สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ เดือนพฤศจิกายน 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 23, 2009 13:42 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ภาวะเศรษฐกิจภาคใต้เดือนพฤศจิกายน ปี 2552 ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน จากแรงผลักด้านอุปทานเป็นสำคัญ โดยรายได้เกษตรกร ขยายตัวตามการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าเกษตรสำคัญของภาคใต้ ได้แก่ ยางพาราและปาล์มน้ำมัน การทำประมงทะเลเพิ่มขึ้นทั้งในด้านปริมาณและมูลค่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะในการผลิตอุตสาหกรรมยาง อาหารทะเลบรรจุกระป๋อง และไม้ยางแปรรูป ขณะที่การผลิตอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มดิบและถุงมือยางขยายตัวเล็กน้อย ส่วนด้านอุปสงค์ การลงทุนของภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น จากการขยายตัวของเครื่องชี้ในภาคการก่อสร้าง การจดทะเบียนธุรกิจนิติบุคคลรายใหม่ และเงินเพิ่มทุนจดทะเบียน ในขณะที่การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนลดลง โดยจะเห็นได้จากยอดจดทะเบียนรถที่ลดลงทุกประเภท และการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ปรับลดลง เงินฝากของสาขาธนาคารพาณิชย์หดตัวในอัตราที่เร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อน ส่วนเงินให้สินเชื่อขยายตัว รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจในเดือนพฤศจิกายน ปี 2552 มีดังนี้

1. ภาคเกษตร รายได้ของเกษตรกรขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยดัชนีรายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 41.0 จากเดือนก่อนที่เพิ่มร้อยละ 8.9 เป็นผลจากด้านราคาเป็นสำคัญ ทั้งราคายางและปาล์มน้ำมัน โดยราคายางแผ่นดิบเพิ่มขึ้นร้อยละ 44.1 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นช่วงที่ราคายางพาราเริ่มตกต่ำจากวิกฤตเศรษฐกิจ ประกอบกับเดือนนี้ ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย เนื่องจากฝน เช่นเดียวกับปาล์มน้ำมัน ที่ราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 42.0 เนื่องจากเป็นช่วงที่ปริมาณผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้ลดน้อยลงตามฤดูกาล

การทำประมงทะเลเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อน ปริมาณสัตว์น้ำนำขึ้นที่ท่าเทียบเรือองค์การสะพานปลาเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 ส่วนมูลค่า เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 ขณะที่ปริมาณกุ้งจากการเพาะเลี้ยงลดลงร้อยละ 16.1 เนื่องจากเกิดการระบาดของโรคกุ้ง ทำให้ราคากุ้งปรับเพิ่มขึ้น โดยกุ้งขนาด 50 ตัวต่อกิโลกรัม ราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.3

2. ภาคอุตสาหกรรม ขยายตัวต่อเนื่อง โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.0 จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 9.6 ตามการผลิตอุตสาหกรรมยาง อาหารทะเลบรรจุกระป๋อง และไม้ยางแปรรูปที่ขยายตัวต่อเนื่อง ส่วนอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มดิบและถุงมือยางขยายตัวเล็กน้อย ขณะที่การผลิตอาหารทะเลแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป ลดลง

การผลิตอุตสาหกรรมยาง ขยายตัว ตามการส่งออกยางทุกประเภทที่เพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว และมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อของผู้บริโภค ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ รวมทั้งอุปสงค์ยางที่เพิ่มขึ้น ทั้งของจีนและสหรัฐอเมริกา ขณะที่การผลิตถุงมือยางขยายตัวเล็กน้อยตามปริมาณการส่งออกที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 เดือนนี้ การผลิตอาหารทะเลบรรจุกระป๋อง เพิ่มขึ้น โดยการส่งออกขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน ตามความต้องการที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาวัตถุดิบปรับลดลง โดยการส่งออกปลากระป๋องไปตลาดสำคัญ ซึ่งได้แก่กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ปรับตัวสูงขึ้น ส่วนการผลิตอาหารทะเลแช่เย็น แช่แข็งและแปรรูปลดลง เนื่องจากการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้ง ปลา และปลาหมึกลดลง

3. การท่องเที่ยว ขยายตัว ทั้งการท่องเที่ยวในภาคใต้ฝั่งอันดามันและภาคใต้ตอนล่าง จำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศที่เดินทางผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองในภาคใต้ เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 9.6 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการส่งเสริมการท่องเที่ยวของภาครัฐและเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้มีเที่ยวบินตรง และเช่าเหมาลำเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม อัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 50 ใกล้เคียงกับเดือนเดียวกันปีก่อน

4. การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อน แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนลดลงร้อยละ 0.4 แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บได้ในเดือนนี้ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.9 แต่เมื่อเปรียบเทียบกับภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บได้ในเดือนนี้ ณ ราคาคงที่ปี 2543 ยอดลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 1.8 การจดทะเบียนยานยนต์ลดลงทุกประเภท อย่างไรก็ตาม การใช้เชื้อเพลิงและการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น

5. การลงทุนภาคเอกชน ปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากการขยายตัวของเครื่องชี้ในภาคการก่อสร้าง การจดทะเบียนธุรกิจนิติบุคคลรายใหม่ และเงินเพิ่มทุนจดทะเบียน เป็นสำคัญ ในด้านการก่อสร้าง พื้นที่ที่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างในเขตเทศบาล เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.5 การจดทะเบียนธุรกิจนิติบุคคลสุทธิ มีเงินทุนจดทะเบียนเพิ่มขึ้น 41.2 อย่างไรก็ตาม โครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุน ลดลงทั้งจำนวนโครงการและเงินลงทุนรวม

6. การจ้างงาน ความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้น จากตำแหน่งงานว่างที่ผู้ประกอบการแจ้งผ่านสำนักงานจัดหางานจังหวัดเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 34.3 ขณะที่มีการบรรจุงานลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 0.7 แม้ว่าจะมีผู้มาสมัครงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.6 ส่วนจำนวนแรงงานที่เข้าโครงการประกันสังคม ตามมาตรา 33 ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2552 เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 3.8 โดยเพิ่มขึ้นในทุกจังหวัด ยกเว้นจังหวัดภูเก็ตที่ลดลงเล็กน้อย

7. ระดับราคา อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของภาคใต้เร่งตัว โดยเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 3.3 ตามการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มร้อยละ 3.5 โดยเฉพาะราคาสินค้าข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง

อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนและเดือนก่อนหน้า ร้อยละ 0.6 และ 0.1 ตามลำดับ.

8. การค้าต่างประเทศ การส่งออกปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยมูลค่าการส่งออกในรูปดอลล่าร์สรอ. หดตัวในอัตราที่ชะลอลง ยอดส่งออกลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อน ร้อยละ 0.3 เปรียบเทียบกับที่ลดลงร้อยละ 17.2 ในเดือนก่อน โดยสินค้าส่งออกในรูปเงินดอลลาร์สรอ. ที่มียอดส่งออกลดลง ได้แก่ ถุงมือยาง สัตว์น้ำแช่แข็ง ขณะที่มูลค่าการส่งออกยางพารา ไม้ยางแปรรูป และอาหารกระป๋องเพิ่มขึ้น ด้านการนำเข้าลดลงร้อยละ 34.6 ตามการลดลงของมูลค่าการนำเข้าเครื่องจักรอุปกรณ์ และสัตว์น้ำแช่แข็ง เป็นสำคัญ

9. ภาคการคลัง การเบิกจ่ายเงินงบประมาณของส่วนราชการต่างๆ ในภาคใต้ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ 11.9 และเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าถึงร้อยละ 81.4 จากมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินงบประมาณและงบไทยเข้มแข็ง เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและให้เป็นไปตามเป้าหมายของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่ ส่วนการจัดเก็บภาษี เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.6 ตามการจัดเก็บภาษีสรรพาสามิตได้เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ ขณะที่การจัดเก็บภาษีสรรพากรลดลงร้อยละ 4.3

10. การเงิน เงินฝากของสาขาธนาคารพาณิชย์ในภาคใต้หดตัวร้อยละ 1.3 เป็นการหดตัวในอัตราที่เร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อน ในขณะที่เงินให้สินเชื่อขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 0.2

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้

ข้อมูลเพิ่มเติม : นาฏน้อย แก้วมีจีน

โทร.0-7423-6200 ต่อ 4329 e-mail : nartnoik@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ