สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ เดือนมิถุนายน 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 24, 2009 15:10 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ภาวะเศรษฐกิจภาคใต้เดือนมิถุนายน ปี 2552 หดตัว ทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน แต่มี เครื่องชี้ที่มีสัญญาณของการปรับตัวดีขึ้นได้แก่ การท่องเที่ยว ผลผลิตอุตสาหกรรม การส่งออก การนำเข้าและการจ้างงาน ขณะที่ผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญกระเตื้องขึ้น แต่ราคากลับลดลงต่อเนื่อง ทำให้รายได้ของเกษตรกรลดลง ผลผลิตพืชผลสำคัญกระเตื้องขึ้นตามปริมาณผลผลิตด้านอุปทานยาง เช่นเดียวกับผลผลิตอุตสาหกรรม มีเพียงผลผลิตสัตว์น้ำแปรรูปที่ชะลอตัวลง การด้านอุปสงค์ส่งออก และการลงทุนภาคเอกชนลดลง อย่างไรก็ตาม จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงต่อเนื่อง มีส่วนกระตุ้นการอุปโภคบริโภคของภาคเอกชนให้ปรับตัวดีขึ้น ขณะที่การจ้างงานทรงตัว และในภาคการเงิน เงินฝากของธนาคารพาณิชย์ขยายตัวในอัตราใกล้เคียงกับเดือนก่อน ส่วนเงินให้สินเชื่อชะลอลง

ไตรมาสที่ 2 ปี 2552 ภาวะยังคงหดตัวต่อเนื่องจากไตรมาสแรกของปี 2552 ทั้งในด้าน อุปสงค์และอุปทาน โดยรายได้เกษตรกรลดลงตามการลดลงของทั้งราคาและปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญ เช่นเดียวกับปริมาณผลผลิตอุตสาหกรรมที่ลดลง อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายของภาครัฐตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการลดลงของราคาน้ำมัน มีส่วนกระตุ้นให้การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้น

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจในเดือนมิถุนายน และไตรมาสที่ 2 ปี 2552 มีดังนี้

1. ภาคเกษตร รายได้ของเกษตรกรลดลงต่อเนื่อง จากดัชนีรายได้เกษตรกร ลดลง ร้อยละ 51.4 ตามราคาพืชผลหลัก ที่ลดลงร้อยละ 46.6 โดยราคายางลดลงร้อยละ 48.2 และราคาปาล์มน้ำมันลดลงร้อยละ 27 ขณะที่ผลผลิตพืชผลหลักยังลดลงร้อยละ 9.0 แต่กระเตื้องขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2552 ที่ลดลงร้อยละ 12.7 โดยผลผลิตปาล์มน้ำมันลดลงร้อยละ 29.7 ส่วนผลผลิตยางเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.4

ประมงทะเลหดตัว ทั้งในด้านปริมาณและมูลค่า โดยลดลงร้อยละ 1.8 และ 12.1 ตามลำดับ ส่วนผลผลิตกุ้งขาวในภาคใต้ยังคงออกสู่ตลาดต่อเนื่อง โดยมีปริมาณเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 3.8 ด้านราคาจำหน่ายกุ้งขาวขนาดใหญ่ 50 ตัวต่อกิโลกรัม ปรับลดลง ร้อยละ 1.6 เป็นกิโลกรัมละ 111.20 บาท

ไตรมาสที่ 2 ปี 2552 รายได้เกษตรกรจากการจำหน่ายผลผลิตลดลงต่อเนื่องร้อยละ 45.4 จากการลดลง ทั้งทางด้านราคาและปริมาณผลผลิต โดยราคายางแผ่นดิบชั้น 3 เฉลี่ยกิโลกรัมละ 52.74 บาท ลดลงร้อยละ 42.8 ปาล์มน้ำมันทั้งทะลายกิโลกรัมละ 3.97 บาท ลดลงร้อยละ 21.1 ส่วนผลผลิตพืชผลสำคัญ ลดลงร้อยละ 9.7 ตามการลดลงของปาล์มน้ำมันร้อยละ 24.1 ส่วนผลผลิตยาง เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1

ผลผลิตประมง ปริมาณสัตว์น้ำนำขึ้นท่าเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 0.2 แต่มูลค่ากลับลดลงร้อยละ 10.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนปริมาณผลผลิตกุ้งขาวเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.9 โดยกุ้งขนาด 50 ตัวต่อกิโลกรัม กิโลกรัมละ 126.10 บาท ราคาปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.2 ขณะที่กุ้งขนาดอื่นราคาปรับลดลง

2. ภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 3.1 ตามการผลิตยาง แผ่นรมควัน ยางแท่ง อาหารบรรจุกระป๋อง และน้ำมันปาล์มดิบ ขณะที่ผลผลิตน้ำยางข้น ถุงมือยาง ไม้ยางพาราแปรรูป และสัตว์น้ำแช่แข็งเพิ่มขึ้น โดยปริมาณการส่งออกยางแท่งและยางแผ่นรมควัน ที่ 55,574.3 และ 17,005.3 เมตริกตัน ลดลงร้อยละ 25.1 และ 45.4 เนื่องความต้องการใช้ยางพาราของโลกยังคงลดลง ตามภาวะเศรษฐกิจ ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ อย่างไรก็ดี ยังคงมีความต้องการใช้ยางส่วนหนึ่งจากประเทศจีน ตามยอดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศจีนที่เพิ่มขึ้น ส่วนการผลิตน้ำมันปาล์มดิบลดลงร้อยละ 28.7 ตามความต้องการที่ชะลอลง ประกอบกับปริมาณวัตถุดิบออกสู่ตลาดน้อย ขณะที่การส่งออกน้ำยางข้นและถุงมือยางเพิ่มขึ้น ร้อยละ 28.3 และ 10.5 ตามคำสั่งซื้อของต่างประเทศ ที่มีปัจจัยบวกจากราคาวัตถุดิบที่ปรับลดลง เช่นเดียวกับการส่งออกสัตว์น้ำแช่แข็ง ที่เพิ่มขึ้นตามการส่งออกกุ้งไปยังประเทศญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา

ไตรมาสที่ 2 ปี 2552 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 7.5 เป็นผลจากการลดลง ของการผลิตยางแท่ง ยางแผ่นรมควัน สัตว์น้ำแช่แข็ง อาหารบรรจุกระป๋อง และน้ำมันปาล์ม เป็นสำคัญ โดยการผลิตยางแท่งและยางแผ่นรมควันลดลงตามปริมาณการส่งออกที่ลดลงร้อยละ 29.0 และ 38.3 ตามลำดับ การส่งออกสัตว์น้ำแช่แข็งและอาหารบรรจุกระป๋องลดลงร้อยละ 11.4 และ 6.1 ตามลำดับ ส่วนการผลิตน้ำยางข้น ถุงมือยาง และไม้ยางพารา เพิ่มขึ้น

3. การท่องเที่ยว ยังคงหดตัว โดยจำนวนนักท่องเที่ยวผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง 228,560 คน ลดลงร้อยละ 8.3 ตามการการลดลงของนักท่องเที่ยวทั้งภาคใต้ฝั่งตะวันตก และภาคใต้ตอนล่าง ซึ่งเป็นผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ผลต่อเนื่องจากเหตุการณ์ไม่สงบทางการเมืองในประเทศ รวมถึงการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ยอดอัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 35.9 ลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อนที่มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยร้อยละ 42.6

ไตรมาสที่ 2 ปี 2552 นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเดินทางผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง ในภาคใต้รวมทั้งสิ้น 717,140 คน ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ 9.5 เป็นการลดลงของทั้งฝั่งอันดามันและภาคใต้ตอนล่าง จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก เหตุการณ์ไม่สงบทางการเมืองของไทย และข่าวการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ส่งผลให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวแถบเอเชีย ได้แก่ จีน และเกาหลี ชะลอการ เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย โดยนักท่องเที่ยวจีนบางส่วน ได้เปลี่ยนเส้นทางไปประเทศอินโดนีเซียแทน สำหรับอัตราการเข้าพักเฉลี่ยร้อยละ 35-50 ลดลงจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนที่มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยร้อยละ 50-60

4. การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน เดือนมิถุนายน 2552 ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนของภาคใต้ เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อน ร้อยละ 3.1 ส่วนหนึ่งเนื่องจากรัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับเริ่มมีการสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศเข้ามามากขึ้น โดยเฉพาะจากจีน และอัตราเงินเฟ้อที่ลดลง ทำให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้อ และมีความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายมากขึ้น เครื่องชี้ที่เพิ่มขึ้นได้แก่ การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มของสรรพากร ณ ราคาคงที่ ปริมาณการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงและการใช้ไฟฟ้าของที่อยู่อาศัย อย่างไรก็ตาม การจดทะเบียนรถลดลงทุกประเภท

ไตรมาสที่ 2 ปี 2552 ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 ส่วนหนึ่ง เป็นผลจากมาตรการของภาครัฐในการช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชน และการลดลงของราคาน้ำมันในตลาดโลก ทำให้ระดับราคาสินค้าลดลง และผู้บริโภคมีกำลังซื้อมากขึ้น

5. การลงทุนภาคเอกชน ยังคงหดตัว จากเครื่องชี้การลงทุนที่ลดลงเมื่อเทียบกับระยะ เดียวกันปีก่อน กอปรกับยังมีปัจจัยลบทางเศรษฐกิจ อาทิ ราคาน้ำมันที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนในภาคธุรกิจ ปัจจัยลบทางการเมือง ตลอดจนความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ ทำให้นักลงทุนยังชะลอการลงทุน และดัชนีการลงทุนภาคการก่อสร้างลดลงร้อยละ 6.5 โดยพื้นที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างในเขตเทศบาล ลดลงร้อยละ 24.0 ตามการลดลงของการก่อสร้างเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยและการบริการ เช่นเดียวกับเงินทุนจดทะเบียนธุรกิจนิติบุคคลที่ลดลง ขณะเดียวกันการนำเข้าสินค้าทุน ประเภทเครื่องจักรและอุปกรณ์ และการนำเข้าอุปกรณ์ก่อสร้าง มีมูลค่าลดลงร้อยละ 8.8 และ 24.4 ตามลำดับ

ไตรมาสที่ 2 ปี 2552 การลงทุนภาคเอกชนหดตัว จากปัจจัยลบทางเศรษฐกิจทั้ง ภายในและภายนอก ที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนประกอบการ สภาพคล่องทางการเงิน และกำลังซื้อของประชาชน ส่งผลให้ผู้ประกอบการยังไม่มั่นใจในการลงทุน สะท้อนจากภาคการก่อสร้างที่ยังคงซบเซา ขณะเดียวกันการจดทะเบียนธุรกิจนิติบุคคล และโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุน (BOI) ลดลงทั้งจำนวนรายและเงินลงทุน

6. การจ้างงาน ภาวการณ์จ้างงานทรงตัว จำนวนแรงงานที่เข้าโครงการประกันสังคม ตามมาตรา 33 ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2552 เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 3.2 โดยมีมาตรการด้านแรงงานที่สำคัญ คือ การให้สินเชื่อชะลอการเลิกจ้างแรงงานของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย วงเงิน 50 ล้านบาทแก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ ให้สามารถดำเนินกิจการได้และชะลอการเลิกจ้างหรือขยายการจ้างแรงงานเพิ่มขึ้น

ด้านความต้องการแรงงานของผู้ประกอบการ แจ้งผ่านสำนักงานจัดหางานจังหวัดในภาคใต้ มีจำนวนทั้งสิ้น 4,566 อัตรา ลดลงร้อยละ 20.9 ขณะที่ ผู้สมัครงานมีจำนวน 6,254 คน ลดลงร้อยละ 12.9 ส่งผลให้มีการบรรจุงาน จำนวน 4,020 อัตราลดลงร้อยละ 27.1

ไตรมาสที่ 2 ปี 2552 มีการบรรจุงาน 11,676 อัตรา ลดลงจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 14.3 ขณะที่มีตำแหน่งงานว่าง 13,504 อัตรา เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.1 และมีผู้สมัครงาน 20,796 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.8

7. ระดับราคา อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของภาคใต้หดตัวจากเดือนเดียวกันปีก่อน ร้อยละ 3.2 ต่อเนื่องจากที่ลดลงร้อยละ 2.7 ในเดือนก่อน ทั้งนี้ เป็นผลจากดัชนีราคาหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ยังคงลดลงมาก ตามการลดลงในหมวดยานพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษา และการศาสนา และหมวดเคหสถาน เนื่องจาก ราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลง กอปรกับ ภาระรายจ่ายค่าโดยสารสาธารณะ ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า และรายจ่ายด้านการศึกษา ของประชาชนลดลง จากมาตรการของรัฐบาลในการช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชน ขณะที่ดัชนีราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่ม เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 เป็นการเพิ่มขึ้นในเกือบทุกหมวดย่อย โดยเฉพาะหมวดผักและผลไม้ และหมวดเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ที่ราคายังคงเพิ่มขึ้นมาก สำหรับสินค้าที่มีราคาลดลง คือ หมวดข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง

อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 0.5 แต่ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของภาคใต้เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อนไตรมาส 2 ปี 2552 ลดลงร้อยละ 1.9 เป็นผลจากการลดลงของดัชนีราคาหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ร้อยละ 7.4 ตามการลดลงในหมวดยานพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร

8. การค้าต่างประเทศ เดือนมิถุนายน 2552 การค้าต่างประเทศของภาคใต้มีมูลค่าทั้งสิ้น 1,274.8 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 24.1 โดยมูลค่าการส่งออก 790.7 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 26.0 แต่กระเตื้องขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนที่ลดลงร้อยละ 34.4 และมูลค่าการนำเข้า 484.1 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อน ร้อยละ 21.0 ลดลงในอัตราที่เร่งขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนที่นำเข้าลดลงเพียงร้อยละ 5.8

ไตรมาสที่ 2 ปี 2552 มูลค่าการค้าต่างประเทศรวมของภาคใต้มีทั้งสิ้น 3,548.9 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 28.2 โดยมูลค่าการส่งออก ทั้งสิ้น 2,204.9 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 33.3 โดยการส่งออกสินค้าหมวดยางพาราซึ่งมีสัดส่วนสูง ยอดส่งออกลดลงร้อยละ 48.4 ขณะเดียวกัน การส่งออกน้ำมันปาล์ม อาหารกระป๋อง ดีบุก และไม้ยางพาราแปรรูปและเฟอร์นิเจอร์ ลดลงจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 75.0 21.5 26.0 และ 8.6 ตามลำดับ ส่วนการนำเข้า มีมูลค่าทั้งสิ้น 1,344.0 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 17.8 โดยการนำเข้าหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ สัตว์น้ำแช่แข็ง น้ำมันเชื้อเพลิง และอุปกรณ์ก่อสร้าง ลดลง

9. ภาคการคลัง การเบิกจ่ายเงินงบประมาณของส่วนราชการต่าง ๆ ในภาคใต้เดือน มิถุนายน 2552 มีจำนวน 13,315.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 7.3 ตามการเพิ่มขึ้นของการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นสำคัญ ส่วนการจัดเก็บภาษีอากร สามารถจัดเก็บได้ จำนวน 2,855.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 28.3 จากการจัดเก็บภาษีสรรพากรและภาษีสรรพสามิตได้เพิ่มขึ้น

ไตรมาสที่ 2 ปี 2552 การเบิกจ่ายเงินงบประมาณของส่วนราชการต่างๆ ในภาคใต้ มีจำนวนทั้งสิ้น 38,253.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 6.5 เนื่องจากนโยบายการเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของรัฐบาล เป็นสำคัญ ส่วนการจัดเก็บรายได้มีจำนวนทั้งสิ้น 8,812.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 4.8 เนื่องจากการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตและภาษีศุลกากรเพิ่มขึ้น โดยจัดเก็บภาษีสรรพสามิตได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 102.5 เป็นผลจากการปรับเพิ่มอัตราภาษีหมวดสุราและยาสูบ น้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

10. การเงิน ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2552 เงินฝากของสาขาธนาคารพาณิชย์ในภาคใต้ขยายตัวจาก ณ สิ้นเดือนเดียวกันของปีก่อนในอัตราร้อยละ 0.1 ซึ่งใกล้เคียงกับเดือนก่อน ส่วนสินเชื่อประมาณการขยายตัวร้อยละ 1.4 ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 3.7 เป็นผลมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโดยรวม

ไตรมาสที่ 2 ปี 2552 ปริมาณเงินฝากและเงินให้สินเชื่อลดลงจากไตรมาสก่อนร้อยละ 3.2 และร้อยละ 1.5 ตามลำดับ เป็นผลมาจากการชะลอตัวของระบบเศรษฐกิจโดยรวม นอกจากนี้ปริมาณเงินฝากที่เพิ่มขึ้นในอัตราลดลง ส่วนหนึ่งเนื่องจากผู้ออมเงินหันไปเลือกการออมประเภทอื่นที่ให้อัตราผลตอบแทนที่จูงใจกว่า และแม้ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 1.25 แต่ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ได้ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก เพื่อเร่งระดมเงินฝากเสริมสภาพคล่องมากขึ้นในเดือนมิถุนายน ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อปรับลดลงเล็กน้อย

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้

ข้อมูลเพิ่มเติม : นาฏน้อย แก้วมีจีน

โทร.0-7423-6200 ต่อ 4329

e-mail : na rtnoik@ bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ