สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนตุลาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 30, 2009 15:49 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนตุลาคม 2552 ขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน และปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนกันยายน ตามการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชน การใช้จ่ายของภาครัฐ และมูลค่าผลผลิตพืชสำคัญ

ภาคเกษตรกรรม ดัชนีมูลค่าผลผลิตพืชสำคัญเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนตามราคาอ้อยและมันสำปะหลังที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการของตลาดส่งออกอยู่ในเกณฑ์ดี สำหรับดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเท่ากับเดือนก่อน

การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนและเร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อนเล็กน้อย โดยดัชนีการบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของภาษีมูลค่าเพิ่ม การจดทะเบียนรถยนต์นั่งส่วนบุคคล และปริมาณการใช้ไฟฟ้าเพื่อที่อยู่อาศัยเป็นสำคัญ การลงทุนภาคเอกชน เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนและปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจาก เดือนก่อนโดยเครื่องชี้ส่วนใหญ่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งได้แก่ พื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลเมืองและเทศบาลนคร เงินลงทุนในโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการ และทุนจดทะเบียนบริษัทตั้งใหม่ การใช้จ่ายของภาครัฐ เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนตามรายจ่ายเพื่อการลงทุน แต่ชะลอตัวลงจากเดือนกันยายน ส่วนรายได้ภาครัฐ จัดเก็บได้ลดลงเป็นเดือนแรกเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนตามการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตและอากรขาเข้า อย่างไรก็ตาม ภาษีสรรพากรยังคงจัดเก็บได้เพิ่มขึ้น การค้าชายแดนไทย - ลาว มีมูลค่าการค้าเพิ่มขึ้น โดยมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น แต่มูลค่าการนำเข้าลดลง ส่วนการค้าชายแดนไทย - กัมพูชา มูลค่าการค้าเพิ่มขึ้นทั้งการส่งออกและนำเข้า

ภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมยังหดตัวจากระยะเดียวกันของปีก่อน และหดตัวมากขึ้นจากเดือนกันยายนเนื่องจากผลผลิตน้ำตาลและเครื่องดื่มลดลงเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในส่วนของ Hard Disk Drive ยังขยายตัวต่อเนื่อง

ภาคการเงิน ธนาคารพาณิชย์ เงินฝากชะลอตัวจากเดือนก่อน ตามการชะลอตัวของเงินฝากออมทรัพย์และกระแสรายวัน ขณะที่เงินให้สินเชื่อก็ยังคงชะลอตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนตามการชะลอตัวของเงินเบิกเกินบัญชีและ เงินให้กู้ที่มีกำหนดระยะเวลา

อัตราเงินเฟ้อ ทั่วไปเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.7 โดยราคาในหมวดอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 ขณะที่หมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มลดลงร้อยละ 1.0 สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลง ร้อยละ 0.2

1. ภาคเกษตรกรรม ภาคเกษตรกรรม ดัชนีมูลค่าผลผลิตเกษตรเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 15.5 และปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.4 โดยดัชนีราคาเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.9 และปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.9 ตามราคาอ้อยและมันสำปะหลังเป็นสำคัญเนื่องจากความต้องการของตลาดส่งออกเพิ่มขึ้น ส่วนดัชนีผลผลิตเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 0.5 เท่ากับที่เพิ่มขึ้นในเดือนก่อน

ข้าว ราคาขายส่งข้าวเปลือกหอมมะลิเฉลี่ยเกวียนละ 14,470 บาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.8 ตามแนวโน้มการส่งออกที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดีแต่ชะลอตัวจากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.0 ส่วนราคาขายส่งข้าวเปลือกเหนียว 10% (เมล็ดยาว) เฉลี่ยเกวียนละ 7,794 บาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 25.3 ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 8.0 เนื่องจากความต้องการส่งออกยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง

มันสำปะหลัง ราคาขายส่งหัวมันเฉลี่ยกิโลกรัมละ 1.97 บาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 40.7 และปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ 4.8 ส่วนราคามันเส้นเฉลี่ยกิโลกรัมละ 3.64 บาทลดลงจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 6.4 แต่ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ 27.1 เนื่องจาก หัวมันออกสู่ตลาดมีปริมาณน้อยเพราะยังมีฝนตกอยู่อย่างต่อเนื่องทำให้ยากแก่การเก็บเกี่ยวและตากมัน

อ้อยโรงงาน ราคาอ้อยขั้นต้นในฤดูกาลปี 2552/53 สูงถึง 950 บาทต่อตัน ณ ค่าความหวาน 10 ซีซีเอส ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เป็นผลจากความต้องการส่งออกน้ำตาลเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำตาลในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากปริมาณการผลิตในประเทศผู้ผลิตและผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ของโลก อาทิ อินเดีย บราซิล สหภาพยุโรป มีผลผลิตลดลงจากภาวะภัยแล้ง และมีการนำอ้อยไปผลิตเอทานอลมากขึ้น

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ราคาขายส่งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เฉลี่ยกิโลกรัมละ 5.69 บาท ลดลงจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 18.0 แต่ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ 23.4 เนื่องจากผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ออกสู่ตลาดลดลงและความชื้นลดลงทำให้ขายได้ราคาดี

2. ภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหดตัวจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 15.2 และหดตัวมากขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนกันยายนที่หดตัวร้อยละ 4.2 เนื่องจากผลผลิตน้ำตาลลดลงตามปริมาณวัตถุดิบ และการผลิตเครื่องดื่มลดลง เนื่องจากก่อนหน้านี้ได้มีการผลิตเพื่อสต๊อกไว้จำนวนมาก และอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในกลุ่ม Hard Disk Drive (HDD) ยังคงขยายตัวต่อเนื่องตามการส่งออก

3. ภาคบริการ การท่องเที่ยวในภาคขยายตัวขึ้นเนื่องจากเริ่มเข้าสู่ฤดูการท่องเที่ยว และมีนักท่องเที่ยวมายังจังหวัดมุกดาหารไปเที่ยวเส้นทางหมายเลข 9 มากขึ้น อัตราการเข้าพักแรมอยู่ที่ร้อยละ 46.7 ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 42.7 และเพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน ที่มีอัตราการเข้าพักร้อยละ 41.2

4. การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนและเร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อน เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว ทำให้ประชาชนคลายความกังวลและจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน เห็นได้จากภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.0 รวมทั้งการจดทะเบียนรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและปริมาณการใช้ไฟฟ้าเพื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.4 และร้อยละ 10.6 ตามลำดับ ในขณะที่การจดทะเบียนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลและการจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ยังคงลดลง ร้อยละ 18.4 และร้อยละ 4.1 หดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน

5. การลงทุนภาคเอกชน เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน เนื่องจากนักลงทุนเริ่มมีความมั่นใจในภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว เครื่องชี้สำคัญส่วนใหญ่ขยายตัวขึ้น โดยพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลเมืองและเทศบาลนคร เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.0 เทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นในจังหวัดอุดรธานีทั้งโครงการบ้านจัดสรรและธุรกิจเอาท์เลตขนาดใหญ่ เงินทุนของโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว จากโรงงานผลิตเอทานอลและจำหน่ายที่จังหวัดอุบลราชธานี 1,352 ล้านบาท เป็นสำคัญ ปริมาณการใช้ไฟฟ้าเพื่อธุรกิจและอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 ทุนจดทะเบียนธุรกิจตั้งใหม่เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 11.8 อย่างไรก็ตาม เงินลงทุนที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนลดลงร้อยละ 57.5 เนื่องจากในเดือนตุลาคมปีก่อนมีโครงการขนาดใหญ่ขออนุญาตลงทุนในจังหวัดขอนแก่น ทำให้มูลค่าลงทุนมากกว่าปกติ

6. ภาคการคลัง รายได้ของภาคระฐบาล เดือนนี้สามารถจัดเก็บภาษีอากรได้ 2,832.5 ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.6 หดตัวเป็นเดือนแรกในรอบปีนี้ เป็นผลจากภาษีสรรพสามิตและอากรขาเข้าจัดเก็บได้ลดลง ในขณะที่ภาษีสรรพากรจัดเก็บได้เพิ่มขึ้นเล็กน้อย มีรายละเอียดดังนี้

ภาษีสรรพสามิตจัดเก็บได้ 1,141.9 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 20.0 เป็นผลจากการจัดเก็บภาษีสุรา ส่วนใหญ่เป็นภาษีจากเบียร์ และภาษีจากเครื่องดื่มที่จัดเก็บได้ลดลง เนื่องจากภาษีที่ยื่นชำระไว้ล่วงหน้าในเดือนก่อนยังคงเหลืออยู่ ประกอบกับสินค้าคงเหลือมีปริมาณสูงผู้ประกอบการจึงชะลอการผลิต

ภาษีอากรขาเข้าจัดเก็บได้ 17.2 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 25.6 ตามการลดลงของอากรขาเข้า ส่วนหนึ่ง เป็นผลจากการนำเข้ารถยนต์พวงมาลัยซ้ายลดลงจากด่านศุลกากรมุกดาหาร และด่านศุลกากรหนองคายเป็นสำคัญ

ภาษีสรรพากรจัดเก็บได้ 1,673.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 เป็นผลจากภาษีมูลค่าเพิ่มขยายตัว จากเดือนก่อน ส่วนหนึ่งจากภาคอุตสาหกรรมมียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมผลิตเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมผลิตน้ำตาล เป็นต้น ส่วนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อน

การเบิกจ่ายงบประมาณ เดือนนี้เป็นเดือนแรกของปีงบประมาณ 2553 มีการเบิกจ่ายรวมทั้งสิ้น 10,967.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.9 เป็นผลจากรายจ่ายประจำลดลง ในขณะที่รายจ่ายลงทุนเพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เบิกจ่ายจากเงินงบประมาณปีก่อนที่กันไว้เบิกเหลื่อมปี แบ่งเป็น

รายจ่ายลงทุน 1,191.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 60.7 โดยเฉพาะเงินงบประมาณปีก่อนที่กันไว้เบิกเหลื่อมปีเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 59.6 จากรายจ่ายหมวดที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และหมวดเงินอุดหนุนเฉพาะกิจเป็นสำคัญ

รายจ่ายประจำ 9,775.9 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 2.6 เป็นการลดลงทั้งเงินงบประมาณปีปัจจุบัน และเงินงบประมาณปีก่อนที่กันไว้เบิกเหลื่อมปี

สำหรับส่วนราชการที่มีการเบิกจ่ายเพิ่มขึ้น ได้แก่ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน ส่วนใหญ่เป็นลักษณะงานด้านบริการเศรษฐกิจอื่น ด้านการรักษาความสงบภายใน และด้านการเคหะและชุมชนที่เพิ่มขึ้น

7. การค้าต่างประเทศ

การค้าชายแดนไทย - ลาว เดือนนี้มีมูลค่าการค้า 6,294.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.2 จากการเพิ่มขึ้นของมูลค่าการส่งออก โดยมีรายละเอียดดังนี้

การส่งออก มูลค่า 4,818.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.8 จากการส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิง สินค้าอุปโภคบริโภคในครัวเรือน เครื่องจักรอุปกรณ์ วัสดุก่อสร้างและเหล็ก เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ โค สุกร และกระบือมีชีวิต เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์ รวมถึงอาหารสัตว์ แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงมีสินค้าส่งออกสำคัญที่มูลค่าลดลงประกอบด้วย ยานพาหนะและส่วนประกอบ ผ้าและอุปกรณ์ตัดเย็บ และเคมีภัณฑ์

การนำเข้า มูลค่า 1,476.1 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 4.4 จากการลดลงของสินค้านำเข้าสำคัญ คือ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ยานพาหนะและส่วนประกอบ ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นได้แก่ สินแร่ทองแดง เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายจากประเทศจีน รวมถึงการนำกลับเครื่องจักรและอุปกรณ์ก็มีมูลค่าเพิ่มขึ้นด้วย ในขณะที่ผลผลิตทางการเกษตรโดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และถั่วลิสงมูลค่าการนำเข้ายังคงใกล้เคียงกับปีก่อน

การค้าชายแดนไทย - กัมพูชา มูลค่าการค้า 4,116.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 6.5 จากการส่งออกและนำเข้าที่เพิ่มขึ้น โดยมีรายละเอียดดังนี้

การส่งออก มูลค่าการค้า 3,718.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.6 สินค้าส่งออกสำคัญที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ สินค้าอุปโภคบริโภคในครัวเรือน โดยเฉพาะน้ำตาล น้ำมันเชื้อเพลิงและผลิตภัณฑ์หล่อลื่น สุกรมีชีวิต ผ้าผืน และยารักษาโรค ส่วนสินค้าสำคัญที่ส่งออกได้ลดลงประกอบด้วย ยานพาหนะและส่วนประกอบ วัสดุก่อสร้าง เครื่องจักรอุปกรณ์ที่ใช้ในการเกษตรและวัตถุดิบประเภทอาหารสัตว์ ปุ๋ย กระดาษ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์

การนำเข้า มูลค่า 398.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 93.7 จากการเพิ่มขึ้นของการนำเข้าผลผลิตการเกษตรและเศษวัสดุเป็นสำคัญ โดยการนำเข้าเมล็ดถั่วเหลืองเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าตัว แม้การนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จะลดลงเกือบเท่าตัวก็ตาม สำหรับสินค้านำเข้าสำคัญที่มีมูลค่าลดลงประกอบด้วย เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย และเสื้อผ้าเก่า/ผ้าห่มเก่า ส่วนเครื่องจักรอุปกรณ์ที่ใช้ในการเกษตรและโครงการก่อสร้างในเดือนนี้ไม่มีการนำกลับ

8. ระดับราคา ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนแรก ทั้งนี้ เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 2.2 โดยสินค้าที่มีราคาเพิ่มขึ้น ได้แก่ หมวดผักและผลไม้ ร้อยละ 7.7 เนื่องจากความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงเทศกาลกินเจ กอปรกับผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ และสัตว์น้ำร้อยละ 5.0 ไข่ร้อยละ 3.5 จากต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น

สำหรับสินค้าหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มลดลงร้อยละ 1.0 โดยราคาในหมวดการบันเทิงการอ่านการศึกษา และการศาสนาลดลงร้อยละ 14.8 จากค่าหนังสือและอุปกรณ์การศึกษา หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้าลดลงร้อยละ 4.8 จากเครื่องแบบเด็กซึ่งยังคงลดลงจากผลของมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาล หมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสารลดลงร้อยละ 3.0 จากค่าโดยสารสาธารณะลดลงร้อยละ 5.3 ยานพาหนะและน้ำมันเชื้อเพลิงลดลงร้อยละ 4.0 อย่างไรก็ตามหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.4 จากผลิตภัณฑ์ยาสูบและผลิตภัณฑ์เบียร์ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.55 และ 14.0 ตามลำดับ เนื่องจากมีการปรับเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตยาสูบตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2552

สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานลดลงเป็นเดือนที่ 5 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.2

9. ภาคการจ้างงาน ภาวะการทำงานเดือนกันยายน 2552 มีกำลังแรงงานรวมทั้งสิ้น 12.6 ล้านคน เป็นผู้มีงานทำ 12.4 ล้านคน ทำงานในภาคเกษตรกรรม 6.8 ล้านคน และนอกภาคเกษตร 5.6 ล้านคนโดยส่วนใหญ่ทำงานด้านการขายส่ง การขายปลีก อุตสาหกรรมการผลิตและการก่อสร้าง สำหรับผู้ว่างงานมีจำนวน 0.12 ล้านคน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.0 ลดลงจากเดือนก่อนที่มีอัตราการว่างงานร้อยละ 1.1

ด้านภาวะการจ้างงานในภาคเดือนตุลาคม 2552 มีผู้สมัครงาน ตำแหน่งงานว่าง และผู้ที่ได้รับการบรรจุงานเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น โดยมีผู้สมัครงานจำนวน 9,101 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 66.1 ในขณะที่มีตำแหน่งงานว่างจำนวน 3,504 อัตรา เพิ่มขึ้น 1.2 เท่า และผู้ที่ได้รับการบรรจุงาน 5,166 คน เพิ่มขึ้น 2 เท่า เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน สำหรับการบรรจุงานส่วนใหญ่ได้แก่ งานในอาชีพผู้ปฏิบัติงานในโรงงาน ผู้ควบคุมเครื่องจักร อาชีพงานพื้นฐาน พนักงานบริการ เสมียน และเจ้าหน้าที่ เป็นต้น

สำหรับคนไทยในภาคที่ขออนุญาตเดินทางไปทำงานต่างประเทศมีจำนวน 5,997 คน ลดลงร้อยละ 18.2 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนโดยลดลงจากแรงงานที่เดินทางไปทำงานในประเทศไต้หวันร้อยละ 19.8 อิสราเอล ร้อยละ 42.1 สาธารณรัฐเกาหลีร้อยละ 30.3 ญี่ปุ่นร้อยละ 32.5 สหรัฐอาหรับเอมิเรทส์ร้อยละ 36.3 และกาตาร์ร้อยละ 10.9 จังหวัดที่มีคนไทยขออนุญาตเดินทางไปทำงานต่างประเทศมาก ได้แก่ อุดรธานี นครราชสีมา ขอนแก่น และหนองคาย

10. ภาคการเงิน ธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2552 เงินฝากของธนาคารพาณิชย์ในภาคมีจำนวน 380,135 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.0 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน ชะลอจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 7.7 เป็นการชะลอตัวจากเงินฝากออมทรัพย์และกระแสรายวัน ส่วนหนึ่งเนื่องจากมีการถอนเงินเพื่อซื้อพันธบัตรออมทรัพย์ ธปท. ปี พ.ศ. 2552 โดยมีผู้สนใจซื้อพันธบัตรและจดทะเบียนที่สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 2,980 ราย เป็นจำนวนเงิน 5,370.5 ล้านบาท

ด้านสินเชื่อ มีจำนวน 368,351 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 1.2 ส่วนใหญ่เป็นการชะลอจากเงินเบิกเกินบัญชี และเงินให้กู้ รวมทั้งตั๋วเงินที่ลดลงจากตั๋วครบกำหนดของธุรกิจกลุ่มโรงสีเป็นสำคัญ

สินเชื่อที่ชะลอตัวลงได้แก่ สินเชื่อในหมวดอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล ตัวกลางทางการเงิน ส่วนสินเชื่อที่ลดลงได้แก่ สินเชื่อหมวดการขายส่งขายปลีก การผลิต การก่อสร้าง และบริการด้านอสังหาริมทรัพย์

อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากในเดือนนี้เป็นร้อยละ 96.9 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนเล็กน้อย ธนาคารเฉพาะกิจ (ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย) ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2552 เงินฝากของธนาคารเฉพาะกิจในภาคมีจำนวน 192,181 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.2 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการขยายตัวของเงินฝากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ด้านเงินให้สินเชื่อมีจำนวน 437,742 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.6 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการขยายตัวของการให้สินเชื่อของธนาคารออมสิน

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ข้อมูลเพิ่มเติม : นายโรจน์ลักษณ์ ปรีชา

โทร. 0-4333-3000 ต่อ 3411

e-mail: Rotelakp@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ