Reverse Stress Test: เอ็กซ์เรย์จุดอ่อนระบบการเงิน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 14, 2010 14:17 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

นายธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์

ผู้บริหารส่วน ส่วนบริหารความเสี่ยงทางการเงิน

ธนาคารแห่งประเทศไทย

Stress Test เป็นที่สนใจมากขึ้น หลังผู้กำกับดูแลสถาบันการเงินต่างประเทศประกาศใช้วัดความเปราะบางของธนาคารขนาดใหญ่หลังวิกฤติ อันที่จริง stress test เป็นเทคนิคเดิมที่ใช้ทั่วไปนานแล้ว เพื่อเสริมจุดอ่อนของ Value-at-Risk (VaR) ซึ่งเหมาะกับการประเมินความเสี่ยงในภาวะปกติ

การทำ Stress Test ให้สัมฤทธิผลเป็นเรื่องยาก ใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2-3 สัปดาห์และใช้คนจากหน่วยงานหลักในองค์กรจำนวนมาก ที่สำคัญมีจุดอ่อน 2 ประการคือ 1.ผลทดสอบขึ้นกับการจำลองสถานการณ์โดยไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวและใช้ความเชี่ยวชาญสูง 2.ผลทดสอบไม่บ่งถึงความเชื่อมโยงของปัจจัยที่กระทบต่อทั้งระบบการเงิน เช่นหากธนาคารถือ CDS/CDO เหมือนกันหมด การทำ stress test จะไม่บ่งชี้ว่า CDS/CDO อาจเป็นปัญหาต่อระบบเศรษฐกิจในอนาคต

จุดอ่อนของ Stress Test นำมาซึ่ง Reverse Stress Test ซึ่งเป็นเทคนิคที่ได้รับความสนใจมากขึ้น Financial Services Authority (FSA) แนะนำให้สถาบันการเงินในอังกฤษใช้เทคนิคนี้ แต่ไม่ได้ให้แนวทางชัดเจน ผมมีโอกาสฟังบรรยายจากเจ้าหน้าที่ Risk Metrics Group ที่ลอนดอนซึ่งให้แนวทางทำ Reverse Stress Test อย่างชัดเจนหลายแนวทาง แต่จะคัดเฉพาะที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์ชัดเจนต่อการเอ็กซ์เรย์จุดอ่อนระบบการเงิน 2 แบบมาเล่าสู่กันฟัง ดังนี้

1. Monte Carlo Reverse Stress Test — ทำโดยจำลองสถานการณ์แบบสุ่มนับหมื่นครั้ง (ปรับปัจจัยเสี่ยงเช่นอัตราดอกเบี้ย เงินเฟ้อ หุ้น ผลตอบแทนพันธบัตร อัตราแลกเปลี่ยน สินค้าโภคภัณฑ์ รวมถึงความผันผวนของปัจจัยต่างๆ) โดยคัดเฉพาะสถานการณ์ที่ผลขาดทุนสูงกว่าระดับที่รับได้ หรือระดับที่มีเงินทุนรองรับเพียงพอ เพื่อดูว่าในสถานการณ์นั้นปัจจัยและสินทรัพย์กลุ่มใดที่มีผลต่อผลขาดทุนมากที่สุด หากทุกธนาคารมีปัจจัยที่ทำให้เกิดผลขาดทุนมากร่วมกัน ปัจจัยนั้นถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ควรจับตาอย่างใกล้ชิด ในกรณีที่เกิดวิกฤติธนาคารหรือผู้เล่นรายใหญ่จะขายสินทรัพย์เหล่านี้ออกมาพร้อมๆ กันเป็นการซ้ำเติมวิกฤติ

2. Unwind Test - เหมาะกับสถานการณ์ที่สินทรัพย์ชนิดหนึ่งแพงขึ้นติดต่อกันยาวนาน ข้อมูลการขาดทุนจึงมีน้อย back test หรือ stress test โดยใช้สถานการณ์ในอดีตจึงไม่พบปัญหาในสินทรัพย์นี้ ทั้งที่โดยธรรมชาติสินทรัพย์ที่แพงขึ้นต่อเนื่องจะตกลงได้อย่างรวดเร็วและรุนแรงเพราะคนส่วนใหญ่ถือกันหมดและขายออกเวลาเดียวกัน การทำ unwind test ทำได้โดยสร้างสถานการณ์ย้อนกลับ

เช่นหากเคยกำไรวันละ 1% ก็ให้ขาดทุนวันละ 1% การสร้างสถานการณ์ย้อนกลับเช่นนี้จะชี้ว่าสถาบันการเงินใดจะเสียหายมากหากสถานการณ์ย้อนกลับและมีสถาบันการเงินใดเก็งกำไรมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ของแพงขึ้น (ride with the trend)

การทำ Monte Carlo Reserve Stress Test และ Unwind Test นั้นต้องใช้ระบบประมวล/วิเคราะห์ข้อมูลที่ดีและจำเป็นต้องใช้เวลาในการพัฒนา แต่ผลที่ได้น่าจะคุ้มค่า

บทเรียนจากที่ Trader ซื้อขาย CDS/CDO จนรวยมหาศาลแต่ภาคการเงินล่ม โดยทางการประเมินผลกระทบไม่ได้แต่ต้น จากนี้ไปการกดดันให้ซื้อขายอนุพันธ์บางส่วนในตลาด exchange ผนวกกับเทคนิค reverse stress test การประเมินความเสี่ยงต่อระบบจะง่ายขึ้น เช่นเราทราบว่าAndrew Hall เจ้าหน้าที่ Citigroup อาจได้โบนัสจากซื้อขายน้ำมัน 100 ล้านเหรียญปีนี้ เราก็ควรจะทราบว่าองค์กรใดบ้างที่จะถูกกระทบหากราคาน้ำมันผันผวนรุนแรงหรือราคาลดลงสวนทางที่เคยเป็นมา

แม้จะมีเทคนิคใหม่แต่การเอ็กซ์เรย์จุดอ่อนระบบการเงินเป็นเรื่องยาก เพราะระบบการเงินเชื่อมโยงทั้งโลก โดยรวมไปถึง Hedge fund ประกันภัย กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และผู้เล่นรายใหญ่ ผู้กำกับดูแลจะรวมรวมข้อมูลความเปราะบางของทั้งระบบได้นั้น ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างหน่วยงานกำกับดูแลทุกองค์กร รวมถึงความร่วมมือระดับโลกด้วย

ในยุคที่นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังเช่น Nouriel Roubini เตือนถึงความเสี่ยงที่จะเกิดฟองสบู่ในสินทรัพย์และโภคภัณฑ์นั้น การเอ็กซ์เรย์ความแข็งแรงของระบบเป็นเรื่องสำคัญครับ

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย
เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ ประชาชาติธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 14 - 17 มกราคม 2553

          ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ