ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานผลการประเมินภาคการเงินภายใต้โครงการ Financial Sector Assessment Program (FSAP) โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก (World Bank) ในปี 2550 ซึ่งแสดงถึงภาคการเงินของประเทศไทยที่มั่นคง โดยรายงานผลการประเมินของไทยได้รับการเผยแพร่ใน website ของ IMF (www.imf.org) และ ธปท. (www.bot.or.th)
การประเมินการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลมี 6 ด้าน ได้แก่ การกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ ความโปร่งใสในการดำเนินนโยบายการเงิน ระบบการชำระเงิน การกำกับดูแลตลาดทุน ระบบการชำระดุลหลักทรัพย์ และการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อ การร้าย โดย ธปท.รับผิดชอบ 3 ด้าน ซึ่งผลการประเมินเป็นที่น่าพอใจ ดังนี้
ระบบสถาบันการเงินไทยมีความมั่นคงและกรอบการกำกับดูแลสถาบันการเงินมีความสอดคล้องกับมาตรฐานสากลในระดับสูง โดยผู้ประเมินมีข้อเสนอแนะหลัก 2 ประเด็นที่ประเทศไทยควรปรับปรุงเพื่อให้การกำกับดูแลมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ได้แก่ (1) การให้ ธปท. มีอำนาจทางกฎหมายในการกำกับแบบรวมกลุ่ม และการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงิน และ (2) การให้ ธปท. มีความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายการกำกับสถาบันการเงิน ซึ่งการแก้ไขพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (พ.ศ. 2551) และการออกพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน (พ.ศ. 2551) ได้แก้ไขประเด็นข้างต้นแล้ว
จากผลการทดสอบภาวะวิกฤต (Stress-testing) ล่าสุดพบว่า ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในภาพรวมมีความเข้มแข็ง โดยมีเงินกองทุนเพียงพอรองรับสถานการณ์วิกฤตได้
การดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท. โดยรวม มีความโปร่งใส มีการเปิดเผยกรอบการดำเนินงาน เป้าหมาย และเครื่องมือที่ใช้ในการดำเนินโยบายการเงินที่ชัดเจน
ระบบการชำระเงิน (ระบบ BAHTNET) มีประสิทธิภาพดี มีมาตรการบริหารความเสี่ยงต่าง ๆ อย่างเพียงพอ รวมทั้งโครงสร้างด้านธรรมาภิบาลมีประสิทธิภาพและมีความโปร่งใสในเกณฑ์ดี
การเข้ารับการประเมินภาคการเงินภายใต้โครงการ FSAP เป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศไทยว่ามีความโปร่งใส ทำให้ทราบถึงจุดอ่อนและจุดแข็งทั้งในด้านเสถียรภาพและการกำกับดูแลภาคการเงินเทียบกับมาตรฐานสากล รวมทั้งได้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาภาคการเงินของประเทศให้มีความมั่นคงและสามารถสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน ซึ่งจวบจนปัจจุบันภาคการเงินของไทยยังคงมีความมั่นคงอย่างต่อเนื่อง
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย