การทดสอบภาวะวิกฤต (Stress Test)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 21, 2010 16:45 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

นายจาตุรงค์ จันทรังษ์

ผู้อำนวยการ ฝ่ายตรวจสอบความเสี่ยงและเทคโนโลยีสารสนเทศ

สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย

ผ่านเทศกาลปีใหม่มาแล้ว เริ่มเห็นสัญญาณว่าเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวจากวิกฤต sub-prime ที่เกิดจากความล้มเหลวในการบริหารความเสี่ยงของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ผมจะชวนมองไปข้างหน้าว่าธุรกิจหรือองค์กรควรจะต้องทำอย่างไร เพื่อบริหารความเสี่ยงให้มีประสิทธิภาพ ที่สำคัญที่สุดจะต้องตอบคำถามสำคัญ 2 ข้อให้ได้ คือ หนึ่ง ธุรกิจหรือองค์กรของตนแบกรับความเสี่ยงประเภทใดไว้บ้าง และมีระดับความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด และ สอง มีเหตุการณ์หรือสถานการณ์ใดบ้างที่อาจจะทำให้เกิดผลเสียหายต่อธุรกิจของตน และผลที่เกิดขึ้นมีมากน้อยเพียงใด ธุรกิจจะอยู่รอดได้หรือไม่ หากตอบคำถามทั้งสองข้อนี้ได้ชัดเจน ก็จะสามารถตัดสินใจต่อไปได้ว่าควรจะทำอย่างไรกับความเสี่ยงเหล่านั้น และนี่คือหัวใจของเครื่องมือที่เรียกว่า การทดสอบภาวะวิกฤต (Stress Test) ที่ผู้กำกับดูแลสถาบันการเงินทั่วโลกกำลังตื่นตัวให้ความสำคัญกันมาก เนื่องจากเชื่อว่าเป็นเครื่องมือที่จะช่วยประเมินความแข็งแกร่ง (หรือความอ่อนแอ) ของสถาบันการเงินได้ดี

Stress Test ที่ผมจะกล่าวถึงในบริบทของสถาบันการเงินนี้ เป็นการหาวิธีทดสอบว่าหากเกิดเหตุการณ์หรือสถานการณ์ (Scenario) ในทางลบที่รุนแรง จะส่งผลกระทบมากน้อยเพียงใดต่อสถาบันการเงิน ทั้งในเรื่องของสินเชื่อด้อยคุณภาพที่อาจสูงขึ้น (คือความเสี่ยงด้านเครดิต) มูลค่าสินทรัพย์ทางการเงินที่อาจลดลง (คือความเสี่ยงด้านตลาด) หรือสภาพคล่องที่อาจหายไป (คือความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง) สถาบันการเงินจะอยู่รอดได้หรือไม่ แล้วจึงพิจารณาต่อไปว่าจะต้องปรับตัวหรือจัดการกับความเสี่ยงที่มีอยู่อย่างไร โดยไม่ต้องรอให้เหตุการณ์หรือสถานการณ์นั้นเกิดขึ้นจริง ๆ ก่อน

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เริ่มทำการทดสอบภาวะวิกฤตของสถาบันการเงินอย่างเป็นระบบครั้งแรกเมื่อปี 2549-50 ภายใต้โครงการ Financial Sector Assessment Program (FSAP) ที่ทำร่วมกับ IMF และ World Bank มีการพัฒนาแบบจำลอง (Stress Test Model) ขึ้นมาเพื่อประเมินว่าหากเศรษฐกิจไทยชะลอตัวลง จะทำให้สินเชื่อด้อยคุณภาพของธนาคารพาณิชย์ไทยแต่ละแห่งเพิ่มขึ้นเท่าใด และอัตราดอกเบี้ยหรืออัตราแลกเปลี่ยนที่เปลี่ยนไปจะทำให้มูลค่าสินทรัพย์ทางการเงินลดลงไปเท่าใด รวมทั้งประเมินว่าหากผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้ถอนเงินออกไปอย่างมีนัยสำคัญ ธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งจะมีสภาพคล่องเพียงพอหรือไม่ ซึ่งผลการประเมินโครงการ FSAP พบว่า ในภาพรวมของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยมีเงินกองทุนและสภาพคล่องมากพอที่จะรองรับเหตุการณ์ดังกล่าวได้ดี

แม้ว่าโครงการ FSAP จะจบไปแล้ว ธปท. ยังคงให้ความสำคัญกับการทดสอบภาวะวิกฤตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยส่งเสริมให้ธนาคารพาณิชย์ทำการทดสอบภาวะวิกฤตเป็นประจำทุกปีหรือทุกครั้งที่มีเหตุการณ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อฐานะและการดำเนินงานอย่างมีนัยสำคัญ มีการเข้าไปตรวจสอบกระบวนการจัดทำ Stress Test ของธนาคารพาณิชย์ว่ามีจุดอ่อนในเรื่องใดบ้าง มีการใช้ผลของ Stress Test เพื่อประเมินความเพียงพอของเงินกองทุน ซึ่งทำให้ ธปท. สามารถกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ได้ในลักษณะมองไปข้างหน้าและเป็นเชิงป้องกัน (forward-looking and preventive supervision)

ตัวอย่างเช่น เมื่อเกิดปัญหา sub-prime ที่กระทบต่อเศรษฐกิจโลกรุนแรง ธปท. ทำการทดสอบว่า หากเศรษฐกิจไทยในปี 2552-53 หดตัวลง จะทำให้สินเชื่อด้อยคุณภาพของธนาคารพาณิชย์ไทยเพิ่มขึ้นเพียงใด และมีเงินกองทุนเพียงพอรองรับหรือไม่ รวมทั้ง มีการกำหนดให้สาขาธนาคารต่างประเทศทำการทดสอบภาวะวิกฤตสำหรับความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง โดยสมมติเหตุการณ์ว่าผู้ฝากและเจ้าหนี้ขาดความเชื่อมั่นและถอนเงินออกไปอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อประเมินว่าธนาคารจะมีสภาพคล่องเพียงพอรองรับหรือไม่ เนื่องจากในช่วงนั้น สถาบันการเงินในต่างประเทศหลายแห่งประสบปัญหาสภาพคล่อง อาจส่งผลกระทบต่อสาขาธนาคารในประเทศไทยได้ ซึ่งผลการทดสอบทั้ง 2 เรื่อง ออกมาเป็นที่น่าพอใจว่า ในภาพรวมระบบธนาคารพาณิชย์มีความแข็งแกร่งพอที่จะรับมือกับปัญหาได้ ทำให้ ธปท. ลดความเป็นห่วงลงไปได้ และยิ่งเห็นประโยชน์ของการทำ Stress Test มากขึ้น

ผมคงไม่สามารถเล่ารายละเอียดวิธีการทำ Stress Test ได้ทั้งหมดในคอลัมน์นี้ แต่อยากจะขอฝากไว้สุดท้ายว่า หากธุรกิจหรือองค์กรใด (ไม่จำกัดเฉพาะสถาบันการเงิน) สามารถนำเครื่องมือนี้มาใช้บริหารจัดการความเสี่ยงประเภทต่าง ๆ ที่มีอยู่ได้อย่างจริงจัง ควบคู่ไปกับการวางแผนธุรกิจ จะช่วยให้ธุรกิจหรือองค์กรนั้นปรับตัวได้ล่วงหน้า และเพิ่มโอกาสที่จะอยู่รอดได้ หากเกิดเหตุการณ์ในทางลบที่รุนแรงในอนาคต

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 21-23 มกราคม 2553

          ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ