นางสุชาดา กิระกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เพื่อช่วยให้การบริหารสภาพคล่องในตลาดเงินของประเทศอยู่ในระดับที่เหมาะสม พร้อมกับช่วยให้ผู้ที่มีเงินออมมีทางเลือกในการลงทุนเพิ่มขึ้น รวมทั้งเปิดโอกาสให้สหกรณ์ มูลนิธิ และองค์กรสาธารณะที่ ไม่มุ่งหวังกำไรได้มีโอกาสลงทุนในพันธบัตรออมทรัพย์ ซึ่งเป็นทางเลือกในการออมและการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำและผลตอบแทนดีเหมาะแก่ผู้ที่ต้องการออมระยะยาวและมีรายได้จากดอกเบี้ยอย่างสม่ำเสมอ ธปท. จึงได้ออกพันธบัตรออมทรัพย์รุ่นใหม่โดยจะเริ่มจำหน่ายตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 3 กันยายน 2552 นี้ เป็นต้นไป
ในการนี้ ธปท. ร่วมกับผู้บริหารจาก 10 ธนาคาร ที่เป็นตัวแทนจำหน่าย ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) และ ธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมลงนามในบันทึกความตกลงว่าด้วยการจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ธนาคารแห่งประเทศไทย ปี พ.ศ. 2552 ครั้งที่ 1 อายุ 4 ปี และ 7 ปี วงเงินรวม 50,000 ล้านบาท เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 20 สิงหาคม 2552 ที่ ธปท.
ทั้งนี้ ธปท. ได้ประกาศกำหนดอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรฯ ระยะ 4 ปี ที่ร้อยละ 3.50 ต่อปี และ อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรฯ ระยะ 7 ปี เป็นแบบขั้นบันได โดยปีที่ 1 - 2 อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3.00 ต่อปี ปีที่ 3 - 4 อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4.00 ต่อปี ปีที่ 5-6 อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5.00 ต่อปี และ ปีที่ 7 อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 6.00 ต่อปี สำหรับวันที่จดทะเบียนในพันธบัตรจะเป็นวันเดียวกับที่ ธปท. ได้รับเงิน จากธนาคารตัวแทนจำหน่าย และผู้ถือพันธบัตรฯ จะได้รับดอกเบี้ยทุก 6 เดือน คือ วันที่ 3 มีนาคม และ 3 กันยายน ของทุกปี และจะได้รับชำระคืนต้นเงินเต็มจำนวนเมื่อถือจนครบกำหนดอายุพันธบัตรฯ ในวันที่ 3 กันยายน 2556 สำหรับประเภทอายุ 4 ปี หรือ วันที่ 3 กันยายน 2559 สำหรับประเภทอายุ 7 ปี
ผู้สนใจสามารถขอรับหนังสือชี้ชวนและใบคำเสนอขอซื้อพันธบัตรฯ ผ่านธนาคารพาณิชย์ที่ เป็นตัวแทนจำหน่ายทั้ง 10 ธนาคาร และซื้อพันธบัตรได้ระหว่างวันที่ 3 - 4 และ 7 กันยายน 2552 นี้ หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ฝ่ายเงินฝากและตราสารหนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานใหญ่ โทร. 0-2356-7899 หรือทางเว็บไซต์ของ ธปท. ที่ www.bot.or.th
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย