เศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือเดือนพฤศจิกายน 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 5, 2010 13:31 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคเหนือเดือนพฤศจิกายน 2552 ขยายตัวดีขึ้นในเกือบทุก ภาคเศรษฐกืจ โดยผลผลิตอุตสาหกรรมซึ่งลดลงเล็กน้อยเดือนก่อนกลับเพิ่มขึ้นมาก ตามความต้องการสินค้าแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรและสินค้าอิเล็คทรอนิกส์ที่มีคำสั่งซื้อมากขึ้น และเป็นที่น่าสังเกตว่าการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ขยายตัวเป็นเดือนแรกนับแต่เดือนตุลาคม 2551 การสง่ออกโดยรวมยงัคงขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง ขณะที่การนำเข้าสินค้าขั้นกลางและสินค้าทุนเพิ่มขึ้นสะท้อนความต้องการของตลาดต่างประเทศที่มีเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก การบริโภค การค้าและการลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง รายได้ของเกษตรกรปรับดีขึ้นต่อเนื่องนับแต่เดือนกรกฎาคม 2552 ภาคบริการได้รับอานิสงค์จากการเข้าสู่ฤดูท่องเที่ยวและการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดต่างๆ การใช้จ่ายภาครัฐเร่งตัวหลังพ.ร.บ. งบประมาณปี 2553 ประกาศล่าช้าเดือนก่อน อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ สำหรับเงินให้สินเชื่อปรับลดลงเล็กน้อย ในขณะที่เงินฝากทรงตัว

รายละเอียดของแต่ละภาคเศรษฐกิจ มีดังนี้

1. ภาคเกษตร รายไดข้องเกษตรกรปรับตัวดีขึ้น อย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2552 แต่เมื่อเทียบกบัระยะเดียวกันปีก่อนหดตัวร้อยละ 14.7 โดยดัชนีราคาพืชผลหลักลดลงร้อยละ 12.6 ตามราคาข้าวเปลือกเจ้านาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ลดลงร้อยละ 12.0 และร้อยละ 3.8 ตามลำดับ ผลจากฐานราคาของปีก่อนอยู่ในระดับสูงเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดีราคาพืชสำคัญทั้ง 2 ชนิด ได้ปรับสูงขึ้นจากเดือนก่อนเนื่องจากมีความต้องการของตลาดโลกเพิ่มขึ้น สำหรับราคาข้าวเปลือกเหนียวนาปี ถั่วเขียว และมันสำปะหลัง เพิ่มขึ้นร้อยละ 52.1 ร้อยละ 106.6 และร้อยละ 30.2 ตามลำดับ ทางด้านดัชนีผลผลิตพืชผลสำคัญลดลงร้อยละ 2.5 จากผลผลิตข้าวนาปีและมันสำปะหลังที่ลดลงร้อยละ 2.5 และร้อยละ 6.5 ตามลำดับ เนื่องจากการระบาดของแมลงศัตรูพืชค่อนข้างรุนแรงทำให้ผลผลิตต่อไร่ลดลง โดยเฉพาะในพื้นที่เพาะปลูกสำคัญในจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9 เนื่องจากราคาของปีก่อนอยู่ในเกณฑ์สูงจูงใจให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูก

2. ภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมภาคเหนือขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 23.3 เร่งตัวเมื่อเทียบกับที่หดตัวร้อยละ 3.3 เดือนก่อน ตามการเพิ่มขึ้นของอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร โดยผลผลิตอุตสาหกรรมอาหารเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 45.6 จากผลผลิตลำไยอบแห้งที่ส่งออกไปตลาดจีนเพิ่มขึ้น การผลิตพืชผักแช่แข็ง และข้าวโพดหวานบรรจุกระป๋องที่ขยายตัวตามการส่งออกไปตลาดเอเชียตะวันออกและรัสเซีย อีกทั้งผลผลิตน้ำตาลที่ขยายตัวดีตามการเพิ่มขึ้นของพื้นที่เพาะปลูกอ้อยโดยเฉพาะในภาคเหนือตอนล่าง ด้านการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์กลับมาขยายตัวเป็นเดือนแรกนับ แต่เดือนตลุคม 2551 ที่ร้อยละ 18.1 ทั้งชิ้นส่วนที่ใช้ในคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์เคลื่อนที่ โทรทัศน์ LCD และส่วนประกอบฮาร์ดดิสไดร์ ส่วนหนึ่งจากฐานการผลิตที่ต่ำช่วงเดียวกันปีก่อนตามผลกระทบวิกฤตเศรษฐกิจโลก ขณะที่การผลิตสินค้ากลุ่มวัสดุก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 75.6 จากการก่อสร้างของภาครัฐและภาคชาวบ้านที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ และอีกส่วนหนึ่งจากขยายตัวของการส่งออกไปพม่า อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมเครื่องดื่มลดลงร้อยละ 5.5 ตามการหดตัวจากการเร่งผลิตในช่วงก่อนหน้า

3. ภาคบริการ เครื่องชี้ต่างๆด้านการท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง อานิสงค์จากการเข้าสู่ช่วงเทศกาลท่องเที่ยวของภาคเหนือ การจัดกิจกรรมต่างๆเพื่อช่วยกระตุ้นนักท่องเที่ยวและอากาศที่หนาวเย็นขึ้น โดยผู้โดยสารผ่านท่าอากาศยานภาคเหนือขยายตัวมากถึงร้อยละ 32.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากทั้งการเดินทางมาท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้นและฐานที่ต่ำในปี 2551 จากผลกระทบของเหตุการณ์ปิดสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมือง ด้านการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มประเภทโรงแรมและภัตตาคารยังคงปรับตัวลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 6.3 สำหรับอัตราการเข้าพักของโรงแรมอยู่ที่ร้อยละ 63.7 ลดลงเล็กน้อยจากปีก่อนร้อยละ 1.2 มา ขณะที่ราคาห้องพักเฉลี่ยลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนถึงร้อยละ 7.0 มาอยู่ที่ 1,077 บาท/คืน สะท้อนภาพการแข่งขันด้านราคาห้องพักของภาคเหนือในจังหวัดท่องเที่ยวที่สำคัญ

4. ภาคการค้า ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยดัชนีภาคการค้าเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 13.3 การค้าหมวดยานยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.2 ตามความต้องการซื้อรถยนต์ที่สูงขึ้นจากการแข่งขันด้านการตลาดโดยเฉพาะการเปิดตัวรถรุ่นใหม่ของแต่ละค่ายผู้ผลิต ตลอดจนเทคนิคในการส่งเสริมการขายที่จูงใจลูกค้ามากขึ้นเพื่อเร่งยอดขายในช่วงปลายปีให้ถึงเป้าหมายที่กำหนดไว้ ทั้งนี้รวมถึงการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นด้วย หมวดการค้าส่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.2 จากการเพิ่มสต๊อกสินค้าวัสดุก่อสร้างเพื่อรองรับงานโครงการก่อสร้างตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ขณะที่หมวดการค้าปลีกยังคงเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.4 ตามการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคที่เริ่มกระเตื้องขึ้น

5. การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนภาคเหนือเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 2.5 จากภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มคลี่คลายและประชาชนคลายความกังวล ประกอบกับมาตรการส่งเสริมการขายและอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในเกณฑ์ต่ำ โดยดัชนีหมวดยานยนต์ปรับตัวดีขึ้นมากทุกประเภท ส่วนหนึ่งจากฐานที่ต่ำช่วงเดียวกันปีก่อนจากผลกระทบวิกฤตเศรษฐกิจโลก สำหรับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มขยายตัวร้อยละ 0.7 ชะลอตัวลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 2.4 เดือนก่อน

6. การลงทุนภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชนของภาคเหนือปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน จากแรงกระตุ้นการใช้จ่ายของทางการ ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนภาคเหนือเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 5.5 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน ตามการปรับตัวดีขึ้นของปริมาณการจำหน่ายวัสดุก่อสร้างที่ขยายตัวร้อยละ 73.0 เร่งตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน ทั้งจากตลาดในประเทศตามโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ของรัฐในช่วงเริ่มต้นปีงบประมาณ 2553 อาทิ ถนน คอสะพาน และการส่งออกไปประเทศเพื่อนบ้าน รายได้ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนที่ดินขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 22.3 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน ส่วนหนึ่งเนื่องจากใกล้สิ้นสุดระยะเวลาการลดค่าธรรมเนียมการโอนและค่าจดทะเบียนจำนองที่ลดเหลือร้อยละ 0.01 และเป็นผลจากการขยายตัวของธุรกรรมซื้อขายที่ดินเปล่า โดยเฉพาะจังหวัดหลักของภาคเหนือตอนบน สพหรับ พื้นที่รับอนญุตก่อสร้างในเขตเทศบาลลดลงร้อยละ 31.8 ตามการหดตัวของประเภทที่อยู่อาศยัเปน็สำคัญ สำหรับความสนใจลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ ซึ่งสะท้อนจากการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในภาคเหนือหดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 62.9 แต่ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน โดยมีการอนุมัติ 6 โครงการเงินลงทุน 427.0 ล้านบาทในหมวดผลิตภัณฑ์กระดาษและพลาสติก และหมวดเกษตรกรรมและผลิตผลการเกษตร เป็นสำคัญ

7. การค้าต่างประเทศ การส่งออกขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง โดยเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนถึง ร้อยละ 21.2 เป็น 240.4 ล้านดอลลาร์ สรอ. เร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อน โดยการส่งออกสินค้าเกษตรขยายตัวกว่าร้อยละ 60.5 ตามการขยายตัวดีของข้าวโพด ใบยาสูบ และลำไยอบแห้ง ด้านการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวเป็นเดือนแรกนับแต่ เดือนตุลาคม 2551 ที่ร้อยละ 4.2 โดยสินค้าอุตสาหกรรมประเภท Labor-Intensive Products เพิ่มขึ้นจากการส่งออกอัญมณี เป็นสำคัญ และสินค้าประเภท Resource-Based Products ที่ส่งออกขยายตัวเช่นกัน อาทิ ข้าวโพดหวานบรรจุกระป๋องพืชผกัถนอมอาหาร และนมปรุงแต่ง การส่งออกผ่านด่านชายแดนขยายตัวร้อยละ 35.4 เป็น 108.5 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวดีต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยเฉพาะการส่งออกไปพม่าและลาวที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 40.2 และร้อยละ 76.9 ตามลำดับ ส่วนการส่งออกไปจีนตอนใต้หดตัวร้อยละ 1.4

การนำเข้าผ่านด่านศุลกากรในภาคเหนือขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 32.8 เป็น 141.8 ล้านดอลลาร์ สรอ. เร่งตัวขึ้นเมื่อเทียบกับที่ลดลงร้อยละ 18.4 เดือนก่อน ตามการนำเข้าสินค้าเกือบทุกประเภทที่ขยายตัว โดยการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางเพิ่มขึ้นร้อยละ 33.1 ขยายตัวดีจากการนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ แก้วและเคมีภัณฑ์ ขณะที่

การนำเข้าสินค้าทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 42.9 จากการนำเข้าชิ้นส่วนเครื่องจักรกลอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น ด้านการนำเข้าผ่านด่านชายแดนหดตัวร้อยละ 24.8 เหลือ 11.0 ล้านดอลลาร์ สรอ. ตามการนำเข้าจากพม่าที่หดตัวมากถึงร้อยละ 73.7 เช่น ผักและผลไม้สด และผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ ด้านการนำเข้าจากจีนตอนใต้ลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.7 ส่วนการนำเข้าจากลาวเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าตัวจากการนำเข้าผักผลไม้ และแร่ลิกไนต์

ดุลการค้า ในเดือนพฤศจิกายน 2552 เกินดุล 98.6 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนที่เกินดุล 91.7 ล้านดอลลาร์ สรอ. แต่ลดลงจากเดือนก่อนที่เกินดุล 143.9 ล้านดอลลาร์ สรอ.

8. การเบิกจ่ายเงินงบประมาณผ่านคลังจังหวัดในภาคเหนือ การเบิกจ่ายเร่งตัวเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 60.4 เร่งตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ 1.9 ทั้งนี้เป็นผลมาจากการเร่งเบิกจ่ายเงินงบประมาณปีปัจจุบันที่เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว ตามการเบิกจ่ายของเงินอุดหนุนทั่วไปของส่วนราชการโดยฉพาะเงินอุดหนุนทั่วไปขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่งผลให้ทุกจังหวัดมีการเบิกจ่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.3 - 104.7 จากระยะเดียวกันปีก่อน

9. ระดับราคา ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของภาคเหนือเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 2.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 2 ต่อเนื่องจากเดือนก่อน ผลจากการเพิ่มขึ้นของหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มเป็นสำคัญ โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 และเพิ่มมากในหมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสารที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.6 สินค้าสำคัญในหมวดนี้ ได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศที่ราคาปรับตัวสูงขึ้น หมวดเคหสถานเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ที่ร้อยละ 2.4 ตามการปรับเกณฑ์ลดการช่วยเหลือในการต่ออายุ 5 มาตรการ 6 เดือน โดยเฉพาะค่าไฟฟ้าและน้ำประปา ขณะที่ค่าการศึกษาและค่าเครื่องแบบนักเรียนยังคงลดลงจากผลของมาตรการเรียนฟรี 15 ปี สำหรับราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 อ่อนตัวลงจากเดือนก่อนตามราคาหมวดย่อยผักและผลไม้ที่ลดลงร้อยละ 0. 5 โดยผักสดราคาปรับลดลงภายหลังเทศกาลกินเจ ผลไม้สดบางชนิด อาทิ ส้มเขียวหวาน ที่ผลผลิตเริ่มทยอยออกสู่ตลาด สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 0.1

10. การจ้างงาน จากการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติเพียงสิ้นเดือนตุลาคม 2552 ภาคเหนือมีกำลังแรงงานรวม 7.2 ล้านคนในจำนวนนี้เป็นผู้มีงานทำ 7.1 ล้านคน โดยภาวะการจ้างงานรวมขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 0.9 จากการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่ขยายตัวร้อยละ 3.6 โดยขยายตัวมากในสาขาการค้าส่ง/ปลีก โรงแรม/ภัตตาคาร และการผลิต ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.5 ร้อยละ 8.7 และร้อยละ 2.2 ตามลำดับ เนื่องจากสาขาดังกล่าวมีความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้นหลังจากการปรับลดแรงงานช่วงวิกฤตเศรษฐกิจในปลายปี 2551 ขณะที่การจ้างงานในภาคเกษตรหดตัวร้อยละ 2.1 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการโอนย้ายแรงงานเข้าสู่นอกภาคเกษตร ด้านผู้ว่างงานมีจำนวน 0.1 ล้านคน คิดเป็นอัตราการว่างงานเท่ากับร้อยละ 0.8 ต่ำกว่าร้อยละ 1.0 ระยะเดียวกันปีก่อน สำหรับอัตราการทำงานต่ำกว่าระดับอยู่ที่ร้อยละ 2.0 สูงกว่าร้อยละ 1.8 ระยะเดียวกันปีก่อนเล็กน้อย ทางด้านสถานการณ์การเลิกจ้างคลี่คลายลงเป็นลำดับสะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2552 ที่มีจำนวน 15,520 คน ลดลงต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2552 ขณะที่จำนวนผู้ประกันตนรวมของภาคเหนือมีจำนวน 701,707 คน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนและระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 0.8 และร้อยละ 5.2 ตามลำดับ จำแนกเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จำนวน 604,081 คน และตามมาตรา 39 จำนวน 97,626 คน ขยายตัวร้อยละ 1.3 และร้อยละ 38.2 ตามลำดับ

11. การเงิน ยอดคงค้างเงินฝากที่สาขาธนาคารพาณิชย์ในภาคเหนือ ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2552 มีจำนวนทั้งสิ้น 380,598 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 5.5 อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้ายอดคงค้างเงินฝากลดลง 1,053 ล้านบาท เนื่องจากส่วนราชการต่าง ๆ ไม่สามารถเบิกรับงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2553 ได้ทันทำให้มีการถอนเงินฝากเพื่อนำไปใช้ในโครงการต่าง ๆ โดยเฉพาะในภาคเหนือตอนล่างซึ่งเงินฝากลดลงทุกจังหวัด โดยลดลงมากที่จังหวัดพิษณุโลก นครสวรรรค์ และเพชรบูรณ์ อย่างไรก็ดีเงินฝากเพิ่มขึ้นมากที่จังหวัดเชียงใหม่จากเงินฝากของสถานศึกษา ด้านเงินให้สินเชื่อมียอดคงค้าง 297,609 ล้านบาทลดลงร้อยละ 1.5 หดตัวลงเล็กน้อยจากร้อยละ 1.2 เดือนก่อน เนื่องจากการชำระหนี้คืนของสหกรณ์ออมทรัพย์ และธุรกิจโรงแรมซึ่งได้แหล่งเงินทุนที่มีต้นทุนต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของ ธนาคารพาณิชย์ ส่งผลให้สินเชื่อลดลงมากที่จังหวัดเชียงใหม่ และอุตรดิตถ์ อย่างไรก็ตามยังมีความต้องการใช้สินเชื่อของธุรกิจโรงสีข้าวและค้าพืชไร่อย่างต่อเนื่องในบางจังหวัดในเขตภาคเหนือตอนล่าง สำหรับสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากอยู่ที่ร้อยละ 78.2 ลดลงจากร้อยละ 83.7 ระยะเดียวกันของปีก่อน

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ

ข้อมูลเพิ่มเติม : คุณชนินทร์ เพชรไทย

โทร 0 5393 1157

E-mail: Chaninp@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ