวกับการเบิกจ่ายของภาครัฐที่เร่งขึ้นมากในไตรมาสนี้ นับเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจ

ด้านเสถียรภาพด้านต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ดีจากเงินสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลในระดับสูง สำหรับเสถียรภาพในประเทศ อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง ส่วนการจ้างงานยังคงอ่อนตัว แต่เริ่มมีสัญญาณบวกบ้าง รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจในเดือนมีนาคมและไตรมาสที่ 1 ปี 2552 มีดังนี้

1. ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เบื้องต้น) หดตัวร้อยละ 15.4 เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน แต่เมื่อปรับฤดูกาลแล้วขยายตัว ร้อยละ 2.5 จากเดือนก่อนหน้า โดยเป็นการปรับตัวดีขึ้นเกือบทุกหมวด โดยเฉพาะหมวดอิเล็กทรอนกส์ที่เริ่มมีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ หมวดเครื่องดื่มจากการเร่งผลิตเบียร์ และหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าจากอุปสงค์ในประเทศของเครื่องปรับอากาศ ทำให้อัตราการใช้กำลัง การผลิตของภาคอุตสาหกรรมในเดือนนี้อยู่ที่ร้อยละ 61.7 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 54.6 ในเดือนก่อน

แม้ว่าผลผลิตภาคอุตสาหกรรมมีการปรับตัวดีขึ้นบ้าง แต่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 1 ปี 2552 ยังลดลงมากถึง ร้อยละ 18.9 จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยเป็นการลดลงในทุกหมวดการผลิต ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงเหลือร้อยละ 57.8 เทียบกับร้อยละ 60.1 ในไตรมาสที่ 4 ปี 2551

2. ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน หากปรับฤดูกาลแล้ว ขยายตัวจากเดือนก่อนร้อยละ 2.6 โดยเครื่องชี้หลายตัวปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ยังคงหดตัวร้อยละ 4.9 โดยเครื่องชี้ที่ยังขยายตัว ได้แก่ ปริมาณการใช้ไฟฟ้าสำหรับ ที่อยู่อาศัยและปริมาณจำหน่ายในหมวดเชื้อเพลิง ขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่และการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคยังคงหดตัว แต่ในอัตราที่ชะลอลง ดัชนีการลงทุนภาคเอกชน (ประมาณการ) หดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 15.7 เป็นการหดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน ส่วนหนึ่งจากปัจจัยฐานสูง โดยเครื่องชี้การลงทุนทั้งหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์และหมวดการก่อสร้างหดตัวต่อเนื่อง เนื่องจากผู้ประกอบการยังขาดความเชื่อมั่นจากปัญหาทางเศรษฐกิจและความไม่สงบทางการเมือง

สำหรับไตรมาสแรกของปี 2552 การบริโภคภาคเอกชนมีสัญญาณชะลอตัว โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนหดตัวร้อยละ 5.3 จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และปริมาณจำหน่ายในหมวดยานยนต์หดตัวจากปีก่อน สอดคล้องกับความเชื่อมั่นที่ลดลงเป็นลำดับ สำหรับปริมาณจำหน่ายในหมวดเชื้อเพลิงยังคงขยายตัวเนื่องจากราคาที่อยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน สำหรับดัชนีการลงทุนภาคเอกชน (ประมาณการ) หดตัวร้อยละ 15.7 หดตัวมากขึ้นจากไตรมาสก่อน โดยเฉพาะเครื่องชี้การลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ จากความกังวลเกี่ยวกับปัญหาเศรษฐกิจและความขัดแย้งทางการเมือง ที่เพิ่มขึ้น

3. ภาคการคลัง รัฐบาลมีรายได้จัดเก็บ 123 พันล้านบาท หดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 2.8 จากรายได้ภาษีเป็นสำคัญ โดยรายได้ภาษี หดตัวร้อยละ 3.4 จากทุกฐานภาษี ยกเว้นภาษีจากฐานรายได้ซึ่งขยายตัวจากภาษีปิโตรเลียมที่เพิ่มขึ้นมากเนื่องจาก มีการเลื่อนการนำส่งมาในเดือนนี้ ขณะที่ในปีก่อนมีการนำส่งในเดือนกุมภาพันธ์ ส่วนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหดตัวจากมาตรการ ของรัฐ ทั้งการปรับลดภาษีและเพิ่มค่าลดหย่อน และภาษีเงินได้นิติบุคคลหดตัวตามภาวะเศรษฐกิจ สำหรับภาษีฐานการบริโภคลดลง จากภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีธุรกิจเฉพาะเป็นสำคัญ แม้ว่าการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจะเพิ่มขึ้นจากการปรับเพิ่มอัตราภาษีสรรพาสามิตน้ำมัน ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2552 รวมถึงภาษีสรรพสามิตเบียร์และสุราที่จัดเก็บได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากข่าวการปรับเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตเบียร์และสุรา ทำให้ผู้ผลิตเร่งทำการผลิต สำหรับรายได้ที่มิใช่ภาษี ขยายตัวร้อยละ 9.1 จากการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ ทั้งนี้ รายได้นำส่งที่ลดลงขณะที่รายจ่ายเร่งขึ้น ทำให้รัฐบาลขาดดุลเงินสด 88.3 พันล้านบาท ซึ่งชดเชยด้วยการกู้สุทธิ 81.0 พันล้านบาท และใช้เงินคงคลัง 7.3 พันล้านบาท ทำให้เงินคงคลังลดลงจาก 58.5 พันล้านบาท ในเดือนกุมภาพันธ์ เป็น 51.2 พันล้านบาทในเดือนมีนาคม

สำหรับไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณ 2552 จากการที่รัฐบาลมีรายได้นำส่งลดลง ขณะที่มีการเร่งเบิกจ่ายต่อเนื่อง ทำให้รัฐบาลขาดดุลเงินสด 242.5 พันล้านบาท โดยมีการกู้ยืมสุทธิ 232.3 พันล้านบาท และใช้เงินคงคลัง 10.2 พันล้านบาท ส่งผลให้ เงินคงคลัง ณ สิ้นไตรมาส เท่ากับ 51.2 พันล้านบาท ลดลงจาก 61.4 พันล้านบาท เมื่อสิ้นไตรมาสแรกของปีงบประมาณ

4. ภาคต่างประเทศ ดุลการค้าเกินดุล 2,165 ล้านดอลลาร์ สรอ. โดยการส่งออกมีมูลค่า 11,429 ล้านดอลลาร์ สรอ. หดตัว ร้อยละ 22.7 เร่งขึ้นจากที่หดตัวร้อยละ11.1 ในเดือนก่อน เนื่องจากในเดือนนี้มีการส่งออกทองคำเพียง 305 ล้านดอลลาร์ สรอ. เทียบกับ 1,865 ล้านดอลลาร์ สรอ. ในเดือนก่อน ทั้งนี้ เป็นการหดตัวในทุกหมวดโดยเฉพาะหมวดสินค้าอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูง เช่น ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 9,263 ล้านดอลลาร์ สรอ. หดตัวร้อยละ 35.1 โดยเป็นการหดตัว ในทุกหมวดสินค้าเช่นกัน เมื่อรวมกับดุลบริการ รายได้ และเงินโอน ที่เกินดุล 239 ล้านดอลลาร์ สรอ. ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 2,404 ล้านดอลลาร์ สรอ. สำหรับเงินทุนเคลื่อนย้าย1/* ขาดดุลสุทธิ 1,459 ล้านดอลลาร์ สรอ. จากภาคธนาคารพาณิชย์ เนื่องจาก ผู้ส่งออกลดการป้องกันความเสี่ยงเป็นสำคัญ เมื่อรวมกับค่าความคลาดเคลื่อนสุทธิ ดุลการชำระเงินเกินดุล 1,831 ล้านดอลลาร์ สรอ. และเงินสำรองระหว่างประเทศอยู่ที่ระดับ 116.2 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2552 โดยมียอดคงค้างการซื้อเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าสุทธิ 3.7 พันล้านดอลลาร์ สรอ.

สำหรับภาพรวมไตรมาสแรกของปี 2552 ดุลการค้าเกินดุล 7,800 ล้านดอลลาร์ สรอ. เทียบกับไตรมาสก่อนที่ขาดดุล 1,365 ล้านดอลลาร์ สรอ. จากการนำเข้าที่หดตัวมากกว่าการส่งออกเป็นสำคัญ โดยการส่งออกหดตัวร้อยละ 19.9 เป็นการหดตัวเกือบทุกหมวดโดยเฉพาะหมวดอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูง อย่างไรก็ตาม หากไม่รวมการส่งออกทองคำมูลค่า 2,951 ล้านดอลลาร์ สรอ. การส่งออกในไตรมาสนี้จะหดตัวร้อยละ 25.8 ขณะที่การนำเข้าหดตัวร้อยละ 38.3 ตามหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง และหมวดสินค้าทุนเป็นสำคัญ เมื่อรวมกับดุลบริการ รายได้และเงินโอนที่เกินดุล 1,312 ล้านดอลลาร์ สรอ. ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 9,112 ล้านดอลลาร์ สรอ. สำหรับเงินทุนเคลื่อนย้าย1/* มีเงินทุนไหลออกสุทธิ 2,953 ล้านดอลลาร์ สรอ. โดยเป็นการ ไหลออกจากภาคธนาคารพาณิชย์จากการที่ผู้ส่งออกลดการป้องกันความเสี่ยงเป็นสำคัญ นอกจากนี้ ยังมีเงินไหลออกจากสินเชื่อการค้าเนื่องจากสินเชื่อที่ครบกำหนดชำระมีมากกว่าสินเชื่อใหม่ที่ลดลงตามการนำเข้า เมื่อรวมกับค่าความคลาดเคลื่อนสุทธิ ดุลการชำระเงินเกินดุล 7,428 ล้านดอลลาร์ สรอ.

1/* เงินทุนเคลื่อนย้ายสุทธิในเดือนล่าสุดเป็นข้อมูลเร็วเบื้องต้น ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงและแก้ไขในเดือนถัดไป

5. อัตราเงินเฟ้อทั่วไป หดตัวร้อยละ 0.2 โดยหดตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนจากราคาในหมวดพลังงานที่ยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนเป็นสำคัญ ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานชะลอลงจากเดือนก่อนเล็กน้อยมาอยู่ที่ร้อยละ 1.5 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานสูงในปีก่อนที่ราคาอาหารบริโภคใน-นอกบ้านเริ่มปรับเพิ่มขึ้น สำหรับดัชนีราคาผู้ผลิตหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 4.0 ตามราคาผลิตภัณฑ์จากเหมืองและผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ยังคงหดตัวตามราคาในตลาดโลก

สำหรับไตรมาสแรกของปี 2552 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปหดตัวร้อยละ 0.3 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.7 ชะลอตัวจากไตรมาสก่อนหน้า โดยเป็นผลจากราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับปีก่อน ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิตหดตัวร้อยละ 3.5 เทียบกับไตรมาสก่อน ที่ขยายตัวร้อยละ 2.9

6.ภาคการเงิน2/* ฐานเงิน ณ สิ้นเดือนมีนาคม 6. 2552 ขยายตัวร้อยละ 4.3 จากระยะเดียวกันปีก่อน ขณะที่ปริมาณเงินตาม ความหมายกว้าง (Broad Money) ขยายตัวร้อยละ 8.7 สำหรับเงินฝากของสถาบันรับฝากเงิน (Depository Corporations) ขยายตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อนที่ร้อยละ 6.5 และหากนับรวมการออกตราสารหนี้ประเภทตั๋วแลกเงินแล้ว เงินฝากจะขยายตัวร้อยละ 8.3 ส่วนสินเชื่อภาคเอกชนของสถาบันรับฝากเงินขยายตัวร้อยละ 5.9 จากระยะเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นอัตราที่ชะลอลงต่อเนื่องตาม ภาวะเศรษฐกิจ

อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในตลาดเงิน ทั้งอัตราดอกเบี้ยธุรกรรมซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน และอัตราดอกเบี้ยระหว่างธนาคารระยะ 1 วัน เฉลี่ยลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.50 และ 1.44 ต่อปี ตามลำดับ ตามการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.50 ต่อปี เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2552 จากร้อยละ 2.00 เหลือร้อยละ 1.50 ต่อปี

สำหรับไตรมาสแรกของปี 2552 อัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วันและอัตราดอกเบี้ยระหว่างธนาคารระยะ 1 วัน ปรับลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.89 และ 1.87 ต่อปี ตามลำดับ จากไตรมาสก่อนหน้าที่เฉลี่ยร้อยละ 3.45 ต่อปี ตามการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงินที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 2 ครั้งรวมร้อยละ 1.25 ต่อปี เมื่อวันที่ 14 มกราคม และ 25 กุมภาพันธ์ 2552

ในช่วงวันที่ 1-24 เมษายน 2552 ทั้งอัตราดอกเบี้ยธุรกรรมซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน และอัตราดอกเบี้ยระหว่างธนาคาร ระยะ 1 วัน เฉลี่ยลดลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ร้อยละ 1.33 และ 1.25 ต่อปี ตามลำดับ ตามการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกร้อยละ 0.25 ต่อปี เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2552 จากร้อยละ 1.50 เหลือร้อยละ 1.25 ต่อปี

7. อัตราแลกเปลี่ยนและดัชนีค่าเงินบาท ในเดือนมีนาคม 2552 อัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อดอลลาร์ สรอ. เฉลี่ยอยู่ที่ 35.78 บาท ต่อดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากค่าเฉลี่ยที่ 35.33 ในเดือนกุมภาพันธ์ โดยในช่วงต้นเดือนค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องจาก การที่นักลงทุนมีความสนใจลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มขึ้น รวมทั้งการขายดอลลาร์ สรอ. ของนักลงทุนเพื่อทำกำไร แต่ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนเงินบาทชะลอการแข็งค่าและเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงแคบ ๆ สำหรับดัชนีค่าเงินบาท (NEER) อยู่ที่ระดับ 77.83 ทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน

เมื่อพิจารณาทั้งไตรมาสแรกของปี 2552 อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยอยู่ที่ 35.36 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลงร้อยละ 1.47 จากค่าเฉลี่ยของไตรมาสก่อนที่ 34.84 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ขณะที่ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ทรงตัวอยู่ที่ 77.64 ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนหน้า สะท้อนถึงความมีเสถียรภาพของค่าเงินบาท

ในช่วง 1-24 เมษายน 2552 ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวค่อนข้างมีเสถียรภาพ โดยเฉลี่ยแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากเดือนมีนาคมมาเฉลี่ย ที่ 35.47 บาทต่อดอลลาร์ สรอ.

ข้อมูลเพิ่มเติม: พรรณพิลาส เรืองวิสุทธิ์

โทร. 0-2283-5648, 0-2283-5639 e-mail: punpilay@bot.or.th

2/* ตั้งแต่เดือนกันยายน 2551 ธปท. ได้ปรับปรุงข้อมูลปริมาณเงินตามความหมายกว้าง เงินฝากและสินเชื่อภาคเอกชน ให้ครอบคลุมข้อมูลจากสหกรณ์ ออมทรัพย์ และกองทุน รวมตลาดเงิน (Money Market Mutual Funds) นอกจากนี้ ปริมาณเงินตามความหมายกว้างยังนับรวมการออกตราสารหนี้ประเภทตั๋วแลกเงิน (Bill of Exchange) เข้าไว้ด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ