สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ เดือนกันยายน 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 27, 2009 15:37 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ภาวะเศรษฐกิจภาคใต้เดือนกันยายน ปี 2552 ปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น โดยรายได้เกษตรกร ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนพบว่ากระเตื้องขึ้น เนื่องจากปริมาณผลผลิตพืชผลหลักเพิ่มขึ้นตามผลผลิตปาล์มน้ำมันที่เพิ่มขึ้น การทำประมงเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณสัตว์น้ำจากการทำประมงทะเลและผลผลิตกุ้งจากการเพาะเลี้ยง ส่วนผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวตามการผลิตอาหารบรรจุกระป๋อง อาหารทะเลแช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป ถุงมือยาง และไม้ยางพารา ขณะที่การผลิตอุตสาหกรรมยาง และน้ำมันปาล์มดิบลดลง ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวทั้งภาคใต้ตอนบนและตอนล่าง การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนทรงตัว ในขณะที่การลงทุนหดตัวตามการปรับตัวลดลงของพื้นที่รับอนุญาตให้ก่อสร้างและการจ้างงาน แต่มีสัญญาณที่ดีจากการส่งเสริมการลงทุนของ BOI สำหรับเงินเฟ้อทั่วไปของภาคใต้ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ส่วนสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ชะลอตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า

ไตรมาสที่ 3 ปี 2552 ภาวะเศรษฐกิจภาคใต้ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อน โดยในด้านอุปสงค์ รายได้ของเกษตรกรรวมแม้ว่าจะยังคงปรับลดลง แต่กระเตื้องขึ้นจากไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 เนื่องจากปริมาณผลผลิตและราคาสินค้าเกษตรสำคัญ ทั้งยางพาราและปาล์มน้ำมัน กระเตื้องขึ้น ส่วนการทำประมงและการเพาะเลี้ยงกุ้งขยายตัวดี แม้ว่าราคาจะปรับลดลงเนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ขณะที่การผลิตอุตสาหกรรมกระเตื้องขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาเช่นเดียวกัน การท่องเที่ยวหดตัวชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้า ตามการลดลงของนักท่องเที่ยวในภาคใต้ตอนล่าง ขณะที่นักท่องเที่ยวฝั่งอันดามัน เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามการอุปโภคบริโภคของภาคเอกชนเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง ทั้งๆที่อัตราเงินเฟ้อชะลอลงแล้วก็ตาม ส่วนการลงทุนและการจ้างงานลดลง แม้ว่าจะมีการเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของส่วนราชการต่าง ๆ เพิ่มขึ้น ส่วนสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ชะลอลง

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจในเดือนกันยายน และไตรมาสที่ 3 ปี 2552 มีดังนี้

1. ภาคเกษตร รายได้ของเกษตรกรกระเตื้องขึ้น โดยดัชนีรายได้เกษตรกรแม้จะปรับลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 25.8 แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้ากลับเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.1 จากผลของปริมาณพืชผลหลักที่เพิ่มขึ้นตามการผลิตปาล์มน้ำมัน ส่วนปริมาณผลผลิตยางพาราลดลงเล็กน้อย เนื่องจากอิทธิพลพายุไต้ฝุ่นและลมมรสุมส่งผลกระทบต่อการกรีดยาง ด้านราคาปรับลดลง เนื่องจากความผันผวนของราคายางในตลาดล่วงหน้า อัตราแลกเปลี่ยน และราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ประกอบกับจีนเข้าซื้อยางในตลาดน้อยลง

การทำประมงเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณสัตว์น้ำจากการทำประมงทะเลและผลผลิตกุ้งจากการเพาะเลี้ยง ประมงทะเล ปริมาณและมูลค่าสัตว์น้ำนำขึ้นที่ท่าเทียบเรือในภาคใต้เพิ่มขึ้นร้อยละ 54.3 และ 33.3 ส่วนผลผลิตกุ้งจากการเพาะเลี้ยงออกสู่ตลาดต่อเนื่อง โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.0 ส่งผลให้ราคาจำหน่ายกุ้งปรับลดลง แม้ว่าจะมีโครงการรับจำนำกุ้งของภาครัฐ แต่ปริมาณกุ้งที่รับจำนำมีเพียง 15.0 พัน เมตริกตัน ไม่มากพอที่จะทำให้ราคาซื้อขายเพิ่มขึ้นได้เมื่อเทียบกับผลผลิตกุ้งที่ออกสู่ตลาดมากขึ้น

ไตรมาสที่ 3 ปี 2552 ดัชนีรายได้เกษตรกรกระเตื้องขึ้นจากไตรมาสที่ 2 โดยปรับลดลง 35.9 จากที่ปรับลดลงร้อยละ 44.4 ในไตรมาสก่อน เนื่องจากทั้งการผลิตและราคาสินค้าเกษตรสำคัญ ได้แก่ ยางพารา และปาล์มน้ำมันกระเตื้องขึ้น ส่วนการทำประมง ปริมาณสัตว์น้ำและมูลค่าสัตว์น้ำนำขึ้นที่ท่าเทียบเรือภาคใต้เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 26.5 และ 16.6 ตามลำดับ ตามปริมาณสัตว์น้ำนำขึ้นที่ท่าเทียบเรือสงขลาและปัตตานีซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 70 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 61.7 และ 34.0 ตามลำดับ ด้านราคากุ้งในช่วงต้นปีอยู่ในเกณฑ์ดีจูงใจให้เกษตรกรลงกุ้งมากขึ้น ทำให้ผลผลิตกุ้งขาวออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 8.2 เป็นผลให้ราคาซื้อขายกุ้งปรับลดลงทุกขนาด

2. ภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 1.4 ตามการผลิตอาหารทะเลบรรจุกระป๋อง อาหารทะเลแช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป ถุงมือยาง และไม้ยางพารา ขณะที่การผลิตอุตสาหกรรมยาง และน้ำมันปาล์มดิบลดลง โดยในเดือนนี้การส่งออกยางมีปริมาณลดลง ตามการลดลงของการส่งออกยางทุกประเภท มีเพียงการส่งออกยางผสมสำเร็จและน้ำยางข้นที่มีปริมาณเพิ่มขึ้น การส่งออกอาหารทะเลบรรจุกระป๋องเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.4 ตามการค้าในตลาดสำคัญ ได้แก่ กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง และสหรัฐอเมริกาปรับตัวดีขึ้น เช่นเดียวกับการส่งออกอาหารทะเลแช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 เนื่องจากประเทศผู้นำเข้าสำคัญ โดยเฉพาะญี่ปุ่น หันมานำเข้าสินค้าจากไทยแทนการนำเข้าจากประเทศคู่แข่ง การผลิตน้ำมันปาล์มดิบ ลดลงร้อยละ 1.2 ตามปริมาณและคุณภาพของวัตถุดิบที่ปรับลดลง

ไตรมาสที่ 3 ปี 2552 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อน โดยปรับลดลงร้อยละ 1.1 เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2552 ที่ปรับลดลงร้อยละ 3.7 ส่วนหนึ่งเนื่องจากการผลิตอาหารทะเลบรรจุกระป๋อง อาหารทะเลแช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป ถุงมือยาง และไม้ยางพาราแปรรูปเพิ่มขึ้น ส่วนผลผลิตยาง และน้ำมันปาล์มดิบลดลง

3. การท่องเที่ยว ขยายตัว ทั้งภาคใต้ตอนบนและตอนล่าง จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองในภาคใต้ เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 25.6 ซึ่งเป็นผลจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ผ่อนคลาย และการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่ลดลง โดยอัตราการเข้าพักเฉลี่ยร้อยละ 40-45 เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนที่มีอัตราร้อยละ 35-40

ไตรมาสที่ 3 ปี 2552 การท่องเที่ยวหดตัวชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้า โดยนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเดินทางผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองในภาคใต้ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ 0.1 ตามการลดลงของนักท่องเที่ยวภาคใต้ตอนล่าง ขณะที่นักท่องเที่ยวฝั่ง อันดามัน เพิ่มขึ้น ส่วนอัตราการเข้าพักเฉลี่ยร้อยละ 40-45 ลดลงจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนที่มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยร้อยละ 45-50

4. การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนของภาคใต้ ใกล้เคียงกับเดือนเดียวกันปีก่อนและเดือนก่อนหน้า โดยการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคา ปี 2543 ลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อน ร้อยละ 2.5 เช่นเดียวกับการจดทะเบียนรถซึ่งลดลงทุกประเภท ส่วนการใช้เชื้อเพลิง และการใช้ไฟฟ้าของที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น

ไตรมาสที่ 3 ปี 2552 ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง โดยเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน ร้อยละ 0.2 ทั้งนี้ เครื่องชี้การบริโภคที่สำคัญ คือ การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ลดลงจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 1.2 ดัชนีหมวดเชื้อเพลิง เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.1 และปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่อยู่อาศัย เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 ส่วนดัชนีหมวดยานยนต์ ลดลงร้อยละ 23.6

5. การลงทุนภาคเอกชน หดตัวตามการปรับตัวลดลงของพื้นที่รับอนุญาตให้ก่อสร้างลดลงร้อยละ 20.5 การจดทะเบียนธุรกิจนิติบุคคลซึ่งลดลงทั้งจำนวนรายและทุนจดทะเบียนรวม แต่มีสัญญาณที่ดีจากการส่งเสริมการลงทุนของ BOI ซึ่งมีโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในเดือนนี้ 8 ราย เงินลงทุนรวม 3,255.2 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนที่ไม่มีโครงการใดรับอนุมัติส่งเสริมการลงทุน โดยโครงการส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี และสงขลา

ไตรมาสที่ 3 ปี 2552 การลงทุนโดยรวมหดตัว แต่เริ่มมีสัญญาณการลงทุนจากการขยายตัวของโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ซึ่งเพิ่มขึ้นทั้งจำนวนรายและเงินลงทุนร้อยละ 92.9 และ 16.7 ขณะเดียวกันพื้นที่รับอนุญาตให้ก่อสร้างปรับตัวลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.6 ซึ่งเป็นอัตราที่ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม การจดทะเบียนธุรกิจนิติบุคคลรายใหม่ยังคงลดลงทั้งจำนวนรายและเงินทุนจดทะเบียนร้อยละ 8.4 และ 34.5 ตามลำดับ

6. การจ้างงาน การจ้างงานลดลง ทั้งตำแหน่งงานว่างซึ่งผู้ประกอบการแจ้งผ่านสำนักงานจัดหางานและการบรรจุงาน ร้อยละ 12.0 และ 15.4 ตามลำดับ โดยมีผู้สมัครงานลดลงร้อยละ 3.6 อย่างไรก็ตาม แรงงานที่เข้าโครงการประกันสังคม ตามมาตรา 33 ณ สิ้นเดือนกันยายน 2552 จำนวน 602,206 คน เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 3.1 โดยเพิ่มขึ้นในทุกจังหวัด ยกเว้นจังหวัดภูเก็ตที่ลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 1.3

ไตรมาสที่ 3 ปี 2552 ตำแหน่งงานว่างและการบรรจุงานลดลง ร้อยละ 2.6 และ 11.8 ขณะที่มีผู้สมัครงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.8 ขณะที่ผู้ประกันตนในภาคใต้ มีจำนวนเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 3.1 ใกล้เคียงกับอัตราการเพิ่มของไตรมาสที่ 2

7. ระดับราคา อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของภาคใต้ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 จากที่หดตัวมาต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2552 ทั้งนี้ เป็นผลจากดัชนีราคาหมวดอาหาร เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 ตามการสูงขึ้นของราคาอาหารสำเร็จรูปเป็นสำคัญ ส่วนดัชนีราคาหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลงร้อยละ 2.6 เนื่องมาจากการลดลงของราคาน้ำมันในตลาดโลก เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ในเดือนกันยายน 2552 เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อน และเดือนก่อนหน้า ร้อยละ 0.4 และ 0.2 ตามลำดับ

ไตรมาสที่ 3 ปี 2552 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของภาคใต้เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อนลดลงร้อยละ 1.2 เป็นผลจากการลดลงของดัชนีราคาหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มร้อยละ 5.1 ขณะที่ ดัชนีราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่ม เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 ตามการเพิ่มขึ้นของสินค้าเกือบทุกประเภท โดยเฉพาะผักและผลไม้ ไข่และผลิตภัณฑ์นม ปลาและสัตว์น้ำ ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ลดลงจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน ร้อยละ 0.1 แต่ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนหน้า

8. การค้าต่างประเทศ มูลค่าการส่งออกในรูปดอลล่าร์สรอ. หดตัวในอัตราที่ชะลอลง โดยลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อน ร้อยละ 24.9 จากที่ลดลงร้อยละ 31.2 ในเดือนก่อน จากการส่งออกสัตว์น้ำแช่แข็ง และ ไม้ยางพาราแปรรูปเพิ่มขึ้น ส่วนการส่งออกยางพารา อาหารกระป๋อง และถุงมือยางหดตัวในอัตราที่ชะลอลง ส่วนมูลค่าการนำเข้าลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 15.9 ตามการนำเข้าสินค้าในเกือบทุกหมวด ยกเว้น การนำเข้าหมวดน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 14.8

การค้าชายแดน มูลค่าการค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. ลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 14.4 โดยอัตราการลดลงน้อยกว่าอัตราที่ลดลงร้อยละ 19.7 เมื่อเดือนก่อน จำแนกได้เป็นการส่งออกลดลงร้อยละ 14.8 และการนำเข้า ลดลงร้อยละ 13.8 จากเดือนเดียวกันปีก่อน

ไตรมาสที่ 3 ปี 2552 การส่งออกในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. ลดลงในอัตราที่ชะลอลง โดยลดลงจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 29.7 จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัว โดยการส่งออกสินค้าหมวดยางพารา สัตว์น้ำแช่แข็ง ถุงมือยาง และอาหารกระป๋อง มีมูลค่าลดลง ขณะที่ การส่งออกไม้ยางพาราแปรรูป มีมูลค่าเพิ่มขึ้น

ด้านนำเข้าลดลงในอัตราที่เร่งตัวขึ้น โดยลดลงจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 25.6 ตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว จากการนำเข้าหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ และสัตว์น้ำแช่แข็ง ที่มีมูลค่าลดลง ส่วนการนำเข้าน้ำยางสังเคราะห์ และอุปกรณ์ก่อสร้าง มีมูลค่าลดลงในอัตราที่ชะลอลงมา ขณะที่ การนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง มีมูลค่าเพิ่มขึ้น

การค้าชายแดน มีมูลค่าการค้ารวมลดลงจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 20.7 โดยมูลค่าการส่งออกลดลงจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 24.3 โดยอัตราการลดลงน้อยกว่าเมื่อไตรมาสก่อนที่ส่งออกลดลงร้อยละ 34.5 เป็นผลจากการส่งออกสินค้าสำคัญลดลง โดยเฉพาะหมวดยางพาราซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 42.9 ของมูลค่ารวมการส่งออกผ่านด่านฯ ทั้งหมด ลดลงร้อยละ 42.1 ส่วนการนำเข้า ลดลงจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 14.9 เป็นผลจากการนำเข้าสินค้าหมวดอิเล็กทรอนิกส์ลดลงเป็นสำคัญ

9. ภาคการคลัง การเบิกจ่ายเงินงบประมาณของส่วนราชการต่าง ๆ ในภาคใต้เดือนกันยายน 2552 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันกันปีก่อนร้อยละ 22.8 ส่วนใหญ่เป็นรายจ่ายประจำ เนื่องจากการเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินงบประมาณให้ได้ตามเป้าหมายโดยเร็วเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ และเร่งการสร้างงาน ส่วนการจัดเก็บภาษีได้จำนวน 2,443.9 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 12.1 ตามการลดลงจากการจัดเก็บภาษีสรรพากรเป็นสำคัญ

ไตรมาสที่ 3 ปี 2552 การเบิกจ่ายเงินงบประมาณของส่วนราชการต่าง ๆ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 27.3 โดยเป็นการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำ และรายจ่ายลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.6 และร้อยละ 49.0 ตามลำดับ เนื่องจากภาครัฐได้ให้ความสำคัญในการเร่งรัดเบิกจ่ายเงินงบประมาณโดยเฉพาะรายจ่ายลงทุนซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการนำเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจและเพิ่มการจ้างงาน

10. การเงิน เงินฝากของสาขาธนาคารพาณิชย์ในภาคใต้หดตัวลงร้อยละ 1.8 เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่วนสินเชื่อคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 0.3 ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 0.9

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้

ข้อมูลเพิ่มเติม : นาฏน้อย แก้วมีจีน

โทร.0-7423-6200 ต่อ 4329

e-mail : nartnoik@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ