แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนเมษายน 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 29, 2009 15:49 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ภาวะเศรษฐกิจในเดือนเมษายนยังคงหดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน แต่มีสัญญาณการปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม โดยการผลิตภาคอุตสาหกรรม การส่งออกและการนำเข้า รวมทั้งดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน หลังปรับฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า แม้ว่ายังคงหดตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน อย่างไรก็ดี ผลผลิตและราคาพืชผลสำคัญในภาคเกษตรลดลงต่อเนื่อง เมื่อประกอบกับฐานสูง ทำให้รายได้เกษตรกรจากพืชผลสำคัญหดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนในอัตราที่สูงขึ้น ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในช่วงสงกรานต์ ส่วนดัชนีการลงทุนภาคเอกชนยังคงหดตัวค่อนข้างมากสอดคล้องกับความเชื่อมั่นที่ยังอยู่ในระดับต่ำ

เสถียรภาพด้านต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ดีจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด และเงินสำรองระหว่างประเทศที่ยังอยู่ในระดับสูง สำหรับเสถียรภาพในประเทศ อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง ส่วนการว่างงานเริ่มทรงตัว

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจในเดือนเมษายน 2552 มีดังนี้

1. ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เบื้องต้น) หดตัวร้อยละ 9.7 เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน เป็นการหดตัวในอัตราที่ชะลอลงต่อเนื่อง และเมื่อปรับฤดูกาลแล้วขยายตัวร้อยละ 7.6 จากเดือนก่อนหน้า โดยเป็นการปรับตัวดีขึ้นในเกือบทุกหมวดโดยเฉพาะหมวด ที่ผลิตเพื่อการส่งออกตามคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น อาทิ หมวดอิเล็กทรอนิกส์และหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้า สอดคล้องกับอัตราการใช้กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมที่ปรับฤดูกาลแล้ว ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 59.7 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 58.5 ในเดือนก่อน

2. ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน หดตัวร้อยละ 5.3 จากระยะเดียวกันปีก่อน แต่หากเทียบกับเดือนก่อนขยายตัวร้อยละ 0.7 โดยเป็นการปรับตัวดีขึ้นของเครื่องชี้หมวดยานยนต์ เชื้อเพลิง และภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ดัชนีการลงทุนภาคเอกชน (ประมาณการ) หดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 16.4 ซึ่งใกล้เคียงกับเดือนก่อน โดยเป็นการหดตัวของการลงทุนทั้งในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์และในหมวดก่อสร้าง ซึ่งเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว อัตราการใช้กำลังการผลิตที่ยังอยู่ในระดับต่ำ และความเชื่อมั่นที่ลดลงต่อเนื่อง

3. ภาคการคลัง รัฐบาลมีรายได้จัดเก็บ 118.1 พันล้านบาท ลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 19.0 จากทั้งรายได้ภาษีและรายได้ที่มิใช่ภาษี โดยรายได้ภาษีหดตัวร้อยละ 13.2 จากทุกฐานภาษี โดยภาษีฐานรายได้หดตัวทั้งจากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคล ส่วนภาษีฐานการบริโภคลดลงจากภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นสำคัญ ขณะที่ภาษีธุรกิจเฉพาะขยายตัวจากปัจจัยชั่วคราวจากการกลับไปจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายอสังหาริมทรัพย์ในอัตราเดิมที่ร้อยละ 3 ในช่วงที่พระราชกฤษฎีกาขยายระยะเวลามาตรการลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายอสังหาริมทรัพย์ยังไม่ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา และภาษีสรรพสามิตขยายตัวจากภาษีสรรพสามิตน้ำมันที่มีการปรับเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2552 รวมทั้งภาษียาสูบที่จัดเก็บได้เพิ่มขึ้นมากจากการเร่งผลิตเนื่องจากมีข่าวการปรับเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิต และเพื่อชดเชยสต็อกที่ลดลงในเดือนก่อน สำหรับรายได้ ที่มิใช่ภาษีหดตัวร้อยละ 45.5 ลดลงจากการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ

ดุลเงินสด รัฐบาลขาดดุลเงินสด 36.1 พันล้านบาท ซึ่งชดเชยการขาดดุลด้วยการกู้สุทธิ 83.0 พันล้านบาท ทำให้เงินคงคลังเพิ่มขึ้นจาก 51.2 พันล้านบาทในเดือนมีนาคม เป็น 98.2 พันล้านบาทในเดือนเมษายน

4. ภาคต่างประเทศ การส่งออกมีมูลค่า 10,279 ล้านดอลลาร์ สรอ. หดตัวร้อยละ 25.2 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นการหดตัวของปริมาณเป็นสำคัญโดยเป็นการหดตัวในทุกหมวดโดยเฉพาะหมวดสินค้าอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูง เช่น ยานยนต์ คอมพิวเตอร์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า อย่างไรก็ดี หากพิจารณาปริมาณส่งออกที่ปรับฤดูกาลแล้ว เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าร้อยละ 2.6 ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 9,660 ล้านดอลลาร์ สรอ. หดตัวร้อยละ 36.4 โดยเป็นการหดตัวในทุกหมวดสินค้า แต่เมื่อพิจารณาปริมาณนำเข้า ที่ปรับฤดูกาลดีขึ้นเช่นกัน โดยเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าร้อยละ 5.0 ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 619 ล้านดอลลาร์ สรอ. เมื่อรวมกับ ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่ขาดดุล 193 ล้านดอลลาร์ สรอ. ตามรายรับจากการท่องเที่ยวที่ลดลง ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 426 ล้านดอลลาร์ สรอ. ด้านเงินทุนเคลื่อนย้าย *1/ ขาดดุล 751 ล้านดอลลาร์ สรอ. จากภาคธุรกิจที่มิใช่ธนาคาร ซึ่งเป็นการไหลออกสุทธิของเงินทุนในหลักทรัพย์ของไทย การชำระคืนสินเชื่อการค้า การลงทุนโดยตรงของคนไทยในต่างประเทศ รวมทั้งการเพิ่มเงินฝากในต่างประเทศของนักลงทุนสถาบัน อย่างไรก็ดี สำหรับภาคธนาคารมีเงินทุนไหลเข้าสุทธิจากการที่กองทุนรวมที่ไปลงทุนในต่างประเทศเพิ่มการป้องกันความเสี่ยงโดยการขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า ประกอบกับมีการซื้อหุ้นภาคธนาคารในตลาดหลักทรัพย์ ขณะที่มีเงินไหลออกบางส่วนจากการที่ผู้ส่งออกลดการป้องกันความเสี่ยง ทำให้โดยรวม ดุลการชำระเงิน เกินดุล 645 ล้านดอลลาร์ สรอ. และ เงินสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนเมษายน 2552 อยู่ที่ 116.8 พันล้านดอลลาร์ สรอ. โดยมียอดคงค้างการซื้อเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าสุทธิจำนวน 3.6 พันล้านดอลลาร์ สรอ.

5. อัตราเงินเฟ้อทั่วไป หดตัวร้อยละ 0.9 ตามราคาในหมวดพลังงานที่ยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ขณะที่ราคาในหมวดอาหารสดเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.0 เนื่องจากฐานสูงในปีก่อนที่ราคาอาหารบริโภคใน-นอกบ้านเริ่มปรับเพิ่มขึ้น และเป็นผลจากการปรับลดเงินอุดหนุนค่าน้ำประปาในบางจังหวัดที่เริ่มมีผลบังคับใช้ ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิตหดตัวร้อยละ 3.0 จากราคาในหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมืองและผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ยังอยู่ในระดับต่ำเป็นสำคัญ

6. ภาคการเงิน*2/ ฐานเงิน ณ สิ้นเดือนเมษายน 6. 2552 ขยายตัวร้อยละ 8.7 จากระยะเดียวกันปีก่อน ขณะที่ปริมาณเงินตามความหมายกว้าง (Broad Money) ขยายตัวร้อยละ 8.8 สำหรับเงินฝากของสถาบันรับฝากเงิน (Depository Corporations) ทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อนที่ร้อยละ 6.0 หากนับรวมการออกตราสารหนี้ประเภทตั๋วแลกเงินแล้ว เงินฝากขยายตัวร้อยละ 8.7 ด้านสินเชื่อภาคเอกชนของสถาบันรับฝากเงินขยายตัวร้อยละ 5.8 จากระยะเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นอัตราที่ชะลอลงต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจ โดยเป็นการชะลอลงในสินเชื่อที่ให้แก่ภาคธุรกิจเป็นสำคัญ

อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในตลาดเงิน ณ สิ้นเดือนเมษายน 2552 ทั้งอัตราดอกเบี้ยธุรกรรมซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน และอัตราดอกเบี้ยระหว่างธนาคารระยะ 1 วัน เฉลี่ยลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.31 และ 1.23 ต่อปี ตามลำดับ ตามการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 ต่อปี เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2552 จากร้อยละ 1.50 เหลือร้อยละ 1.25 ต่อปี

ในช่วงวันที่ 1-26 พฤษภาคม 2552 อัตราดอกเบี้ยธุรกรรมซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน ทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 1.25 ต่อปี โดย กนง. ได้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในการประชุมวันที่ 20 พฤษภาคม 2552 สำหรับอัตราดอกเบี้ยระหว่างธนาคารระยะ 1 วัน เฉลี่ยปรับลดมาอยู่ที่ร้อยละ 1.15 ต่อปี

7. อัตราแลกเปลี่ยนและดัชนีค่าเงินบาท ในเดือนเมษายน 2552 เคลื่อนไหวค่อนข้างมีเสถียรภาพท่ามกลางธุรกรรมที่เบาบาง โดยดัชนีค่าเงินบาท (NEER) อยู่ที่ระดับ 77.32 ปรับอ่อนค่าลงเล็กน้อยจากเดือนมีนาคมซึ่งอยู่ที่ระดับ 77.63 สะท้อนการแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์ สรอ. ในอัตราที่น้อยกว่าค่าเงินในภูมิภาค จากค่าเฉลี่ยในเดือนมีนาคมที่ 35.78 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. มาอยู่ที่ 35.46 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ในเดือนนี้

ในช่วง 1-26 พฤษภาคม 2552 ค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าขึ้นตามทิศทางค่าเงินในภูมิภาค โดยแข็งค่าขึ้นจากเดือนเมษายนมาอยู่ที่ 34.61 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. จากการผ่อนคลายความกังวลของนักลงทุนที่เชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจโลกน่าจะเข้าสู่เสถียรภาพมากขึ้น ส่งผลให้เงินทุนไหลไปยังภูมิภาคต่างๆ เพิ่มสูงขึ้นและทำให้ความต้องการถือครองดอลลาร์ สรอ. ลดลง

ข้อมูลเพิ่มเติม: พรรณพิลาส เรืองวิสุทธิ์

โทร. 0-2283-5648, 0-2283-5639 e-mail: punpilay@bot.or.th

*1/ เงินทุนเคลื่อนย้ายสุทธิในเดือนล่าสุดเป็นข้อมูลเร็วเบื้องต้น ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงและแก้ไขในเดือนถัดไป

*2/ ตั้งแต่เดือนกันยายน 2551 ธปท. ได้ปรับปรุงข้อมูลปริมาณเงินตามความหมายกว้าง เงินฝากและสินเชื่อภาคเอกชน ให้ครอบคลุมข้อมูลจากสหกรณ์ออมทรัพย์ และกองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market Mutual Funds) นอกจากนี้ ปริมาณเงินตามความหมายกว้างยังนับรวมการออกตราสารหนี้ประเภทตั๋วแลกเงิน (Bill of Exchange) เข้าไว้ด้วย

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ