การลดค่าเงินด่องของเวียดนาม จะทำให้ไทยเสียเปรียบทางการแข่งขันหรือไม่?

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 29, 2009 11:50 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ดร. สมศจี ศิกษมัต

ผู้บริหารส่วน ส่วนดุลการชำระเงิน

ธนาคารแห่งประเทศไทย

ล่าสุดเมื่อวันที่ 26 พ.ย. ธนาคารกลางเวียดนามได้ลดค่าเงินด่องลงร้อยละ 5.4 เพื่อกระตุ้นการส่งออกและลดปัญหาการขาดดุลการค้าที่สูงถึง 10.4 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในช่วง 11 เดือนของปีนี้ พร้อมกับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Base Interest Rate) อีกร้อยละ 1.0 มาอยู่ที่ร้อยละ 8 เพื่อหวังจะช่วยดึงดูดเงินลงทุนจากต่างชาติ และที่สำคัญต้องการลดแรงกดดันของเงินเฟ้อซึ่งเคยเร่งตัวสูงกว่าร้อยละ 10 ในช่วงต้นปี

การลดค่าเงินด่องทำให้หลายคนกังวลว่าสินค้าออกของไทยจะเสียเปรียบในด้านราคามากขึ้นจนไม่สามารถแข่งกับสินค้าของเวียดนามได้ โดยเฉพาะ ข้าว สิ่งทอ รองเท้า ของเล่น เฟอร์นิเจอร์ และยังวิตกอีกว่าในระยะต่อไปไทยอาจเสียเปรียบในเรื่องของการลงทุนจากต่างประเทศอีกด้วย เพราะปัจจุบันเวียดนามมีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูงขึ้น ทั้งด้านแรงงานและทรัพยากรทางธรรมชาติ ป่าไม้และแหล่งน้ำ ตลอดจนมีความสงบภายในบ้านเมือง ซึ่งล้วนเป็นจุดเด่นที่จะดึงดูดเงินทุนจากต่างชาติให้ไหลเข้าไปในเวียดนาม

ในประเด็นเรื่องสินค้าไทยที่จะเสียเปรียบในด้านราคามากขึ้นจนไม่สามารถแข่งกับสินค้าของเวียดนามได้นั้น ผลกระทบดังกล่าวจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับว่าไทยและเวียดนามเป็นคู่ค้าและคู่แข่งกันในสินค้าใดบ้าง และคุณภาพของสินค้าที่ผลิตนั้นเหมือนกันหรือแตกต่างกันอย่างไร

ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การส่งออกของเวียดนามเร่งตัวขึ้นโดยตลอด สินค้าออกสำคัญ ได้แก่ น้ำมันดิบ ข้าว กุ้งแช่แข็ง รองเท้า และเฟอร์นิเจอร์ อย่างไรก็ตาม มูลค่าการส่งออกของเวียดนามในตลาดโลกยังต่ำกว่าไทย โดยในช่วง 11 เดือนของปี 2552 มีมูลค่าทั้งสิ้น 51.3 พันล้านดอลลาร์ สรอ. หรือประมาณร้อยละ 0.4 ของมูลค่าส่งออกของโลก ขณะที่ของไทยมีมูลค่า 137.9 พันล้านดอลลาร์ สรอ. หรือร้อยละ 1.2 ของมูลค่าส่งออกของโลก

ในด้านความเป็นคู่ค้า ไทยเกินดุลการค้ากับเวียดนามมาโดยตลอด โดยเวียดนามเป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 9 ของไทย มีมูลค่าประมาณ 4.2 พันล้านดอลลาร์ สรอ. โดยไทยส่งออก น้ำมันสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก เหล็ก เครื่องยนต์ กระดาษ และ เครื่องจักรกล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าทุนและวัตถุดิบที่เวียดนามนำไปผลิตต่อเป็นสินค้าขั้นสุดท้ายสำหรับใช้ในประเทศและส่งออก ดังนั้น ในระยะสั้น การลดค่าเงินด่องไม่น่าจะทำให้เวียดนามลดการนำเข้าจากไทยและไปนำเข้าจากแหล่งอื่นแทน เพราะสินค้าเหล่านี้เป็นสินค้าจำเป็นที่ใช้ในการผลิตขั้นต่อๆไป และหากจะเปลี่ยนไปซื้อกับประเทศอื่น ราคาก็คงแพงใกล้เคียงกัน เนื่องจากค่าเงินบาทเคลื่อนไหวไปกับค่าเงินในภูมิภาค

ขณะที่การนำเข้าของไทยจากเวียดนามมีมูลค่า 1.3 พันล้านดอลลาร์ สรอ. หรือร้อยละ 1.1 ของการนำเข้าทั้งหมด สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมันดิบ คอมพิวเตอร์ เครื่องจักรไฟฟ้า ถ่านหิน ด้ายและเส้นใย เงินด่องที่อ่อนค่าลงเมื่อเปรียบเทียบกับเงินบาทอาจช่วยลดต้นทุนการนำเข้าสินค้าของไทยจากเวียดนามลงบางส่วน

ในด้านความเป็นคู่แข่ง เวียดนามได้เปรียบไทยในเรื่องของผลผลิตต่อไร่ของสินค้าเกษตรบางตัว โดยเฉพาะข้าวที่มีผลผลิตต่อไร่สูงกว่าไทยมาก เนื่องจากมีการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งช่วยให้เวียดนามสามารถกำหนดราคาข้าวได้ต่ำกว่าของไทยเกือบ 100 ดอลลาร์ สรอ. /ตัน แต่โชคดีที่ไทยยังคงความได้เปรียบในเรื่องข้าวหอมมะลิ จึงทำให้ข้าวไทยยังคงเป็นที่นิยมกันในตลาดโลก

ค่าจ้างในเวียดนามถูกกว่าในไทยกว่า 3 เท่า จึงทำให้ได้เปรียบด้านราคาในสินค้าที่ใช้แรงงานสูงอย่างเช่น กุ้งแช่แข็ง สิ่งทอ รองเท้า ของเล่น และอุปกรณ์กีฬา ซึ่งการลดค่าเงินด่องอาจช่วยให้เวียดนามได้เปรียบทางด้านราคามากขึ้นอีก

แม้ค่าเงินด่องที่อ่อนลงและค่าแรงที่ถูกจะช่วยให้เวียดนามได้เปรียบทางด้านราคา แต่เงินเฟ้อของเวียดนามค่อนข้างสูง แม้ว่าทางการได้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ แต่การลดค่าเงินด่องจะทำให้ต้นทุนการนำเข้าปัจจัยการผลิตต่างๆของเวียดนามแพงขึ้นได้ ซึ่งอาจส่งผลต่อเงินเฟ้อได้อีกต่อหนึ่ง ซึ่งทำให้ราคาสินค้าส่งออกสูงขึ้นในที่สุด จึงต้องรอดูต่อไปว่านโยบายค่าเงินอ่อนและดอกเบี้ยที่สูงขึ้น จะช่วยเวียดนามให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้มากน้อยเพียงใด

การลดค่าเงินด่องทำให้รายได้ส่งออกต่อหน่วยเมื่อแปลงเป็นเงินด่องแล้วจะเพิ่มขึ้น ซึ่งหากเวียดนามลดราคาส่งออกในรูปดอลลาร์ สรอ. ลง ก็จะกระทบต่อสินค้าไทยที่เป็นคู่แข่งกับเวียดนาม แต่ทั้งนี้คุณภาพและมาตรฐานของสินค้าก็มีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจของผู้ซื้อด้วยเช่นกัน

สรุป คำถามที่ว่าการลดค่าเงินด่องจะทำให้ไทยเสียเปรียบทางการแข่งขันหรือไม่ คำตอบไม่ได้อยู่ที่เรื่องของค่าเงินเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีอีกหลายปัจจัยที่กระทบต่อความได้เปรียบเสียเปรียบทางการแข่งขัน การลดค่าเงินด่องอาจเป็นประโยชน์ต่อไทยในเชิงที่กระตุ้นให้เราต้องเร่งเดินหน้าพัฒนาและปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและการลงทุน ตลอดจนกลยุทธ์ต่างๆที่เกี่ยวกับการส่งออกให้ดียิ่งขึ้น และให้ความสำคัญมากขึ้นกับการบริหารความเสี่ยงเรื่องค่าเงิน เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางการแข่งขันของประเทศ เพราะสินค้าไทยไม่ได้แข่งขันกับสินค้าจากเวียดนามเท่านั้น แต่ยังต้องแข่งขันกับสินค้าจากประเทศอื่นๆ ซึ่งนับวันก็จะทวีความเข้มข้นขึ้น

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย
เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 29 ธันวาคม 2552

          ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ