เศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือเดือนพฤษภาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 3, 2009 16:34 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคเหนือ เดือนพฤษภาคม 2552 ยังคงหดตัว แต่ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนโดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเร่งเบิกจ่ายของภาครัฐ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการ และการผลิตที่เพิ่มขึ้นของบางอุตสาหกรรมรายได้เกษตรกรหดตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนที่อยู่ในระดับสูง ภาคการท่องเที่ยว การลงทุนภาคเอกชน และการส่งออก/นำเข้ายังคงลดลง เงินเฟ้อติดลบเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน ขณะที่เงินฝากและเงินให้สินเชื่อเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวจากเดือนก่อน

รายละเอียดของแต่ละภาคเศรษฐกิจ มีดังนี้

1. ภาคเกษตร รายได้เกษตรกรยังคงลดลงต่อเนื่องแต่อยู่ในเกณฑ์ดีเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนที่ขยายตัวสูง โดยในเดือนพฤษภาคม 2552 หดตัวร้อยละ 19.2 ตามดัชนีราคาพืชสำคัญที่หดตัวลงร้อยละ 17.3 เนื่องจากราคาข้าวเปลือกเจ้านาปรัง ถั่วเหลือง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ลดลงร้อยละ 28.3 ร้อยละ 12.7 และร้อยละ 25.4 ตามลำดับ ผลจากราคาระยะเดียวกันปีก่อนอยู่ในระดับสูงเป็นสำคัญ ราคาลิ้นจี่ลดลงร้อยละ 30.7 ตามผลผลิตที่เพิ่มขึ้นมาก ขณะที่ราคาสับปะรดและกระเทียมสูงขึ้นร้อยละ 125.3 และร้อยละ 32.1 ตามลำดับ ด้านดัชนีผลผลิตพืชหลักหดตัวร้อยละ 2.3 ตามผลผลิตข้าวนาปรังที่ลดลงร้อยละ 5.3 จากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการผลิตเช่นปีก่อน ประกอบกับผลผลิตสับปะรดและกระเทียมลดลงร้อยละ 12.6 และร้อยละ 16.4ตามลำดับ เนื่องจากเกษตรกรบางส่วนหันไปปลูกพืชผักอื่นที่ผลตอบแทนดีกว่า อย่างไรก็ดี ลิ้นจี่ ถั่วเหลือง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง ผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 48.0 ร้อยละ 0.8 ร้อยละ 0.3 และร้อยละ 35.4 ตามลำดับ เนื่องจากราคาปีก่อนจูงใจให้เกษตรบำรุงดูแลและสภาพอากาศเอื้ออำนวย

2. ภาคอุตสาหกรรม การผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อน แม้ว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมภาคเหนือยังคงหดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 33.3 แต่เมื่อขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วดัชนีกลับปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 เทียบกับเดือนก่อน โดยการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์หดตัวร้อยละ 42.9 ปรับตัวดีขึ้นเทียบกับที่ลดลงร้อยละ 60.4 เดือนก่อน ประกอบกับสินค้าที่เป็นส่วนประกอบ Hard Disk Drive ได้เริ่มกลับมาทำการผลิตอีกครั้งในเดือนนี้หลังจากได้หยุดสายการผลิตเกือบ 2 เดือน สินค้าสำคัญที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น ไดโอด ไอซี ทรานฟอร์มเมอร์และมอเตอร์ ด้านอุตสาหกรรมอาหารหดตัวร้อยละ 17.9 ตามการผลิตผลไม้แช่แข็ง อีกทั้งการผลิตผักสดแช่แข็งและอบแห้งที่ชะลอตัวลง การผลิตเครื่องดื่มลดลงร้อยละ 24.2 เนื่องจากสต็อกสินค้าอยู่ในระดับสูงและการบริโภคที่ลดลง การผลิตเซรามิกประเภทเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารลดลงร้อยละ 24.5 ตามความต้องการของตลาดหลักในยุโรปที่หดตัวลง อย่างไรก็ดี การผลิตเครื่องประดับขยายตัวดีโดยเฉพาะเพื่อส่งออกไปประเทศออสเตรเลีย

3. ภาคบริการ อยู่ในเกณฑ์ลดลงอย่างต่อเนื่อง จากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในประเทศที่หดตัวลง ทำให้นักท่องเที่ยวทั้งต่างชาติและไทยลดลง และข่าวการระบาดของเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 โดยเครื่องชี้ที่สำคัญได้แก่ การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มประเภทโรงแรมและภัตตาคารหดตัวร้อยละ 26.0 ในจังหวัดใหญ่ๆ เช่น เชียงใหม่และเชียงราย ที่ยอดจัดเก็บลดลงมากถึงร้อยละ 28.3 และร้อยละ 38.3 ตามลำดับ จำนวนผู้โดยสารผ่านท่าอากาศยานหดตัวร้อยละ 9.9 ต่อเนื่องจากเดือนก่อนโดยหดตัวในทุกท่าอากาศยานของภาคเหนือ อัตราการเข้าพักของโรงแรมในภาคเหนือลดลงอยู่ที่ร้อยละ 33.9 เทียบกับร้อยละ 37.8 ระยะเดียวกันปีก่อน

4. การอุปโภคบริโภค ปรับตัวดีขึ้นจากรายได้เกษตรกรโดยเฉพาะในภาคเหนือตอนล่างยังอยู่ในเกณฑ์ดีและอีก ส่วนหนึ่งเป็น ผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการ โดยเครื่องชี้การใช้จ่ายภาคเอกชนที่สำคัญได้แก่ ปริมาณการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่ขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 18.1 เป็นการขยายตัวในหมวดค้าส่งค้าปลีกร้อยละ 15.2 ในขณะที่หมวดอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ 2.0 เทียบกับที่เร่งตัวร้อยละ 44.5 เดือนก่อน จากปริมาณสต็อคสินค้าประเภทเครื่องดื่มแอลกอฮอลย์ที่มีการผลิตสะสมล่วงหน้าจำนวนสูงก่อนการปรับเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิต เบียร์ และสุรา ส่วนการบริโภคสินค้าคงทนยังอยู่ในเกณฑ์หดตัวตามภาวะเศรษฐกิจ สะท้อนจากปริมาณการจดทะเบียนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่หดตัวร้อยละ 21.6 และร้อยละ 8.1ตามลำดับ สำหรับปริมาณการใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนเดือนเมษายน 2552 ขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 0.7

5. การลงทุนภาคเอกชน หดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนแต่มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น โดยเครื่องชี้ที่สำคัญได้แก่ปริมาณการจำหน่ายวัสดุก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 0.7 พื้นที่ก่อสร้างรับอนุญาตในเขตเทศบาลขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 13.5 ในประเภทเพื่อที่อยู่อาศัยและเพื่อการพาณิชย์ในจังหวัดหลักทางเศรษฐกิจของภาคเหนือตอนบนเป็นสำคัญ ด้านค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนที่ดินยังหดตัวถึงร้อยละ 46.0 ผลต่อเนื่องจากการต่ออายุมาตรการลดอัตราการจัดเก็บค่าธรรมเนียมอีก 1 ปีของรัฐบาล สำหรับความสนใจลงทุนเครื่องจักรและอุปกรณ์การผลิต ซึ่งสะท้อนจากการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในภาคเหนือหดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 69.1

6. การค้าต่างประเทศ การค้าผ่านด่านศุลกากรในภาคเหนือหดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนทั้งการส่งออกและนำเข้า โดยการส่งออกผ่านด่านศุลกากรในภาคเหนือหดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 29.0 เหลือ 194.6 ล้านดอลลาร์ สรอ. แต่เมื่อขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วการส่งออกกระเตื้องขึ้นจากเดือนก่อน โดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 43.8 ในสินค้าสำคัญ เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์เกี่ยวกับสายตา และอัญมณี ส่วนการส่งออกสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.1 ตามการส่งออกผลิตภัณฑ์พืชผลที่ขยายตัวดีเป็นสำคัญ ส่วนการส่งออกผ่านด่านชายแดนเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.4 เป็น 99.8 ล้านดอลลาร์ สรอ. ชะลอตัวเมื่อเทียบกับที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.6 เดือนก่อน ตามการส่งออกไปพม่าและลาวที่ขยายตัวในอัตราชะลอลงร้อยละ 12.2 และร้อยละ 19.6 ตามลำดับ ขณะที่การส่งออกไปจีนตอนใต้หดตัวร้อยละ 20.5 เทียบกับที่หดตัวร้อยละ 9.3 เดือนก่อนการนำเข้าผ่านด่านศุลกากรในภาคเหนือหดตัวร้อยละ 35.9 เหลือ 103.5 ล้านดอลลาร์ สรอ.แต่ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับที่ลดลงร้อยละ 67.6 เดือนก่อน ตามการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางที่ลดลงร้อยละ 53.3 ตามการนำเข้าวัตถุดิบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 31.7 แต่กระเตื้องขึ้นจากเดือนก่อน ด้านการนำเข้าสินค้าทุนลดลงร้อยละ 58.0 ตามการหดตัวของการนำเข้าชิ้นส่วนเครื่องจักรไฟฟ้าของผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือเป็นสำคัญ สำหรับการนำเข้าผ่านด่านชายแดนขยายตัวร้อยละ 49.9 เป็น 11.7 ล้านดอลลาร์ สรอ. ตามการนำเข้าจากพม่าและลาวที่เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวในสินค้าข้าว หอมแดง และพืชผัก ส่วนการนำเข้าจากจีนตอนใต้หดตัวร้อยละ 63.8 ต่อเนื่องจาก เดือนก่อนดุลการค้า ในเดือนพฤษภาคม 2552 เกินดุล 91.1 ล้านดอลลาร์ สรอ.ลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนและเดือนก่อนที่เกินดุล 112.4 ล้านดอลลาร์ สรอ. และ 102.3 ล้านดอลลาร์ สรอ. ตามลำดับ

7. การเบิกจ่ายเงินงบประมาณผ่านคลังจังหวัดในภาคเหนือ มีการเบิกจ่ายทั้งสิ้นจำนวน 16,013.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 49.5 โดยรายจ่ายลงทุนมีจำนวน 7,310.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการเบิกจ่ายเงินอุดหนุนทั่วไปในส่วนที่เป็นงบลงทุนเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 174.6 ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ขณะที่หมวดที่ดิน/สิ่งปลูกสร้างเพิ่มขึ้นร้อยละ 38.8 โดยมีการเบิกจ่ายเงินมากที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ เพชรบูรณ์ และพิษณุโลก ด้านรายจ่ายประจำมีจำนวน 8,703.5 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 8.2 ตามการเบิกจ่ายเงินให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในหมวดเงินอุดหนุนทั่วไปในส่วนที่เป็นงบประจำเพิ่มขึ้นร้อยละ 36.9 ขณะที่การเบิกจ่ายในงบรายจ่ายอื่นและงบดำเนินงานในส่วนที่เป็นค่าใช้สอยและค่าวัสดุ ขยายตัวร้อยละ 21.3 และร้อยละ 18.3 ตามลำดับ จากระยะเดียวกันปีก่อน

8. ระดับราคา ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของภาคเหนือติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 นับแต่เดือนมิถุนายน 2546 โดยลดลงร้อยละ 4.6 ทั้งนี้หมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มลดลงร้อยละ 9.5 ผลจากการต่ออายุ 5 มาตรการ 6 เดือน ที่ช่วยให้ราคาสินค้าหมวดหมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร และหมวดเคหสถาน ลดลงร้อยละ 15.6 และร้อยละ 6.9 ตามลำดับ อีกทั้งนโยบายเรียนฟรี ทำให้ค่าใช้จ่ายและราคาสินค้าในหมวดการศึกษาและเครื่องแบบนักเรียนลดลง โดยราคาสินค้าหมวดการบันเทิง การอ่านการศึกษาและศาสนา และหมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ลดลงร้อยละ 10.0 และร้อยละ 3.0 ตามลำดับ ขณะที่หมวดอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 อ่อนตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 นับจากเดือนพฤศจิกายน 2551 สาเหตุสำคัญจากปัจจัยฐานสูงช่วงระยะเดียวกันปีก่อน สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 0.5 ติดลบเป็นเดือนแรกนับแต่เดือนกรกฎาคม 2547 โดยเป็นผลจากนโยบายเรียนฟรีของรัฐบาล ประกอบกับฐานราคาสินค้าและบริการหลายรายการที่ค่อนข้างสูงในปีก่อน

9. การจ้างงาน จากข้อมูลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติเพียงสิ้นเดือนเมษายน 2552 ภาคเหนือมี กำลังแรงงานรวม 7.1 ล้านคน เป็นผู้มีงานทำ 7.0 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.6 จากระยะเดียวกันปีก่อน ประกอบด้วยการจ้างงานภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 และการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่ขยายตัวร้อยละ 12.6 สาขาการค้าส่ง/ปลีกร้อยละ 13.3 และสาขาการก่อสร้างร้อยละ 8.8 สำหรับด้านผู้ว่างงานมีจำนวน 0.1 ล้านคน คิดเป็นอัตราการว่างงานเท่ากับร้อยละ 1.5 ทรงตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน

10. การเงิน ยอดคงค้างเงินฝากที่สาขาธนาคารพาณิชย์ในภาคเหนือ ณ สิ้นเดือนเมษายน 2552 มียอดคงค้างทั้งสิ้น 383,790 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 5.3 ชะลอลงจากเดือนก่อน ส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของเงินฝากประเภทกระแสรายวันและเงินฝากออมทรัพย์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและสถาบันการศึกษา โดยเพิ่มขึ้นมากที่จังหวัดเชียงใหม่ กำแพงเพชรและพิจิตร อย่างไรก็ตามมีการถอนเงินฝากประเภทจ่ายคืนเมื่อสิ้นระยะเวลาของผู้ฝากเงินไปลงทุนในตั๋วแลกเงินและกองทุนรวมที่ให้ผลตอบแทนที่มากกว่า โดยลดลงมากที่จังหวัดนครสวรรค์และเชียงใหม่ ด้านเงินให้สินเชื่อมียอดคงค้าง 289,603 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 0.6 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 2.4 เดือนก่อน เนื่องจากมีการชำระคืนหนี้ตั๋วเงินและเงินเบิกเกินบัญชีขององค์กรและธุรกิจในหลายพื้นที่ รวมทั้งมีการชำระหนี้จากการปรับโครงสร้างหนี้ของธุรกิจรับ เหมาก่อสร้าง ขณะที่จังหวัดกำแพงเพชร นครสวรรค์ และเพชรบูรณ เป็นการชำระหนี้ของสหกรณ์ออมทรัพย์ ค้าพืชไร่และธุรกิจโรงสีข้าว สำหรับสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากอยู่ที่ร้อยละ 77.8 ลดลงจากร้อยละ 81.4 ระยะเดียวกันของปีก่อนธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ

ข้อมูลเพิ่มเติม : คุณชนินทร์ เพชรไทย โทร 0 5393 1157 E-mail: ChaninP@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ