แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนมิถุนายนและไตรมาสที่ 2 ปี 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 31, 2009 14:18 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ภาวะเศรษฐกิจในเดือนมิถุนายนปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยเครื่องชี้ส่วนใหญ่ที่ปรับฤดูกาลแล้วมีการขยายตัวจากเดือนก่อน และมีอัตราการหดตัวที่น้อยลงเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ทั้งผลผลิตภาคอุตสาหกรรม การอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน การส่งออกและการนำเข้า อย่างไรก็ดี ผลผลิตในภาคเกษตรและราคาพืชผลสำคัญที่ลดลงมากเทียบกับฐานที่สูงในปีก่อน ทำให้รายได้เกษตรกรจากพืชผลสำคัญยังคงหดตัวต่อเนื่อง ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวหดตัวต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเนื่องจากการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่เริ่มแพร่กระจายไปทั่วโลก ทำให้องค์การอนามัยโลกประกาศยกระดับการเตือนภัยเป็นระดับ 6 ในเดือนนี้

สำหรับไตรมาสที่ 2 ปี 2552 แม้เศรษฐกิจโดยรวมยังคงหดตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน แต่เครื่องชี้บางตัวปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสแรก โดยเฉพาะผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ขณะที่การลงทุนภาคเอกชน เริ่มทรงตัว เช่นเดียวกับการส่งออกและนำเข้า อย่างไรก็ดี รายได้เกษตรกรหดตัวมากขึ้น เนื่องจากผลผลิตและราคาพืชผลที่ยังหดตัวต่อเนื่องเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ส่วนการท่องเที่ยวหดตัวต่อเนื่องตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและผลของความไม่สงบ ทางการเมืองในช่วงเดือนเมษายนเป็นสำคัญ

เสถียรภาพด้านต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ดีต่อเนื่องจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดและเงินสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง สำหรับเสถียรภาพในประเทศ อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง ส่วนการจ้างงานค่อนข้างทรงตัว

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจในเดือนมิถุนายนและไตรมาสที่ 2 ปี 2552 มีดังนี้

1. ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เบื้องต้น) ปรับดีขึ้นในหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อการส่งออกเริ่มกลับมา ขยายตัวเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2551 แต่ดัชนีโดยรวมยังหดตัวร้อยละ 7.8 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ส่วนดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่ปรับฤดูกาล ปรับตัวดีขึ้นในเกือบทุกหมวด ทั้งในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อการส่งออก ตามการผลิต Hard Disk Drive เครื่องรับโทรทัศน์และอาหารทะเลกระป๋อง ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อขายในประเทศปรับตัวดีขึ้นจากการเร่งผลิต รถยนต์นั่งที่มียอดค้างจองจำนวนมาก สำหรับอัตราการใช้กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ร้อยละ 60.4 ใกล้เคียงกับ เดือนก่อน และเมื่อปรับฤดูกาลแล้ว เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนตามผลผลิตอุตสาหกรรม

ในไตรมาสที่ 2 ปี 2552 ผลผลิตอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น โดยหดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 9.1 ลดลงมากจาก ที่หดตัวร้อยละ 18.5 ในไตรมาสแรก และเมื่อปรับฤดูกาลแล้ว ขยายตัวร้อยละ 10.6 จากไตรมาสก่อน ตามการผลิตในอุตสาหกรรม เพื่อการส่งออกเป็นสำคัญ ส่วนอัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 58.1 เป็นร้อยละ 59.2

2. ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน หดตัวร้อยละ 2.7 จากระยะเดียวกันปีก่อน แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 ตามการปรับตัวดีขึ้นของดัชนีหมวดยานยนต์ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค ขณะที่ดัชนีหมวดเชื้อเพลิงลดลงจากเดือนก่อน สอดคล้องกับการปรับขึ้นราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ ส่วนดัชนีการลงทุนภาคเอกชน (ประมาณการ) หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 15.5 เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1

ในไตรมาสที่ 2 ปี 2552 ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน หดตัวร้อยละ 4.2 จากระยะเดียวกันปีก่อน แต่เมื่อเทียบกับ ไตรมาสก่อนขยายตัวร้อยละ 1.1 โดยเครื่องชี้เกือบทุกตัวขยายตัวจากไตรมาสก่อน โดยเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ดัชนีหมวด ยานยนต์ และ ดัชนีหมวดเชื้อเพลิง ขณะที่ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน

3. ภาคการคลัง รัฐบาลมีรายได้จัดเก็บ 172.4 พันล้านบาท ขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 29.8 ตาม รายได้ภาษีที่เก็บจากฐานรายได้เป็นสำคัญ เนื่องจากมีการเหลื่อมนำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคล เพราะวันสุดท้ายของการยื่นชำระภาษีกำไรสุทธิ รอบสิ้นปี 2551 ตรงกับวันหยุดราชการ จึงมีการเลื่อนระยะเวลาชำระออกไป ทำให้รายได้ส่วนหนึ่งเหลื่อมมาอยู่ในเดือนมิถุนายน ขณะที่ภาษีฐานการบริโภค และฐานการค้าระหว่างประเทศยังคงหดตัวแต่ในอัตราที่ชะลอลง สำหรับรายได้ที่มิใช่ภาษี หดตัวร้อยละ 31.7 จากการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจที่ลดลง ทั้งนี้ รายได้นำส่งที่เพิ่มขึ้นในเดือนนี้ ทำให้รัฐบาลเกินดุลเงินสด 124.1 พันล้านบาท ซึ่งมีการคืนเงินกู้สุทธิ 10.5 พันล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลังเพิ่มขึ้นจาก 101.9 พันล้านบาทในเดือนก่อน เป็น 215.6 พันล้านบาท ในเดือนมิถุนายน

สำหรับไตรมาสที่ 3 ของปีงบประมาณ 2552 รัฐบาลมีรายได้จัดเก็บ 529.1 พันล้านบาท ลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อน ร้อยละ 8.2 ดุลเงินสดเกินดุล 51.3 พันล้านบาท ประกอบกับมีการกู้ยืมสุทธิเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 113.0 พันล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ของปีงบประมาณเป็น 215.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 51.2 พันล้านบาทเมื่อสิ้นไตรมาสก่อนหน้า

4. ภาคต่างประเทศ ดุลการค้า เกินดุล 939 ล้านดอลลาร์ สรอ. โดยการส่งออกมีมูลค่า 12,160 ล้านดอลลาร์ สรอ. หดตัว ร้อยละ 26.4 ใกล้เคียงกับเดือนก่อน ซึ่งเป็นการหดตัวในทุกหมวด โดยเฉพาะหมวดสินค้าอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูง เช่น ยานยนต์ และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ขณะที่สินค้าเกษตรยังคงหดตัวสูง จากราคาที่ลดลงเป็นสำคัญ แต่หากปรับฤดูกาลแล้วปริมาณการส่งออกรวมขยายตัวจากเดือนก่อนหน้าร้อยละ 1.5 ส่วนมีมูลค่า 11,221 ล้านดอลลาร์ สรอ. หดตัวร้อยละ 26.3 โดยเป็นการหดตัว การนำเข้าในทุกหมวดสินค้า แต่หากพิจารณาปริมาณการนำเข้าที่ปรับฤดูกาลแล้วพบว่าขยายตัวจากเดือนก่อนหน้าร้อยละ 21.6 ตามการขยายตัว ของหมวดเชื้อเพลิงเป็นสำคัญ เมื่อรวม ที่ขาดดุล 462 ล้านดอลลาร์ สรอ. ส่งผลให้ดุลการค้ากับดุลบริการ รายได้ และเงินโอนดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 477 ล้านดอลลาร์ สรอ. เงินทุนเคลื่อนย้าย1/ เกินดุล 173 ล้านดอลลาร์ สรอ. จากเงินทุนไหลเข้าเพื่อซื้อหลักทรัพย์ ภาคธนาคารเป็นสำคัญ รวมถึงการที่นักลงทุนไทยเพิ่มการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน โดยรวมดุลการชำระเงิน เกินดุล 27 ล้านดอลลาร์ สรอ. และ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2552 อยู่ที่ 120.8 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ขณะที่ยอดคงค้าง เงินสำรองระหว่างประเทศการซื้อเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าสุทธิ อยู่ที่ 8.9 พันล้านดอลลาร์ สรอ.

ในไตรมาสที่ 2 ปี 2552 ดุลการค้าเกินดุล 3,896 ล้านดอลลาร์ สรอ. จากการนำเข้าที่ยังคงหดตัวสูงถึงร้อยละ 32.3 เทียบกับ การส่งออกที่หดตัวร้อยละ 26.1 ขณะที่ดุลบริการ รายได้และเงินโอนขาดดุล 1,604 ล้านดอลลาร์ สรอ. ตามการลดลงของรายรับจาก การท่องเที่ยวเป็นสำคัญ ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 2,293 ล้านดอลลาร์ สรอ. เงินทุนเคลื่อนย้าย ขาดดุลสุทธิ 1,646 ล้านดอลลาร์ สรอ. ส่วนใหญ่จากภาคธุรกิจที่มิใช่ธนาคารตามการเพิ่มขึ้นของเงินลงทุนในหลักทรัพย์ของไทยในต่างประเทศ โดยเฉพาะเงินลงทุน ในตราสารหนี้ประเทศเกาหลีที่ให้อัตราผลตอบแทนสูง การชำระคืนเงินกู้นอกเครือของภาคธุรกิจที่มิใช่ธนาคาร การชำระคืนเงินกู้ ระยะยาวของภาคธนาคาร รวมทั้งการที่ภาครัฐวิสาหกิจให้ต่างประเทศกู้ โดยรวมดุลการชำระเงิน เกินดุล 1,274 ล้านดอลลาร์ สรอ.

5. อัตราเงินเฟ้อทั่วไป หดตัวร้อยละ 4.0 เป็นผลจากราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนมาก และ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานหดตัวร้อยละ 1.0 โดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ติดลบต่อเนื่องจากเดือนก่อน เป็นผลจากมาตรการลดค่าครองชีพและนโยบาย เรียนฟรี 15 ปีของรัฐบาล ประกอบกับฐานราคาสินค้าและบริการหลายรายการที่ค่อนข้างสูงในปีก่อน โดยเฉพาะอาหารบริโภคในและนอกบ้านที่ในปีก่อนปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิตติดลบต่อเนื่องที่ร้อยละ 10.5 จากราคาในทุกหมวดทั้งผลผลิตเกษตรกรรม ผลิตภัณฑ์จากเหมืองและผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ยังอยู่ในระดับต่ำมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

สำหรับไตรมาสที่ 2 ปี 2552 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานหดตัวร้อยละ 2.8 และ 0.1 ตามลำดับ โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานราคาปีก่อนที่อยู่ในระดับสูง เช่น น้ำมันและอาหารบริโภคในและนอกบ้าน รวมทั้งมาตรการลดค่าครองชีพของรัฐบาล ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิตหดตัวร้อยละ 7.0 หดตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน

6. ภาคการเงิน2/ เงินฝากของสถาบันรับฝากเงิน (Depository Corporations) ขยายตัวร้อยละ 9.4 ซึ่งหากนับรวมการออกตราสารหนี้ประเภทตั๋วแลกเงินแล้ว เงินฝากจะขยายตัวร้อยละ 9.5 ส่วนสินเชื่อภาคเอกชนของสถาบันรับฝากเงินขยายตัวร้อยละ 3.5 จากระยะเดียวกันปีก่อน ชะลอลงต่อเนื่องตามสินเชื่อที่ให้แก่ภาคธุรกิจ เนื่องจากความต้องการสินเชื่อที่ลดลง รวมทั้งมีการตัดหนี้สูญจำนวนหนึ่ง ขณะที่สินเชื่อที่ให้แก่ภาคครัวเรือนยังคงขยายตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้า

อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในตลาดเงิน ในเดือนมิถุนายนและช่วงวันที่ 1-28 กรกฎาคม 2552 อัตราดอกเบี้ยธุรกรรม ซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน และอัตราดอกเบี้ยระหว่างธนาคารระยะ 1 วัน ทรงตัวที่เฉลี่ยร้อยละ 1.25 และ 1.15 ต่อปี ตามลำดับ

สำหรับไตรมาสที่ 2 ปี 2552 อัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วันและอัตราดอกเบี้ยระหว่างธนาคารระยะ 1 วัน ปรับลดลงมาเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 1.27 และ 1.18 ต่อปี ตามลำดับ จากไตรมาสก่อนหน้าที่เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 1.89 และ 1.87 ต่อปี ตามลำดับ ตามการปรับลดลงของอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2552

7. อัตราแลกเปลี่ยนและดัชนีค่าเงินบาท ในเดือนมิถุนายน 2552 ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ปรับแข็งขึ้นเล็กน้อย ตามค่าเงินบาท ที่แข็งค่าขึ้นจากค่าเฉลี่ย 34.57 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ในเดือนก่อน มาอยู่ที่ 34.14 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. จากแรงขายดอลลาร์ สรอ. ของ ผู้ส่งออกและเงินทุนที่ไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ไทย

เมื่อพิจารณาทั้งไตรมาสที่ 2 ปี 2552 ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ปรับอ่อนค่าลงเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.2 จากค่าเฉลี่ยในไตรมาสก่อน ซึ่งสะท้อนว่า ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงโดยเปรียบเทียบกับสกุลเงินของประเทศคู่ค้าคู่แข่ง แม้เงินบาทจะแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์ สรอ. โดยอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยอยู่ที่ 34.68 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้นจากค่าเฉลี่ยของไตรมาสก่อนที่ 35.36 บาทต่อดอลลาร์ สรอ.

ในช่วงวันที่ 1-28 กรกฎาคม 2552 ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในช่วงแคบๆ โดยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องจากเดือนมิถุนายนมาเฉลี่ยอยู่ที่ 34.05 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ธนาคารแห่งประเทศไทย

ข้อมูลเพิ่มเติม: พรรณพิลาส เรืองวิสุทธิ์

โทร. 0-2283-5648, 0-2283-5639

e-mail: punpilay@bot.or.th

2/ ตั้งแต่เดือนกันยายน 2551 ธปท. ได้ปรับปรุงข้อมูลปริมาณเงินตามความหมายกว้าง เงินฝากและสินเชื่อภาคเอกชน ให้ครอบคลุมข้อมูลจากสหกรณ์ออมทรัพย์ และกองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market Mutual Funds) นอกจากนี้ ปริมาณเงินตามความหมายกว้างยังนับรวมการออกตราสารหนี้ประเภทตั๋วแลกเงิน (Bill of Exchange) เข้าไว้ด้วย

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ