ภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ไตรมาส 2 ปี 2552 และแนวโน้มไตรมาส 3 ปี 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 4, 2009 15:57 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ภาวะเศรษฐกิจภาคใต้ ไตรมาสที่ 2 ปี 2552 หดตัวเนื่องจากไตรมาสแรกของปี 2552 ทั้งในด้านอุปสงค์และอุปทาน โดยรายได้เกษตรกรลดลงตามการลดลงของราคา และปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญ รวมทั้งการผลิตผลผลิตอุตสาหกรรมลดลง อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายของภาครัฐตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการลดลงของราคาน้ำมัน มีส่วนกระตุ้นให้การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้น อนึ่ง ในเดือนสุดท้ายของไตรมาสที่ 2 นี้ แม้ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมยังทรงตัว แต่มีเครื่องชี้บางตัวที่มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นบ้าง ได้แก่ การท่องเที่ยว ผลผลิตอุตสาหกรรม การส่งออก การนำเข้าและการจ้างงาน

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ปี 2552 มีดังนี้

1. ภาคเกษตร รายได้เกษตรกรจากการจำหน่ายผลผลิตลดลงต่อเนื่อง ร้อยละ 45.4 ตามการลดลงทั้งด้านราคาและปริมาณผลผลิต โดยราคายางแผ่นดิบชั้น 3 เฉลี่ยกิโลกรัมละ 52.74 บาท ลดลงร้อยละ 42.8 ปาล์มน้ำมันทั้งทะลาย กิโลกรัมละ 3.97 ลดลงร้อยละ 21.1 ด้านผลผลิตพืชพลสำคัญ ลดลงร้อยละ 9.7 ตามการลดลงของปาล์มน้ำมัน ร้อยละ 24.1 แม้ว่าผลผลิตยางเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1

ผลผลิตประมง ปริมาณสัตว์น้ำนำขึ้นท่าเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 0.2 แต่มูลค่ากลับลดลง ร้อยละ 10.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนปริมาณผลผลิตกุ้งขาว เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.9 โดยกุ้งขนาด 50 ตัวต่อกิโลกรัม มีราคากิโลกรัมละ 126.05 บาท ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.2 ขณะที่กุ้งขนาดอื่นราคาปรับลดลง

2. ภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลง ร้อยละ 7.5 เป็นผลจากการลดลงของการผลิตยางแท่ง ยางแผ่นรมควัน สัตว์น้ำแช่แข็ง อาหารบรรจุกระป๋อง และน้ำมันปาล์ม เป็นสำคัญ โดยการผลิตยางแท่งและยางแผ่นรมควัน ลดลงตามปริมาณการส่งออกที่ลดลง ร้อยละ 29.0 และ 38.3 ตามลำดับ การส่งออกสัตว์น้ำแช่แข็ง และอาหารบรรจุกระป๋อง ลดลงร้อยละ 11.4 และ 6.1 ตามลำดับ ส่วนการผลิตน้ำยางข้น ถุงมือยาง และไม้ยางพารา เพิ่มขึ้น

3. การท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเดินทางผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองในภาคใต้ รวมทั้งสิ้น 717,140 คน ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ 9.5 เป็นการลดลงของทั้งฝั่งอันดามันและภาคใต้ตอนล่าง จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก เหตุการณ์ไม่สงบทางการเมืองของไทย และไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ส่งผลให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวแถบเอเชีย ได้แก่ จีน และเกาหลี ชะลอการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย โดยนักท่องเที่ยวจีนบางส่วนได้ไปเที่ยวยังประเทศอินโดนีเซีย แทนสำหรับอัตราการเข้าพักเฉลี่ย ร้อยละ 35-50 ลดลงจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน ที่มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยร้อยละ 50-60

4. การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 ส่วนหนี่งเป็นผลจากมาตรการของภาครัฐในการช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชน และการลดลงของราคาน้ำมันในตลาดโลก ทำให้ระดับราคาสินค้าลดลง และผู้บริโภคมีกำลังซื้อมากขึ้น โดยเครื่องชี้ที่เพิ่มขึ้นได้แก่ การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มของสรรพากร การใช้น้ำมันเชื้อเพลิง และการใช้ไฟฟ้าของที่อยู่อาศัย อย่างไรก็ตาม การจดทะเบียนรถลดลงทุกประเภท

5. การลงทุนภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชนหดตัว จากปัจจัยลบทางเศรษฐกิจทั้งภายใน และภายนอก ที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนประกอบการ สภาพคล่องทางการเงิน และกำลังซื้อของประชาชน และทำให้ผู้ประกอบการ ยังไม่มั่นใจในการลงทุน สะท้อนจากภาคการก่อสร้างที่ยังคงซบเซา ขณะเดียวกัน การจดทะเบียนธุรกิจนิติบุคคล และโครงการที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุน ( BOI) ลดลงทั้งจำนวนราย และเงินลงทุน

6. การจ้างงาน มีการบรรจุงาน 11,676 อัตรา ลดลงจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน ร้อยละ 14.3 โดยมีตำแหน่งงานว่าง 13,504 อัตรา ลดลงร้อยละ 16.7 และ มีผู้สมัครงาน 20,796 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.1

จำนวนแรงงานที่เข้าโครงการประกันสังคม ตามมาตรา 33 ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2552 เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อน ร้อยละ 3.2 โดยมีมาตรการด้านแรงงานที่สำคัญ คือ การให้สินเชื่อชะลอการเลิกจ้างแรงงานของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย วงเงิน 50 ล้านบาท ที่ให้แก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ เพื่อให้สามารถดำเนินกิจการได้และชะลอการเลิกจ้าง หรือขยายการจ้างแรงงานเพิ่มขึ้น

7. ระดับราคา อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของภาคใต้ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อน ลดลงร้อยละ 2.0 เป็นผลจากการลดลงของดัชนีราคาหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ร้อยละ 7.4 ตามการลดลงในหมวดยานพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4

8. การค้าต่างประเทศ มูลค่าการค้าต่างประเทศรวมของภาคใต้ มีทั้งสิ้น 3,548.9 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 28.2 โดยมูลค่าการส่งออก ทั้งสิ้น 2,204.9 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 33.3 ในหมวดสินค้ายางพารา ซึ่งมีสัดส่วนการส่งออกสูง ยอดลดลงร้อยละ 48.4 ขณะเดียวกัน การส่งออกน้ำมันปาล์ม อาหารกระป๋อง ดีบุก และไม้ยางพาราแปรรูปและเฟอร์นิเจอร์ ลดลงจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 75.0 21.5 26.0 และ 8.6 ตามลำดับ ส่วนการนำเข้า มีมูลค่าทั้งสิ้น 1,344.0 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน ร้อยละ 17.8 โดยการนำเข้าหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ สัตว์น้ำแช่แข็ง น้ำมันเชื้อเพลิง และอุปกรณ์ก่อสร้าง ลดลง

9. ภาคกาคลัง การเบิกจ่ายเงินงบประมาณของส่วนราชการ ในภาคใต้ มีจำนวนทั้งสิ้น 38,253.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน ร้อยละ 6.5 เนื่องจากนโยบายการเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของรัฐบาล เป็นสำคัญ ส่วนการจัดเก็บรายได้ มีจำนวนทั้งสิ้น 8,812.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 4.8 เนื่องจากจัดเก็บภาษีสรรพสามิตและภาษีศุลกากรเพิ่มขึ้น โดยการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตได้เพิ่มขึ้น ร้อยละ 102.5 เป็นผลจากการปรับเพิ่มอัตราภาษีหมวดสุราและยาสูบ น้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา

10. การเงิน ประมาณการปริมาณเงินฝากและเงินให้สินเชื่อ คาดว่าเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน ร้อยละ 0.1 และร้อยละ 1.4 ตามลำดับ เป็นผลมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโดยรวม และส่วนหนึ่งเป็นผลเนื่องจากผู้ออม หันไปเลือกการออมและการลงทุนประเภทอื่นที่ให้อัตราผลตอบแทนที่จูงใจกว่าการฝากเงินกับสถาบันการเงิน ดังนั้น แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะทรงตัวอยู่ที่ ร้อยละ 1.25 แต่ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ได้ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก เพื่อเร่งระดมเงินฝากเสริมสภาพคล่องมากขึ้นในเดือนมิถุนายน ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อ ปรับลดลงเล็กน้อย

แนวโน้มไตรมาส 3 ปี 2552

สำหรับไตรมาสที่ 3 ของปี 2552 แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจภาคใต้ ขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจโลกเป็นสำคัญ โดยรายได้ของเกษตรกรจากยางพารา ซึ่งเป็นพืชผลหลักของภาคใต้นั้น ราคาปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย เพราะได้รับสัญญาณที่ดี จากภาวะเศรษฐกิจของประเทศจีน ส่วนแนวโน้มราคาน้ำมันปาล์ม คาดว่าจะปรับตัวลงเล็กน้อยถึงทรงตัว โดยได้รับอิทธิพลจากราคาในตลาดโลก

ด้านการท่องเที่ยว มีแนวโน้มชะลอลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากเศรษฐกิจโลก และเหตุการณ์ไม่สงบทางการเมืองของไทย ที่ยังส่งผลต่อการตัดสินใจเข้ามาท่องเที่ยว รวมถึงการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 อย่างไรก็ตาม การรณรงค์ของภาครัฐและเอกชน ด้วยการจัดเทศกาลส่งเสริมการท่องเที่ยวเป็นกรณีพิเศษ จะช่วยให้จำนวนนักท่องเที่ยวไม่ลดลงมากนัก

อย่างไรก็ตาม การลงทุนของภาคเอกชนมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ปรับตัวดีขึ้น และการที่เริ่มมีคำสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศเข้ามามากขึ้น รวมทั้งการใช้จ่ายภาครัฐ ที่ออกมาตรการต่างๆ มาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งการเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ จะเป็นผลต่อการกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนบางส่วนของภาคเอกชน

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้

ข้อมูลเพิ่มเติม: นาฏน้อย แก้วมีจีน

โทร.0-7423-6200 ต่อ 4329

e-mail: nartnoik@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ