ความเห็นคณะกรรมการนโยบายการเงินเกี่ยวกับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 28, 2009 10:58 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นชั่วคราวในช่วงปลายปี 2552 ต่อเนื่องถึงช่วงต้นปี 2553

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประเมินว่ามีโอกาสค่อนข้างมากที่จะเห็นอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเร่งตัวขึ้นเร็วถึงร้อยละ 3-4 ใน ช่วงปลายปี 2552 ต่อเนื่องถึงช่วงต้นปี 2553 หลังจากที่ติดลบมาเกือบตลอด ทั้งปี 2552 อย่างไรก็ดี กนง. ประเมินว่าการเร่งตัวขึ้นของอัตรา เงินเฟ้อดังกล่าวจะเป็นเรื่องชั่วคราว โดยต่อจากนั้นคาดว่าจะเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงร้อยละ 2-4 ทั้งนี้ เงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นไม่ได้สะท้อนแรงกดดัน จากการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์จนทำให้ผู้ผลิตปรับเพิ่มราคาสินค้าและบริการขึ้นอย่างกว้างขวาง แต่เป็นผลจากระดับราคาน้ำมันในปัจจุบันที่อยู่สูงกว่า ราคาน้ำมันที่ลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงเดียวกันของปีก่อน

สาเหตุที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้าเร่งตัวขึ้นอย่างรวดเร็วและชั่วคราว ทั้ง ๆ ที่ราคาสินค้าและบริการใน กลุ่มอื่นๆ อาจไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก และราคาน้ำมันในปัจจุบันก็ไม่ได้สูงมากไปกว่าในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เนื่องมาจากราคาน้ำมันในตลาดโลก ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามี ความผันผวนสูงมาก โดยราคาน้ำมันดูไบในเดือนมกราคม 2550 เฉลี่ยอยู่ที่ 51.7 ดอลลาร์ สรอ.ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น อย่างรวดเร็วจนถึงระดับสูงสุดในเดือนกรกฎาคม 2551 ที่ 131.3 ดอลลาร์ สรอ.ต่อบาร์เรล ก่อนจะลดลงอย่างรวดเร็วมาเฉลี่ยอยู่ที่ 40.5 ดอลลาร์ สรอ.ต่อบาร์เรล ในเดือนธันวาคม 2551 หลังจากนั้นได้ปรับสูงขึ้นอีกครั้งจนกระทั่งปัจจุบันในเดือนพฤศจิกายน 2552 เฉลี่ยอยู่ที่ 77.7 ดอลลาร์ สรอ.ต่อบาร์เรล

เมื่อนำราคาน้ำมันดูไบมาคำนวณหาอัตราการเปลี่ยนแปลงเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (%YoY)1/ เพื่อให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลง ของราคาน้ำมันที่ชัดเจนขึ้นพบว่า ราคามีการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงค่อนข้างรุนแรงและรวดเร็ว เช่น ในเดือนมกราคม 2551 บวกถึงร้อยละ 69 และ กลับมาติดลบถึงร้อยละ 52.6 ในเดือนธันวาคม 2551 (ตารางที่ 1)

ตารางที่ 1 ราคาน้ำมันดูไบ (ตลาดโลก)
สรอ. ต่อบาร์เรล ม.ค. ก.พ. มี.ค. เม.ย. พ.ค. มิ.ย. ก.ค. ส.ค. ก.ย. ต.ค. พ.ย. ธ.ค.
ปี 2549         58.4   57.6   57.8    64.1   65.0   65.2   68.9   68.8   59.8   56.4   56.7   58.7
ปี 2550         51.7   55.8   58.8    64.0   64.6   65.8   69.5   67.4   73.4   77.1   86.9   85.6
ปี 2551         87.4   90.0   96.8   103.4  119.5  127.8  131.3  112.9   95.9   67.4   49.8   40.5
ปี 2552         44.1   43.1   45.6    50.1   57.9   69.4   64.8   71.2   67.6   73.2   77.7
อัตราการเปลี่ยนแปลงเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (%YoY)
ปี 2550        -11.5   -3.2    1.7    -0.3   -0.6    0.9    0.8   -2.1   22.6   36.7   53.2   45.8
ปี 2551         69.0   61.5   64.6    61.7   85.0   94.3   88.9   67.5   30.7  -12.6  -42.6  -52.6
ปี 2552        -49.5  -52.1  -52.9   -51.5  -51.6  -45.7  -50.6  -36.9  -29.5    8.5   55.9

อัตราการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ผันผวนรุนแรงนี้ได้ส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อในหลายประเทศ รวมทั้งไทยที่พึ่งพาการ นำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศในสัดส่วนสูง โดยในตะกร้าเงินเฟ้อทั่วไปของไทยชี้ว่าโดยเฉลี่ยในแต่ละครัวเรือนจะมีค่าใช้จ่ายเพื่อบริโภคสินค้า ประเภทพลังงานประมาณ ร้อยละ 10 การเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันในตลาดโลกจึงส่งผลต่อราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ และกลายเป็นปัจจัย สำคัญที่กำหนดการเคลื่อนไหวของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ดังจะเห็นได้จากภาพที่ 1 ที่อัตราการเปลี่ยนแปลงเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (%YoY) ของราคาน้ำมันดูไบ ราคาน้ำมันเบนซิน 91 และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเคลื่อนไหวสอดคล้องกันค่อนข้างมาก แม้ว่าอัตราการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศจะมีความผันผวน น้อยกว่า เนื่องจากที่ผ่านมา รัฐบาลมีนโยบายอุดหนุนราคาในประเทศผ่านกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและภาษีสรรพสามิตเพื่อช่วยให้ประชาชนมีเวลา ปรับตัวต่อความ ผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก

ดังนั้น ในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้า หากสมมติให้ราคาน้ำมันดูไบอยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วงที่ผ่านมาที่ประมาณ 75 ดอลลาร์ สรอ.ต่อบาร์เรล พบว่าราคาน้ำมันเพียงกลุ่มเดียวจะมีอัตราการเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนสูงมากถึงร้อยละ 70-85 แต่ เนื่องจากมีการอุดหนุนราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศในช่วงที่ผ่านมา ทำให้อัตราการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศจะอยู่ที่ประมาณ ร้อยละ 30 และเมื่อหมวดพลังงานมีน้ำหนักในตะกร้าเงินเฟ้อทั่วไปถึงร้อยละ 10 ดังที่ได้กล่าวแล้ว ผลจึงทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนธันวาคม ของปี 2552 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2553 เร่งตัวขึ้นชั่วคราวจากราคาน้ำมันที่ปรับลดลงรวดเร็วในปีก่อนหน้า ดังนั้น การเร่งตัวนี้จะเกิดขึ้นเฉพาะในช่วง ไตรมาสแรก โดยต่อจากนั้นคาดว่าจะเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงร้อยละ 2-4 เนื่องจากเมื่อพิจารณาถึงแนวโน้มของราคาน้ำมันในปี 2553 เทียบกับปี 2552 คาดว่าจะไม่แตกต่างกันจนมีผลต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วไปมากเช่นปีที่ผ่านมา

ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปี 2553 จะค่อยๆ เพิ่มขึ้น แต่ในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 การเพิ่มขึ้นจะเป็นผลมาจากมาตรการของ ภาครัฐ2/ เป็นสำคัญ โดยประเมินว่ายังไม่มีแรงกดดันต่อราคาสินค้าที่เกิดจากอุปสงค์ เนื่องจากเศรษฐกิจเพิ่งเริ่มฟื้นตัว โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อ พื้นฐานในช่วงไตรมาสแรกของปี 2553 จะอยู่ในระดับไม่เกินร้อยละ 1 แต่สูงกว่าขอบล่างของเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อปี 2553 และเมื่อมาตรการ ภาครัฐสิ้นสุดลงในเดือนมีนาคม 2553 จะทำให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือนเมษายน 2553 เพิ่มขึ้นอีกประมาณ ร้อยละ 0.5 แม้ว่าราคาสินค้าและ บริการที่เคยได้รับการอุดหนุนจะสูงขึ้นสู่ระดับราคาปกติ ทั้งนี้เป็นเพราะรัฐได้เริ่มทยอยลดการอุดหนุนลงตั้งแต่ต้นปี 2552 ส่วนในเดือนพฤษภาคม 2553 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 2 เนื่องจากผลของนโยบายเรียนฟรี 15 ปี ซึ่งเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้อัตรา เงินเฟ้อในปี 2552 ต่ำกว่าที่ควรจะเป็นหมดลง เพราะดำเนินมาครบรอบ 1 ปี ทำให้ไม่มีการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้าและบริการที่ เกี่ยวข้อง สำหรับในช่วงครึ่งหลังของปี 2553 แนวโน้มเศรษฐกิจที่คาดว่าจะขยายตัวดีขึ้นต่อเนื่อง อาจสร้างแรงกดดันต่อราคาสินค้ามากขึ้น โดย อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานน่าจะเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงร้อยละ 2-3

แนวทางการดำเนินนโยบายการเงิน

ในการตัดสินใจดำเนินนโยบายการเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ กนง. จะพิจารณาอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเป็น สำคัญ เพราะเป็นเครื่องสะท้อนแรงกดดันต่อราคาสินค้าที่เกิดจากอุปสงค์ได้ดีกว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไป นอกจากนั้น ยังพิจารณาถึงตัวแปรทาง เศรษฐกิจอื่นประกอบด้วย อาทิ แนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แนวโน้มการบริโภคและการลงทุนของทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ ภาวะการจ้าง งานและอัตราการใช้กำลังการผลิตและภาวะความไม่สมดุลทางการเงินในด้านต่างๆ

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการฟื้นตัว จึงยังไม่มีแรงกดดันต่อเสถียรภาพด้านราคาในขณะนี้ แต่แรงกดดันจะมีมากขึ้น เป็นลำดับ สอดคล้องกับประมาณการอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ค่อย ๆ เพิ่มขึ้นและคาดว่าจะอยู่ประมาณค่ากลางของช่วงเป้าหมายเงินเฟ้อในปี 2553 แต่ในระยะต่อไปเมื่อเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวได้แข็งแกร่งขึ้น อาจสร้างแรงกดดันต่อเงินเฟ้อและทำให้มีการขึ้นราคาสินค้าและบริการอย่างกว้างขวาง ซึ่ง กนง. จะประเมินแรงกดดันต่อเงินเฟ้อและดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสมต่อไป

1/ตัวอย่างเช่นในเดือนมกราคม 2552 เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (มกราคม 2551) คำนวณโดย [(44.1-87.4)/87.4]*100 = -49.5%

2/มาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐบาลประกอบด้วยการอุดหนุนค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ค่าโดยสารรถสาธารณะ (ขสมก.) ค่าโดยสารรถไฟ

และตรึงราคาก๊าซหุงต้ม รวมทั้งนโยบายเรียนฟรี 15 ปี

ธนาคารแห่งประเทศไทย

25 ธันวาคม 2552

ข้อมูลเพิ่มเติม : ทีมวิเคราะห์เสถียรภาพเศรษฐกิจการเงิน โทร: 0 2283 5641, 02283 6824

e-mail: Donn@bot.or.th; Pranesu@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ