แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนกรกฎาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 31, 2009 14:29 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ภาวะเศรษฐกิจในเดือนกรกฎาคมปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยเครื่องชี้แทบทุกตัวไม่ว่าจะพิจารณาจากด้านการผลิต อาทิ การผลิตในภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร และภาคการท่องเที่ยว หรือพิจารณาจากด้านอุปสงค์ ทั้งการอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน การใช้จ่ายของรัฐบาล รวมทั้งการส่งออก และการนำเข้า ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ทำให้เครื่องชี้ต่างๆ มีอัตราการหดตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนที่ลดลงเป็นลำดับ ทั้งนี้ สอดคล้องกับเครื่องชี้ภาคการเงินที่สินเชื่อภาคเอกชนของสถาบันรับฝากเงินเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า

เสถียรภาพเศรษฐกิจด้านต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ดี จากเงินสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูงและการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด สำหรับเสถียรภาพในประเทศ อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง ส่วนการจ้างงานปรับดีขึ้นตามภาคการผลิต

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจในเดือนกรกฎาคม 2552 มีดังนี้

1. ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เบื้องต้น) ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน โดยหดตัวในอัตราที่ลดลงจากร้อยละ 8.3 เป็นร้อยละ 7.3 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน และเมื่อปรับฤดูกาลแล้ว ขยายตัวจากเดือนก่อนร้อยละ 1.9 ตามการผลิตน้ำตาล ยางแผ่น รถยนต์เชิงพาณิชย์ และสินค้ากลุ่มยาสูบและเบียร์ที่ผลิตเพิ่มขึ้นเพื่อปรับระดับสต็อก ส่วนอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อการส่งออกโดยเฉพาะการผลิตสินค้ากลุ่ม Hard Disk Drive ชะลอลงเล็กน้อยหลังจากที่เร่งตัวขึ้นมากในช่วงก่อนหน้า สำหรับอัตราการใช้กำลังการผลิตในเดือนนี้อยู่ที่ร้อยละ 61.6 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน สอดคล้องกับการผลิตที่ปรับตัวดีขึ้น

2. ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน หดตัวร้อยละ 1.8 จากระยะเดียวกันปีก่อน แต่ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 3.4 ตามการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และปริมาณจำหน่ายหมวดยานยนต์เป็นสำคัญ ขณะที่ดัชนีหมวดเชื้อเพลิงยังขยายตัวในเกณฑ์สูงจากผลของการปรับลดราคาน้ำมันขายปลีก ประกอบกับฐานปีก่อนที่ต่ำผิดปกติ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ในเดือนกรกฎาคมปีก่อน ส่วนดัชนีการลงทุนภาคเอกชน (ประมาณการ) เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนหดตัวร้อยละ 14.3 แต่ขยายตัวร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยเครื่องชี้เกือบทุกตัวเริ่มปรับตัวดีขึ้น แต่ภาวะธุรกิจโดยรวมยังเปราะบาง สะท้อนได้จากดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ ในปัจจุบันที่ลดลงจากเดือนก่อนหน้าและยังคงต่ำกว่าระดับ 50 จากแรงกดดันด้านต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ

3. ภาคการคลัง รัฐบาลมีรายได้จัดเก็บ 116.4 พันล้านบาท ลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 7.0 จากรายได้ภาษีที่หดตัว ร้อยละ 8.9 ทั้งจากภาษีฐานรายได้ ฐานการบริโภค และฐานการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งลดลงตามภาวะเศรษฐกิจและมาตการลดหย่อนภาษีของรัฐบาล ขณะที่ภาษีสรรพสามิตขยายตัวจากการปรับเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2552 สำหรับรายได้ที่มิใช่ภาษี ขยายตัวร้อยละ 16.9 ตามการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจและรายรับค่าสัมปทานปิโตรเลียมที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ การเบิกจ่ายที่เร่งขึ้น ทำให้ดุลเงินสดของรัฐบาลขาดดุล 62.0 พันล้านบาท ซึ่งชดเชยด้วยการกู้ยืมสุทธิ 125.6 พันล้านบาท ทำให้เงินคงคลังเพิ่มขึ้นจาก 215.6 พันล้านบาทในเดือนก่อน เป็น 279.2 พันล้านบาทในเดือนกรกฎาคม 2552

4. ภาคต่างประเทศ ดุลการค้าเกินดุล 799 ล้านดอลลาร์ สรอ. การส่งออก มีมูลค่า 12,784 ล้านดอลลาร์ สรอ. หดตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อนที่ร้อยละ 25.7 โดยเป็นการหดตัวในทุกหมวดโดยเฉพาะหมวดสินค้าอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูง เช่น ยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม รวมทั้งสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ เนื่องจากในเดือนเดียวกันปีก่อนมีการส่งออกทองคำสูง ขณะที่การส่งออกสินค้าเกษตรหดตัวมากขึ้นทั้งปริมาณและราคา อย่างไรก็ตาม หากปรับฤดูกาลแล้ว ปริมาณการส่งออกรวมขยายตัวจากเดือนก่อนหน้าร้อยละ 1.9 ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 11,984 ล้านดอลลาร์ สรอ. หดตัวร้อยละ 31.7 เป็นการหดตัวในทุกหมวดสินค้าเช่นกัน โดยเฉพาะน้ำมันดิบโลหะและผลิตภัณฑ์โลหะ เคมีภัณฑ์ และเครื่องจักรไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาปริมาณการนำเข้าที่ปรับฤดูกาลแล้ว จะขยายตัวจากเดือนก่อนหน้าร้อยละ 3.5 ซึ่งเป็นการขยายตัวในเกือบทุกหมวด

ดุลบริการ รายได้ และเงินโอน ขาดดุล 422 ล้านดอลลาร์ สรอ. จากรายได้ท่องเที่ยวที่ยังคงลดลงต่อเนื่อง แต่จากดุลการค้าที่เกินดุล ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 378 ล้านดอลลาร์ สรอ. เงินทุนเคลื่อนย้าย1/ ขาดดุล 20 ล้านดอลลาร์ สรอ. จากการไหลออกของเงินลงทุนในหลักทรัพย์ของคนไทยในตราสารหนี้ต่างประเทศเป็นสำคัญ โดยรวมดุลการชำระเงินเกินดุล 1,106 ล้านดอลลาร์ สรอ. และเงินสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2552 เพิ่มขึ้นเป็น 123.5 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ขณะที่ยอดคงค้างการซื้อเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าสุทธิเท่ากับ 11.4 พันล้านดอลลาร์ สรอ.

5. อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ยังคงติดลบร้อยละ 4.4 โดยเป็นผลจากฐานสูงในเดือนกรกฎาคมปีก่อนที่ราคาน้ำมันปรับสูงขึ้นเป็น ประวัติการณ์ ประกอบกับผลของ 5 มาตรการเพื่อลดค่าครองชีพและนโยบายเรียนฟรี 15 ปีของรัฐบาล ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานติดลบร้อยละ 1.2 จากฐานราคาสินค้าและบริการในปีก่อนที่อยู่ในระดับสูงและมาตรการภาครัฐ ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิตลดลงร้อยละ 12.9 จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามราคาในทุกหมวดซึ่งยังอยู่ในระดับต่ำมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

6. ภาคการเงิน2/ เงินฝากของสถาบันรับฝากเงิน (Depository Corporations) ขยายตัวร้อยละ 7.8 ซึ่งหากนับรวมการออกตราสารหนี้ประเภทตั๋วแลกเงินแล้ว เงินฝากขยายตัวร้อยละ 8.1 ส่วนสินเชื่อภาคเอกชนของสถาบันรับฝากเงินขยายตัวร้อยละ 2.7 จากระยะเดียวกันปีก่อน ชะลอลงต่อเนื่องจากสินเชื่อที่ให้แก่ภาคธุรกิจตามความต้องการของสินเชื่อที่ลดลง อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาเทียบกับเดือนก่อนหน้าสินเชื่อภาคเอกชนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4

อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในตลาดเงิน ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2552 และในช่วงวันที่ 1-25 สิงหาคม 2552 ทรงตัวต่อเนื่องจากเดือนมิถุนายน โดยอัตราดอกเบี้ยธุรกรรมซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน และอัตราดอกเบี้ยระหว่างธนาคารระยะ 1 วัน เฉลี่ยคงที่อยู่ที่ร้อยละ 1.25 และ 1.15 ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับมติคณะกรรมการนโยบายการเงินซึ่งประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2552

7. อัตราแลกเปลี่ยนและดัชนีค่าเงินบาท ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในเดือนกรกฎาคม 2552 อ่อนค่าลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 77.45 เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน สะท้อนการอ่อนค่าของเงินบาทเมื่อเปรียบเทียบกับเงินสกุลคู่ค้าคู่แข่ง แม้ว่าค่าเงินบาทต่อดอลลาร์ สรอ.จะแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากค่าเฉลี่ยที่ 34.14 บาท ในเดือนมิถุนายน มาอยู่ที่ 34.05 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. จากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สรอ. ประกอบกับมีแรงขายดอลลาร์ สรอ. ของผู้ส่งออกและมีเงินเข้ามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ไทยในช่วงวันที่ 1-25 สิงหาคม 2552 ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในช่วงแคบๆ โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 34.02 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. จากธุรกรรมซื้อขายที่ค่อนข้างสมดุล

ข้อมูลเพิ่มเติม: พรรณพิลาส เรืองวิสุทธิ์

โทร. 0-2283-5648, 0-2283-5639

e-mail: punpilay@bot.or.th

1/ เงินทุนเคลื่อนย้ายสุทธิในเดือนล่าสุดเป็นข้อมูลเร็วเบื้องต้น ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงและแก้ไขในเดือนถัดไป

2/ ตั้งแต่เดือนกันยายน 2551 ธปท. ได้ปรับปรุงข้อมูลปริมาณเงินตามความหมายกว้าง เงินฝากและสินเชื่อภาคเอกชน ให้ครอบคลุมข้อมูลจากสหกรณ์ออมทรัพย์และกองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market Mutual Funds) นอกจากนี้ ปริมาณเงินตามความหมายกว้างยังนับรวมการออกตราสารหนี้ประเภทตั๋วแลกเงิน (Bill of Exchange) เข้าไว้ด้วย

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ