ผลการประชุมคณะกรรมการระบบการชำระเงิน ครั้งที่ 2 ประจำปี 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 1, 2009 15:12 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

คณะกรรมการระบบการชำระเงิน (กรช.) มีการประชุมในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2552 เพื่อกำหนดนโยบายเกี่ยวกับระบบการชำระเงินให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงให้เกิดความเชื่อมั่นและความปลอดภัยในสื่อการชำระเงินซึ่งเป็นกลไกสำคัญในระบบการเงินของประเทศ

โดยผลการประชุม กรช. มีมติเห็นชอบ ดังนี้

1. แนวนโยบายด้านค่าธรรมเนียมการชำระเงิน เพื่อให้ค่าธรรมเนียมมีความโปร่งใส เป็นธรรม สามารถอธิบายได้ และก่อให้เกิดการแข่งขัน โดยให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับปรุงหลักการให้ผู้ให้บริการเปิดเผยค่าธรรมเนียมให้ลูกค้าทราบโดยสะดวกก่อนการตัดสินใจใช้บริการ รวมถึงปรับปรุงโครงสร้างค่าธรรมเนียมบริการการชำระเงินประเภทต่างๆ เช่น การโอนเงินรายย่อยข้ามธนาคาร (ITMX Bulk Payment) เช็ค การถอนเงินสด/โอนเงินผ่าน ATM เพื่อให้เกิดการแข่งขันและส่งเสริมการใช้สื่อการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้น

2. แนวทางการพัฒนาระบบ Local Switching เพื่อรองรับการชำระเงินผ่านบัตรที่ออกและใช้จ่ายภายในประเทศ โดยจะพัฒนาไปสู่การใช้เครื่องรับบัตรร่วมกัน (EDC Pool) เพื่อเพิ่มความสะดวกแก่ผู้บริโภค ลดการใช้เงินสด ลดการลงทุนที่ซ้ำซ้อน และลดต้นทุนด้านการชำระเงินของสถาบันการเงินและภาคธุรกิจ

3. มาตรฐานกลางข้อความการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อมโยงระหว่างภาคธุรกิจและสถาบันการเงิน ให้สามารถใช้ได้กับทุกสถาบันที่ให้บริการ เพื่อเพิ่มความสะดวกรวดเร็วและลดข้อความการชำระเงินที่ซ้ำซ้อน โดยกำหนดให้มาตรฐานดังกล่าวเป็นมาตรฐานเปิด (Open Standard) เชื่อมโยงกับระบบงานอื่นได้ง่าย (Interoperability) อ้างอิงมาตรฐานสากล ISO 20022 โดยในระยะแรกมาตรฐานกลางข้อความจะครอบคลุมบริการ 6 ประเภท ได้แก่ การโอนเงินเข้าบัญชีภายในธนาคารเดียวกัน (Direct Credit) การหักเงินจากบัญชีภายในธนาคารเดียวกัน (Direct Debit) การออกเช็ค (Cheque Direct) การโอนเงินรายย่อยข้ามธนาคาร (ITMX Bulk Payment) การโอนเงินมูลค่าสูงผ่านระบบ BAHTNET และ International Payment และมีเป้าหมายให้สถาบันการเงินทุกแห่งสามารถใช้มาตรฐานกลางดังกล่าวได้ภายในปี 2554

ข้อมูลเพิ่มเติม : ทีมนโยบายและความเสี่ยงระบบการชำระเงิน

โทรศัพท์ : 0 2283 6553, 0 2283 5048

e-mail : PSDPolicy@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ