ในวันนี้ (19 มิถุนายน 2552) นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธปท. และผู้บริหาร ธปท. ได้เชิญผู้บริหารจากภาคธุรกิจ ได้แก่ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรม สมาคม ผู้นำเข้าและผู้ส่งออกระดับบัตรทอง และสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว มาร่วมพบปะสนทนากับผู้ว่าการและผู้บริหาร ธปท. โดยมีการบรรยายสรุปในเรื่อง ภาวะเศรษฐกิจไทยและการดำเนินนโยบายการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต รวมทั้งนโยบายสถาบันการเงินในการเอื้ออำนวยต่อการดำเนินธุรกิจ
1. ภาคธุรกิจและ ธปท. มีความเห็นตรงกันที่ต้องการเห็นค่าเงินบาทมีการเคลื่อนไหวอย่างมีเสถียรภาพ
2. ภาคธุรกิจต้องการเห็นค่าเงินบาทที่เคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินของประเทศ คู่ค้าและคู่แข่ง โดยภาคธุรกิจเข้าใจมากขึ้นถึงการติดตามค่าเงินบาทว่ามีความเคลื่อนไหวในทิศทางอย่างไรนั้น จำเป็นต้องดูจากดัชนี NEER และ REER ไม่ใช่ดูค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐ
3. ภาคธุรกิจมีความเป็นห่วงในเรื่องการเก็งกำไรระยะสั้นจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่ง ธปท. ได้ให้ข้อมูลว่า จากการติดตามตลาดการเงิน พบว่า ความเคลื่อนไหวในตลาดการเงินขณะนี้ยังเป็นการซื้อขาย เงินของภาคธุรกิจส่งออกและนำเข้าเป็นส่วนใหญ่ มีเงินเข้าจากตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้แต่ไม่มากนัก
4. ธปท. ให้ความมั่นใจเกี่ยวกับสภาพคล่องในระบบที่มีอยู่ในปัจจุบันว่ามีมากพอที่จะรองรับ ความต้องการกู้เงินตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบที่สองของรัฐบาล รวมทั้งกฎเกณฑ์ของ ธปท. ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน สำหรับปัญหาสภาพคล่องที่เกิดขึ้นในบางจุดของระบบสถาบันการเงินนั้น ธปท. รับจะเป็นผู้ประสานงานระหว่างสถาบันการเงินและภาคเอกชน เพื่อให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจเป็นไปอย่างราบรื่นต่อไป
การพบปะสนทนากับภาคธุรกิจ เป็นช่องทางหนึ่งที่สำคัญในการสื่อสารเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายการเงินและสถาบันการเงินของ ธปท. และส่งสัญญาณให้กับกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจ ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย ได้ทราบถึงทิศทางแนวโน้มเกี่ยวกับสถานการณ์การเงินและเศรษฐกิจของโลกที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย เพื่อจะได้เตรียมความพร้อมและปรับตัวให้สอดคล้องกับสภาวะ การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจการเงินภายใต้วิกฤติเศรษฐกิจ การพบปะครั้งนี้เป็นโอกาสดีที่ได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น และสร้างความเข้าใจในประเด็นต่าง ๆ และความเข้าใจอันดีของภาคธุรกิจมีความสำคัญและจำเป็น ยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในภาวการณ์ที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอก และเศรษฐกิจโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเช่นในปัจจุบัน
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย