สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ เดือนมีนาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 30, 2009 15:55 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ภาวะเศรษฐกิจภาคใต้เดือนมีนาคม หดตัว ทั้งด้านอุปทานและอุปสงค์ ด้านอุปทานผลผลิตพืชผลสำคัญลดลง ตามผลผลิตปาล์มน้ำมันและยางพาราที่ลดลง ประกอบกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวลดลง การลงทุนและการส่งออกลดลง ขณะที่การเบิกจ่ายงบประมาณเพิ่มขึ้น สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคชะลอตัว ส่วนด้านสินเชื่อและเงินฝากชะลอตัว

ไตรมาสที่ 1 ปี 2552 ทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน โดยทางด้านอุปทาน ผลผลิตและราคาพืชผลสำคัญลดลง ส่งผลให้รายได้เกษตรลดลง ขณะเดียวกันอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวลดลง ส่วนการประมง ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย ทางด้านอุปสงค์ การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน การลงทุนและการส่งออกลดลง การเบิกจ่ายงบประมาณเพิ่มขึ้น สินเชื่อและเงินฝากชะลอตัว ส่วนอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจในเดือนมีนาคมและไตรมาสที่ 1 ปี 2552 มีดังนี้

1.ภาคการเกษตร ดัชนีรายได้ของเกษตรกรเดือนนี้ลดลงร้อยละ 45.5 เป็นผลจากการลดลงของทั้งผลผลิตและราคาพืชผลสำคัญ โดยผลผลิตพืชผลสำคัญลดลงร้อยละ 9.6 ตามผลผลิตปาล์มน้ำมันและยางพาราที่ลดลงร้อยละ 18.4 และ 0.8 ตามลำดับ ด้านราคาพืชผลสำคัญลดลงร้อยละ 39.6 ตามราคายางและราคาปาล์มน้ำมันที่ลดลงร้อยละ 43.2 และ 41.2 ตามลำดับ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว

ประมงทะล ปรับตัวดีขึ้น โดยมีปริมาณและมูลค่าสัตว์น้ำที่นำขึ้นท่าเทียบเรือขององค์การสะพานปลาในภาคใต้เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.9 และ 2.3 ตามลำดับ ส่วนการเพาะเลี้ยงกุ้ง ผลผลิตออกสู่ตลาดลดลงร้อยละ 10.8 เนื่องจากสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย มีผลต่ออัตราการรอดของกุ้งทางด้านราคากุ้งในเดือนนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยกุ้งขาว 50 ตัวต่อกิโลกรัม ที่ตลาดมหาชัยราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 136.2 บาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 13.5

ไตรมาสที่ 1 ปี 2552 รายได้จากการขายพืชผลสำคัญของเกษตรกรลดลงร้อยละ 43.4 ตามการลดลงของราคายางพาราและปาล์มน้ำมัน โดยราคายางแผ่นดิบคุณภาพ 3 เฉลี่ยกิโลกรัมละ 46.38 บาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยะ 43.3 เนื่องจากอุปสงค์จากผู้ผลิตยางล้อรายใหญ่ชะลอตัว ส่วนราคาปาล์มน้ำมันทั้งทะลายเฉลี่ยกิโลกรัมละ 3.48 บาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 36.4 สำหรับปริมาณผลผลิตยางและปาล์มลดลงเช่นกัน

ด้านการประมง ปริมาณสัตว์น้ำนำขึ้นที่ท่าเทียบเรือขององค์การสะพานปลาในภาคใต้เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนเล็กน้อย ร้อยละ 2.5 แต่มูลค่าลดลงร้อยละ 6.7 เนื่องจากปลาที่จับได้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจต่ำ ส่วนการเพาะเลี้ยงกุ้งผลผลิตลดลงจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 10.5 เนื่องจากในช่วงปลายปีมีฝนตกต่อเนื่องเป็นเวลานาน รวมทั้งเกิด น้ำท่วมในหลายพื้นที่และสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก ซึ่งส่งผลต่ออัตราการรอดของกุ้ง ส่วนราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยราคากุ้งขาวขนาด 50 ตัวต่อกิโลกรัม เฉลี่ยกิโลกรัมละ 137.3 บาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 4.1

2. ภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 8.8 จากการผลิตอุตสาหกรรมยางที่ลดลงตามความต้องการของต่างประเทศ โดยอุตสาหกรรมยางแท่งและยางแผ่นรมควัน มีปริมาณส่งออกผ่านด่านศุลกากรในภาคใต้จำนวน 31,833.0 เมตริกตันและ 70,951.5 เมตริกตัน ลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 17.3 และ 21.3 ตามลำดับ ขณะเดียวกันอุตสาหกรรมอาหารทะเลบรรจุกระป๋อง ถุงมือยาง และไม้ยางพารามีปริมาณส่งออก 11,152.3 เมตริกตัน 7,667.6 เมตริกตัน และ 66,158.7 เมตริกตัน ลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 10.7 8.6 และ 5.8 ตามลำดับ สำหรับอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มดิบมีผลผลิตจำนวน 118,579.1 เมตริกตัน ลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 20.4 ตามปริมาณวัตถุดิบที่ลดลง

ไตรมาสที่ 1 ปี 2552 ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 4.3 เป็นผลจากการลดลงของการผลิตในอุตสาหกรรมเพื่อส่งออกเป็นสำคัญ โดยอุตสาหกรรมยางแท่งและอุตสาหกรรมยางแผ่นรมควันมีปริมาณส่งออกลดลงจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 17.5 และ 11.2 ตามลำดับ ส่วนผลผลิตน้ำมันปาล์มดิบลดลงจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 18.3 ส่วนอุตสาหกรรมอาหารบรรจุกระป๋องและอุตสาหกรรมไม้ยางพารา ปริมาณส่งออกลดลงร้อยละ 2.8 และ 16.3 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ถุงมือยางและสัตว์น้ำแช่แข็ง มีปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 และ 5.5 ตามลำดับ

3. การท่องเที่ยว ลดลง โดยมีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเดินทางผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองในภาคใต้ จำนวน 304,916 คน ลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 1.0 ตามการลดลงของนักท่องเที่ยวภาคใต้ฝั่งตะวันตก เป็นสำคัญ โดยมีนักท่องเที่ยวเดินทางผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดภูเก็ตลดลงร้อยละ 15.4 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และเหตุการณ์ประท้วงปิดสนามบิน ขณะที่นักท่องเที่ยวในเขตภาคใต้ตอนล่างเพิ่มขึ้น โดยมีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเดินทางผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสงขลาเพิ่มขึ้นร้อยละ 28.6 โดยมีอัตราเข้าพักเฉลี่ยร้อยละ 59.7

ไตรมาสที่ 1 ปี 2552 หดตัว โดยมีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเดินทางผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองในภาคใต้ จำนวน 941,172 คน ลดลงจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 2.7 โดยเฉพาะจังหวัดภูเก็ตมีปริมาณลดลงสูงถึงร้อยละ 16.2 เนื่องจาก ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก และสถานการณ์ทางการเมืองที่มีการชุมนุมประท้วงในช่วงที่ผ่านมา ส่วนใจภาคใต้ตอนล่างมีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวมากขึ้น โดยจังหวัดสงขลาเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.1 ส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซีย

4. การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน หดตัว โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 0.7 ตามภาวะเศรษฐกิจที่หดตัว และรายได้ของเกษตรกรที่ลดลง จากการที่ราคาพืชผลสำคัญลดลง โดยดัชนีในหมวดยานยนต์ลดลงร้อยละ 25.1 ตามการจดทะเบียนรถทุกประเภทลดลง ขณะเดียวกันการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ปี 2543 ลดลงร้อยละ 1.9 เป็นผลมาจากการลดลงของการท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตเป็นสำคัญ

ไตรมาสที่ 1 ปี 2552 หดตัว ตามภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาและรายได้เกษตรกรที่ลดลง เนื่องจากราคาพืชผลที่สำคัญอยู่ในระดับต่ำ ทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนลดลงจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 0.5 เนื่องจากดัชนียานยนต์ที่ลดลงร้อยละ 21.6 ตามการจดทะเบียนรถใหม่ลดลงทุกประเภท ส่วนการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม และการใช้ไฟฟ้าสำหรับที่อยู่อาศัยลดลงเล็กน้อย

5. การลงทุนภาคเอกชน หดตัว โดยการจดทะเบียนธุรกิจนิติบุคคลใหม่ลดลงทั้งส่งเสริมการลงทุน (BOI) ลดลง ขณะเดียวกันการจ้างงานลดลง ส่วนพื้นที่การก่อสร้างปรับตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีผลกระทบจากปัจจัยลบภายนอก อาทิ ปัญหาทางการเมือง ความเข้มงวดของการให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ ส่งผลให้นักลงทุนชะลอการลงทุน

ไตรมาสที่ 1 ปี 2552 หดตัว โดยพื้นที่ก่อสร้างที่ได้รับอนุญาตในเขตเทศบาลลดลงจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 3.6 ส่วนการจดทะเบียนธุรกิจนิติบุคคล ทั้งจำนวนรายและเงินทุนจดทะเบียน ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 14.7 และ 9.4 ตามลำดับ สำหรับโครงการลงทุนที่ได้รับส่งเสริมการลงุทนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) จำนวนโครงการเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.7 แต่เงินกองทุนและการจ้างงาน ลดลงร้อยละ 34.2 และ 22.4 ตามลำดับ

6. การจ้างงาน เดือนนี้ มีผู้ได้รับการบรรจุงานจำนวน 2,516 อัตรา ลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 31.1 โดยตำแหน่งงานว่างที่ผู้ประกอบการใช้บริการผ่านสำนักงานจัดหางานจังหวัดในภาคใต้ มีจำนวน 3,618 อัตรา ลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 35.5 ส่วนผู้สมัครงาน มีจำนวน 6,738 คน เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 24.4 สำหรับแรงงานที่เข้าโครงการประกันสังคม ณ สิ้นเดือนนี้ มีจำนวนทั้งสิ้น 599,770 คน เพิ่มขึ้นจากสิ้นเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 1.8

ไตรมาสที่ 1 ปี 2552 มีตำแหน่งงานว่าง จำนวน 11,358 อัตรา ลดลงจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 29.5 โดยมีผู้สมัครงาน จำนวน 17,099 อัตรา เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 20 แต่บรรจุงานได้เพียง 8,349 อัตรา ผู้สมัครงานและการบรรจุงานส่วนใหญ่จะอยู่ในจังหวัดที่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว อาทิ สงขลา นครศรีธรรมราช สุราษฏร์ธานี และชุมพร

7. ระดับราคา อัตราเงินเฟ้อของภาคใต้ในเดือนนี้ อยู่ที่ร้อยละ 0.2 ชะลอลงจากร้อยละ 0.8 ในเดือนก่อน โดยราคาในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ยังคงเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.3 ตามการเพิ่มขึ้นของสินค้าหมวดข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง เครื่องประกอบอาหาร ผักและผลไม้ ขณะที่หมวดอื่นที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มลดลงร้อยละ 5.6 ตามการลดลงของหมวดยานพาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร ซึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมันลดลง สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของภาคใต้ อยู่ที่ร้อยละ 2.2 ชะลอลงเมื่อเทียบกับร้อยละ 2.9 ในเดือนก่อน

ไตรมาสที่ 1 ปี 2552 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของภาคใต้ในไตรมาสนี้เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 ตามการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 10.4 ราคาสินค้า หมวดข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้งเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.1 ส่วนหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มลดลง ร้อยละ 6.0 ตามราคาสินค้าหมวดยานพาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร และหมวดเคหสถาน ที่ลดลงร้อยละ 10.0 และ 6.3 ตามลำดับ

8. การค้าต่างประเทศ มูลค่าการค้าผ่านด่านศุลกากรในภาคใต้มีจำนวนทั้งสิ้น 1,255.6 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 16.3 แยกเป็นมูลค่าการส่งออก 759.9 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 27.4 ตามการลดลงของการส่งออกยางพารา ไม้ยางพาราแปรรูปและเฟอร์นิเจอร์ และอาหารทะเลกระป๋องเป็นสำคัญ ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 495.7 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 9.4 เป็นผลจากการนำเข้าสัตว์น้ำแช่แข็ง เครื่องจักรและอุปกรณ์ และน้ำยางสังเคราะห์เพิ่มขึ้น เป็นสำคัญ

ไตรมาสที่ 1 ปี 2552 มูลค่าการส่งออกของภาคใต้มีทั้งสิ้น 2,118.8 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 25.3 ตามมูลค่าส่งออกสินค้าที่สำคัญ ได้แก่ ยางพารา ที่ลดลงร้อยละ 40.3 ไม้ยางพาราแปรรูปและเฟอร์นิเจอร์ ลดลงร้อยละ 17.6 และอาหารทะเลบรรจุกระป๋องลดลงร้อยละ 11.0 ส่วนถุงมือยางและสัตว์น้ำแช่แข็ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.3 และ 16.9 ตามลำดับ ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 1,512.5 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 16.1 ตามการนำเข้าเครื่องจักรอุปกรณ์และสัตว์น้ำที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 58.6 และ 13.7 ตามลำดับ

9. ภาคการคลัง การเบิกจ่ายงบประมาณของส่วนราชการต่างๆ ในภาคใต้ มีจำนวน 11,494.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 8.2 จากการเบิกจ่ายเพิ่มขึ้นที่คลังจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยยอดการเบิกจ่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 78.3 ส่วนภาษีอากรจัดเก็บได้ 2,835.3 ล้านบาท ลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 12.5 เนื่องจากจัดเก็บภาษีสรรพากรได้ลดลง โดยจัดเก็บได้จำนวน 2.362.2 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 18.4 จากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ได้ลดลง ด้านภาษีศุลการ จัดเก็บได้จำนวน 109.3 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 19.1 ส่วนภาษีสรรพสามิต จัดเก็บได้จำนวน 363.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 72.8 ตามการเพิ่มขึ้นของภาษีหมวดสุรา และหมวดน้ำมันและผลิตน้ำมัน

ไตรมาสที่ 1 ปี 2552 การเบิกจ่ายเงินงบประมาณของส่วนราชการต่างๆ ในภาคใต้ มีจำนวน 39,651.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 17.3 ส่วนทางด้านรายได้มีการจัดเก็บภาษีได้ทั้งสิ้น 7,267.4 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 9.4 เป็นผลจากการจัดเก็บภาษีสรรพากรและ ภาษีศุลกากร ได้ลดลงร้อยละ 13.9 และ 28.7 ตามลำดับ ส่วนภาษีสรรพสามิต จัดเก็บได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 60.7

10. การเงิน เงินฝากคงค้างของสาขาธนาคารพาณิชย์ในภาคใต้ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2552 มีจำนวนประมาณ 431,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 2.5 ส่วนสินเชื่อมียอดคงค้างประมาณ 371,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 6.3 ทั้งเงินให้สินเชื่อและเงินฝากขยายตัวในอัตราชะลอตัวจากเดือนก่อน ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการหดตัวของระบบเศรษฐกิจโดยรวมเป็นสำคัญ

ไตรมาสที่ 1 ปี 2552 สินเชื่อและเงินฝากชะลอตัว ตามภาวะเศรษฐกิจที่หดตัว โดย ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2552 นี้ มีเงินฝากประมาณ 431,500.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 2.5 ทางด้านสินเชื่อมียอดประมาณ 371,900 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 6.3 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อบริโภคส่วนบุคคลเป็นสำคัญ

ข้อมูลเพิ่มเติม : นายพสุธา ระวังสุข

โทร. 0-7423-6200 ต่อ 4345

e-mail : pasuthar@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ