แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนพฤษภาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 30, 2009 15:04 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ภาวะเศรษฐกิจในเดือนพฤษภาคมโดยรวมค่อนข้างทรงตัวจากเดือนเมษายน และหดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนในอัตรา ที่ใกล้เคียงกับเดือนก่อน ทั้งการผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีการอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน การส่งออกและการนำเข้า อย่างไรก็ดี ผลผลิตและราคาพืชผลสำคัญในภาคเกษตรหดตัวมากขึ้น ทำให้รายได้เกษตรกรจากพืชผลสำคัญลดลงต่อเนื่อง ขณะที่ ภาคการท่องเที่ยวหดตัวมากขึ้น ส่วนหนึ่งเนื่องจากนักท่องเที่ยวยังไม่แน่ใจในสถานการณ์ทางการเมืองของไทย

เสถียรภาพด้านต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ดีจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด และเงินสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง สำหรับเสถียรภาพในประเทศ อัตราเงินเฟ้อต่ำต่อเนื่อง ส่วนการว่างงานปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจในเดือนพฤษภาคม 2552 มีดังนี้

1. ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เบื้องต้น) หดตัวร้อยละ 10.0 เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ใกล้เคียงกับเดือนก่อนที่หดตัว ร้อยละ 9.7 เมื่อปรับฤดูกาลแล้วดัชนีหดตัวร้อยละ 1.2 จากเดือนก่อนหน้าจากการผลิตในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ ที่สำคัญ ได้แก่ การผลิตรถยนต์นั่ง ซึ่งเป็นผลมาจากการระบายสินค้าคงคลัง และหมวดเครื่องดื่มและยาสูบที่เร่งผลิตในเดือนก่อน อย่างไรก็ตาม การผลิตในหมวดอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าปรับตัวดีขึ้นตามอุปสงค์จากต่างประเทศ ขณะที่อัตราการใช้กำลัง การผลิตของภาคอุตสาหกรรมที่ปรับฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อนเล็กน้อย

2. ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน หดตัวร้อยละ 4.7 จากระยะเดียวกันปีก่อน และหดตัวร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนตามการหดตัวของเครื่องชี้หมวดยานยนต์ การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค ณ ราคาคงที่ และภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ เป็นสำคัญ ดัชนีการลงทุนภาคเอกชน (ประมาณการ) หดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 16.5 ซึ่งใกล้เคียงกับเดือนก่อน โดยเป็นการหดตัวของ การลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่หมวดก่อสร้างค่อนข้างทรงตัว

3. ภาคการคลัง รัฐบาลมีรายได้จัดเก็บ 237.8 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ 20.1 โดยรายได้ภาษีหดตัวร้อยละ 24.8 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนจากภาษีฐานรายได้ที่หดตัวร้อยละ 30.3 โดยเฉพาะภาษีเงินได้นิติบุคคลหดตัวร้อยละ 38.6 จากภาษีกำไรสุทธิที่ลดลงจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ประกอบกับวันสุดท้ายของการยื่นชำระภาษีกำไรสุทธิรอบสิ้นปี 2551 ตรงกับวันหยุดราชการ จึงมี การเลื่อนระยะเวลาชำระออกไป ทำให้รายได้ส่วนหนึ่งเหลื่อมไปอยู่ในเดือนมิถุนายน ส่วนภาษีฐานการบริโภคลดลงจากภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นสำคัญ ขณะที่ภาษีธุรกิจเฉพาะขยายตัวร้อยละ 20.1 ซึ่งเป็นผลชั่วคราวจากการกลับไปเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายอสังหาริมทรัพย์ในอัตราเดิมที่ร้อยละ 3 ในช่วงที่พระราชกฤษฎีกาขยายระยะเวลามาตรการลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายอสังหาริมทรัพย์ยังไม่ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา และภาษีสรรพสามิตขยายตัวร้อยละ 17.2 จากภาษีสรรพสามิตน้ำมัน สุราและเบียร์ เนื่องจากการปรับเพิ่มอัตราภาษี สำหรับรายได้ที่มิใช่ภาษีขยายตัวร้อยละ 77.5 จากการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจบางแห่งที่ขอเลื่อน มานำส่งในเดือนนี้

ดุลเงินสด รัฐบาลขาดดุลเงินสด 36.7 พันล้านบาท ซึ่งชดเชยการขาดดุลด้วยการกู้สุทธิ 40.4 พันล้านบาท ทำให้เงินคงคลังเพิ่มขึ้นจาก 98.2 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนเมษายน เป็น 101.9 พันล้านบาทในเดือนพฤษภาคม

4. ภาคต่างประเทศ การส่งออก มีมูลค่า 11,547 ล้านดอลลาร์ สรอ. หดตัวร้อยละ 26.5 ซึ่งเป็นการหดตัวในทุกหมวดโดยเฉพาะหมวดสินค้าอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูง เช่น ยานยนต์ คอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ตามการหดตัวของปริมาณ ขณะที่สินค้าเกษตรหดตัวทั้งราคาและปริมาณ ด้านการนำเข้า มีมูลค่า 9,208 ล้านดอลลาร์ สรอ. หดตัวร้อยละ 34.3 โดยเป็นการหดตัวในทุกหมวดสินค้า การนำเข้าในหมวดเชื้อเพลิงหดตัวตามราคานำเข้าน้ำมันดิบเป็นสำคัญ ขณะที่หมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางหดตัวสูงในผลิตภัณฑ์เหล็ก ผลิตภัณฑ์เคมีและพลาสติก ตามการหดตัวด้านปริมาณ ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 2,339 ล้านดอลลาร์ สรอ. เมื่อรวมกับ ดุลบริการ

รายได้ และเงินโอน ที่ขาดดุล 949 ล้านดอลลาร์ สรอ. ตามการลดลงของนักท่องเที่ยวต่างชาติและเป็นช่วงตกงวดส่งกลับกำไร และเงินปันผล ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1,390 ล้านดอลลาร์ สรอ. เงินทุนเคลื่อนย้าย*1/ ขาดดุล 979 ล้านดอลลาร์ สรอ. จาก การไหลออกสุทธิของภาคธุรกิจที่มิใช่ธนาคารเป็นสำคัญ โดยส่วนใหญ่เป็นการไหลออกของเงินลงทุนในหลักทรัพย์ของคนไทยที่ลงทุนในตราสารหนี้ในประเทศเกาหลี โดยรวมดุลการชำระเงินเกินดุล 602 ล้านดอลลาร์ สรอ. และเงินสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2552 อยู่ที่ 121.5 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ขณะที่ยอดคงค้างการซื้อเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าสุทธิอยู่ที่ 6.3 พันล้านดอลลาร์ สรอ.

5. อัตราเงินเฟ้อทั่วไป หดตัวร้อยละ 3.3 ตามราคาในหมวดพลังงานที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ราคาในหมวดอาหารสดเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานหดตัวร้อยละ 0.3 ซึ่งติดลบเป็นเดือนแรกนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 โดยเป็นผลจากนโยบายเรียนฟรี 15 ปีของรัฐบาล ประกอบกับฐานราคาสินค้าและบริการหลายรายการที่ค่อนข้างสูงในปีก่อน ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิตหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 7.2 จากราคาในหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมืองและผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ยังอยู่ในระดับต่ำ และราคาผลผลิตเกษตรกรรมที่ชะลอลงมากจากฐานสูงในปีก่อนโดยเฉพาะราคาข้าวและยางพารา

6. ภาคการเงิน*2/ ฐานเงิน ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2552 ขยายตัวร้อยละ 5.8 จากระยะเดียวกันปีก่อน ขณะที่ปริมาณเงินตาม ความหมายกว้าง (Broad Money) ขยายตัวร้อยละ 9.2 สำหรับเงินฝากของสถาบันรับฝากเงิน (Depository Corporations) ทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้าโดยขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 6.2 หากนับรวมการออกตราสารหนี้ประเภทตั๋วแลกเงินแล้ว เงินฝากขยายตัว ร้อยละ 8.8 ด้านสินเชื่อภาคเอกชนของสถาบันรับฝากเงินขยายตัวร้อยละ 4.5 จากระยะเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นอัตราที่ชะลอลงต่อเนื่อง ตามภาวะเศรษฐกิจ โดยเป็นการชะลอลงในสินเชื่อที่ให้แก่ภาคธุรกิจเป็นสำคัญ กอปรกับมีการขายสินเชื่อด้อยคุณภาพแก่บรรษัท บริหารสินทรัพย์จำนวนหนึ่ง หากบวกกลับการขายสินเชื่อด้อยคุณภาพดังกล่าวแล้วพบว่ายอดคงค้างสินเชื่อภาคเอกชนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน

อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในตลาดเงิน ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2552 และในช่วงวันที่ 1-26 มิถุนายน 2552 อัตราดอกเบี้ยธุรกรรม ซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน และอัตราดอกเบี้ยระหว่างธนาคารระยะ 1 วัน เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 1.25 และ 1.15 ต่อปี ตามลำดับ

7. อัตราแลกเปลี่ยนและดัชนีค่าเงินบาท ในเดือนพฤษภาคม 2552 ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวสอดคล้องกับค่าเงินภูมิภาค ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาททรงตัวอยู่ที่ 77.22 ใกล้เคียงกับเดือนเมษายนที่ระดับ 77.32 แม้ว่าอัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อดอลลาร์ สรอ. ปรับแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากการที่นักลงทุนกล้าลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง (Risk Appetite) เพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีเงินทุนไหลเข้ามายังตลาดหลักทรัพย์ไทย และภูมิภาค ประกอบกับแรงขายดอลลาร์ สรอ. ของผู้ส่งออก โดยค่าเงินบาทเฉลี่ยอยู่ที่ 34.57 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. เทียบกับ 35.46 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ในเดือนเมษายน

ในช่วง 1-26 มิถุนายน 2552 ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์ สรอ. เคลื่อนไหวในช่วงแคบๆ โดยเฉลี่ยแล้วยังคงแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องจากเดือนพฤษภาคมมาอยู่ที่ 34.15 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. จาก Risk Appetite ในตลาดการเงินโลกโดยเพิ่มการลงทุนในสินทรัพย์สกุลภูมิภาคเป็นสำคัญ

ข้อมูลเพิ่มเติม: พรรณพิลาส เรืองวิสุทธิ์

โทร. 0-2283-5648, 0-2283-5639 e-mail: punpilay@bot.or.th

*1/ เงินทุนเคลื่อนย้ายสุทธิในเดือนล่าสุดเป็นข้อมูลเร็วเบื้องต้น ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงและแก้ไขในเดือนถัดไป

*2/ ตั้งแต่เดือนกันยายน 2551 ธปท. ได้ปรับปรุงข้อมูลปริมาณเงินตามความหมายกว้าง เงินฝากและสินเชื่อภาคเอกชน ให้ครอบคลุมข้อมูลจากสหกรณ์ออมทรัพย์ และกองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market Mutual Funds) นอกจากนี้ ปริมาณเงินตามความหมายกว้างยังนับรวมการออกตราสารหนี้ประเภทตั๋วแลกเงิน (Bill of Exchange) เข้าไว้ด้วย

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ