สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือไตรมาสที่ 3/2552

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 30, 2009 14:57 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือไตรมาสที่ 3 ปี 2552 ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกัน ปีก่อนโดยมีแนวโน้มจะขยายตัวที่ชัดเจนขึ้น เป็นผลจากการขยายตัวของการใช้จ่ายจากภาครัฐตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยมีการเบิกจ่ายงบประมาณในหมวดลงทุนที่เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวส่งผลต่อเนื่องให้เกิดการขยายตัวของการลงทุนในภาคเอกชน สะท้อนจากพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้าง ทุนจดทะเบียนของโรงงานอุตสาหกรรม ทุนจดทะเบียนธุรกิจตั้งใหม่ และเงินทุนตามโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนที่เพิ่มขึ้น สำหรับการบริโภคของประชาชนยังขยายตัวจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่ชะลอตัวลงจากไตรมาสที่ 2 เล็กน้อย

รายละเอียดของแต่ละภาคเศรษฐกิจ มีดังนี้

1. ภาคเกษตรกรรม ดัชนีมูลค่าผลผลิตพืชสำคัญในไตรมาสนี้ทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของ ปีก่อนแต่ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนที่หดตัวร้อยละ 18.1 โดยดัชนีราคาหดตัวจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.4 แต่หดตัวน้อยลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากราคาข้าวเปลือกหอมมะลิสูงขึ้น ส่วนดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตามการเพิ่มขึ้นของผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นสำคัญ

ข้าว ราคาขายส่งข้าวเปลือกหอมมะลิเฉลี่ยเกวียนละ 14,856 บาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของ ปีก่อนร้อยละ 7.0 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ลดลงร้อยละ 16.2 เนื่องจากประเทศอินเดียมีปัญหาจากภัยแล้งทำให้ปริมาณผลผลิตข้าวลดลงจึงประกาศงดการส่งออกข้าวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติค ต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมาทำให้ภาวะการแข่งขันในตลาดโลกลดความรุนแรงลงมีผลทำให้ราคาข้าวมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น สำหรับราคาขายส่งข้าวเปลือกเหนียว 10% (เมล็ดยาว) เฉลี่ยเกวียนละ 7,596 บาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.3 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ลดลงร้อยละ 27.8

มันสำปะหลัง ราคาขายส่งหัวมันสำปะหลังเฉลี่ยกิโลกรัมละ 1.35 บาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 16.7 แต่ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ลดลงถึงร้อยละ 45.7 เนื่องจากผลผลิตมีน้อยตามการเพาะปลูกที่ลดลงจากการที่เกษตรกรหันไปปลูกพืชอื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า กอปรกับในปีนี้มีฝนตกชุกทำให้เป็นอุปสรรคต่อการขุดหัวมันสำปะหลัง สำหรับราคามันเส้นเฉลี่ยกิโลกรัมละ 3.53 บาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ28.8 แต่ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ลดลงร้อยละ 37.9

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ราคาขายส่งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เฉลี่ยกิโลกรัมละ 5.87 บาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 30.2 หดตัวมากขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ลดลงร้อยละ 22.6 เนื่องจากปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดในฤดูกาลนี้มีปริมาณมาก ซึ่งคาดว่าจะมีปริมาณทั้งสิ้น 1.12 ล้านตัน หรือประมาณร้อยละ 25.22 ของปริมาณผลผลิตทั้งหมด ประกอบกับคุณภาพข้าวโพดมีความชื้นสูง และราคาในตลาดโลกปรับตัวลดลง

2. ภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม หดตัวจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 10.5 ตามการหดตัวของอุตสาหกรรมน้ำตาลเนื่องจากปริมาณผลผลิตอ้อยมีจำนวนลดลง อุตสาหกรรมผลิตเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ลดลงเนื่องจากได้เร่งการผลิตในไตรมาสที่ 2 เพื่อรับสิทธิประโยชน์ยกเว้นการชำระภาษี อย่างไรก็ตาม น่าสังเกตว่าอุตสาหกรรมที่ยังคงขยายตัวดี ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในกลุ่ม Hard Disk Drive (HDD) ที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ภาคบริการ การท่องเที่ยวในภาคใกล้เคียงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยอัตราการเข้าพักแรมอยู่ที่ร้อยละ 46.1 ลดลงจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนที่มีอัตราการเข้าพักร้อยละ 46.7 แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่มีอัตราการเข้าพักร้อยละ 44.1

3. การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทำให้ประชาชนมีกำลังซื้อมากขึ้น แต่ชะลอตัวเล็กน้อยเมื่อเทียบจากไตรมาสก่อน เนื่องจากประชาชนยังมีความไม่มั่นใจต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจทำให้ยังคงระมัดระวังในการใช้จ่าย โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 ชะลอตัวเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 ทั้งนี้เครื่องชี้ที่สำคัญ ได้แก่ การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่ชะลอตัวจากไตรมาสก่อน การจดทะเบียนรถยนต์นั่งส่วนบุคคล และปริมาณการใช้ไฟฟ้าเพื่อที่อยู่อาศัย เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 10.0 และร้อยละ 9.0 ตามลำดับ แต่อย่างไรก็ตาม ยอดจดทะเบียนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล และรถจักรยานยนต์ ลดลงร้อยละ 21.9 และร้อยละ 3.3 ตามลำดับ

4. การลงทุนภาคเอกชน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อน เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐที่เริ่มกระจายมายังภูมิภาค ทำให้นักลงทุนเกิดความมั่นใจและลงทุนเพิ่มขึ้น โดยเครื่องชี้ที่สำคัญเพิ่มขึ้นทุกตัว ได้แก่ พื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลเมืองและเทศบาลนคร เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 62.3 หากไม่นับการยื่นขอเปลี่ยนแปลงแบบของห้างสรรพสินค้ารายใหญ่ในจังหวัดขอนแก่นแล้ว ยังเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.6

การจดทะเบียนธุรกิจตั้งใหม่ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 41.7 ซึ่งหากไม่นับรวมการแปรสภาพของห้างหุ้นส่วนจำกัดเป็นบริษัทจำกัด จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 32.3 อีกทั้งเงินลงทุนของโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการและโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุน เพิ่มขึ้นร้อยละ 94.5 และร้อยละ 13.4 ตามลำดับ และปริมาณการใช้ไฟฟ้าเพื่อธุรกิจและอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3

5. ภาคการคลัง รายได้ของภาคระฐบาล ไตรมาสนี้จัดเก็บภาษีอากรได้ 9,580.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.6 ชะลอตัวจากไตรมาสก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9 ตามการชะลอตัวของภาษีสรรพสามิต และอากรขาเข้าจัดเก็บได้ลดลง อย่างไรก็ดี ภาษีสรรพากรกลับขยายตัวหลังจากที่หดตัวต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสแรกของปีนี้ มีรายละเอียดดังนี้

ภาษีสรรพสามิตจัดเก็บได้ 3,945.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.5 ชะลอตัวจากไตรมาสก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.1 ตามการจัดเก็บภาษีสุราและเบียร์เป็นสำคัญ เนื่องจากผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เร่งผลิตเพื่อสะสมสินค้าในไตรมาสก่อน ตามการคาดการณ์ว่าจะมีการปรับเพิ่มอัตราภาษีในเดือนพฤษภาคม และภาษีเครื่องดื่มหดตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนที่เพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่ลดลงจากภาษีน้ำอัดลมเป็นสำคัญ

ภาษีอากรขาเข้าจัดเก็บได้ 45.6 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 32.2 ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน ตามการลดลงของอากรขาเข้าในด่านศุลกากรมุกดาหารและด่านศุลกากรพิบูลมังสาหาร จากการจัดเก็บอากรขาเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปลดลง และด่านศุลกากรหนองคาย จากการจัดเก็บอากรขาเข้ายานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบลดลง

ภาษีสรรพากรจัดเก็บได้ 5,589.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 ขยายตัวจากไตรมาสก่อน หลังจากที่หดตัวต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสแรกของปีนี้ เป็นผลจากการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนที่หดตัว ประกอบกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหดตัวน้อยลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ส่วนหนึ่งจากการจัดเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่ายจากเงินเดือน ค่าตอบแทนพิเศษ และภาษีเงินได้จากการขายที่ดินเพิ่มขึ้น สำหรับภาษีมูลค่าเพิ่ม ชะลอตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ตามการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรม และการค้าชะลอลง อาทิ อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ยานยนต์ และห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ เป็นต้น รวมทั้งการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าสินค้าลดลง

การเบิกจ่ายงบประมาณ ในไตรมาสนี้ มีการเบิกจ่ายงบประมาณ 62,283.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.2 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เร่งตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.1 เป็นการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกรกฎาคม เป็นผลจากส่วนราชการมีการเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินงบประมาณในไตรมาสสุดท้ายของปีงบประมาณ ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยเฉพาะงบลงทุนที่เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว มีรายละเอียดดังนี้

รายจ่ายประจำ 45,522.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.1 ขยายตัวจากไตรมาสก่อนเล็กน้อย ส่วนใหญ่เป็นรายจ่ายในหมวดเงินเดือน และค่าตอบแทน

รายจ่ายลงทุน 16,760.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว เร่งตัวจากไตรมาสก่อนที่ลดลงร้อยละ 3.8 เป็นผลจากส่วนราชการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ส่วนใหญ่เป็นรายจ่ายในหมวดที่ดินและ สิ่งปลูกสร้าง หมวดเงินอุดหนุนทั่วไป และรายจ่ายหมวดเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ

สำหรับส่วนราชการที่เบิกจ่ายเพิ่มขึ้น ได้แก่ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการเบิกจ่ายงบกลางเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะรายจ่ายเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินและจำเป็น ส่วนใหญ่เป็นการเบิกจ่ายในลักษณะงานด้านการศึกษา ด้านการเคหะและชุมชน และด้านบริการเศรษฐกิจและการดำเนินการอื่น

6. การค้าต่างประเทศ

การค้าชายแดนไทย - ลาว ในไตรมาสนี้มีมูลค่าการค้า 16,788.1 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 17.1 จากการลดลงของมูลค่าการส่งออกและการนำเข้า และยังคงหดตัวต่อเนื่องจาก ไตรมาสก่อนที่หดตัวร้อยละ 11.0 รายละเอียดดังนี้

การส่งออก มีมูลค่า 13,102.4 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 7.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนที่หดตัวร้อยละ 10.6 โดยสินค้าส่งออกสำคัญที่มีมูลค่าการส่งออกลดลงได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียม ยานพาหนะและส่วนประกอบ วัสดุก่อสร้างและเหล็ก เครื่องจักรและอุปกรณ์ วัตถุดิบประเภทผ้าและอุปกรณ์ตัดเย็บ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก อย่างไรก็ดี ยังคงมีสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ได้แก่ สินค้าอุปโภคบริโภคในครัวเรือน เครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ กระบือ โค และสุกรมีชีวิต

การนำเข้า มีมูลค่า 3,685.7 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 39.0 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และหดตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่หดตัวร้อยละ 12.1 จากการนำเข้าสินค้าสำคัญที่ลดลง ได้แก่ สินแร่ทองแดง ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ยานพาหนะและส่วนประกอบ ส่วนสินค้าสำคัญที่นำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องจักรและอุปกรณ์ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วลิสง เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายจากประเทศจีน สายไฟประกอบรถยนต์ และการนำกลับเครื่องจักรและอุปกรณ์

การค้าชายแดนไทย - กัมพูชา ในไตรมาสนี้มีมูลค่าการค้า 10,908.0 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 17.2 จากการลดลงของการส่งออกและนำเข้า แต่ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนที่หดตัวร้อยละ 19.2 โดยมีรายละเอียดดังนี้

การส่งออก มีมูลค่า 10,209.6 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 15.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนที่หดตัวร้อยละ 18.6 สินค้าส่งออกสำคัญที่ลดลง ได้แก่ ยานพาหนะและส่วนประกอบ วัสดุก่อสร้าง น้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่น สุกรและโคมีชีวิต เครื่องจักรอุปกรณ์ที่ใช้ในการเกษตร อุตสาหกรรมและโครงการก่อสร้าง อุปกรณ์ประมง และอาหารสัตว์ แต่ยังคงมีสินค้าสำคัญที่ส่งออกได้เพิ่มขึ้น ได้แก่ สินค้าอุปโภคบริโภคในครัวเรือนโดยเฉพาะน้ำตาล เครื่องดื่มบำรุงร่างกาย ผลิตภัณฑ์ชำระล้าง สิ่งทอ และวัตถุดิบประเภทผ้า ปุ๋ย เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก

การนำเข้า มีมูลค่า 698.4 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 32.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และยังคงหดตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนที่หดตัวร้อยละ 29.8 สินค้านำเข้าสำคัญที่ลดลง ได้แก่ เศษวัสดุ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เสื้อผ้าเก่าและผ้าห่มเก่า สำหรับสินค้านำเข้าสำคัญที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ได้แก่ เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ผลิตภัณฑ์จากไม้และหวาย น้ำมันยาง และการนำกลับเครื่องจักรอุปกรณ์ที่ใช้ในการเกษตร อุตสาหกรรมและโครงการก่อสร้าง

7. ระดับราคา ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.3 ลดลงจากไตรมาสก่อนที่ลดลงร้อยละ 2.9 เป็นผลจากราคาสินค้าในหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มลดลงร้อยละ 6.3 ส่วนราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.0 ชะลอลงจากไตรมาสก่อนที่ร้อยละ 6.2 โดยมีรายละเอียดดังนี้

หมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สินค้าที่มีราคาลดลง ได้แก่ หมวดการบันเทิงการอ่าน การศึกษาและการศาสนาลดลงร้อยละ 14.8 จากการลดลงของหนังสือและอุปกรณ์การศึกษาร้อยละ 97.6 หมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสารลดลงร้อยละ 12.3 จากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงลดลงร้อยละ 17.2 หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้าลดลงร้อยละ 4.5 จากเครื่องแบบเด็กนักเรียน หมวดเคหสถานลดลงร้อยละ 0.7 เนื่องจากมาตรการต่าง ๆ เพื่อลดค่าครองชีพของประชาชนที่รัฐบาลให้ความช่วยเหลือ อย่างไรก็ตาม หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.9 จากผลิตภัณฑ์ยาสูบและผลิตภัณฑ์เบียร์ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.2 และร้อยละ 15.9 ตามลำดับ เนื่องจากมีการปรับเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตยาสูบตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค. 52

หมวดอาหารและเครื่องดื่ม สินค้าที่มีราคาเพิ่มขึ้นมาก ได้แก่ หมวดเนื้อสัตว์ร้อยละ 8.4 ผักและผลไม้ร้อยละ 6.8 ไข่ร้อยละ 6.7 และผลิตภัณฑ์น้ำตาลร้อยละ 4.6 เป็นผลจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น

ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานไตรมาสนี้ลดลงจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 0.6 ลดลงจากไตรมาสก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3

8. ภาคการจ้างงาน ด้านภาวะการจ้างงาน มีผู้สมัครงาน 30,829 คน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของ ปีก่อนร้อยละ 25.0 มีตำแหน่งงานว่าง 14,995 อัตรา เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 45.5 และมีผู้ที่ได้รับการบรรจุเข้าทำงาน 20,757 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 59.4 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นทำให้มีการสมัครงาน ตำแหน่งงานว่าง และการบรรจุเข้าทำงานเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมการผลิต และการขายส่ง การขายปลีกเนื่องจากจะมีการเปิดห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ในจังหวัดขอนแก่น

สำหรับคนไทยในภาคที่ขออนุญาตเดินทางไปทำงานยังต่างประเทศจำนวน 24,510 คนลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9.2 ส่วนใหญ่ลดลงจากการเดินทางไปทำงานในประเทศอิสราเอลร้อยละ 29.1 เนื่องจากรัฐบาลมีข้อตกลงในการลดจำนวนแรงงานต่างชาติในภาคเกษตรลง ขณะที่ไต้หวันและเกาหลีใต้ลดลงร้อยละ 20.5 และร้อยละ 8.3 ตามลำดับเนื่องจากผลกระทบจากวิกฤตการเงินโลกทำให้มีชะลอการผลิตและการก่อสร้างในโครงการใหญ่ จังหวัดอุดรธานีมีผู้ขออนุญาตเดินทางไปมากที่สุด รองลงมาเป็น นครราชสีมา ชัยภูมิ และขอนแก่น

9. ภาคการเงิน ธนาคารพาณิชย์ ในไตรมาสนี้ เงินฝากธนาคารพาณิชย์ขยายตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อน โดยเฉพาะเงินฝากออมทรัพย์ขยายตัว เป็นผลจากส่วนราชการที่ฝากเพื่อรอการใช้จ่ายตามงบประมาณ ส่วนเงินฝากประจำลดลงเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน เพื่อการลงทุนจากแหล่งอื่นที่ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า โดยลูกค้าถอนเงินฝากประจำบางส่วนมาฝากไว้ในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์เพื่อรอซื้อพันธบัตรรัฐบาลที่ออกจำหน่ายในช่วงเดือน กรกฎาคม และ กันยายน 2552

ด้านเงินให้สินเชื่อ ชะลอตัวต่อเนื่องเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อน ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจและการลงทุนของภาคธุรกิจ การที่ธนาคารพาณิชย์เข้มงวดในการพิจารณาสินเชื่อ ตลอดจนการชำระหนี้ตามตั๋วที่ครบกำหนดของลูกค้ากลุ่มธุรกิจโรงสี และโรงงานน้ำตาล

ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2552 เงินฝากของธนาคารพาณิชย์ในภาคมีจำนวน 382,094 ล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.7 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน เงินให้สินเชื่อจำนวน 369,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก เท่ากับร้อยละ 96.7

ธนาคารเฉพาะกิจ (ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย) ในไตรมาสนี้มีเงินฝากจำนวน 195,009 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.7 ด้านเงินให้สินเชื่อ มีจำนวน 431,209 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.6 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ข้อมูลเพิ่มเติม : นายโรจน์ลักษณ์ ปรีชา

โทร. 0-4333-3000 ต่อ 3411 e-mail: Rotelakp@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ