แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนตุลาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 30, 2009 16:02 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

เศรษฐกิจในเดือนตุลาคมขยายตัวชะลอลง หลังจากที่ปรับตัวดีขึ้นมากในเดือนกันยายน ทั้งนี้ การผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวมทรงตัวในระดับใกล้เคียงกับเดือนก่อน โดยการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมเพื่อขายทั้งตลาดในประเทศและส่งออกปรับตัวดีขึ้นในหลายอุตสาหกรรม การลงทุนภาคเอกชนยังคงฟื้นตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม แรงส่งของอุปสงค์ในประเทศ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนแผ่วลง หลังจากที่เร่งตัวขึ้นในช่วงที่ผ่านมา รวมทั้งแรงกระตุ้นของภาครัฐที่น้อยลงจากปัญหาความล่าช้าของการประกาศใช้ พรบ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี และการเบิกจ่ายงบลงทุนในโครงการต่างๆ ภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง อย่างไรก็ดี รายได้เกษตรกร การจ้างงาน และการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้น เป็นปัจจัยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทย ฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือนตุลาคม 2552 มีดังนี้ ภาคการผลิต ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือนตุลาคม 2552 ขยายตัวร้อยละ 0.4 จากระยะเดียวกันปีก่อน ชะลอตัวลงจากร้อยละ 1.9 ในเดือนก่อน ตามการชะลอตัวของการผลิตสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อการส่งออก โดยเฉพาะ Hard Disk Drive หลังจากที่ได้เร่งผลิตในเดือนก่อน ภาคอุตสาหกรรมในเดือนนี้ที่ปรับตัวดีขึ้น มีลักษณะกระจายตัวไปในกลุ่มสินค้าผลิตเพื่อ การส่งออกและขายในประเทศ เช่น การผลิตรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ และการผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนรีดเย็น ซึ่งนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องต่างๆ เช่น รถยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า

สำหรับรายได้เกษตรกรจากการขายพืชผลปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง จากทั้งผลผลิตและราคาพืชผลที่ปรับตัวดีขึ้น โดยดัชนีผลผลิตพืชผลสำคัญในเดือนนี้กลับมาขยายตัวเป็นบวกอีกครั้งในรอบ 8 เดือน ตามผลผลิตข้าวและปาล์มน้ำมัน เนื่องจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย เช่นเดียวกับราคาพืชผลสำคัญปรับตัวดีขึ้น ตามการเพิ่มขึ้นของราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวเปลือกเหนียว และยางพารา

นักท่องเที่ยวต่างประเทศในเดือนตุลาคมขยายตัวร้อยละ 10.5 จากระยะเดียวกันปีก่อน เป็นการขยายตัวดีต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่เป็นตลาดนักท่องเที่ยวหลักปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศเอเชีย เช่น จีน ฮ่องกง และไต้หวัน ที่กลับเข้ามาท่องเที่ยวประเทศไทยมากขึ้น

การบริโภคภาคเอกชนปรับตัวลงเล็กน้อย ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน (PCI) หดตัวร้อยละ 1.1 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน จากที่เร่งตัวขึ้นมากถึงร้อยละ 4.5 ในเดือนกันยายน เนื่องจากผู้บริโภคมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาการระงับโครงการลงทุน ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด การปรับตัวลดลงของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ รวมทั้งการปรับขึ้นราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศ อย่างไรก็ดี เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนยังอยู่ในเกณฑ์ดี คือ การบริโภคสินค้าคงทน (Durable goods) ที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ทั้งจากการนำเข้าสินค้าคงทน และยอดจำหน่ายรถยนต์

การลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ตามการขยายตัวของการลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ โดยเฉพาะการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ขณะที่การลงทุน ในหมวดก่อสร้างยังคงทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตาม การลงทุนส่วนใหญ่ยังเป็นการลงทุนเพื่อทดแทนการเสื่อมสภาพ ของเครื่องจักรและอุปกรณ์เป็นสำคัญ

ภาคการคลังในเดือนนี้แรงกระตุ้นภาคการคลังลดลง ตามการเบิกจ่ายของรัฐบาลที่น้อยลง เนื่องจากพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2553 มีผลบังคับใช้ล่าช้า ประกอบกับการเบิกจ่ายตามโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งยังมีไม่มาก ขณะที่รัฐบาลมีรายได้จัดเก็บเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะรายได้จากภาษีฐานการบริโภค ทั้งจากภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่ม ทำให้ในเดือนนี้ รัฐบาลเกินดุลเงินสด 6.8 พันล้านบาท

ภาคต่างประเทศ การส่งออกในเดือนนี้ มีมูลค่า 14,616 ล้านดอลลาร์ สรอ. หดตัวร้อยละ 2.6 จากระยะเดียวกันปีก่อน การส่งออกปรับตัวดีขึ้นและกระจายไปในทุกกลุ่มสินค้า ขณะที่มูลค่าการนำเข้าหดตัวร้อยละ 19.0 ใกล้เคียงกับเดือนก่อนซึ่งหดตัว ร้อยละ 18.2 สอดคล้องกับทิศทางของอุปสงค์ในประเทศ ทำให้ดุลการค้าในเดือนตุลาคม 2552 เกินดุล 1,688 ล้านดอลลาร์ สรอ. เมื่อรวมกับดุลบริการ รายได้ และเงินโอน ที่กลับมาเกินดุล 490 ล้านดอลลาร์ สรอ. ตามรายรับการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 2,178 ล้านดอลลาร์ สรอ.

สำหรับเงินทุนเคลื่อนย้ายสุทธิในเดือนตุลาคม 2552 (เบื้องต้น) เกินดุล 684 ล้านดอลลาร์ สรอ. ตามการไหลเข้าของเงินทุนภาคธนาคารพาณิชย์เป็นสำคัญ จากการลดสินทรัพย์ต่างประเทศเนื่องจากนักลงทุนและผู้ส่งออกขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าเพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน

สภาพคล่องในระบบการเงินทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน เงินฝากของสถาบันรับฝากเงินในเดือนตุลาคม 2552 ขยายตัวร้อยละ 6.7 จากระยะเดียวกันปีก่อน ชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่สินเชื่อภาคเอกชนของสถาบันรับฝากเงิน ขยายตัวร้อยละ 0.2 จากระยะเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้ ยอดคงค้างสินเชื่อภาคเอกชนของสถาบันรับฝากเงินเพิ่มขึ้นจากสิ้นเดือนกันยายน ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3

เสถียรภาพภายในและต่างประเทศยังคงมีความมั่นคง โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนตุลาคม 2552 ขยายตัวร้อยละ 0.4 ขยายตัวเป็นบวกครั้งแรกหลังจากที่ติดลบมาตั้งแต่ต้นปี 2552 ตามราคาพลังงานและอาหารสดที่เร่งตัวขึ้นเป็นสำคัญ อัตรา การว่างงานทรงตัวในระดับต่ำเท่ากับเดือนก่อน ดุลการชำระเงินเกินดุลสุทธิ ทั้งจากดุลบัญชีเดินสะพัดและเงินทุนเคลื่อนย้ายสุทธิ ธนาคารแห่งประเทศไทย

ข้อมูลเพิ่มเติม: ทีมเศรษฐกิจมหภาค

โทร. 0-2283-5647, 0-2283-5648 e-mail: MPGMacroEconomicsTeam@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ