แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนสิงหาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 30, 2009 15:04 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในเดือนสิงหาคมโดยรวมแผ่วลงจากเดือนก่อน หลังจากปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องในช่วงก่อนหน้าสะท้อนการฟื้นตัวในลักษณะที่ค่อยเป็นค่อยไป โดยเครื่องชี้ภาคการผลิต การบริโภคภาคเอกชน และการนำเข้าที่ปรับฤดูกาลแล้วหดตัวจากเดือนก่อน ขณะที่การส่งออกทรงตัว อย่างไรก็ดี เครื่องชี้หลายตัวยังคงปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ทั้งการลงทุนภาคเอกชนการท่องเที่ยว ผลผลิตและรายได้เกษตรกรจากพืชผลสำคัญ รวมทั้งแรงกระตุ้นจากการใช้จ่ายภาครัฐ

เสถียรภาพด้านต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ดีต่อเนื่องจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดและเงินสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง สำหรับเสถียรภาพในประเทศ อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ ขณะที่การจ้างงานปรับดีขึ้น โดยเฉพาะการจ้างงานในภาคการผลิตที่กลับมาขยายตัว

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจในเดือนสิงหาคม 2552 มีดังนี้

1. ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เบื้องต้น) เมื่อปรับฤดูกาลแล้ว หดตัวร้อยละ 3.6 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยเป็นการหดตัวทั้งการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศและเพื่อส่งออก ส่วนหนึ่งเนื่องจากการผลิตที่ปรับตัวดีขึ้นในช่วงก่อนหน้า อาทิหมวดสิ่งทอ และหมวดอิเล็กทรอนิกส์ ประกอบกับปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบในหมวดอาหาร ขณะที่หมวดเครื่องดื่มผลิตลดลงหลังจากที่เร่งผลิตก่อนการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิต และหมวดปิโตรเลียมและยาสูบผลิตลดลงจากการปิดซ่อมบำรุงโรงงาน ทำให้โดยรวม ดัชนีฯ เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนหดตัวมากขึ้นที่ร้อยละ 10.3 จากร้อยละ 7.1 ในเดือนก่อน สอดคล้องกับอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 60

2. ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน หดตัวร้อยละ 4.4 จากระยะเดียวกันปีก่อน และหดตัวร้อยละ 3.2 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ตามการลดลงของการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคที่เร่งตัวมากในเดือนก่อน และภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่โดยเฉพาะที่เก็บจากการนำเข้า ขณะที่ปริมาณจำหน่ายหมวดเชื้อเพลิงลดลงจากราคาขายปลีกน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ดัชนีหมวดยานยนต์และปริมาณการใช้ไฟฟ้าสำหรับที่อยู่อาศัยปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ส่วนดัชนีการลงทุนภาคเอกชน (ประมาณการ) เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนหดตัวร้อยละ 13.3 แต่ขยายตัวร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะเครื่องชี้ในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ ขณะที่หมวดก่อสร้างค่อนข้างทรงตัว

3. ภาคการคลัง รัฐบาลมีรายได้จัดเก็บ 225.3 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 13.0 จากรายได้ภาษีที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.6 ทั้งจากภาษีฐานรายได้และฐานการบริโภค เป็นสำคัญ โดยภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มขึ้นมากจากฐานต่ำในปีก่อน เนื่องจากวันสุดท้ายของการเสียภาษีจากกำไรสุทธิรอบครึ่งปีตรงกับวันหยุดราชการจึงได้มีการเลื่อนเวลาชำระภาษีออกไปอีก 1 วัน ทำให้ภาษีส่วนหนึ่งเหลื่อมไปอยู่ในเดือนกันยายน สำหรับภาษีฐานการบริโภคขยายตัวร้อยละ 2.5 จากภาษีสรรพสามิตที่เพิ่มขึ้นมากถึงร้อยละ 45.7 เนื่องจากปีก่อนมีการลดอัตราภาษีน้ำมันดีเซลและแก๊สโซฮอล์ตาม 6 มาตรการ 6 เดือนของรัฐบาล กอปรกับมีการปรับเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันในปีนี้

ทั้งนี้ การใช้จ่ายของภาครัฐยังเป็นปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยในเดือนสิงหาคม รัฐบาลขาดดุลเงินสด 28.6 พันล้านบาท ซึ่งชดเชยการขาดดุลด้วยการกู้ยืมสุทธิ 20.7 พันล้านบาท และใช้เงินคงคลัง 7.9 พันล้านบาท ทำให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2552 ลดลงเป็น 271.3 พันล้านบาท

4. ภาคต่างประเทศ ดุลการค้าเกินดุล 2,271 ล้านดอลลาร์ สรอ. การส่งออก มีมูลค่า 13,181 ล้านดอลลาร์ สรอ. หดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 17.9 โดยเป็นการหดตัวน้อยลงจากทั้งสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม โดยสินค้าเกษตรหดตัวน้อยลงทั้งด้านราคาและปริมาณ ในขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมหดตัวน้อยลงจากด้านปริมาณเป็นสำคัญ ซึ่งเมื่อปรับฤดูกาลแล้วปริมาณการส่งออกรวมใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้า การนำเข้า มีมูลค่า 10,910 ล้านดอลลาร์ สรอ. หดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 33.8 ใกล้เคียงกับเดือนก่อน เมื่อปรับฤดูกาลแล้วปริมาณการนำเข้าหดตัวจากเดือนก่อนหน้าร้อยละ 11.4 ตามการลดลงของหมวดเชื้อเพลิงเป็นสำคัญ เนื่องจากมีการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นน้ำมัน ขณะที่ปริมาณการนำเข้าในหมวดอื่นๆ ลดลงจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อยในทุกหมวดยกเว้นสินค้าทุนที่นำเข้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3

ดุลบริการ รายได้ และเงินโอน ขาดดุล 356 ล้านดอลลาร์ สรอ. จากรายได้ท่องเที่ยวที่ลดลงและกำไรส่งกลับของภาคธุรกิจเอกชนที่มิใช่ธนาคาร แต่ดุลการค้าที่เกินดุล ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1,916 ล้านดอลลาร์ สรอ. เงินทุนเคลื่อนย้าย1/ เกินดุล 667 ล้านดอลลาร์ สรอ. จากการไหลเข้าของเงินทุนภาคธนาคารเป็นสำคัญ เนื่องจากนักลงทุนและผู้ส่งออกเพิ่มการป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน ทำให้โดยรวมดุลการชำระเงินเกินดุล 2,570 ล้านดอลลาร์ สรอ. และเงินสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2552 อยู่ที่ 127.3 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ขณะที่ยอดคงค้างการซื้อเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าสุทธิเท่ากับ 12.6 พันล้านดอลลาร์ สรอ.

5. อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ติดลบร้อยละ 1.0 และ 0.2 ตามลำดับ ซึ่งเป็นการติดลบในอัตราที่น้อยลง เนื่องจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพครบ 1 ปี รวมทั้งผลจากฐานราคาน้ำมันเริ่มลดลง ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิตลดลงร้อยละ 10.4 ติดลบน้อยลงจากราคาในหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมืองและผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนตามราคาในตลาดโลก

6. ภาคการเงิน2/ เงินฝากของสถาบันรับฝากเงิน (Depository Corporations) ขยายตัวร้อยละ 7.8 หากนับรวมการออกตราสารหนี้ประเภทตั๋วแลกเงินแล้ว เงินฝากขยายตัวร้อยละ 8.0 ส่วนสินเชื่อภาคเอกชนของสถาบันรับฝากเงินขยายตัวร้อยละ 1.3 ชะลอลงต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจ โดยเฉพาะสินเชื่อที่ให้แก่ภาคธุรกิจที่ยังคงลดลงเป็นสำคัญ ขณะที่สินเชื่อที่ให้แก่ภาคครัวเรือนยังคงขยายตัว

อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในตลาดเงิน ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2552 และในช่วงวันที่ 1-25 กันยายน 2552 อัตราดอกเบี้ยธุรกรรมซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน และอัตราดอกเบี้ยระหว่างธนาคารระยะ 1 วัน เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 1.25 และ 1.15 ต่อปี ตามลำดับทรงตัวต่อเนื่องตามทิศทางดอกเบี้ยนโยบาย

7. อัตราแลกเปลี่ยนและดัชนีค่าเงินบาท ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในเดือนสิงหาคม 2552 อ่อนค่าลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 77.05 เมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อดอลลาร์ สรอ. เคลื่อนไหวอยู่ในช่วงแคบๆ เฉลี่ยอยู่ที่ 34.02 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ใกล้เคียงกับเดือนก่อนเฉลี่ยอยู่ที่ 34.05 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. จากแรงซื้อขายดอลลาร์ สรอ. ที่ค่อนข้างสมดุล อย่างไรก็ดี ในช่วงวันที่ 1-25 กันยายน 2552 ค่าเงินบาทปรับแข็งค่าขึ้นจากเดือนสิงหาคมมาเฉลี่ยอยู่ที่ 33.87 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. จากค่าเงินดอลลาร์ สรอ. ที่อ่อนค่าลง เนื่องจากนักลงทุนหันไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น

1/ เงินทุนเคลื่อนย้ายสุทธิในเดือนล่าสุดเป็นข้อมูลเร็วเบื้องต้น ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงและแก้ไขในเดือนถัดไป

2/ ตั้งแต่เดือนกันยายน 2551 ธปท. ได้ปรับปรุงข้อมูลปริมาณเงินตามความหมายกว้าง เงินฝากและสินเชื่อภาคเอกชน ให้ครอบคลุมข้อมูลจากสหกรณ์

ออมทรัพย์ และกองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market Mutual Funds) นอกจากนี้ ปริมาณเงินตามความหมายกว้างยังนับรวมการออกตราสารหนี้ ประเภทตั๋วแลกเงิน (Bill of Exchange) เข้าไว้ด้วย

ข้อมูลเพิ่มเติม: พรรณพิลาส เรืองวิสุทธิ์

โทร. 0-2283-5648, 0-2283-5639

e-mail: punpilay@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ