สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนสิงหาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 30, 2009 14:31 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนสิงหาคม 2552 ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับระยะเดียวกัน ปีก่อน แต่ชะลอตัวจากเดือนก่อน ตามการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชน และการใช้จ่ายภาครัฐ สำหรับการผลิตภาคอุตสาหกรรม และรายได้เกษตรกรยังคงหดตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน แต่หดตัวน้อยลงจากเดือนก่อน

การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในธุรกิจ ค้าปลีก ค้าส่ง แต่ชะลอตัวลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน การลงทุนภาคเอกชน เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน โดยพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลเมืองและเทศบาลนคร เงินลงทุนของโรงงานอุตสาหกรรมที่ประกอบกิจการใหม่ ปริมาณการใช้ไฟฟ้าเพื่อธุรกิจและอุตสาหกรรมขยายตัวจากระยะเดียวกันของปีก่อน การใช้จ่ายจากภาครัฐ เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน แต่ก็ชะลอตัวจากเดือนกรกฎาคม รายได้ภาครัฐ เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนเป็นผลจากการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีสุราและภาษียาสูบ เป็นสำคัญ

ภาคเกษตรกรรม ดัชนีรายได้เกษตรกรหดตัว เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน แต่ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนตามดัชนีราคาเป็นสำคัญ ส่วนดัชนีผลผลิตทรงตัวจากระยะเดียวกันของปีก่อน ภาคอุตสาหกรรม หดตัวจากระยะเดียวกันของปีก่อน แต่ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน อุตสาหกรรมที่ยังคงหดตัวได้แก่ อุตสาหกรรมน้ำตาล อุตสาหกรรมผลิตเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และอุตสาหกรรมผลิตแป้งมันสำปะหลัง อย่างไรก็ตาม การผลิตเพื่อส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ยังคงขยายตัวตามการส่งออกที่เพิ่มขึ้น มูลค่าการค้าชายแดนไทย ลาว และไทย กัมพูชา ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง

ภาคการเงิน เงินฝากชะลอตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นเงินฝากของส่วนราชการเพื่อรอการใช้จ่ายเงินตามงบประมาณ ด้านเงินให้สินเชื่อชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 อัตราเงินเฟ้อ ทั่วไปติดลบร้อยละ 1.1

รายละเอียดของแต่ละภาคเศรษฐกิจ มีดังนี้

1. ภาคเกษตรกรรม ดัชนีรายได้เกษตรกรเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนหดตัวร้อยละ 0.8 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ 7.9 ตามดัชนีราคาพืชผลเป็นสำคัญ โดยดัชนีราคาพืชผลสำคัญหดตัวร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ 7.6 ตามราคาข้าวและมันสำปะหลังที่มีราคาสูงขึ้น ส่วนดัชนีผลผลิตทรงตัวจากช่วงระยะเดียวกันของปีก่อน และหดตัวเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม

ข้าว ราคาขายส่งข้าวเปลือกหอมมะลิเฉลี่ยเกวียนละ 14,655 บาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.0 ขณะที่ราคาขายส่งข้าวเปลือกเหนียว 10% (เมล็ดยาว) เฉลี่ยเกวียนละ 7,461 บาท ลดลงจากระยะเดียวกันของ ปีก่อนร้อยละ 0.6 อย่างไรก็ตามราคาขายส่งข้าวเปลือกหอมมะลิและข้าวเปลือกเหนียว 10% (เมล็ดยาว) ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.4 และร้อยละ 0.1 ตามลำดับ เนื่องจากยังมีความต้องการข้าวเพื่อการส่งออก

มันสำปะหลัง ราคาขายส่งหัวมันเฉลี่ยกิโลกรัมละ 1.35 บาท และราคามันเส้นเฉลี่ยกิโลกรัมละ 3.58 บาท ลดลงจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 16.7 และร้อยละ 27.8 ตามลำดับ แต่อย่างไรก็ตามราคามันสำปะหลังและ มันเส้นเดือนนี้ปรับตัวดีขึ้น โดยเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 3.8 และร้อยละ 4.4 ตามลำดับ เนื่องจาก ในช่วงนี้มีฝนตกชุกเป็นอุปสรรคในการเก็บเกี่ยว และขนส่งหัวมันสำปะหลัง ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ขณะที่โรงงานผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังยังมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ราคาขายส่งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เฉลี่ยกิโลกรัมละ 5.65 บาท ลดลงจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 33.1 และลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 10.5 เนื่องจากความต้องการข้าวโพดในการทำอาหารสัตว์ชะลอตัวลงและมีความชื้นค่อนข้างสูง

2. ภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหดตัวจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 10.1 แต่ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนกรกฎาคมที่หดตัวร้อยละ 17.0 โดยอุตสาหกรรมที่ยังคงขยายตัวดี ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตเพื่อส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ในกลุ่ม Hard Disk Drive (HDD) ซึ่งยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องร้อยละ 8.7 จากระยะเดียวกันของปีก่อน ตามการส่งออกที่เพิ่มขึ้น สำหรับอุตสาหกรรมที่ยังคงหดตัวได้แก่ อุตสาหกรรมน้ำตาล อุตสาหกรรมผลิตแป้ง มันสำปะหลัง ซึ่งหดตัวลงตามวัตถุดิบที่ลดลง และอุตสาหกรรมผลิตเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ซึ่งได้มีการผลิตเก็บเข้า สต๊อกไว้แล้วในช่วงก่อนหน้า ภาคบริการ การท่องเที่ยวในภาค มีอัตราการเข้าพักแรมในเดือนนี้ใกล้เคียงกับระยะเดียวกันของปีก่อน โดยอยู่ที่ร้อยละ 43.1 เทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 43.9 แต่ก็ลดลงจากเดือนกรกฎาคม ที่มีอัตราการเข้าพักร้อยละ 51.0

3. การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 1.7 ชะลอตัวลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 โดยเครื่องชี้ที่สำคัญ ได้แก่ การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บได้ เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 6.0 ชะลอตัวจากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.0 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นจากธุรกิจ ค้าปลีกค้าส่งสุรา-เบียร์ สำหรับการจดทะเบียนรถยนต์นั่งส่วนบุคคล และการใช้ไฟฟ้าเพื่อที่อยู่อาศัย เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 10.0 และร้อยละ 8.4 และเพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 และร้อยละ 7.5 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม การจดทะเบียนรถบรรทุกส่วนบุคคลและรถจักรยานยนต์ ยังลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อน ร้อยละ 20.7 และร้อยละ 6.5 ตามลำดับ ซึ่งเป็นการหดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน

4. การลงทุนภาคเอกชน เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน แต่ชะลอตัวจากเดือนกรกฎาคม เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่สองของรัฐบาลที่เริ่มส่งผลต่อการลงทุนของภาคเอกชน ทำให้มีการลงทุนเพิ่ม อย่างไรก็ตามนักลงทุนบางส่วนยังคงชะลอการลงทุน เนื่องจากยังคงกังวลกับความไม่แน่นอนทางการเมือง โดยเครื่องชี้สำคัญคือ พื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลเมืองและเทศบาลนคร เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 25.6 ขยายตัวจากเดือนกรกฎาคมที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 รวมทั้งจำนวนเงินลงทุนที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนกว่า 3 เท่าตัว นอกจากนี้จำนวนเงินลงทุนของโรงงานอุตสาหกรรมที่ประกอบกิจการใหม่และปริมาณการใช้ไฟฟ้าเพื่อธุรกิจและอุตสาหกรรม ก็เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 98.3 และร้อยละ 2.6 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม การจดทะเบียนธุรกิจตั้งใหม่ ยังคงลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 11.0 เป็นการลดลงจากการจดทะเบียนของบริษัทจำกัดและห้างหุ้นส่วนจำกัดที่ตั้งใหม่

5. ภาคการคลัง รายได้ของระฐ เดือนนี้สามารถจัดเก็บภาษีอากรได้ 3,637.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.2 ขยายตัวจากเดือนกรกฎาคม ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 เป็นผลจากการจัดเก็บภาษีสรรพากร และภาษีสรรพสามิต ที่เพิ่มขึ้น ส่วนอากรขาเข้าจัดเก็บได้ลดลง มีรายละเอียดดังนี้

ภาษีสรรพากรจัดเก็บได้ 2,344.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.7 ขยายตัวจากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.5 เป็นผลจากการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มขึ้น เนื่องจากวันสุดท้ายของการยื่นชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไรสุทธิรอบครึ่งปีในระยะเดียวกันของปีก่อนเป็นวันหยุดราชการ ส่งผลให้การชำระภาษีส่วนหนึ่งเหลื่อมไปอยู่ ในเดือนกันยายน แต่ในปีนี้ตรงกับวันทำการ จึงไม่มีการชำระภาษีเหลื่อมเดือน และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มขึ้นเป็นเดือนแรกหลังจากลดลงตั้งแต่เดือนมีนาคม ในขณะที่การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มชะลอตัว ทั้งการจัดเก็บจากการนำเข้าและการผลิตในภาคอุตสาหกรรมบางแห่งชะลอลง ตามการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ อาทิ อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ยานยนต์ เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม ธุรกิจผลิตสุรา ธุรกิจขายปลีกขายส่งสุราและเบียร์และธุรกิจรับเหมาก่อสร้างจัดเก็บได้เพิ่มขึ้น

ภาษีสรรพสามิตจัดเก็บได้ 1,276.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.7 จากภาษีสุรา และภาษียาสูบเป็นสำคัญ ส่วนภาษีเครื่องดื่มจัดเก็บได้ลดลง ส่วนใหญ่เป็นภาษีจากโซดา

ภาษีอากรขาเข้าจัดเก็บได้ 15.6 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 29.1 ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยลดลงเกือบ ทุกด่านศุลกากร ตามการนำเข้ายานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ที่ลดลงเป็นสำคัญ

การเบิกจ่ายงบปรัมาณ เดือนนี้มีการเบิกจ่ายรวมทั้งสิ้น 19,390.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 32.2 เป็นการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ชะลอตัวจากเดือนก่อน ทั้งรายจ่ายประจำ และรายจ่ายลงทุน โดยส่วนราชการที่มีการเบิกจ่ายเพิ่มขึ้นได้แก่ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และงบกลาง ส่วนใหญ่เป็นการเบิกจ่าย เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินเพิ่มขึ้น โดยจำแนกเป็น

รายจ่ายประจำ 15,274.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.7 จากระยะเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นรายจ่ายหมวดเงินเดือน

รายจ่ายลงทุน 4,115.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 97.7 จากระยะเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นรายจ่ายหมวดที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รายจ่ายหมวดเงินอุดหนุนทั่วไป และหมวดเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ

6. การค้าต่างประเทศ

การค้าชายแดนไทย - ลาว เดือนนี้มีมูลค่าการค้า 5,704.9 ล้านบาท ลดลงจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.1 จากการลดลงของมูลค่าการส่งออกและการนำเข้า โดยมีรายละเอียดดังนี้

การส่งออก มีมูลค่า 4,334.7 ล้านบาท ลดลงจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.1 โดยสินค้าส่งออกสำคัญที่มีมูลค่าการส่งออกลดลงประกอบด้วย น้ำมันปิโตรเลียม ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ส่วนใหญ่เกิดจากการส่งออกยางรถยนต์และรถยนต์นั่งพวงมาลัยซ้ายลดลง วัสดุก่อสร้างและเหล็กซึ่งส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากการที่ สปป.ลาว สามารถผลิตเหล็กและปูนซีเมนต์จำหน่ายได้เองภายในประเทศ นอกจากนี้การส่งออกเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่นำไปใช้ในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ เหมืองแร่ รวมโรงงานอุตสาหกรรมที่ลดลงจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ได้ส่งผลกระทบให้การส่งออกวัตถุดิบประเภทเม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก ผ้าและอุปกรณ์ตัดเย็บเสื้อผ้าและรองเท้า และสารเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ลดลงตามไปด้วย

อย่างไรก็ดี ยังคงมีสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากเป็นสินค้าจำเป็นและสินค้าจากไทยยังคงได้รับความนิยมจากกลุ่มผู้มีรายได้สูง คือ สินค้าอุปโภคบริโภคในครัวเรือนประเภทเครื่องดื่มบำรุงกำลัง นม น้ำผลไม้ ผลไม้สดตามฤดูกาล และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดชำระล้าง รวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ซึ่งส่วนหนึ่งส่งไปขายต่อยังประเทศเวียดนาม นอกจากนี้การส่งออกปศุสัตว์โดยเฉพาะโคและกระบือไปยังเวียดนามเพื่อใช้ในภาคการเกษตรก็ยังคงส่งออกได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

การนำเข้า มีมูลค่า 1,370.2 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 25.2 จากการลดการนำเข้าแร่ทองแดง เนื่องจากผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจโลกและความแตกต่างด้านราคา ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบจากการเสร็จสิ้นโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่และการนำเข้ารถยนต์นั่งพวงมาลัยซ้ายที่ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกซบเซา ส่วนการนำเข้าไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ลดลงจากการนำเข้าไม้แปรรูปผ่านด่านศุลกากรท่าลี่ที่ลดลงเกือบเท่าตัว เนื่องจากภาวะฝนตกหนัก ทำให้การคมนาคมด้าน สปป.ลาว ไม่สะดวก

อย่างไรก็ดี การนำเข้าผลิตภัณฑ์เกษตรโดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ผ่านด่านศุลกากรท่าลี่ก็ยังมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากการที่รัฐบาล สปป.ลาวได้ขยายพื้นที่เกษตรกรรมในแขวงไชยะบูลีซึ่งเป็นพื้นที่เกษตรกรรมขนาดใหญ่ของ สปป.ลาว รวมถึงส่งเสริมและพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเกษตรใน สปป.ลาวมากขึ้น ส่งผลให้มีผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น ส่วนการนำเข้าเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายรวมถึงเครื่องประดับจากประเทศจีนก็ยังคงมีการนำเข้าอย่างต่อเนื่องและมีมูลค่าเพิ่มขึ้น

การค้าชายแดนไทย - กัมพูชา มีมูลค่าการค้า 3, 532.7 ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 26.3 ลดลงทั้งมูลค่าการส่งออกและนำเข้า โดยมีรายละเอียดดังนี้

การส่งออก มูลค่า 3,302.8 ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 24.5 สินค้าส่งออกสำคัญที่ลดลง ได้แก่ ยานพาหนะและส่วนประกอบโดยเฉพาะรถยนต์พวงมาลัยซ้าย เนื่องจากมีการจัดตั้งตัวแทนจำหน่ายเองในประเทศ และประชาชนที่มีรายได้สูงขึ้นหันไปสั่งซื้อรถราคาสูงจากประเทศอื่นมากขึ้น เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ที่ประชาชนหันไปนิยมสินค้านำเข้าจากเวียดนามซึ่งราคาถูกกว่าแทน วัสดุก่อสร้างเนื่องจากปริมาณผลผลิตปูนซีเมนต์ในประเทศเพิ่มขึ้น อีกทั้งมีการนำเข้าจากประเทศเวียดนามในจังหวัดที่มีชายแดนติดกัน น้ำมันปิโตรเลียมและเชื้อเพลิงซึ่งทางการกัมพูชาอนุญาตให้นำเข้าได้เฉพาะเพื่อใช้ในจังหวัดติดชายแดนเท่านั้น ประกอบกับราคาน้ำมันที่ขยับสูงขึ้นส่งผลให้การใช้น้ำมันทั้งในภาคอุตสาหกรรมและการใช้ในครัวเรือนลดลง อีกทั้งยังทำให้การส่งออกวัตถุดิบประเภทเคมีภัณฑ์และวัตถุดิบที่ใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอลดลงตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม ยังคงมีการส่งออกสินค้าสำคัญเพิ่มขึ้น ได้แก่ น้ำตาล เครื่องดื่มบำรุงร่างกาย รวมถึงน้ำอัดลมที่แม้จะมีโรงงานผลิตในประเทศกัมพูชาก็ยังคงส่งออกได้เพิ่มขึ้นเนื่องจากประชาชนยังคงนิยมในสินค้าที่นำเข้าจากไทย

การนำเข้า มูลค่า 229.9 ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 45.2 สินค้านำเข้าสำคัญที่ลดลง ได้แก่ เศษวัสดุประเภทเศษกระดาษ เศษแก้ว เศษทองแดง เศษเหล็กและเศษอลูมิเนียม เสื้อผ้าเก่า/ผ้าห่มเก่าเนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ส่วนการนำเข้าพืชไร่ลดลงจากการลดการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นสำคัญ

7. ระดับราคา ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปลดลงร้อยละ 1.1 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนเป็นอัตราการลดลงน้อยกว่าเดือนก่อนที่ลดลงร้อยละ 4.9 ซึ่งลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ทั้งนี้เป็นผลจากสินค้าหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มลดลงร้อยละ 4.2 โดยเฉพาะหมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสารลดลงร้อยละ 9.9 จากน้ำมันเชื้อเพลิงลดลงร้อยละ 11.2 เป็นสำคัญ สำหรับหมวดการบันเทิงการอ่านการศึกษาและการศาสนาลดลงร้อยละ 14.8 หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้าลดลงร้อยละ 4.6 ซึ่งยังคงลดลงเนื่องจากมาตรการต่าง ๆ เพื่อลดค่าครองชีพของประชาชน ที่รัฐบาลให้ความช่วยเหลือ

หมวดอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลงร้อยละ 2.8 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้าที่มีราคาเพิ่มขึ้น ได้แก่ เนื้อสัตว์ร้อยละ 8.1 ไข่ร้อยละ 7.4 และผลิตภัณฑ์น้ำตาลร้อยละ 5.3 เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น

ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานลดลงร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 จากเดือนก่อนที่ลดลงร้อยละ 1.4

8. ภาคการจ้างงาน ภาวะการทำงานเดือนกรกฏาคม 2552 มีกำลังแรงงานรวมทั้งสิ้น 13.4 ล้านคน เป็นผู้มีงานทำ 13.3 ล้านคน ทำงานในภาคเกษตรกรรม 8.3 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน เนื่องจากเป็นช่วงฤดูกาลเพาะปลูก และนอกภาคเกษตร 5.0 ล้านคน ส่วนใหญ่ทำงานด้านการขายส่ง การขายปลีก อุตสาหกรรมการผลิตและการก่อสร้าง สำหรับผู้ว่างงานมีจำนวน 0.12 ล้านคน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 0.9 ลดลงจากเดือนก่อนที่มีอัตราการว่างงานร้อยละ 1.1

ด้านภาวะการจ้างงาน เดือนสิงหาคม 2552 มีผู้สมัครงานจำนวน 9,530 คน เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 38.1 ในขณะที่มีตำแหน่งงานว่างจำนวน 4,506 อัตรา เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 44.7 และผู้ที่ได้รับการบรรจุงาน 6,337 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 93.2 มากกว่าตำแหน่งงานว่างในเดือนนี้ เนื่องจากเป็นการบรรจุงานจากความต้องการแรงงานใน 2 เดือนก่อนด้วย ส่วนใหญ่เป็นตำแหน่งงานว่างและการบรรจุงานในอาชีพงานพื้นฐานต่าง ๆ เช่น พนักงานรักษาความปลอดภัย แม่บ้าน งานเสมียน และเจ้าหน้าที่ ของธุรกิจค้าส่ง ค้าปลีกและห้างสรรพสินค้า ที่จะเปิดใหม่ในภาค

สำหรับคนไทยในภาคที่ขออนุญาตเดินทางไปทำงานต่างประเทศมีจำนวน 7,303 คน ลดลงร้อยละ 5.1 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน ประเทศที่แรงงานไทยขออนุญาตเดินทางไปทำงานลดลงได้แก่อิสราเอลลดลง ร้อยละ 37.5 เนื่องจากรัฐบาลมีข้อตกลงในการลดจำนวนแรงงานต่างชาติในภาคเกษตรลง สำหรับไต้หวันและเกาหลีใต้ลดลงร้อยละ 22.2 และร้อยละ 17.0 ตามลำดับเนื่องจากการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจโลก จังหวัดอุดรธานีมีผู้ขออนุญาตเดินทางไปมากที่สุดรองลงมาเป็นนครราชสีมาและขอนแก่น ส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่เดินทางไปโดยบริษัทจัดส่งร้อยละ 49.0 และที่ได้รับการต่อสัญญาและได้รับอนุญาตให้เดินทางกลับไปทำงาน (Re - entry) ร้อยละ 41.8

9. ภาคการเงิน ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2552 เงินฝากของธนาคารพาณิชย์ในภาคมีจำนวน 379,968 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.4 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นเงินฝากของส่วนราชการเพื่อรอการใช้จ่ายเงินตามงบประมาณ ในขณะที่เงินฝากประจำลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อน จากการถอนเงินไปลงทุนในกองทุนรวม และพันธบัตรรัฐบาลออมทรัพย์ไทยเข้มแข็งปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 ทั้งนี้มีผู้สนใจซื้อพันธบัตรและจดทะเบียนที่สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 8,304 ราย เป็นจำนวนเงิน 5,612.4 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 7.0 ของวงเงิน 80,000 ล้านบาท

ด้านเงินให้สินเชื่อ มีจำนวน 370,877 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนโดยอัตราการขยายตัวของสินเชื่อชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ

อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก เท่ากับร้อยละ 97.6 ลดลงจากระยะเดียวกันของปีก่อนที่ร้อยละ 104.2 เป็นผลจากการชะลอตัวของสินเชื่อเป็นสำคัญ

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ข้อมูลเพิ่มเติม : นายโรจน์ลักษณ์ ปรีชา

โทร. 0-4333-3000 ต่อ 3411 e-mail: Rotelakp@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ