ผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 2 ปี 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 31, 2009 14:21 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

นางสาวนวพร มหารักขกะ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน สายนโยบายสถาบันการเงิน สรุปภาพรวมของผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 2 ว่า ระบบธนาคารพาณิชย์ยังคงมีเสถียรภาพโดยมีกำไรใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน มีเงินกองทุนสูงขึ้นขณะที่ปัญหาเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยที่หดตัวในช่วงที่ผ่านมายังเป็นปัจจัยที่จำกัดการขยายตัวของสินเชื่อ อย่างไรก็ดี ระบบธนาคารพาณิชย์ให้ความสำคัญกับการดูแลสินเชื่อและบริหารความเสี่ยง ทำให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ยังคงทรงตัว ซึ่งเมื่อเทียบกับสำรองและเงินกองทุนที่เพิ่มขึ้นช่วยเสริมความมั่นคงของระบบธนาคารพาณิชย์

ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 6.1 พันล้านบาท จากที่รายได้จากดอกเบี้ยซึ่งเป็นรายได้หลักจากการปล่อยสินเชื่อยังคงทรงตัว โดย NIM อยู่ที่ร้อยละ 2.9 ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนแต่เมื่อหักค่าใช้จ่ายสำรองที่เพิ่มขึ้น 1.1 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิลดลงจากไตรมาสก่อน 3 พันล้านบาทเป็น 2 หมื่นล้านบาท และอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวม (Return on Asset - ROA)ทรงตัวที่ร้อยละ 0.8 กำไรจากการดำเนินงานประกอบกับการเพิ่มเงินกองทุน ส่งผลให้ระบบธนาคารพาณิชย์มีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) สูงขึ้นเป็นร้อยละ 15.9 โดยเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 (Tier - 1) ร้อยละ 12.4

ในไตรมาส 2 ปี 2552 สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ขยายตัวร้อยละ 0.6 จากระยะเดียวกันปีก่อน ชะลอตัวลงมากจากไตรมาส 1 ปี 2552 ที่ขยายตัวร้อยละ 5.8 โดยสินเชื่อภาคธุรกิจ (สัดส่วนร้อยละ 73.8 ของสินเชื่อรวม) หดตัวลงร้อยละ 2.4 ตามภาวะเศรษฐกิจที่หดตัว โดยภาคธุรกิจเองก็มีการออกหุ้นกู้เพิ่มขึ้นซึ่งเป็นแหล่งระดมทุนที่แข่งขันกับสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ สำหรับสินเชื่ออุปโภคบริโภคยังขยายตัวต่อเนื่อง แม้จะชะลอตัวลงบ้างที่ร้อยละ 10.1 (ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2552 สินเชื่อรวมหดตัวร้อยละ 0.8 ตามสินเชื่อภาคธุรกิจที่หดตัว ร้อยละ 1.7 ขณะที่สินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัวร้อยละ 1.9)

เงินฝากขยายตัวร้อยละ 5.4 ส่วนการระดมเงินฝากและการออกตั๋วแลกเงิน (B/E) ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 5.9 เนื่องจากผู้ฝากเงินหันไปลงทุนในหลักทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า เช่น กองทุนรวมทั้งในและต่างประเทศ หุ้นกู้ภาคเอกชน เป็นต้น ส่งผลให้สภาพคล่องตึงตัวขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน โดยสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากและ B/E เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 85.3

ระบบธนาคารพาณิชย์ยังคงมีแรงกดดันด้านคุณภาพสินเชื่อ ตามภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศและต่างประเทศที่หดตัว โดยในไตรมาส 2 ปี 2552 สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อยู่ในระดับทรงตัวนับจากปลายปี 2551 ในขณะที่สินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ (ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้เกิน 1 เดือน แต่ยังไม่เกิน 3 เดือน - Delinquent loan) ลดลงเล็กน้อยจากไตรมาส 1 ปี 2552 โดยสัดส่วนต่อสินเชื่อรวมทรงตัวทั้ง gross และ net NPL อยู่ที่ร้อยละ 5.4 และร้อยละ 3.1 ตามลำดับ ส่วน Delinquent loan ลดลงเป็นร้อยละ 3.6 ของสินเชื่อรวม พัฒนาการด้านความสามารถในการชำระหนี้และคุณภาพสินทรัพย์ยังเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ