สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ เดือนสิงหาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 24, 2009 16:34 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ภาวะเศรษฐกิจภาคใต้เดือนสิงหาคม ปี 2552 ปรับตัวดีขึ้น โดยรายได้เกษตรกร แม้ว่าจะลดลงตามราคาและปริมาณผลผลิตพืชผลหลักที่ลดลง แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้ากลับเพิ่มขึ้น ขณะที่ผลผลิตอุตสาหกรรมหดตัวในอัตราที่ชะลอลงตามการผลิตและส่งออกยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง อาหารบรรจุกระป๋อง และน้ำมันปาล์มดิบ ภาคการลงทุน และจ้างงานปรับตัวดีขึ้น ส่วนภาคการท่องเที่ยวและภาคการค้าต่างประเทศหดตัวในอัตราที่ชะลอลง อย่างไรก็ตาม การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนยังคงหดตัว สำหรับอัตราเงินเฟ้อ หดตัวในอัตราที่ลดลง ส่วนสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ชะลอลง

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจในเดือนสิงหาคม ปี 2552 มีดังนี้

1. ภาคเกษตร รายได้ของเกษตรกรลดลง โดยดัชนีรายได้เกษตรกรลดลงร้อยละ 32.1 จากเดือนเดียวกันปีก่อน อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้ากลับเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.9 เป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 จากผลของราคาและปริมาณพืชผลหลักที่กระเตื้องขึ้น โดยราคาลดลงร้อยละ 29.7 และผลผลิตพืชหลักลดลงร้อยละ 3.4 เปรียบเทียบกับเดือนก่อนที่ลดลงร้อยละ 45.7 และ 4.8 ตามลำดับ โดยราคายางพารากิโลกรัมละ 63.44 บาท ลดลงร้อยละ 31.3 แต่เป็นราคาที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อน ร้อยละ 17.3 เนื่องจากการผลิตและความต้องการซื้อยางจากผู้ผลิตยางรถยนต์ปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับราคายางที่ซื้อขายในตลาดล่วงหน้าปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ราคาซื้อขายในตลาดจริงปรับขึ้นตาม ส่วนราคาปาล์มน้ำมันลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 5.4 แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.3

ประมงทะเล ปริมาณสัตว์น้ำนำขึ้นที่ท่าเทียบเรือในภาคใต้ 30,015 เมตริกตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.0 คิดเป็นมูลค่า 1,050.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.6 ด้านราคาจำหน่ายกุ้งขาวขนาด 50 ตัวต่อกิโลกรัม กิโลกรัมละ 115.00 บาท ปรับลดลงร้อยละ 7.7 ส่วนผลผลิตกุ้งขาวในภาคใต้ยังคงออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 1.7

2. ภาคอุตสาหกรรม หดตัวในอัตราที่ชะลอลง โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 2.3 ตามการผลิตยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง อาหารบรรจุกระป๋อง และน้ำมันปาล์มดิบ ขณะที่ผลผลิตน้ำยางข้น ถุงมือยาง ไม้ยางพาราแปรรูป และสัตว์น้ำแช่แข็งเพิ่มขึ้น โดยปริมาณการส่งออกยางแท่งและยางแผ่นรมควัน 56,024.2 และ 28,463.8 เมตริกตัน ลดลงร้อยละ 25.7 และ 27.9 ส่วนการผลิตน้ำมันปาล์มดิบลดลงร้อยละ 9.0 ตามปริมาณวัตถุดิบที่เข้าสู่โรงงานลดลง การส่งออกอาหารทะเลแช่แข็งเพิ่มขึ้นตามการส่งออกผลิตภัณฑ์จากหมึกและปลา ขณะที่ผลิตภัณฑ์กุ้งส่งออกได้ลดลง

3. การท่องเที่ยว ยังคงหดตัว แต่ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองในภาคใต้ ลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 3.6 ตามการลดลงของนักท่องเที่ยวภาคใต้ตอนล่าง ซึ่งเป็นผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ทำให้อัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 46.2 ลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อนที่มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยร้อยละ 52.2

4. การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ปรับตัวลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อนและ เดือนก่อนหน้า ร้อยละ 1.6 และ 1.2 ตามลำดับ เป็นผลจากผู้บริโภคยังกังวลต่อสถานการณ์เศรษฐกิจ ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง และสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้ผู้บริโภคยังชะลอการใช้จ่าย อย่างไรก็ตาม มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ได้แก่ การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 ของรัฐบาล น่าจะมีส่วนกระตุ้นให้ผู้บริโภคเริ่มใช้จ่ายมากขึ้น

5. การลงทุนภาคเอกชน ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน สะท้อนจากการขยายตัวในภาคการก่อสร้าง และโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในขณะที่ยอดเงินทุนจดทะเบียนธุรกิจนิติบุคคลใหม่ และการจดทะเบียนเพิ่มทุนหดตัว โดยมีปัจจัยเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจโลกและปัญหาการเมืองภายในประเทศที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของการผลิตและการลงทุนโดยรวม ทั้งนี้ ดัชนีการลงทุนภาคการก่อสร้างเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.9 สำหรับโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน (BOI) มีจำนวนโครงการและเงินลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 55.6 และ 108.5

6. การจ้างงาน เพิ่มขึ้นทั้งตำแหน่งงานว่างและการบรรจุงาน การบรรจุงานจำนวน 3,942 คน เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 29.7 ความต้องการแรงงานที่ผู้ประกอบการแจ้งผ่านสำนักงานจัดหางานจังหวัดในภาคใต้มีจำนวนทั้งสิ้น 4,251 อัตรา เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 43.0 ส่วนแรงงานที่เข้าโครงการประกันสังคม ตามมาตรา 33 ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2552 จำนวน 600,791 คน เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 3.1 โดยเพิ่มขึ้นในทุกจังหวัดยกเว้นจังหวัดภูเก็ต และชุมพร

7. ระดับราคา อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของภาคใต้ หดตัวจากเดือนเดียวกันปีก่อน ร้อยละ 0.2 แต่หดตัวในอัตราที่ลดลงจากร้อยละ 3.8 ในเดือนก่อน ทั้งนี้ เป็นผลจากดัชนีราคาหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลงร้อยละ 3.1 โดยมีปัจจัยสำคัญจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ยังคงลดลง และภาระรายจ่ายด้านการศึกษาของประชาชนลดลงจากมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาล

อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อน และเดือนก่อนหน้า ร้อยละ 0.2 และ 0.1 ตามลำดับ

8. การค้าต่างประเทศ หดตัวในอัตราที่ชะลอลง โดยมีมูลค่าการส่งออกสูงสุดในรอบ 8 เดือน มูลค่าการส่งออก 857.6 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 31.2 ส่วนการนำเข้า 501.7 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 14.1 เป็นอัตราที่ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนที่ลดลงร้อยละ 40.9

9. ภาคการคลัง การเบิกจ่ายเงินงบประมาณของส่วนราชการต่าง ๆ ในภาคใต้ มีจำนวน 11,330.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 25.0 ส่วนการจัดเก็บภาษีอากร สามารถจัดเก็บได้ 3,324.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อน ร้อยละ 2.6 จากการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตและศุลกากรเพิ่มขึ้น ส่วนภาษีสรรพากรจัดเก็บได้ลดลง

10. การเงิน เงินฝากของสาขาธนาคารพาณิชย์ในภาคใต้หดตัวลงร้อยละ 3.4 เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่วนสินเชื่อขยายตัวร้อยละ 1.5 ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 1.9

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้

ข้อมูลเพิ่มเติม : นาฏน้อย แก้วมีจีน

โทร.0-7423-6200 ต่อ 4329 e-mail : nartnoik@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ