สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนพฤษภาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 30, 2009 16:10 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนพฤษภาคม 2552 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 แต่ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน เนื่องจากการขยายตัวของการผลิตน้ำตาลทราย และประชาชนมีการใช้จ่ายมากขึ้นตามรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการจำหน่ายข้าวนาปรังและพืชฤดูแล้ง กอปรกับผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ซึ่งสะท้อนจากการเบิกจ่ายงบประมาณที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของกรมส่งเสริม การปกครองท้องถิ่น ขณะที่เครื่องชี้เศรษฐกิจส่วนใหญ่ยังคงลดลงเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน

ภาคเกษตรกรรม ดัชนีรายได้เกษตรกร ลดลงจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 19.7 โดยดัชนีราคาและดัชนีผลผลิตที่ลดลงร้อยละ 19.3 และร้อยละ 0.5 ตามการลดลงของราคามันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และข้าว สำหรับการผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน และระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 52.8 และร้อยละ 56.1 ตามลำดับ ตามการเพิ่มขึ้นของการผลิตน้ำตาลทรายขาว เป็นสำคัญ

การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อน และปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน เนื่องจากมาตรการต่าง ๆ ของรัฐบาลที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจส่งผลให้ประชาชนบริโภคเพิ่มขึ้น ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนลดลง เนื่องจากนักลงทุน ยังไม่มั่นใจในภาวะเศรษฐกิจ รายได้ของภาครัฐบาลเพิ่มขึ้นจากการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต ส่วนรายจ่ายภาครัฐบาลเพิ่มขึ้นเนื่องจากการเบิกจ่ายงบประมาณของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นที่ได้รับเงินอุดหนุนทั่วไปจากส่วนกลางเพิ่มขึ้น มูลค่าการค้าชายแดนลดลงต่อเนื่องทั้งการค้าชายแดนไทย - ลาวและไทย - กัมพูชา

เงินฝากและสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินเชื่อที่ชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจและการลงทุนของภาคธุรกิจ ประกอบกับมีการชำระหนี้ตามตั๋วเงินที่ครบกำหนด อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบร้อยละ 3.7 ตามการลดลงของราคาสินค้าหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มเป็นสำคัญ

1. ภาคเกษตรกรรม ผลผลิตข้าวนาปรังและพืชฤดูแล้งทยอยออกสู่ตลาด ขณะที่ดัชนีรายได้เกษตรกรลดลงร้อยละ 19.7 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน โดยดัชนีราคาลดลงร้อยละ 19.3 ตามการลดลงของราคามันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และข้าว ส่วนดัชนีผลผลิตลดลงร้อยละ 0.5 ตามการลดลงของผลผลิตอ้อยโรงงาน

ข้าว ราคาขายส่งข้าวเปลือกหอมมะลิราคาเฉลี่ยเกวียนละ 13,953 บาท ลดลงจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 18.6 ตามการหดตัวของตลาดส่งออกและการชะลอตัวของความต้องการในประเทศ ประกอบกับปีก่อนราคาข้าวอยู่ในระดับสูง สำหรับราคาขายส่งข้าวเปลือกเหนียว 10% (เมล็ดยาว) เฉลี่ยเกวียนละ 7,255 บาท ลดลงจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 25.0

มันสำปะหลัง ราคามันสำปะหลังลดลงเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนตามความต้องการใช้มันสำปะหลังทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ชะลอตัว เนื่องจากผลผลิตธัญพืชโลกที่มีมากเพราะดินฟ้าอากาศเอื้ออำนวย โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดในแถบสหภาพยุโรป ราคาขายส่งหัวมันสำปะหลังเฉลี่ยกิโลกรัมละ 1.09 บาท และราคาขายส่งมันเส้นเฉลี่ยกิโลกรัมละ 3.09 บาท ลดลงจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 49.3 และร้อยละ 39.6 ตามลำดับ

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ราคาขายส่งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เฉลี่ยกิโลกรัมละ 6.38 บาท ลดลงจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 26.2 ตามความต้องการของโรงงานอาหารสัตว์ที่ชะลอตัว

2. ภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เพิ่มขึ้นร้อยละ 52.8 จากเดือนก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 56.1 จากระยะเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากโรงงานน้ำตาลมีการผลิตน้ำตาลทรายขาวเพิ่มขึ้นภายหลังฤดูปิดหีบอ้อยที่เร็วขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนและมีการเพิ่มสต็อกสำหรับส่งออกตามราคาน้ำตาลในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ส่วนอุตสาหกรรมที่ผลิตลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ลดลงร้อยละ 2.5 อุตสาหกรรมผลิตแป้งมันสำปะหลังลดลงตามการส่งออกและอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ชะลอลงจากเดือนก่อน

3. ภาคบริการ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน แต่ลดลงจากระยะเดียวกันของปีก่อน โดยอัตราการเข้าพักอยู่ที่ร้อยละ 44.4 เพิ่มขึ้น จากเดือนก่อนที่มีอัตราการเข้าพักที่ร้อยละ 42.5 แต่ลดลงจากระยะเดียวกันของปีก่อนที่มีอัตราการเข้าพักที่ร้อยละ 46.0

4. การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนและจากเดือนก่อน ส่วนหนึ่งเนื่องจากเกษตรกรมีรายได้จากการจำหน่ายข้าวนาปรังและพืชฤดูแล้ง และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐเริ่มเห็นผล ทำให้ประชาชนจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น โดยเครื่องชี้สำคัญ คือ ภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้ 866.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 13.1 ตามการจัดเก็บภาษีที่เพิ่มขึ้นจากธุรกิจห้างสรรพสินค้า ธุรกิจลิสซิ่ง และธุรกิจจำหน่ายบุหรี่ - สุรา เป็นสำคัญ

ปริมาณการจดทะเบียนรถจักรยานยนต์และปริมาณการใช้ไฟฟ้าเพื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของ ปีก่อนร้อยละ 1.1 และร้อยละ 1.9 ชะลอตัวจากเดือนก่อน ขณะที่ปริมาณการจดทะเบียนรถยนต์ส่วนบุคคล จำนวน 6,707 คัน ยังลดลงจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 24.0

5. การลงทุนภาคเอกชน ลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อน เนื่องจากนักลงทุนยังไม่มั่นใจในภาวะเศรษฐกิจ โดยทุนจดทะเบียนธุรกิจตั้งใหม่ มีจำนวน 360.4 ล้านบาท ลดลงจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 21.9 ตามการลดลงของการจดทะเบียน ในหมวดการผลิต และหมวดการเกษตร การเลี้ยงสัตว์ การป่าไม้ การประมง

พื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลเมืองและเทศบาลนครมีจำนวน 100.4 พันตารางเมตร ลดลงจากระยะเดียวกัน ของปีก่อนร้อยละ 33.4 โดยเป็นการลดลงเกือบทุกจังหวัด ยกเว้นจังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม และชัยภูมิ

แต่อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการลงทุนเริ่มดีขึ้น โดยเงินลงทุนในโครงการที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุน จำนวน 1,323.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนและจากระยะเดียวกันของปีก่อนกว่าเท่าตัว ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในจังหวัดนครราชสีมา

สำหรับ ปริมาณการใช้ไฟฟ้าเพื่อธุรกิจและอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนและระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.7 และร้อยละ 4.0 ตามลำดับ

6. ภาคการคลัง สามารถจัดเก็บภาษีอากรได้ 4,566.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับระยะเดียวกัน รายได้ของภาคระฐบาลของปีก่อนร้อยละ 3.6 ขยายตัวเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนก่อน เนื่องจากการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตได้เพิ่มขึ้น ในขณะที่ภาษีสรรพากร และอากรขาเข้าจัดเก็บได้ลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อน มีรายละเอียดดังนี้

ภาษีสรรพสามิต จัดเก็บได้ 1,956.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 39.0 เร่งตัวจากเดือนก่อน ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.9 ตามภาษีสุรา เนื่องจากผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสุราและเบียร์ยื่นชำระภาษีล่วงหน้าก่อนการปรับเพิ่มอัตราภาษี ซึ่งมีผลบังคับใช้ในเดือนนี้ และภาษีเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นจากโซดาเป็นสำคัญ

ภาษีสรรพากร จัดเก็บได้ 2,592.1 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 12.8 ตามการลดลงของภาษีเงินได้นิติบุคคล เนื่องจากปีก่อนมีนิติบุคคลแห่งหนึ่งยื่นชำระภาษีจากกำไรจากการขายที่ดินเพิ่มขึ้น ทำให้ฐานปีก่อนสูง ประกอบกับวันสุดท้ายของการชำระภาษีจากกำไรสุทธิรอบสิ้นปีบัญชี 2551 เป็นวันหยุดราชการ ส่งผลให้ผู้ประกอบการบางส่วนยื่นชำระในเดือนมิถุนายนแทน และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาลดลงต่อเนื่อง ตามการออกมาตรการลดหย่อนภาษี ส่งผลให้ภาษีหัก ณ ที่จ่ายจากเงินเดือนลดลง สำหรับภาษีมูลค่าเพิ่มขยายตัวจากระยะเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากยอดการผลิตและจำหน่ายของภาคเอกชนบางแห่งเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมผลิตสุราและเบียร์ ธุรกิจลิสซิ่ง และห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่

ภาษีอากรขาเข้า จัดเก็บได้ 17.7 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 31.7 ต่อเนื่องจากเดือนก่อน ตามการลดลงของอากรขาเข้าจากการนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากด่านศุลกากรมุกดาหาร และด่านศุลกากรหนองคายเป็นสำคัญ ในขณะที่ด่านศุลกากรท่าลี่ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากการจัดเก็บอากรขาเข้าจากข้าวโพดเป็นสำคัญ

การเบิกจ่ายงบปรัมาณ รวมทั้งสิ้น 23,667.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 64.6 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน เร่งตัวจากที่ลดลงต่อเนื่องมา 2 เดือน เนื่องจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้รับเงินอุดหนุนทั่วไปจากส่วนกลางเพิ่มขึ้น โดยรายจ่าย 13,112.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.9 ส่วนใหญ่เป็นรายจ่ายหมวดเงินเดือน และค่าตอบแทนข้าราชการ และ ปรัจำรายจ่ายลงทุน10,555.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า ส่วนใหญ่เป็นรายจ่ายหมวดเงินอุดหนุนทั่วไป

7. การค้าต่างประเทศ

การค้าชายแดนไทย - ลาว ยังคงลดลงต่อเนื่อง โดยเดือนนี้มีมูลค่าการค้า 5,780.0 ล้านบาท ลดลงจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 16.3 ตามการลดลงทั้งมูลค่าการส่งออกและนำเข้า สำหรับรายละเอียดมีดังนี้

การส่งออก มูลค่า 4,499.7 ล้านบาท ลดลงจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 15.9 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ประกอบกับโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ใน สปป. ลาว เสร็จสิ้นไปหลายโครงการ ทำให้ความต้องการสินค้าลดลงโดยเฉพาะวัสดุก่อสร้าง เหล็ก รวมถึงเครื่องจักรและอุปกรณ์ และยานพาหนะอุปกรณ์และส่วนประกอบที่ใช้ในการก่อสร้าง สำหรับน้ำมันปิโตรเลียมลดลงตามภาคการก่อสร้างที่ชะลอลงและภาคอุตสาหกรรมเหมืองแร่ที่ลดกำลังการผลิต ส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ที่ส่วนใหญ่ส่งต่อไปยังประเทศเวียดนามลดลง เนื่องจากผู้บริโภคหันไปใช้สินค้าที่ผลิตจากโรงงานในประเทศที่มีราคาถูกกว่าแทนอย่างไรก็ดี สินค้าส่งออกสำคัญที่มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ สินค้าอุปโภคบริโภคในครัวเรือนโดยเฉพาะผลไม้สดตามฤดูกาลเครื่องดื่มบำรุงกำลัง นม น้ำผลไม้ และวัตถุดิบประเภทผ้าและอุปกรณ์ตัดเย็บ

การนำเข้า มูลค่า 1,280.3 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 17.5 ตามการลดลงของสินค้าสำคัญ ได้แก่ สินแร่ทองแดงที่นำเข้าจากแขวงสะหวันนะเขต และเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายจากประเทศจีน อย่างไรก็ตาม สินค้านำเข้าสำคัญที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบทั้งจากรถยนต์พวงมาลัยซ้ายที่นำกลับเข้ามาเพื่อส่งต่อไปยังประเทศอื่น ยานพาหนะที่นำเข้าเพื่อซ่อมบำรุงและจากการปิดโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ และผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้นจากการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ผ่านด่านศุลกากรท่าลี่ จังหวัดเลย การค้าชายแดนไทย - กัมพูชา มูลค่าการค้า 4,016.2 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 17.7 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากการมูลค่าส่งออกและนำเข้าลดลง โดยมีรายละเอียดดังนี้

การส่งออก มูลค่า3,899.9 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 15.7 ตามการลดลงของการส่งออกสินค้าสำคัญ คือยานพาหนะและส่วนประกอบ วัสดุก่อสร้าง สินค้าอุปโภคบริโภคในครัวเรือน และน้ำมันปิโตรเลียมและเชื้อเพลิง อย่างไรก็ดี สินค้าส่งออกสินค้าที่เพิ่มขึ้น คือ น้ำตาล เครื่องดื่มโดยเฉพาะเครื่องดื่มประเภทบำรุงร่างกายและน้ำอัดลม สุกรและโค

การนำเข้า มูลค่า 116.3 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 54.8 ตามการลดการนำเข้าเสื้อผ้าเก่า เศษวัสดุใช้แล้ว ได้แก่ เศษกระดาษ เศษเหล็ก เศษทองแดงและเศษอลูมิเนียม ส่วนการนำเข้าพืชไร่โดยเฉพาะมันสำปะหลังยังคงเพิ่มขึ้น

8. ระดับราคา ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปลดลงเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.7 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 จากเดือนก่อนที่ลดลงร้อยละ 0.5 โดยราคาสินค้าหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มลดลงร้อยละ 9.5 เป็นการลดลงของราคาในหมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสารลดลงร้อยละ 14.9 ตามราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ลดลงร้อยละ 25.8 หมวดการบันเทิงการอ่าน การศึกษา และการศาสนาลดลงร้อยละ 14.9 จากค่าหนังสือและอุปกรณ์การศึกษาลดลงร้อยละ 97.6 หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้าลดลงร้อยละ 4.7 ตามราคาเครื่องแบบนักเรียนชายและหญิงลดลงร้อยละ 20.7 และ 11.1 ตามลำดับ เนื่องจากนโยบายเรียนฟรี 15 ปีของรัฐบาลที่ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาและเครื่องแบบนักเรียน หมวดเคหสถานลดลงร้อยละ 7.1 ตามการลดลงของค่าไฟฟ้าและน้ำประปาจากมาตรการช่วยเหลือประชาชนของรัฐบาล

สินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน ชะลอตัวจากเดือนก่อน โดยสินค้าที่มีราคาเพิ่มขึ้น ได้แก่ หมวดเนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ และสัตว์น้ำเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.9 หมวดอาหารสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.8 หมวดผักและผลไม้เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 0.1 และจากเดือนก่อนร้อยละ 1.9

9. ภาคการจ้างงาน ภาวะการทำงานเดือนเมษายน 2552 มีกำลังแรงงานรวมทั้งสิ้น 12.4 ล้านคน เป็นผู้มีงานทำ 11.8 ล้านคน โดยทำงานในภาคเกษตรกรรม 5.1 ล้านคน และนอกภาคเกษตร 6.7 ล้านคน สำหรับผู้ว่างงานมีจำนวน 0.36 ล้านคน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 2.9 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่มีอัตราการว่างงานร้อยละ 2.5 ตามการว่างงานที่เพิ่มขึ้นในภาคเกษตรกรรม การผลิตและ การก่อสร้าง

ด้านภาวะการจ้างงานในภาคเดือนพฤษภาคม 2552 มีผู้สมัครงานจำนวน 14,533 คน เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของ ปีก่อน 1 เท่า เนื่องจากมีการจัดตลาดนัดแรงงานในจังหวัดต่าง ๆ เช่น นครราชสีมา ขอนแก่น และมหาสารคาม เป็นต้น ในขณะที่มีตำแหน่งงานว่างจำนวน 4,282 อัตรา เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 55.4 ความต้องการแรงงาน ส่วนใหญ่เป็นงานในอาชีพงานพื้นฐานต่าง ๆ รองลงมาเป็นเสมียน เจ้าหน้าที่ พนักงานบริการ และพนักงานขายในร้านค้า สำหรับผู้ที่ได้รับการบรรจุงาน 3,580 คน เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 29.7 ส่วนใหญ่เป็นการบรรจุงานในอุตสาหกรรมการผลิต การขายส่งและการขายปลีก

สำหรับแรงงานไทยในภาคฯ ที่ขออนุญาตไปทำงานต่างประเทศมีจำนวน 8,692 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.1 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีแรงงานไปทำงานในประเทศลิเบียเพิ่มขึ้นถึง 13 เท่า ส่วนใหญ่เป็นแรงงานฝีมือและกึ่งฝีมือเพื่อทำงานในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ ประเทศที่ได้รับอนุญาตให้ไปทำงานมากที่สุด ได้แก่ ไต้หวัน ลิเบีย เกาหลีใต้ อิสราเอล และกาตาร์ จังหวัดที่มีคนไทยขออนุญาตเดินทางไปทำงานต่างประเทศมาก ได้แก่ อุดรธานี นครราชสีมา ขอนแก่น และบุรีรัมย์

10. ภาคการเงิน ณ สิ้นเดือนเมษายน เงินฝากของธนาคารพาณิชย์ มีจำนวน 387,791 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 เมื่อเทียบกับ ระยะเดียวกันปีก่อน และเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 1.1 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของเงินฝากกระแสรายวันและเงินฝากออมทรัพย์จากการนำฝากของส่วนราชการและลูกค้าบางส่วนถอนเงินฝากประเภทจ่ายคืนเมื่อสิ้นระยะเวลาที่ครบกำหนดมาฝากไว้ในบัญชีออมทรัพย์เพื่อรอลงทุนในแหล่งที่ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า

เงินให้สินเชื่อ มีจำนวน 372,498 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ชะลอตัวต่อเนื่อง เป็นเดือนที่ 9 ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจและการลงทุนของภาคธุรกิจ ประกอบกับมีการชำระหนี้ตามตั๋วเงินที่ครบกำหนดของลูกค้ากลุ่มธุรกิจโรงสีข้าว โรงงานน้ำตาลและกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ครูเป็นสำคัญ สำหรับสินเชื่อที่ลดลง ได้แก่ สินเชื่อเพื่อการผลิต สินเชื่อตัวกลางทางการเงิน และสินเชื่อเพื่อการค้าปลีกและค้าส่ง สินเชื่อที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ สินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคและสินเชื่อเพื่อการก่อสร้าง

อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก เท่ากับร้อยละ 96.1 ลดลงจากระยะเดียวกันของปีก่อนที่อัตราร้อยละ 97.3 เนื่องจากการขยายตัวของเงินฝากในขณะที่สินเชื่อยังคงชะลอตัว

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ข้อมูลเพิ่มเติม : นายโรจน์ลักษณ์ ปรีชา โทร. 0-4333-3000 ต่อ 3411 e-mail: Rotelakp@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ