เศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือเดือนกันยายน 2552 และไตรมาสที่ 3 ปี 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 4, 2009 15:28 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคเหนือเดือนกันยายน 2552 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องแต่แผ่วลงจากเดือนก่อน เนื่องจากการชะลอตัวของการผลิตในภาคอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก การใช้จ่ายของผู้บริโภค และภาคการค้า ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวดีตามภาคก่อสร้าง ทางด้านการใช้จ่ายของภาครัฐเร่งตัวขึ้น ดัชนีราคาผู้บริโภคยังคงลดลง ด้านแรงงานเริ่มมีสัญญาณของการเรียกกลับเข้ามาทำงานมากขึ้น สำหรับเงินฝากเพิ่มขึ้นส่วนเงินให้สินเชื่อหดตัว

ไตรมาสที่ 3 ปี 2552 ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคเหนือปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน โดยผลจากมาตรการของภาครัฐทำให้ภาคการค้าและการใช้จ่ายของภาครัฐเร่งตัว ขณะที่การผลิตเพื่อส่งออกและการลงทุนของภาคเอกชน ขยายตัวดี ด้านการใช้จ่ายของผู้บริโภคชะลอตัว การส่งออกและนำเข้ารวมถึงการท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อน ดัชนี ราคาผู้บริโภคลดลงตามการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นสำคัญ ส่วนเงินฝากขยายตัวแต่สินเชื่อลดลง

รายละเอียดของแต่ละภาคเศรษฐกิจ มีดังนี้

1. ภาคเกษตร เดือนกันยายน 2552 รายได้ของเกษตรกรจากการจำหน่ายพืชผลสำคัญหดตัวร้อยละ 16.7 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ 22.7 โดยดัชนีผลผลิตพืชผลสำคัญเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 ตามผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวนาปี และถั่วเหลือง ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 ร้อยละ 0.8 และร้อยละ 0.2 ตามลำดับ เนื่องจากราคาในปีก่อนอยู่ในเกณฑ์ สูงจูงใจให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูก ทางด้านดัชนีราคาพืชผลหลักลดลงร้อยละ 20.1 เป็นผลจากราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวเปลือกเจ้านาปี และถั่วเหลือง ที่ลดลงร้อยละ 34.8 ร้อยละ 25.8 และร้อยละ 22.0 ตามลำดับ ตามการลดลงของราคาในตลาดโลก

ไตรมาสที่ 3 ปี 2552 เกษตรกรมีรายได้ลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 20.4 โดยดัชนีราคาพืชผลหลัก ลดลงร้อยละ 24.9 เนื่องจากราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวเปลือกเจ้านาปี ข้าวเปลือกเจ้านาปรัง และถั่วเหลือง ลดลงร้อยละ 36.0 ร้อยละ 20.6 ร้อยละ 20.5 และร้อยละ 21.3 ตามลำดับ เป็นผลจากฐานราคาของปีก่อนอยู่ในระดับสูง ประกอบกับราคาในตลาดโลกปรับตัวลดลง ขณะที่ราคาลำไยลดลงร้อยละ 46.0 เนื่องจากผลผลิตเพิ่มจากปีก่อนมาก สำหรับดัชนีผลผลิตพืชผลสำคัญเพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.9 จากผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวนาปี และถั่วเหลือง ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 ร้อยละ 0.8 และร้อยละ 0.2 ตามลำดับตามการขยายพื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกรเนื่องจากราคาของปีก่อนสูงจูงใจให้เพิ่มการผลิต ด้านผลผลิตลำไยเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.7 จากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยส่งผลให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นมาก ส่วนผลผลิตข้าวนาปรังลดลงร้อยละ 5.3 เนื่องจากการเพาะปลูกในรอบที่ 2 ลดลง จากปริมาณน้ำที่ไม่เอื้ออำนวยเช่นปีก่อน ประกอบกับได้รับผลกระทบจากอากาศเย็นจัดในช่วงปลายปี 2551 และต้นปี 2552 ทำให้ผลผลิตต่อไร่ลดลง

2. ภาคอุตสาหกรรม เดือนกันยายน 2552 การผลิตภาคอุตสาหกรรมชะลอตัวจากเดือนก่อน โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมภาคเหนือขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 1.5 เทียบกับที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.9 เดือนก่อน เป็นผลจากการชะลอตัวของอุตสาหกรรมการผลิตอาหารที่ขยายตัวร้อยละ 85.5 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 125.9 ตามการ ผลิตผักสดแช่แข็ง อาทิ ถั่วแระ และลำไยอบแห้ง ด้านการผลิตวัสดุก่อสร้างเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.8 ชะลอลงเมื่อเทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 84.5 เดือนก่อน ทางด้านการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นเป็นเดือนแรกนับแต่เดือนเมษายน 2551 โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.4 ตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นของตลาดญี่ปุ่นและยุโรป โดยเฉพาะการผลิตเสื้อกันหนาวของผู้ผลิตในภาคเหนือตอนล่าง ด้านการผลิตโลหะสังกะสีขยายตัวร้อยละ 11.3 ส่วนการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ลดลงร้อยละ 20.0 จากการลดลงของการผลิตทรานฟอร์มเมอร์ ไอซี ส่วนประกอบฮาร์ดิสต์ไดร์และไดโอด ทางด้านการผลิตเซรามิกประเภทเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารเพื่อส่งออกลดลงร้อยละ 25.3 โดยลดลงมากในตลาดอังกฤษ เนเธอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกา สำหรับการผลิตเครื่องดื่มหดตัวแต่ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน ตามการผลิตเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และน้ำอัดลมที่เริ่มปรับเพิ่มขึ้น

ไตรมาสที่ 3 ปี 2552 การผลิตภาคอุตสาหกรรมในภาคเหนือขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมภาคเหนือเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 5.3 เทียบกับที่หดตัวร้อยละ 30.4 ไตรมาสก่อน ตามการผลิตของอุตสาหกรรมอาหารที่ขยายตัวร้อยละ 68.6 จากการผลิตลำไยอบแห้ง ผักสดแช่แข็ง และพืชผักถนอมอาหาร ที่ขยายตัวจากการมีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้น ทางด้านการผลิตวัสดุก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 55.4 เร่งตัวจากไตรมาสก่อนตามการสะสมสต๊อก ของผู้ประกอบการที่คาดว่าราคาจะสูงขึ้นประกอบกับมีความต้องการส่งออกเพิ่มขึ้น การผลิตโลหะสังกะสีขยายตัวร้อยละ 5.3 โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากการการขยายตัวของอุตสาหกรรมผลิตวัสดุก่อสร้าง ด้านการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์หดตัวร้อยละ 22.1 แต่ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับที่ลดลงร้อยละ 44.6 ไตรมาสก่อน โดยเฉพาะชิ้นส่วนในสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ชนิดใหม่ จอโทรศัพท์เคลื่อนที่ และชิ้นส่วนในโทรทัศน์ ที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นในตลาดเอเชีย อาทิ จีน มาเลเซีย และสิงคโปร์ สำหรับการผลิตเครื่องดื่มหดตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน โดยเฉพาะการผลิตเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ที่หดตัวจากการปรับราคาสูงขึ้นและการเสียส่วนแบ่งทางการตลาด

3. ภาคบริการ เดือนกันยายน 2552 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยเครื่องชี้ภาคบริการที่สำคัญ ได้แก่ จำนวนผู้โดยสารผ่านท่าอากาศยานขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน ร้อยละ 23.3 โดยเพิ่มขึ้นมากที่ท่าอากาศยานเชียงรายและเชียงใหม่ ส่วนหนึ่งจากมาตรการส่งเสริมการขายของสายการบิน อย่างไรก็ดี การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มประเภทโรงแรมและภัตตาคารลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 17.8 อัตราการเข้าพักเฉลี่ยของโรงแรมลดลงตามฤดูกาลมาอยู่ที่ร้อยละ 37.0 หรือลดลงร้อยละ 0.3 จากระยะเดียวกันปีก่อน ขณะที่ราคาห้องพักเฉลี่ยลดลงร้อยละ 3.0 จากระยะเดียวกันปีก่อน เนื่องจากการแข่งขันโดยใช้ กลยุทธ์ด้านราคาของผู้ประกอบการ รวมทั้งการมีอุปทานส่วนเกินในตลาด

ไตรมาสที่ 3 ปี 2552 ภาคบริการปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า จากความพยายามของภาครัฐและเอกชนในการจัดกิจกรรมกระตุ้นการท่องเที่ยวและส่งเสริมการขายทั้งราคาที่พักและค่าโดยสารการบิน รวมถึงการจัดประชุมและสัมมนา ถือเป็นปัจจัยบวกต่อภาคบริการในภาคเหนือ สะท้อนจากโดยเครื่องชี้ภาคบริการที่สำคัญ ได้แก่ จำนวนผู้โดยสารผ่าน ท่าอากาศยานที่ขยายตัวร้อยละ 11.6 การจัดเก็บภาษี มูลค่าเพิ่มประเภทโรงแรมและภัตตาคารปรับตัวดีขึ้นจากที่ลดลงร้อยละ 22.1 ไตรมาสก่อน เหลือลดลงร้อยละ 11.6 ด้านอัตราการเข้าพักเฉลี่ยของโรงแรมอยู่ที่ร้อยละ 41.4 ปรับตัวดีขึ้นจากอัตราร้อยละ 35.7 ไตรมาสก่อนหน้า สำหรับราคาห้องพักเฉลี่ยลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 2.2 ตามการปรับตัวของภาคธุรกิจที่เน้นใช้กลยุทธ์ด้านราคา

4. ภาคการค้า เดือนกันยายน 2552 ขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน แต่ชะลอตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยดัชนีภาคการค้าเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 13.2 ประกอบด้วย การค้าหมวดยานยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.4 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน ตามยอดจำหน่ายยานยนต์ที่เร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อนเป็นสำคัญ สำหรับอุปกรณ์ซ่อมบำรุงยานยนต์เพิ่มขึ้น ใกล้เคียงกับเดือนก่อน ขณะที่ยอดจำหน่ายเชื้อเพลิงยานยนต์ลดลงร้อยละ 0.4 การค้าหมวดค้าส่งชะลอตัวจากที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.5 เดือนก่อน เหลือเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.8 โดยขยายตัวในเกือบทุกหมวดยกเว้นหมวดขายส่งอาหารและเครื่องดื่ม สำหรับการค้าหมวดค้าปลีกที่สะท้อนความต้องการใช้จ่ายของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 14.0 โดยขยายตวั ในทกุ หมวดรวมทั้งหมวดการขายปลีกวัสดุก่อสร้างที่ปรับตัวดีต่อเนื่องจากเดือนก่อน

ไตรมาสที่ 3 ปี 2552 ดัชนีการค้าของภาคเหนือเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.7 เร่งตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนและไตรมาสก่อน ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในทุกหมวดโดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ รวมทั้งภาคการก่อสร้างที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับ โดยสะท้อนจากการค้าส่งและค้าปลีกหมวดวัสดุก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับการเตรียมพร้อมรองรับการระบาดของไว้หวัดใหญ่ 2009 ที่ส่งผลให้การค้าส่งและค้าปลีกหมวดเวชภัณฑ์เพิ่มขึ้นมาก โดยดัชนีการค้าปรับเพิ่มขึ้นในหมวดยานยนต์ หมวดค้าส่ง และการค้าหมวดค้าปลีกร้อยละ 7.4 ร้อยละ 20.2 และร้อยละ 12.6 ตามลำดับ

5. การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน เดือนกันยายน 2552 ชะลอตัวลงจากเดือนก่อน สะท้อนจากเครื่องชี้การใช้จ่ายภาคเอกชนที่สำคัญ ได้แก่ ปริมาณการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่ขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 3.9 เทียบกับเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 10.1 ด้านปริมาณการจดทะเบียนรถยนต์ขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 7.9 ชะลอลงจากเดือนก่อนที่เร่งตัวร้อยละ 12.6 ตามคำสั่งซื้อที่เริ่มชะลอลง ส่วนปริมาณการจดทะเบียนรถจักรยานยนต์หดตัวร้อยละ 8.6 ต่อเนื่องจากเดือนก่อน ทางด้านปริมาณการใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนในเดือนสิงหาคม 2552 ขยายตัวร้อยละ 9.5

ไตรมาสที่ 3 ปี 2552 การอุปโภคบริโภคชะลอลงจากไตรมาสก่อน ตามเครื่องชี้การใช้จ่ายภาคเอกชนที่สำคัญ ได้แก่ ปริมาณการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่ชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ 6.3 จากไตรมาสก่อนที่เร่งตัวร้อยละ 16.7 อย่างไรก็ดี การบริโภคสินค้าคงทน ได้แก่ ปริมาณการจดทะเบียนรถยนต์ขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 8.1 เร่งตัวจากไตรมาสก่อนที่หดตัวร้อยละ 14.7 ในขณะที่ปริมาณการจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ยังคงหดตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน มาอยู่ที่ร้อยละ 9.7 ส่วนหนึ่ง จากยอดจำหน่ายที่เป็นฐานการคำนวณในปีก่อนอยู่ในระดับสูง

6. การลงทุนภาคเอกชน เดือนกันยายน 2552 ปรับตัวดีขึ้นมากตามการขยายตัวของภาคการก่อสร้าง เป็นสำคัญ โดยเครื่องชี้ที่สำคัญ ได้แก่ ปริมาณการจำหน่ายวัสดุก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 39.2 แต่ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 78.3 ส่วนหนึ่งเนื่องจากปัจจัยทางด้านฤดูกาล ด้านรายได้ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนที่ดินขยายตัวจากระยะเดียกันปีก่อนร้อยละ 34.8 เร่งตัวจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ 20.6 โดยเพิ่มขึ้นทั้งจำนวนรายและพื้นที่ทำธุรกรรมโดยเฉพาะในจังหวัดเศรษฐกิจสำคัญของภาคเหนือ ทางด้านพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 12.8 ต่อเนื่องจากเดือนก่อน อย่างไรก็ตาม ในประเภทที่อยู่อาศัยขยายตัวร้อยละ 7.2 ขณะที่ประเภทบริการขยายตัวร้อยละ 35.5 เร่งตัวจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ 74.7 สำหรับความสนใจลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ ซึ่งสะท้อนจากการอนุมัติส่งเสริมการลงทุน ในภาคเหนือ มีเพียง 1 โครงการอยู่ในประเภทเหมืองถ่านหิน จำนวนเงินลงทุน 100.0 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 27.5 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน

ไตรมาสที่ 3 ปี 2552 การลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อน สะท้อนจากเครื่องชี้ที่สำคัญ ได้แก่ ปริมาณการจำหน่ายวัสดุก่อสร้างขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนถึงร้อยละ 62.5 เร่งตัวจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 11.9 ส่วนหนึ่งจากการสะสมสต๊อกของผู้ประกอบการก่อนการปรับขึ้นราคาประกอบกับมีความต้องการส่งออกไปพม่าและลาว พื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 38.4 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 20.8 โดยเฉพาะประเภทเพื่อการพาณิชย์ที่ขยายตัวร้อยละ 189.3 เร่งตัวจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 20.0 เนื่องจากการอนุญาตให้ก่อสร้างห้างสรรพสินค้าในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนที่ดินลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 3.2 แต่ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนที่หดตัวร้อยละ 41.8 โดยปรับตัวดีขึ้นทั้งจำนวนรายและรายได้ สำหรับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในภาคเหนือรวมทั้งสิ้น 11 โครงการ จำนวนเงินลงทุน 1,223.3 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 301.1 จากระยะเดียวกันปีก่อน จากการลงทุนในหมวดเกษตรกรรมและผลิตผลการเกษตร หมวดอิเล็กทรอนิคส์และเครื่องไฟฟ้า และหมวดอุตสาหกรรมเบา โดยมีจำนวนลงทุน 480.0 ล้านบาท 278.4 ล้านบาท และ 223.0 ล้านบาท ตามลำดับ

7. การค้าต่างประเทศ เดือนกันยายน 2552 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน โดยการส่งออกผ่านด่านศุลกากรในภาคเหนือมีมูลค่า 215.9 ล้านดอลลาร์ สรอ. หดตัวเพียงร้อยละ 10.4 ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับที่หดตัวร้อยละ 17.6 เดือนก่อนผลจากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่ลดลงเพียงร้อยละ 17.5 เทียบกับร้อยละ 22.8 เดือนก่อน โดยสินค้าที่ปรับตัวดีขึ้น ได้แก่ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เลนส์ และชิ้นส่วนเครื่องจักรกล ด้านการส่งออกสินค้าเกษตรลดลงร้อยละ 29.3 ตามการส่งออกข้าวและยางพาราที่ลดลงเป็นสำคัญ สำหรับการส่งออกผ่านด่านชายแดนขยายตัวร้อยละ 19.9 เป็น 88.6 ล้านดอลลาร์ สรอ. เร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อน ตามการส่งออกไปพม่าที่ขยายตัวร้อยละ 34.4 ส่วนการส่งออกไปลาวและจีนตอนใต้หดตัวร้อยละ 5.3 และร้อยละ 43.1 ตามลำดับ

การนำเข้าผ่านด่านศุลกากรในภาคเหนือหดตัวร้อยละ 14.5 เหลือ 121.8 ล้านดอลลาร์ สรอ. โดยการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางลดลงร้อยละ 18.2 ใกล้เคียงกับเดือนก่อน ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าวัตถุดิบของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และเพชรดิบเพื่อเจียระไน ด้านการนำเข้าสินค้าทุนลดลงร้อยละ 20.5 ตามการชะลอลงของการนำเข้าชิ้นส่วนเครื่องจักรผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนการนำเข้าผ่านด่านชายแดนเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 เป็น 11.2 ล้านดอลลาร์ สรอ. ชะลอลงจากเดือนก่อน ตามการนำเข้าจากลาวที่เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวโดยเฉพาะถ่านหินลิกไนท์ ประกอบกับการนำเข้าจากจีนตอนใต้ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.2 ในสินค้าผักและผลไม้ และกระเทียม ส่วนการนำเข้าจากพม่าหดตัวร้อยละ 48.8

ดุลการค้า ในเดือนกันยายน 2552 เกินดุล 94.1 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนและเดือนก่อนที่เกินดุล 98.5 ล้านดอลลาร์ สรอ. และ 101.1 ล้านดอลลาร์ สรอ. ตามลำดับ

ไตรมาสที่ 3 ปี 2552 การค้าผ่านด่านศุลกากรในภาคเหนือปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อน โดยการส่งออกมีมูลค่า 627.3 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงเหลือร้อยละ 14.6 เทียบกับร้อยละ 29.4 ไตรมาสก่อน เป็นผลจากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่หดตัวน้อยลงเหลือร้อยละ 21.5 จากที่ลดลงร้อยละ 32.3 ไตรมาสก่อน โดยสินค้าอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับตัวดีขึ้น อาทิ ส่วนประกอบฮาร์ดิสต์ไดร์ เครื่องตัดต่อวงจรไฟฟ้า เป็นต้น ประกอบกับการส่งออกสินค้าเกษตรแปรรูปที่ขยายตัวดีในตลาดญี่ปุ่น ด้านการส่งออกชายแดนเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.9 เป็น 263.7 ล้านดอลลาร์ สรอ. ตามการส่งออกไปพม่าที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.3 เร่งตัวขึ้นจากไตรมาสก่อน จากการส่งออกยานพาหนะและชิ้นส่วนที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ ด้านการส่งออกไปลาวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.7 ชะลอตัวจากไตรมาสก่อนตามการชะลอตัวของการส่งออกสินค้าเกษตร ส่วนการส่งออกไปจีนตอนใต้ลดลงร้อยละ 19.6 ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน

การนำเข้ามีมูลค่า 330.0 ล้านดอลลาร์ สรอ. หดตัวเหลือร้อยละ 20.1 และปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนที่หดตัวร้อยละ 44.8 เนื่องจากการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าทุนที่ปรับตัวดีขึ้นตลอดช่วงไตรมาส ทั้งวัตถุดิบอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์แก้ว เคมีภัณฑ์ และชิ้นส่วนเครื่องจักรไฟฟ้า ทางด้านการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคลดลงร้อยละ14.5 ตามการหดตัวของการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ ผักและผลไม้ ด้านการนำเข้าผ่านด่านศุลกากรชายแดนเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.7 เป็น 31.5 ล้านดอลลาร์สรอ. ชะลอตัวจากไตรมาสก่อน โดยการนำเข้าจากลาวเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวโดยส่วนหนึ่งจากการนำเข้าถ่านหินลิกไนท์ที่ขยายตัวดี ตลอดไตรมาส ขณะที่การนำเข้าจากพม่าและจีนตอนใต้ที่หดตัวร้อยละ 22.7 และ 4.2 ตามลำดับ ตามสินค้าที่นำเข้าลดลง ได้แก่ เฟอร์นิเจอร์ สิ่งประดิษฐ์ที่ทำจากไม้ ธัญพืช และอาหารสัตว์

ดุลการค้า ผ่านด่านศุลกากรในภาคเหนือช่วงไตรมาส 3 ปี 2552 เกินดุล 297.3 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนที่เกินดุล 321.8 ล้านดอลลาร์ สรอ. แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่เกินดุล 263.8 ล้านดอลลาร์ สรอ.

8. การเบิกจ่ายเงินงบประมาณผ่านคลังจังหวัดในภาคเหนือ เดือนกันยายน 2552 มีการเบิกจ่ายทั้งสิ้นจำนวน 15,948.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.1 เร่งตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนที่ลดลงร้อยละ 8.8 โดยรายจ่ายงบลงทุนมีจำนวน 4,969.1 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 63.3 ตามการเบิกจ่ายของหมวดที่ดิน/สิ่งปลูกสร้าง ที่มีสัดส่วนร้อยละ 79.8 ของงบลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 71.3 โดยมีการเบิกรับมากที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง พิษณุโลก และสุโขทัย ด้านรายจ่ายประจำมีจำนวน 10,979.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.0 ตามงบรายจ่ายอื่นและงบดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 60.4 และร้อยละ 22.0 ตามลำดับ ประกอบกับเงินอุดหนุนทั่วไปขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.6 จากระยะเดียวกันปีก่อน

ไตรมาสที่ 3 ปี 2552 มีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณผ่านคลังจังหวัดในภาคเหนือ 42,984.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 21.4 เร่งตัวจากระยะเดียวกันของปีก่อนที่ลดลงร้อยละ 5.6 จากการเพิ่มขึ้นของงบลงทุนจำนวน 12,137.5 ล้านบาท ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 50.4 ตามการเบิกจ่ายของหมวดที่ดิน/สิ่งปลูกสร้างซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 79.0 ของงบลงทุน เพิ่มขึ้นร้อยละ 56.2 ด้านรายจ่ายประจำมีจำนวน 30,846.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.9 ตามเงินอุดหนุนทั่วไปขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 43.6 ประกอบกับงบรายจ่ายอื่นและงบดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 50.9 และร้อยละ 17.2 ตามลำดับ

9. ระดับราคา เดือนกันยายน 2552 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 1.8 โดยลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 จากการลดลงของหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มร้อยละ 3.7 โดยราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวลดลงส่งผลให้ราคาสินค้าหมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร ลดลงร้อยละ 8.7 มาตรการเรียนฟรี 15 ปี ทำให้ราคาสินค้าหมวดการบันเทิงการอ่าน การศึกษา และศาสนา ลดลงร้อยละ 10.1 ประกอบกับหมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้าลดลงร้อยละ3.3 ส่วนการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตส่งผลให้ดัชนีราคาสินค้าหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.2 ประกอบกับหมวดอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 0.4 ทรงตัวจากเดือนก่อน

ไตรมาสที่ 3 ปี 2552 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของภาคเหนือลดลงร้อยละ 3.0 จากระยะเดียวกันปีก่อนตามการลดลงของหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มร้อยละ 6.5 โดยราคาสินค้าหมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสารลดลงร้อยละ 12.7 ตามการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นสำคัญ ราคาสินค้าหมวดการบันเทิงการอ่าน การศึกษา และศาสนาลดลงร้อยละ 10.1 และหมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้าลดลงร้อยละ 3.2 เป็นผลจากมาตรการเรียนฟรี 15 ปี ทางด้านดัชนีราคาสินค้าหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.2 และหมวดอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 เนื่องจากการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตสุราและบุหรี่ สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 0.7

10. การจ้างงาน จากข้อมูลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ เพียงสิ้น เดือนสิงหาคม 2552 ในภาคเหนือมีกำลังแรงงานรวม 7.3 ล้านคน เป็นผู้มีงานทำ 7.2 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยการจ้างงานนอกภาคเกษตรขยายตัวร้อยละ 7.2 ตามการจ้างงานของสาขาการค้าส่ง/ปลีก การผลิต และโรงแรม/ภัตตาคาร ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.3 ร้อยละ 12.8 และร้อยละ 0.6 ตามลำดับ ที่ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่วนการจ้างงาน ในภาคเกษตรหดตัวร้อยละ 2.5 โดยส่วนหนึ่งเนื่องจากราคาพืชผลไม่จูงใจให้แรงงานเข้าสู่ภาคเกษตร ด้านผู้ว่างงานมีจำนวน 0.1 ล้านคน คิดเป็นอัตราการว่างงานเท่ากับร้อยละ 0.8 ใกล้เคียงกับระยะเดียวกันปีก่อน ทางด้านอัตราการทำงานต่ำกว่าระดับ (ผู้ที่ทำงานต่ำกว่า 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) ลดลงจากร้อยละ 1.2 ระยะเดียวกันปีก่อนเหลือเพียงร้อยละ 0.0 ซึ่งเริ่มมีสัญญาณของการเรียกกลับเข้ามาทำงานมากขึ้น ด้านผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมเพียงสิ้นเดือนกันยายน 2552 มีผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จำนวน 599,834 คน ใกล้เคียงกับเดือนเดียวกันปีก่อน สำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 39 มีจำนวน 93,771 คน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนและระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 2.7 และร้อยละ 36.0 ตามลำดับ

11. การเงิน ยอดคงค้างเงินฝากที่สาขาธนาคารพาณิชย์ในภาคเหนือ ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2552 มีทั้งสิ้น 383,837 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 7.1 ชะลอลงจากเดือนก่อน จากการเพิ่มขึ้นของเงินฝากในส่วนราชการ และการระดมเงินฝากของธนาคารพาณิชย์บางแห่ง โดยเพิ่มขึ้นมากที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย เพชรบูรณ์ และลำปาง ทางด้านเงินให้สินเชื่อมียอดคงค้าง 297,305 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 1.4 ซึ่งปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ 1.7 เนื่องจากการ ให้สินเชื่อเพิ่มขึ้นในภาคเหนือตอนล่างประเภทธุรกิจโรงสีข้าวและค้าพืชไร่ โดยเฉพาะที่จังหวัดกำแพงเพชร นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ และพิจิตร ขณะที่ในภาคเหนือตอนบนมีการชำระเงินคืนในธุรกิจค้าปลีกค้าส่งและสหกรณ์ออมทรัพย์ครู สำหรับสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากอยู่ที่ร้อยละ 77.5 ลดลงจากร้อยละ 84.2 ระยะเดียวกันของปีก่อน

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ

ข้อมูลเพิ่มเติม : คุณทวีศักดิ์ ใจคำสืบ

โทร 0 5393 1162

E-mail: Thaveesc@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ