ผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 1 ปี 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 19, 2009 15:29 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

นางสาวนวพร มหารักขกะ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน สายนโยบายสถาบันการเงิน เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยที่หดตัวในไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 ส่งผลให้สินเชื่อและเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 1 ปี 2552 ชะลอตัว และคุณภาพสินทรัพย์ เสื่อมลง อย่างไรก็ตาม ระบบธนาคารพาณิชย์ยังคงมีเสถียรภาพดี

ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรจากการดำเนินงานลดลงจากไตรมาสก่อน 1.6 พันล้านบาท จากปริมาณสินเชื่อที่ลดลงเทียบกับไตรมาสก่อน แต่ค่าใช้จ่ายสำรองที่ลดลงในช่วงเดียวกันส่งผลให้ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนเป็น 2.3 หมื่นล้านบาท และอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวม (Return on Asset - ROA) เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 0.9 ซึ่งเมื่อประกอบกับการเพิ่มเงินกองทุน ส่งผลให้ระบบธนาคารพาณิชย์มีฐานะเงินกองทุนดีขึ้น อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 14.9 โดยเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 (Tier - 1) ร้อยละ 11.8

ในไตรมาสแรกปี 2552 สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ขยายตัวร้อยละ 5.8 จากระยะเดียวกันปีก่อน ชะลอตัวลงมากเทียบกับสิ้นปี 2551 ที่ขยายตัวร้อยละ 11.4 โดยสินเชื่อภาคธุรกิจ (สัดส่วนร้อยละ 74.5 ของสินเชื่อรวม) ชะลอตัวลงมากเหลือร้อยละ 3.2 จากความต้องการสินเชื่อเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนและเงินลงทุนจากภาคเอกชนชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจที่หดตัว ขณะที่สินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัวเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 14.1 (ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2551 สินเชื่อรวมหดตัวร้อยละ 2.6 ตามสินเชื่อภาคธุรกิจที่หดตัวร้อยละ 3.7 ขณะที่สินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัวร้อยละ 0.8)

เงินฝากขยายตัวชะลอลงเช่นกันเหลือร้อยละ 4.2 จากระยะเดียวกันปีก่อน จากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ ทำให้ลูกค้าหันไปลงทุนในตั๋วแลกเงิน (B/E) และหลักทรัพย์อื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า เมื่อรวมการระดมเงินฝากและ B/E แล้ว อัตราการขยายตัวชะลอลงเหลือร้อยละ 6.7 การที่สินเชื่อชะลอตัวมากกว่าเงินฝากส่งผลให้สภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้น โดยสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากและ B/E ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 84.1

ระบบธนาคารพาณิชย์มีแรงกดดันด้านคุณภาพสินเชื่อเพิ่มขึ้น ทั้ง NPL และสินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ (ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้เกิน 1 เดือน แต่ยังไม่เกิน 3 เดือน - Delinquent loan) เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2551 ตามภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศและต่างประเทศที่หดตัวทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ลดลง โดยสัดส่วนต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นทั้ง gross และ net NPL เป็นร้อยละ 5.5 และร้อยละ 3.1 ตามลำดับ ส่วน Delinquent loan เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 4.0 ของสินเชื่อรวม พัฒนาการด้านความสามารถในการชำระหนี้และคุณภาพสินทรัพย์ยังเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามกันต่อเนื่อง

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ