ระบบการหักบัญชีเช็คด้วยภาพเช็คและระบบการจัดเก็บภาพเช็ค

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 17, 2009 15:44 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

นายฉิม ตันติยาสวัสดิกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายระบบข้อสนเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงว่า ธปท. เตรียมใช้ระบบการเรียกเก็บเงินตามเช็คระหว่างธนาคารด้วยวิธีการใหม่ เรียกว่า ระบบการหักบัญชีเช็คด้วยภาพเช็คและระบบการจัดเก็บภาพเช็ค (Imaged Cheque Clearing and Archive System — ICAS) โดยใช้ภาพเช็คแทนตัวเช็คจริงในกระบวนการเรียกเก็บ มีจุดมุ่งหมาย เพื่อย่นระยะเวลาการเรียกเก็บเช็คให้เหลือ 1 วันทำการทั่วประเทศ และลดต้นทุนการขนส่งตัวเช็ค ในกระบวนการเรียกเก็บ กำหนดเปิดใช้งานระบบใหม่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลเดือนกุมภาพันธ์ 2553 และจะขยายผลการใช้งานครบทั่วประเทศภายในปี 2555

การเรียกเก็บเงินตามเช็คด้วยภาพในระบบ ICAS จะเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจและประชาชน ผู้ฝากเช็ค โดยในระยะแรกของการเริ่มใช้งานระบบ ICAS ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลในเดือน กุมภาพันธ์ปีหน้านั้น จะทำให้ธนาคารสามารถขยายเวลาการรับฝากเช็คเคลียริงกรุงเทพฯ จากปัจจุบัน ที่ปิดรับฝากที่ประมาณเวลา 13.00 -14.00 น. ไปจนเกือบสิ้นเวลาทำการของธนาคารหรือประมาณ 14.30 — 15.30 น. หลังจากนั้นจะขยายผลไปใช้กับการเรียกเก็บเงินตามเช็คที่สั่งจ่ายในต่างจังหวัด ซึ่งปัจจุบันใช้วิธีการส่งเรียกเก็บที่เรียกว่า “เช็ค B/C (Bill for Collection)” ที่ต้องใช้ระยะเวลาการเรียกเก็บ 3 วันทำการให้เหลือเพียง 1 วันทำการ และในลำดับถัดไป ธปท. จะขยายผลการใช้งานไปในเขตภูมิภาค โดยจะทยอยดำเนินการจนครบทั่วประเทศภายในปี 2555 ซึ่งจะทำให้ระบบการหักบัญชีเช็คทั่วประเทศ เป็นระบบเดียวและการเรียกเก็บเงินตามเช็คทั่วประเทศสามารถทราบผลได้เพียง 1 วันทำการ

ระบบ ICAS เป็นระบบการเรียกเก็บเงินตามเช็คที่มีการนำเทคโนโลยีการส่งข้อมูลพร้อม ภาพเช็ค Grayscale และ Black & White มาใช้ในกระบวนการเรียกเก็บ โดยธนาคารผู้จ่ายจะใช้ภาพเช็ค ในการอนุมัติตัดจ่ายเช็คแทนการใช้ตัวเช็คจริง ดังนั้น ธนาคารผู้ส่งเรียกเก็บไม่จำเป็นต้องส่งตัวเช็คไป ศูนย์หักบัญชีอิเล็กทรอนิกส์เพื่อส่งให้ธนาคารผู้จ่ายต่อไป ส่งผลให้ระบบ ICAS สามารถลดระยะเวลา ในการเรียกเก็บเงินตามเช็คและลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งตัวเช็คในกระบวนการเรียกเก็บได้

นอกจากนี้ ระบบ ICAS ยังเป็นศูนย์จัดเก็บภาพเช็คอิเล็กทรอนิกส์และเอกสารทางการเงินอื่น ที่เกี่ยวข้องของประเทศไทย โดย ธปท.ได้เสนอระบบ ICAS เป็นระบบงานนำร่อง (Model Application) ของประเทศ เพื่อให้คณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์พิจารณาให้สามารถใช้สิ่งพิมพ์ออกจากข้อมูล อิเล็กทรอนิกส์ของระบบดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานทางกฎหมายและกระบวนการทางศาลได้

ธปท. ขอเรียนว่า การใช้งานระบบ ICAS มีจุดประสงค์ที่มุ่งเน้นให้ระบบการเรียกเก็บเงิน ตามเช็คมีประสิทธิภาพและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศเป็นสำคัญ โดยพยายามให้มีผลกระทบต่อ ภาคธุรกิจและประชาชนน้อยที่สุด อย่างไรก็ตาม การที่หยุดการเดินทางของตัวเช็คอยู่ที่ธนาคารผู้ส่งเรียกเก็บ ทำให้ในขั้นตอนของการอนุมัติตัดจ่ายเช็ค ธนาคารผู้จ่ายจำเป็นต้องตรวจสอบลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายบนภาพเช็ค ได้อย่างชัดเจน หากมีการใช้ตราประทับ / ตรานูน / ตราสี บนตัวเช็คจะมีผลต่อการตรวจสอบลายมือชื่อ และข้อมูลสำคัญต่าง ๆ จากภาพเช็ค ประกอบกับธนาคารผู้จ่ายไม่สามารถตรวจสอบความนูนต่ำของพื้นผิว และความถูกต้องของสีตามเงื่อนไขของตราประทับจากภาพที่กล่าวได้ ดังนั้น เพื่อให้การใช้งานระบบ ICAS สามารถดำเนินการได้อย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ ธปท. จึงได้มีหนังสือเวียนถึงธนาคาร สมาชิกให้ขอความร่วมมือจากลูกค้าให้ยกเลิกการใช้ตราประทับ / ตรานูน / ตราสี เป็นส่วนหนึ่งของ เงื่อนไขการสั่งจ่ายเช็ค โดยให้มีเฉพาะลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเท่านั้น

ข้อมูลเพิ่มเติม : ทีมพัฒนา 2 ฝ่ายระบบการชำระเงิน

โทร. 0-2283-5034, 0-2283-6420

e-mail: ICS@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ