สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ เดือนตุลาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 24, 2009 15:55 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ภาวะเศรษฐกิจภาคใต้เดือนตุลาคม ปี 2552 ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า โดยรายได้เกษตรกรขยายตัวตามราคาสินค้าเกษตร ขณะที่ปริมาณลดลงเล็กน้อย การทำประมงทะเลปรับตัวดีขึ้นทั้งด้านปริมาณและมูลค่าสัตว์น้ำ ส่วนผลผลิตกุ้งจากการเพาะเลี้ยงลดลง ผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนตามการผลิตอาหารทะเลบรรจุกระป๋อง อาหารทะเลแช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป น้ำมันปล์มดิบ ถุงมือยาง และไม้ยางพารา นอกจากนี้ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวและการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น แต่การลงทุนหดตัวตามการลดลงของการจ้างงาน การจดทะเบียนธุรกิจนิติบุคคล และโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ขณะที่ภาคการก่อสร้างเริ่มมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของพื้นที่รับอนุญาตให้ก่อสร้าง สำหรับเงินเฟ้อทั่วไปของภาคใต้ปรับเพิ่มขึ้น ส่วนสินเชื่อและเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อน

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจในเดือนตุลาคม ปี 2552 มีดังนี้

1. ภาคเกษตร รายได้ของเกษตรกรขยายตัว นับเป็นเดือนแรกในรอบปีที่มีอัตราการขยายตัวเป็นบวก โดยดัชนีรายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 11.8 จากที่ หดตัวร้อยละ 25.9 ในเดือนก่อน ทั้งนี้เป็นผลจากด้านราคาเป็นสำคัญ โดยราคายางแผ่นดิบเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.8 เนื่องจากปัจจัยด้านอุปทานที่ตึงตัวและแรงกดดันจากราคาซื้อขายยางในตลาดล่วงหน้า อย่างไรก็ดี ราคาผลปาล์มปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ตามราคาน้ำมันปาล์มดิบทั้งในและต่างประเทศ ขณะที่ปริมาณผลผลิตพืชหลักลดลงเล็กน้อย ตามผลผลิตยางที่ลดลง ส่วนผลผลิตปาล์มเพิ่มขึ้นจากปีก่อน

การทำประมงทะเลปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ปริมาณกุ้งจากการเพาะเลี้ยงลดลง โดยปริมาณสัตว์น้ำนำขึ้นที่ท่าเทียบเรือองค์การสะพานปลาในภาคใต้ เพิ่มขึ้นทั้งในด้านปริมาณและมูลค่า ร้อยละ 25.0 และ 5.7 ตามลำดับ ส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นที่ท่าเทียบเรือปัตตานี และสงขลา เป็นผลจากราคาสัตว์น้ำของไทยสูงกว่ามาเลเซีย จูงใจให้เรือประมงที่ทำประมงในน่านน้ำมาเลเซียนำสัตว์น้ำขึ้นท่าเทียบเรือในภาคใต้ตอนล่างของไทย ผลผลิตกุ้งจากการเพาะเลี้ยงลดลงร้อยละ7.5 โดยราคากุ้งขนาด 50 ตัว ลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 10.7 ส่วนการรับจำนำกุ้งในปี 2552 สิ้นสุดโครงการแล้วตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน ขณะนี้อยู่ระหว่างขออนุมัติหลักเกณฑ์การจำหน่าย

2. ภาคอุตสาหกรรม ขยายตัวต่อเนื่อง โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.6 จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 1.5 ตามการผลิตอาหารทะเลบรรจุกระป๋อง อาหารทะเลแช่เย็น แช่แข็งและแปรรูป น้ำมันปาล์มดิบ ถุงมือยาง และไม้ยางพารา ส่วนการผลิตอุตสาหกรรมยาง และดีบุกลดลง

ในเดือนนี้ การผลิตอาหารทะเลบรรจุกระป๋องเพิ่มขึ้นตามปริมาณการส่งออกปลากระป๋องไปยังตลาดสำคัญ ได้แก่ ตลาดกลุ่มประเทศตะวันออกกลางสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ปรับตัวดีขึ้น ส่วนอาหารทะเลแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูปเพิ่มขึ้นตามการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งที่มีแนวโน้มขยายตัวดีโดยในเดือนนี้ ปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.6 ปริมาณการส่งออก น้ำยางข้นเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมถุงมือยาง ขณะที่การผลิตในอุตสาหกรรมยางลดลง ตามการส่งออกยางแท่งและยางแผ่นรมควัน และการผลิตน้ำมันปาล์มดิบขยายตัวดีตามปริมาณวัตถุดิบที่เข้าสู่โรงงานจำนวนมาก

3. การท่องเที่ยว ขยายตัว จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางผ่าน ด่านตรวจคนเข้าเมืองในภาคใต้ เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 5.2 ตามการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวภาคใต้ฝั่งอันดามันเป็นสำคัญ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการส่งเสริมการท่องเที่ยวของภาครัฐและเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ การมีเที่ยวบินตรง และเช่าเหมาลำเพิ่มขึ้น ประกอบกับในช่วงเดียวกันปีก่อน การท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในประเทศ อย่างไรก็ตาม อัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 50 ใกล้เคียงกับเดือนเดียวกันปีก่อน ส่วนในภาคใต้ตอนล่างยังคงหดตัว

4. การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ปรับตัวดีขึ้น โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 1.4 เนื่องจากรายได้ของเกษตรกรเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน การท่องเที่ยวขยายตัว เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้อมากขึ้น ทั้งนี้ มูลค่าภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บได้ ณ ราคาคงที่ปี 2543 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9 และการใช้เชื้อเพลิงและการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การจดทะเบียนรถใหม่ลดลงทุกประเภท

5. การลงทุนภาคเอกชน ยังคงหดตัว จากการลดลงของโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ที่มีเงินลงทุนลดลงร้อยละ 81.9 และ ตลอดจนจำนวนรายและเงินทุน จดทะเบียนธุรกิจนิติบุคคลใหม่ รวมทั้งเงินเพิ่มทุนจดทะเบียนลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตาม ในภาคการก่อสร้าง เริ่มมีแนวโน้มปรับตัวในทิศทางที่ดี จากพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างในเขตเทศบาลนคร เทศบาลเมือง และเทศบาลตำบลในภาคใต้เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 70.2 จากปัจจัยหนุนด้านราคาวัสดุก่อสร้างที่ลดต่ำลง และจำนวนรายของการจดทะเบียนเพิ่มทุนที่เพิ่มสูงขึ้น

6. การจ้างงาน ลดลง จากเครื่องชี้ความต้องการแรงงานผ่านสำนักงานจัดหางานลดลงร้อยละ 32.9 และการบรรจุงานลดลงร้อยละ 14.0 โดยมีผู้สมัครงานลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 7.2 แต่อย่างไรก็ตามจำนวนแรงงานที่เข้าโครงการประกันสังคม ตามมาตรา 33 ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2552 เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 3.3 โดยเพิ่มขึ้นในทุกจังหวัด ยกเว้นจังหวัดภูเก็ตที่ลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 0.9

7. ระดับราคา อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของภาคใต้เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 1.6 จากร้อยละ 0.3 ในเดือนก่อน ทั้งนี้ เป็นผลจากดัชนีราคาหมวดอาหาร ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 ตามราคาผักสดและผลไม้ ที่เร่งตัวสูงขึ้นมาก

อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ในเดือนตุลาคม 2552 เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อน และเดือนก่อนหน้าร้อยละ 0.4 และ 0.1 ตามลำดับ

8. การค้าต่างประเทศ การส่งออกปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยมูลค่าการส่งออกในรูปดอลล่าร์สรอ. หดตัวในอัตราที่ชะลอลง โดยลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อน ร้อยละ 17.2 จากที่ลดลงร้อยละ 24.9 ในเดือนก่อน ตามมูลค่าการส่งออกยางพาราที่หดตัวในอัตราชะลอลง ในขณะที่การส่งออกสัตว์น้ำแช่แข็ง และ ไม้ยางพาราแปรรูปมีมูลค่าเพิ่มขึ้น ด้านการนำเข้ามูลค่าลดลงในอัตราที่ชะลอลง โดยลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 13.7 สินค้าที่มีมูลค่านำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิง และอุปกรณ์ก่อสร้าง ขณะที่การนำเข้าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์ ลดลง

9. ภาคการคลัง การเบิกจ่ายเงินงบประมาณของส่วนราชการต่างๆ ในภาคใต้เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ 82.8 เนื่องมาจากการกำหนดเป้าหมายและมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินงบประมาณและงบไทยเข้มแข็ง เพื่อให้เกิดการลงทุนจากภาครัฐมากขึ้นและเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนการจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.7 ตามการเพิ่มขึ้นของการจัดเก็บภาษีสรรพาสามิตร้อยละ 184.7 ขณะที่การจัดเก็บภาษีอากรลดลงร้อยละ 8.8

10. การเงิน เงินให้สินเชื่อของสาขาธนาคารพาณิชย์ในภาคใต้คาดว่าจะหดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยลดลงร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ 0.1 ขณะที่ปริมาณเงินฝากคาดว่าจะหดตัวร้อยละ 0.9

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้

ข้อมูลเพิ่มเติม : นาฏน้อย แก้วมีจีน

โทร.0-7423-6200 ต่อ 4329

e-mail : nartnoik@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ